ตามติดทริปเวียดนามกับสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com เมื่อวันที่ 16-17 มกราคม 2017 ที่ผ่านมา พี่พิซซ่า มีโอกาสได้รับเชิญไปประเทศเวียดนามพร้อมคณะนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น วันนี้เลยจะมาเล่าเรื่องราวดีๆ ให้ฟังค่ะ


Special Seminar: Social and Economic Situation in Vietnam



     เมื่อวันที่ 16-19 มกราคมที่ผ่านมา อาจารย์พิชิต งามจรัสศรีวิชัย พร้อมด้วยนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ วิชาการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค จำนวน 17 คน เดินทางไปสัมมนาและศึกษาดูงานที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เพื่อให้นักศึกษาได้เปิดมุมมองธุรกิจในยุคหลัง AEC โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กร One Asia Foundation ค่ะ

     แค่วันแรกที่ไปถึงน้องๆ ก็ต้องตั้งใจเรียนอย่างจริงจังทันทีเลยค่ะ เพราะที่แรกที่น้องๆ ได้ไปเยี่ยมชมทันทีที่ออกจากสนามบินคือออฟฟิศสาขาเวียดนามของบริษัท Quality Plus บริษัทรับผลิตครีมและเครื่องสำอางมาตรฐานสากลและที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์มืออาชีพ ผู้บริหารบริษัทก็คือคุณวุฒิพงษ์ ผาณิตเศรษฐกร ศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น นอกจากสาขาในไทยและเวียดนามแล้ว บริษัท Quality Plus ยังมีสาขาที่กัมพูชาและจีนอีกด้วย ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่กำลังเติบโตในแถบเอเชียแปซิฟิกเลยค่ะ นอกจากคุณวุฒิพงษ์และคุณไมก้า พาร์ทเนอร์ธุรกิจชาวเวียดนามจะบอกเล่าความเป็นมาของการเปิดบริษัทและการทำธุรกิจระหว่างประเทศแล้ว ยังยินดีตอบคำถามที่น้องๆ นักศึกษาถามเข้ามาให้อีกด้วย


ทางเข้าสำนักงาน


ออฟฟิศ Quality Plus สาขาเวียดนามให้ความรู้สึกทั้งเป็นมืออาชีพและเป็นกันเองในขณะเดียวกันเลยค่ะ


น้องๆ นักศึกษากำลังตั้งใจฟังคุณวุฒิพงษ์และคุณไมก้าบอกเล่าประสบการณ์จริง


ถ่ายภาพที่ระลึกร่วมกัน


ขอขอบคุณคุณวุฒิพงษ์ ผาณิตเศรษฐกร ที่ใจดีตอบคำถามทุกข้อของน้องๆ แถมยังให้ความรู้ด้วยอีก พี่เองก็ฟังและจดเพลินมากเหมือนต้องกลับไปทำรายงานส่งอาจารย์ด้วยเลย


     จากนั้นในช่วงบ่ายก็เข้าสู่การสัมมนาจริงจังค่ะ ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณปิตินันทน์ สมานวรวงศ์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ มาเป็นผู้บรรยายให้ บอกเลยว่านี่เป็นการสัมมนาแบบจริงจังจริงๆ เพราะได้ความรู้แน่นมากๆ เลยค่ะ ท่านผู้อำนวยการเต็มใจให้ความรู้และข้อคิดดีๆ แก่น้องๆ แบบไม่มีกั๊กแถมยังช่วยคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำธุรกิจให้ด้วย หลังจากนั้นคุณวุฒิพงษ์ คุณไมก้า และทีมงานก็ร่วมพูดคุยกับน้องๆ อีกครั้ง และบรรยายแบบเจาะลึกกว่าเดิมอีก น้องๆ แต่ละคนตั้งใจฟังและมีส่วนร่วมในการตอบคำถามกันอย่างเต็มที่


คุณปิตินันทน์ สมานวรวงศ์ ให้ข้อมูลเชิงลึกของประเทศเวียดนามในด้านเศรษฐกิจและลู่ทางการค้าขาย


ตอนแรกน้องๆ ก็นั่งคุยนั่งเล่นกัน แต่พอถึงเวลาต้องเรียนก็ตั้งใจกันสุดๆ เลยค่ะ


หลายคนถามคำถามวิทยากรอย่างมั่นใจ ซึ่งพี่รู้สึกชื่นชมมากๆ เพราะสมัยเรียนตัวพี่จะเงียบๆ ไม่ค่อยกล้าถามอะไรเท่าไหร่ เด็กเดี๋ยวนี้มีความมั่นใจและกล้าแสดงออกในทางที่ดีกันมากกว่าแต่ก่อนเยอะเลย (ฟังดูแก่เนอะ)


     ส่วนในวันที่ 2 ก็เป็นการทัศนศึกษานอกสถานที่ค่ะ เพราะการจะไปทำธุรกิจในต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของชนชาตินั้นๆ ก่อน วันนี้เลยได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ยาแผนโบราณของเวียดนาม วัดเจ้าแม่ทับทิม โบสถ์นอทเทรอะ-ดาม และที่ทำการไปรษณีย์กลางของโฮจิมินห์ ได้สัมผัสทั้งเวียดนามแท้ๆ เวียดนามที่ได้รับอิทธิพลจากจีน และเวียดนามที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกในวันเดียวกัน


