ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน "Sound Engineer (วิศวกรเสียง)" อาชีพสุดเท่ ของคนชอบใช้เสียง!

สวัสดีจ้าชาว Dek-D.com กลับมาพบกับ A day in life สกู๊ปพิเศษที่จะพาทุกคนไปตามติดชีวิตการทำงานของอาชีพในฝันถึงหนึ่งวันเต็ม สำหรับอาชีพที่พี่ส้มจะไปเกาะติดในวันนี้ ขอบอกว่าจัดมาเอาใจคนที่ชอบการบันทึกเสียง-มิกซ์เสียงโดยเฉพาะ ถ้าใครสนใจอยากเป็น "Sound Engineer หรือ วิศวกรเสียง" อย่ารอช้า ขวาหัน ตามข้าพเจ้ามา!!!

เกาะติดการทำงานของอาชีพ

วันนี้เราบุกมาที่บริษัท ซาวด์เวฟ จำกัด เพื่อมาพบกับ Sound Engineer ตัวจริง เสียงจริง และรูปแบบการทำงานจริงของคนที่มีความรู้และความชำนาญในการใช้อุปกรณ์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทางด้านเสียงกันแบบจัดเต็ม พร้อมกับค้นหาคำตอบของข้อสงสัยที่ว่า อยากเป็นวิศวกรเสียงต้องเรียนจบด้านไหนมา? แล้วหน้าที่ในวันหนึ่งๆ ต้องทำอะไรบ้าง?

  • ธนทร ศิริรักษ์ (พี่ดาร์ท)
  • ปริญญาตรี : วิทยาลัยดุริยางคศิลป์
    สาขาธุรกิจดนตรี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ปริญญาโท : School of Music Production
    and Sound Design for Visual Media
    Academy of Art University
  • ปัจจุบัน : Sound Engineer และ โฆษก
    บริษัท ซาวด์เวฟ จำกัด

การเติบโตมาในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นนักดนตรี และคุณแม่เป็นคุณครูสอนเปียโน ทำให้พี่ดาร์ทได้อยู่ใกล้ชิดกับเสียงเพลงมาตั้งแต่เด็ก พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ก็เริ่มหัดแต่งเพลงเอง ชวนเพื่อนๆ ฟอร์มวงดนตรีขึ้นมา แน่นอนว่าความสุขที่เกิดจากการทำในสิ่งที่รักได้เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาอยากเป็นศิลปิน เลยตัดสินใจสอบเข้าเรียนต่อในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ

เกาะติดการทำงานของอาชีพ

ทว่าความตั้งใจที่อยากเป็นศิลปินนั้น ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็น Sound Engineer เพราะว่าเมื่อได้เข้าเรียนจริงๆ ก็ต้องทำความรู้จักกับอุปกรณ์และโปรแกรมด้านการบันทึก ตัดต่อ และมิกซ์เสียง ที่พี่ดาร์ทบอกกับทีมงานว่ารู้สึกสนุกมากๆ จึงเริ่มรับงานฟรีแลนซ์แต่งเพลงประกอบโฆษณา เลยได้ค้นพบว่าตัวเองชอบงานโฆษณา เพราะได้เจออะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด และได้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากดนตรี

เกาะติดการทำงานของอาชีพ เกาะติดการทำงานของอาชีพ

เมื่อเก็บความรู้เก็บประสบการณ์จนจบปริญญาตรีแล้ว พี่ดาร์ทก็ตัดสินใจบินตรงไปที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อไปศึกษาต่อด้านการทำเพลงสำหรับภาพยนตร์และโฆษณาที่ Academy of Art University ขอบอกเลยว่าการเรียนปริญญาโทของที่นี่มีฝึกงานตามสตูดิโอต่างๆ ด้วยค่ะ ซึ่งพี่ดาร์ทของเราเก็บรายละเอียดมาเพียบ ตั้งแต่ฟังงานมิกซ์เสียงหลายๆ แบบ ไปจนถึงถามเทคนิคต่างๆ จากพนักงานในสตูดิโออีกด้วย ช่างเป็นบุคคลตัวอย่างด้านการเรียนแบบคุ้มค่าเทอมจริงๆ 555555

เกาะติดการทำงานของอาชีพ

พอเรียนจบปริญญาโทแล้ว พี่ดาร์ทก็กลับมาทำงานในตำแหน่ง Sound Engineer หรือวิศวกรเสียง ที่บริษัท ซาวด์เวฟ จำกัด ซึ่งหน้าที่ของอาชีพนี้ก็คือ การออกแบบ ควบคุม และจัดการด้านเสียงในกระบวนการต่างๆ ด้วยอุปกรณ์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกเสียง ตัดต่อ-ปรับแต่งเสียง การมิกซ์เสียง และการเผยแพร่เสียงค่ะ แต่ถ้าจะอธิบายกันแค่นี้ก็คงไม่เห็นภาพที่ชัดเจนสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเราไปตามติดชีวิตการทำงาน 1 วันของพี่ดาร์ทกันเลยดีกว่า!!!

1 วัน อาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์

เกาะติดการทำงานของอาชีพ

9.00 - 9.15

ทุกๆ วัน พี่ดาร์ทจะต้องเข้างานในเวลา 9 โมงเช้า หน้าที่แรกคือการเช็กคิวจากตารางที่บริษัทสรุปไว้ เพื่อดูว่าวันนี้มีงานจากลูกค้าเข้ามากี่งาน แต่ละงานต้องรับผิดชอบในส่วนใดบ้าง เพื่อเตรียมวางแผนการทำงาน เช่น งานสปอตวิทยุ ที่ต้องควบคุมตั้งแต่เริ่มอัดเสียง ไปจนกระทั่งปิดงานด้วยการมิกซ์เสียง หรืองานวิดีโอพรีเซ็นต์เทชั่น ที่ต้องวางเสียงให้ตรงกับภาพด้วย โดยวันนึงพี่ดาร์ทจะมีคิวงานประมาณ 2 - 3 คิวค่ะ งานแรกรับอรุณก็ต้องใช้ความคิดแล้ว เพราะฉะนั้นจะมาง่วงเหงาหาวนอนไม่ได้เด็ดขาด!

เกาะติดการทำงานของอาชีพ เกาะติดการทำงานของอาชีพ
เกาะติดการทำงานของอาชีพ

9.15 - 10.00

เมื่อทราบคิวงานของตัวเองแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นวางแผนการทำงาน ซึ่งพี่ดาร์ทจะใช้เวลาในช่วงนี้ตีความกับสคริปต์ของสปอตแต่ละตัวว่ามีเนื้อหายังไง มีภาพประกอบอะไรบ้าง ควรจะใช้เพลงประกอบสไตล์ไหน ซาวนด์เอฟเฟกต์แบบไหน หรือต้องมิกซ์เสียงอะไร เพิ่มเติมก่อนนำมาใช้หรือเปล่า แล้วจัดการเตรียมไฟล์ทั้งหมดไว้รอนำเสนอให้กับลูกค้านั่นเอง งานนี้ตีความตามความเข้าใจของตัวเองยังไม่พอนะจ๊ะ ต้องลองเอาใจลูกค้ามาใส่ใจเราเพื่อให้เกิดความพึงพอใจด้วย จะได้ไม่ต้องแก้วนไปจ้า

เกาะติดการทำงานของอาชีพ

10.00 - 12.00

ถึงเวลานัดกับลูกค้าแล้ว พี่ดาร์ทก็จัดการนำไฟล์ที่เตรียมไว้มาให้ลูกค้าเลือก เพื่อวางแผนคร่าวๆ ให้เข้าใจรูปแบบของงานตรงกันก่อน สำหรับคิวนี้เป็นงานวิดีโอพรีเซ็นต์เทชั่นขององค์กร ที่จะมีเสียงบรรยายประกอบภาพด้วย พี่ดาร์ทเลยต้องเริ่มควบคุมตั้งแต่การบันทึกเสียงเลยค่ะ

เกาะติดการทำงานของอาชีพ

ในขั้นตอนของการบันทึกเสียงนี้ คนเป็น Sound Engineer ต้องใช้หูในชนิดที่ละเอียดกว่าคนทั่วไป เพราะต้องคอยฟังว่าเสียงที่อัดได้มีเสียงรบกวนอะไรแทรกมารึเปล่า ซึ่งเมื่อได้เสียงที่ต้องการแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการตัดต่อและแต่งเสียง ด้วยการตัดเสียงน้ำลาย เสียงหายใจระหว่างคำพูดออก แล้วจึงนำไป "ซิงก์" หรือเรียงตามไทม์ไลน์ของภาพร่วมกับเสียงเพลงและเอฟเฟกต์อื่นๆ เพื่อให้วิดีโอพรีเซ็นต์เทชั่นมีเสียงประกอบที่ตรงกับภาพนั่นเองค่ะ

เกาะติดการทำงานของอาชีพ

13.00 - 15.00

พักเติมพลังด้วยมื้อกลางวันเสร็จแล้วก็กลับมาลุยงานกันต่อ ด้วยการเข้าสู่กระบวนการขั้นถัดไปคือ การเช็กวิดีโอพรีเซนต์เทชั่นทั้งหมดว่าเสียงที่ลงไปนั้นตรงตามความต้องการของลูกค้าหรือไม่ ต้องปรับแก้ตรงไหน ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้ความละเอียดพอสมควร เพราะต้องนั่งฟังกันทีละคำว่าเสียงที่บันทึกไว้นั้นพูดตรงกับสคริปต์ที่วางไว้หรือไม่ ถ้ายังช้าหรือเร็วไป พี่ดาร์ทก็ต้องจัดการแก้ไขเพื่อให้สมบูรณ์ที่สุดค่ะ นอกจากนี้หากลูกค้าต้องการเพิ่มเติมรายละเอียดในวิดีโอพรีเซ็นต์เทชั่น พี่ดาร์ทของเราก็ต้องจัดให้เช่นกัน เรียกได้ว่าไม่มีปล่อยผ่านแม้สักเสี้ยววินาทีเลยจริงๆ