น้องๆ ตั้งใจฟังเจ้าหน้าที่อธิบายประวัติความเป็นมาของยาแผนโบราณในเวียดนาม จดกันมือเป็นระวิงเลย


Fito Museum มีอะไรน่าสนใจให้เรียนรู้เยอะมากเลยค่ะ ถ้ามีโอกาสก็อยากให้น้องๆ Dek-D.com มาเที่ยวดูบ้าง


เอาจริงๆ พี่เองก็ไม่เคยรู้ประวัติศาสตร์เวียดนามในแง่มุมนี้มาก่อนเหมือนกัน แค่ฟังไกด์แนะนำไม่กี่ชั่วโมงก็รู้สึกเปิดโลกไปเยอะเลย


วัดเจ้าแม่ทับทิมในย่านไชน่าทาวน์ค่ะ เป็นย่านไชน่าทาวน์ที่มีความจีนน้อยที่สุดตั้งแต่เคยเห็นไชน่าทาวน์ในหลายๆ ประเทศมาเลย


หน้าโบสถ์นอทเทรอะ-ดามและใกล้กันคือไปรษณีย์กลางค่ะ โบสถ์สวยมากและทำให้นึกถึงของจริงที่ปารีสเลย


     น้องๆ ที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้เป็นน้องๆ ชั้นปี 2-3 จากคณะบริหารธุรกิจที่ลงเรียนวิชาการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค วิชานี้เป็นวิชาเลือก มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนทั้งหมด 79 คนในภาคการศึกษานี้ ทำให้ต้องมีการคัดเลือกผู้ที่จะได้มาร่วมสัมมนาครั้งนี้ค่ะ คัดเลือกจากการมาเข้าชั้นเรียนครบทุกครั้ง มีคะแนนเก็บผ่านเกณฑ์ และสอบได้เป็นอันดับ 1-17 ของชั้นเรียน


ทำไมถึงต้องพาไปดูงานถึงต่างประเทศ


     ส่วนมากการดูงานเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจมักไปดูตามบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ ในไทยมากกว่า แต่วิชานี้คือวิชาการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค แม้ปกติจะมีวิทยากรพิเศษเวียนมาให้ความรู้ในแต่ละคาบเรียนอยู่แล้ว แต่การไปดูงานบริษัทไทยที่ไปทำธุรกิจในต่างประเทศจริงๆ เป็นอะไรที่ช่วยให้ผู้เรียนเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น และอาจมองเห็นเส้นทางในอนาคตของตัวเองได้ชัดเจนขึ้นด้วย และนี่ก็คือหนึ่งในหลักการเรียนของสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นค่ะ


ขอขอบคุณอาจารย์พิชิต งามจรัสศรีวิชัย อาจารย์ประจำวิชาและผู้ดูแลนักศึกษาในทริปนี้ด้วยค่ะ

     สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นจัดการเรียนการสอนโดยยึดหลักการโมโนซุคุริ (Monodzukuri) เป็นสำคัญค่ะ หลักการโมโนซุคุริประกอบด้วย
          Genri: การเรียนจากทฤษฎี
          Gensoku: การเรียนจากหลักเกณฑ์ ระเบียบ และขั้นตอน
          Genba: การเรียนจากสถานที่ทำงานจริง
          Genbutsu: การเรียนจากบรรยากาศในการทำงานและวัสดุจริง
          Genjitsu: การเรียนจากการฝึกฝนในสถานการณ์จริง
     ดังนั้นแต่ละวิชาเรียนจะไม่ได้แค่เรียนเฉยๆ แต่ต้องทำให้นักศึกษาได้เห็นของจริง และได้ลงมือเอง จึงทำให้นักศึกษามีความพร้อมสำหรับการทำงานจริงในอนาคตค่ะ


สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นกับการมอบโอกาสให้นักศึกษา


     สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นเป็นสถานศึกษาที่มีทุนแจกเยอะมากๆ เลยค่ะ ทั้งทุนค่าเล่าเรียนเต็มจำนวนพร้อมเงินสนับสนุนรายปี ทุนค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน ทุนค่าเล่าเรียนบางส่วน รวมไปถึงทุนสนับสนุนสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมแล้วกว่า 200 ทุนต่อปี นอกจากนี้สถาบันยังมีความร่วมมือกับสถานศึกษาในประเทศญี่ปุ่นอีกหลายแห่ง ทำให้นักศึกษามีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนหรือทำกิจกรรมกับทางประเทศญี่ปุ่นด้วยค่ะ


     แม้จะไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมกับน้องๆ ตลอดทั้งทริป 4 วัน แต่น้องๆ ก็น่ารักและเฟรนด์ลีมากๆ เลยค่ะ พี่เองก็ได้ความรู้ดีๆ กลับมาเยอะมากจนเริ่มอยากเปิดธุรกิจระหว่างประเทศเองบ้างละ (เดี๋ยวๆ) เป็นการไปเวียดนามครั้งแรกของพี่เลยด้วย ได้เห็นอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (และได้ยินเสียงแตรรถทั้งวันทั้งคืน 555) ต้องขอขอบคุณสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นด้วยนะคะ ที่มอบโอกาสดีๆ แบบนี้ให้ด้วยค่ะ
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น