เมื่องานเสร็จและเป็นไปตามความพอใจของลูกค้าก็ถือว่าปิดจ๊อบ! เรียกว่ากว่าจะออกมาเป็นไฟล์งานที่เสร็จสมบูรณ์ พี่ดาร์ทจะต้องใช้หูและความรู้ด้านเสียงที่ได้ร่ำเรียนมาในการฟังว่า เสียงที่ฟังออกมาเหมาะสำหรับระบบเสียงของอุปกรณ์ที่ใช้ในการเผยแพร่หรือยัง เพราะไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ จะมีระบบการกระจายเสียงที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องมีการปรับแต่งให้ถูกต้อง เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยมจ้า

เกาะติดการทำงานของอาชีพ

15.00 - 18.00

คุมคนอื่นอัดเสียงจนจบไปหนึ่งคิวแล้ว ก็ถึงตาตัวเองที่ต้องใช้เสียงบ้าง เพราะพี่ดาร์ทยังมีอีกหนึ่งหน้าที่คือการเป็นโฆษกนั่นเองค่ะ โดยการทำงานในส่วนนี้ พี่ดาร์ทจะต้องรับผิดชอบการทำสปอตวิทยุ ซึ่งต้องอ่านบทพูด พร้อมมิกซ์ดนตรีประกอบ พูดยังไม่ทัน ขาดคำก็คว้าสคริปต์เดินเข้าห้องอัดไปซะแล้ว!

สำหรับการบันทึกเสียงสำหรับสปอตวิทยุที่ยาวประมาณครึ่งนาที พี่ดาร์ทจะใช้เวลาในห้องอัดจริงๆ ไม่เกิน 15 นาที แต่เวลาที่เหลือต่อจากนี้ก็คือการตัดต่อและแต่งเสียงเช่นเดียวกับช่วงเช้า พอได้เสียงพูดที่ถูกต้องชัดเจนแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนของการหาเพลงที่ใช้ประกอบ และซาวนด์เอฟเฟกต์มาใช้ตามความเหมาะสมจ้า 

เกาะติดการทำงานของอาชีพ

ในขั้นตอนนี้ พี่ดาร์ทจะใช้เวลาง่วนอยู่หน้าคอมในการลากไลน์เสียงอยู่ในโปรแกรมตัดต่อ ฟังซ้ำไปซ้ำมา ขยับนั่นนิด ปรับนี่หน่อย มิกซ์เพื่อให้ได้ทุกอย่างลงตัวที่สุด ซึ่งก็ปาไปเป็นชั่วโมงจนหมดเหมือนกัน ในที่สุดก็ได้ไฟล์สปอตวิทยุที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมเสิร์ฟ! อธิบายกันเป็นฉากๆ ให้เห็นชัดเจนขนาดนี้แล้ว พี่ส้มก็มีตัวอย่างเสียงของพี่ดาร์ทในการเป็นโฆษกมาให้ฟังด้วย เชิญที่ลิงก์นี้เลยจ้า!

เกาะติดการทำงานของอาชีพ

ตามติดชีวิตของคนทำงานเกี่ยวกับเสียงมาทั้งวัน หลายคนที่ชอบฟังเพลงอาจเข้าใจไปว่า "แบบนี้ก็ดีเลยสิ ได้ฟังเพลงทั้งวัน" แต่ในความเป็นจริงแล้วพี่ดาร์ทบอกว่า อาชีพ Sound Engineer เป็นอาชีพที่อยู่กับเสียง อยู่กับเพลง แต่ฟังเพลงไม่ได้จ้า เพราะว่าทุกนาทีคือการฟังเสียงในงานซ้ำไปมา ไม่ได้นั่งทอดอารมณ์ฟังเพลงในเพลย์ลิสต์อย่างที่คิดแน่ๆ แต่นี่ก็ไม่ใช่ส่วนที่แย่แต่อย่างใด เพราะการตั้งใจฟังเสียงที่ตัดต่อสลับไปมาซ้ำๆ ในระหว่างที่เรามิกซ์เสียง จะช่วยให้เรามีความชำนาญมากขึ้น ถึงขั้นที่เรียกได้ว่า Sound Engieer ทุกคนจะมี "ลายเซ็น" หรือสไตล์การมิกซ์เสียงที่เฉพาะตัวที่คนฟังจะจำเราได้จากเสียงที่ได้ยิน แม้เราไม่ได้ร้องเพลงแบบนักร้องเลยล่ะ เท่มั้ย เท่มั้ย? ^^ ถ้าใครอยากฟังผลงานการมิกซ์เพลงของพี่ดาร์ท ก็เชิญเข้าไปฟังได้ที่แทร็กลิสต์บน SoundCloud กันได้เลย!

เกาะติดการทำงานของอาชีพ

ใครที่มีความฝันอยากเป็น Sound Engineer ฟังทางนี้ เพราะพี่ดาร์ทมีเทคนิคดีๆ มาแนะนำให้เตรียมตัวกันล่วงหน้า ที่ขอบอกเลยว่าเริ่มทำได้ตั้งแต่นาทีนี้เลยล่ะค่ะ

  • ฟังให้มาก : หมั่นฟังงานการบันทึกเสียง การมิกซ์เสียง อยู่เป็นประจำ เพื่อจดจำและศึกษารายละเอียดและเทคนิคต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในเสียงแต่ละแทร็ก

  • ตามเทคโนโลยีให้ทัน : อัปเดตข่าวสาร ข้อมูล เกี่ยวกับเทคโนโลยี ด้านเสียงอยู่เสมอ

  • มือใหม่หัดมิกซ์ พลิกตัวเองเป็นมือโปร : ลองดาวน์โหลดโปรแกรมบันทึก-มิกซ์เสียงมาลองเล่นดู

เกาะติดการทำงานของอาชีพ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว พี่ส้มเชื่อว่าทุกคนคงได้เห็นความมุ่งมั่นและเอาใจใส่กับงาน Sound Engineer และการเป็นโฆษกของพี่ดาร์ทที่เรียกว่าเต็มที่สุดๆ และไม่หยุดอยู่ที่เดิมจริงๆ แต่การทำงานออกมาให้มีคุณภาพนั้น แค่ตั้งใจอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อนี้ด้วยจ้า

  • สามารถสื่อสารได้ดี : การทำงานที่ต้องประสานงานกับหลายฝ่าย ทั้งโฆษก ลูกค้า และทีมงานคนอื่นๆ เราจึงต้องสื่อสารให้ได้ใจความครบถ้วนและถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดความผิดพลาดกับงาน

  • มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ภาษา : การทำงานด้านเสียงโดยเฉพาะเสียงสำหรับการโฆษณา มีทั้งภาษาไทย ภาษาที่สอง และภาษาที่สาม เราจึงควรให้ความสำคัญกับภาษา เพราะถ้าเราแปลไม่ออกหรือจับใจความไม่ได้ ก็จะทำให้การตัดต่อเสียงเกิดข้อผิดพลาดได้เช่นกัน

  • ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น : การทำงานกับลูกค้า เราต้องแชร์ไอเดียซึ่งกันและกัน ในขณะที่เป็นตัวของตัวเอง เราต้องยินดีรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายด้วย เพื่อปรับปรุงหรือเพิ่มเติมให้งานมีความสมบูรณ์มากที่สุด อย่าเพิ่งท้อเพราะเรายังไม่เก่ง ทำซ้ำๆ ย้ำๆ แล้วเราจะคุ้นเคยกับมันเอง

เกาะติดการทำงานของอาชีพ เกาะติดการทำงานของอาชีพ
เกาะติดการทำงานของอาชีพ

พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
wanida 4 ก.ค. 60 16:53 น. 3

ใครที่ยังไม่มีที่เรียนต่อ ใครที่สนใจอยากเรียนที่วิศวเคมีมหิดล ตอนนี้เราเปิดหลักสูตรอินเตอร์แล้วนะคะคุณ พร้อมทุนการศึกษาปีละ 20,000 บาทเป็นของขวัญเฉพาะรุ่นแรกนะจ้ะ (ปีการศึกษา 2560) จนจบการศึกษาที่มหิดลเลยนะ และยังมีโอกาสไปเรียน ปี 3 - 4 ทีอังกฤษ (University of Strathclyde) ด้วยนะเธอ ค่าเรียนถูกกว่าสมัครตรงถึง 240,000 บาทเลยนะ

-------> เริ่มสนใจละสิ <-------

ไปที่นี่เลย https://www.eg.mahidol.ac.th/dept/egche/index.php/2014-01-29-17-15-42/bachelor-of-engineering-in-chemical-engineering-international-program

Facebook เราก็มีนะ

https://web.facebook.com/BEngChemicalEngineering/

หรือโทรหาเราได้ที่ 097-090-0216

อย่าลืมนะ ฝากบอกต่อด้วย อนาคต เราเลือกได้

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด