เก่งทั้งในและนอกจอ! มาดูเคล็ดลับ "ออกแบบ ชุติมณฑน์" สู่เส้นทางสาวศิลปกรรม จุฬาฯ


          สวัสดีค่ะ เรียกได้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญของน้องๆ ทีมแอดฯ ที่กำลังเลือกอันดับกันอยู่เลยนะคะ ใครที่ยังลังเลก็อย่าลืมตัดสินใจให้ดีค่ะ เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่วันแล้ว ส่วนใครที่มีคณะในใจแล้ว ก็อย่าลืมจัดอันดับให้ดี อย่าให้พลาดค่ะ
          วันเสาร์ที่ผ่านมา พี่อีฟได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน "English is a must เพราะภาษาอังกฤษคือทางรอด" 
จาก Enconcept ที่มี พี่ออกแบบ ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง มาร่วมในงานด้วย พี่อีฟเลยขอคว้าพี่ออกแบบ มาเป็นหนึ่งใน Admission Idol พูดคุยกันถึงเคล็ดลับการเรียน ตั้งแต่การสอบเข้า ไปจนถึงการแบ่งเวลาและใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ใครที่รออยู่เลย ไปฟังพี่ออกแบบเล่าถึงประสบการณ์กันเลยค่ะ
 

          ช่วงนี้น้องๆ หลายคนน่าจะคุ้นตากับ พี่ออกแบบ ในบทของ ลิน จากภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง ของค่าย GDH ซึ่งตอนนี้กำลังพุ่งทะยานเข้าสู่หลัก 100 ล้าน เป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ แต่อีกบทบาทของพี่ออกแบบ ที่พี่อีฟจะพาน้องๆ ไปพูดคุยกันในวันนี้ คือ ด้านการเรียนค่ะ ซึ่งตอนนี้พี่ออกแบบ กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชานฤมิตศิลป์ วิชาเอก Exhibition Design (นิทรรศการศิลป์) ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งความยากของการทำงานไปด้วย และเรียนไปด้วยจะเป็นยังไง พี่ออกแบบต้องใช้ความพยายามขนาดไหน เราไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ

 
ตอนนั้นมีเป้าหมายกับคณะในฝันยังไง
          ตอน ม.4 ออกแบบตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเข้าคณะจิตวิทยา แต่พอเข้าวงการมาแล้ว passion เราเริ่มเปลี่ยนไป เพราะเราเจอโลกมากขึ้นด้วย เรามองว่าจิตวิทยาคือการพูดคุยกับผู้คน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ตัวออกแบบเองมองว่า ตัวเองไม่สามารถมีเวลาชีวิตให้กับคนอื่นได้เต็มที่ หรือไม่สามารถมีเวลาทุ่มเทให้กับงานด้านนี้ได้ขนาดนั้น พอมาถึงตรงนี้เราเลยถามตัวเองว่าอะไรที่จะทำให้เรามีความสุขกับการมีชีวิตอยู่และการทำงาน สามารถตอบโจทย์เราและเราเอาไปต่อยอดได้ จนมาเจอสาขาหนึ่ง จริงๆ เราค้นพบว่ามันคือ interior ก่อน แต่เรารู้ตัวช้าเกินไป จนไม่สามารถสอบรับตรงตัวนั้นได้ ก็เลยไปสอบ Exhibition Design (นิทรรศการศิลป์) ที่ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แทน

 มีสนใจที่อื่น หรือรับตรงอื่นไหม
          ไม่มีเลย พอมาเจอที่นี่ เรารู้สึกว่าที่นี่น่าสนใจ ทุกอย่างพอดีกับตัวเราหมด ทั้งเป็นสาขาที่น่าสนใจ มหาวิทยาลัยก็ใกล้บ้านด้วย มองไว้แค่ที่นี่ที่เดียว และเราไม่ได้มีแผนสำรองไว้เลยด้วยว่า ถ้าไม่ได้ที่นี่ แล้วจะเป็นที่ไหน ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้เราตั้งใจแล้วก็เตรียมตัวกับการสอบเต็มที่

 เตรียมตัวยังไงบ้างกับรับตรงศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
          เราเตรียมตัวหนักมาก ช่วง 4 เดือนก่อนสอบคือเราเต็มที่เลย เท่าที่จำได้คือก่อนหน้านี้เราจะอ่านวิชาสามัญไว้อยู่แล้ว เพราะปีที่เราเข้ายังใช้วิชาสามัญ กับวิชาเฉพาะทักษะ น้องๆ รุ่นหลัง ค่อยเปลี่ยนจากวิชาสามัญมาเป็น GAT 
          ตอนนั้นเราฝึกมือทุกวันในด้านการวาดรูป และไปเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์เพิ่ม เพราะมันต้องสอบทั้งทฤษฎีและปฏิบัติด้วยเหมือนกัน ตอนที่ฝึกก็มีจับเวลา เขาจะค่อยๆ ฝึกพื้นฐานให้เราก่อน แล้วค่อยเริ่มมาจับเวลา ก็จะมาดูเลยว่า การสอบ ต้องสอบ 3 ชั่วโมง แล้วใน 3 ชั่วโมง เราต้องวาดอะไรบ้าง ต้องทำอะไรก่อนที่เป็นคะแนนหลัก อ่านโจทย์ให้ดี ซึ่งเราก็ฝึกทุกวัน ทุกคืน ฝึกแล้วนอน นอนแล้วตื่นมาฝึก เป็นแบบนี้ไปทุกวันเพื่อให้มือมันได้ คือทำให้เราสามารถวาดออกมาได้ดีที่สุด


 Exhibition Design (นิทรรศการศิลป์) ที่ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สอบอะไรบ้าง
          จำได้ว่าหลักๆ เลยคือมีสอบวาดค่ะ ประมาณ 6 ข้อ 3 ชั่วโมง รวมลงสีทุกอย่าง แล้วก็มีสอบแยกที่เป็นประวัติศาสตร์ทั้งหมดของด้านศิลปะ ก็จะมีเรื่องของแฟชั่น เรื่องของยุคสมัยต่างๆ ของศิลปะ ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์เลย แล้วก็มีคะแนนในส่วนของวิชาสามัญที่เราต้องสอบมาแล้วใช้ยื่นค่ะ ถ้าใครชอบด้าน design ออกแบบว่าน่าจะตอบโจทย์นะ เพราะ exhibition จะไม่เน้น drawing มาก เน้นการ design มากกว่า

 การอ่านหนังสือกับวิชาสามัญ
          อย่างตอนสอบรับตรงจะใช้วิชาสามัญ วิชาสังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เราก็อ่านภาพรวมของทุกวิชาค่ะ คือจะไม่ได้อ่านเพื่อไปสอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าแบบให้เห็นภาพเลย คือ เราก็อ่านทุกวัน และมีตารางการอ่านวันละประมาณ 2 ชั่วโมง
 
 แบ่งเวลาเรียนกับการทำงานยังไงบ้าง
          ออกแบบว่าเรื่องของวินัยเป็นสิ่งสำคัญ อย่างเราทำงานเสร็จแล้วก็จะอ่านหนังสือเลย หรือพอมีช่วงว่างระหว่างเวลางาน เราก็จะปลีกตัวออกไปอ่านหนังสือ คือเราจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ที่สุด เพราะช่วงเวลามันบีบเรามาก อย่างออกแบบเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 15 ปี ช่วงตอนมัธยมก็จะหนักหน่อย เพราะตารางมันจะเป๊ะมาก แต่พอเป็นมหาวิทยาลัย เราก็จะเริ่มจัดตารางเวลาได้มากขึ้น อ่านหนังสือจริงจังก่อนสอบ และทุกครั้งที่เรียนเสร็จ พอมีเวลาว่างก็จะรีบทวน และจดเลคเชอร์สรุปให้เป็นภาษาของตัวเอง หรือถ้าช่วงไหนเหมือนจะไม่ทัน เราก็จะเอาเลคเชอร์ทั้งหมดที่เราเคยจดกลับมาอ่านทวนให้เร็วที่สุด จริงๆ ถ้าใครมีเวลา แล้วไม่อยากให้ตัวเองเหนื่อยเกินไป เราแนะนำให้อ่านล่วงหน้า 1-2 เดือนก่อนสอบ มันก็จะไม่ลนหรือกดดันมาก
 

 เคล็ดลับการอ่านฉบับออกแบบ
          จริงๆ ก็ค่อนข้างทั่วไปมากนะคะ เพราะออกแบบใช้วิธีสรุปเป็นของตัวเอง หรือสรุปแบบให้เป็นคำหรือภาษาของเราเอง อย่างเวลาอ่านเลคเชอร์ของอาจารย์ ก็ไม่ใช่จดมาทั้งหมด คือต้องย่อคำเป็นของตัวเองให้เข้าใจง่าย แต่ก็ยังคง Keyword เดิมไว้ได้ทั้งหมด

 ชีวิตมัธยม vs ชีวิตมหาวิทยาลัย ต่างกันไหม
          ต่างกันเยอะมากค่ะ เพราะมหาวิทยาลัยเราต้องรับผิดชอบตัวเองให้ดีขึ้นเยอะมาก การอ่านหนังสือในมหาวิทยาลัย มันมีความแข่งขันกันสูงกว่า คือตอนเข้ามาว่ายากแล้ว แต่ว่าการเรียนให้จบมันยากกว่า ซึ่งออกแบบว่ามันยากมากกับการอ่านหนังสือให้จบ หรือการทำงานให้เสร็จตามเดดไลน์ เพราะงานมันเยอะมาก เหมือนอาจารย์สั่งงานจบทุกวัน 55555 ซึ่งเราก็ต้องทำให้ได้ แบ่งเวลาให้ดี เพราะเราเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย การเรียนต้องมาก่อน
          อย่างถ้าวิชาไหนขาดได้เท่าไหร่ ถ้าเราครบโควตาแล้ว ก็ต้องห้ามขาดอีกเด็ดขาด หรือเข้าไปขอคำแนะนำจากอาจารย์บ่อยๆ แต่ไม่ใช่ไปขอว่าเรามีงานพิเศษนะคะ แต่จะเน้นให้อาจารย์แนะนำงานเรามากกว่า 
เช่น เราจะสามารถแก้ไขงานให้ดีขึ้นได้แบบไหนบ้าง หรืออาจารย์มีอะไรจะเสริมงานเราตรงไหน ฯลฯ เพื่อให้งานออกมาดีที่สุดค่ะ

 1 เดือนก่อนสอบ ทำอะไรบ้าง
          ช่วง 1 เดือน เราก็มีทั้งทำงาน ทำการบ้าน อ่านหนังสือ อย่างเราจะรู้วันสอบล่วงหน้าอยู่แล้ว ถ้าเป็นวิชาอ่าน เราก็จะทบทวนๆ ทุกวัน จนกว่าจะถึงวันสอบ เพื่อเอาไปใช้ตอนสอบ เพราะตอนสอบมันจะมีทั้งข้อกา แล้วก็ข้อเขียน

 
แล้ว 1 วันก่อนสอบล่ะ ทำอะไรบ้าง
          จริงๆ ออกแบบค่อนข้างวางแผนได้ไม่ตรงกันในแต่ละวัน เพราะเราทำงานด้วย แต่ถ้าเป็นวันที่มีงานก็จะง่ายๆ เลย คือ ทำงานเสร็จ ก็จะพักก่อน 2 ชั่วโมง ทำการบ้าน หรือถ้าไม่ทำการบ้านก็จะอ่านหนังสือ ซึ่งส่วนมากจะไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเท่าไหร่ เพราะสาขาที่เรียนจะเน้นการทำงานส่งมากกว่า

 " ศิลปกรรมศาสตร์ " ตอบโจทย์ไหม
          ก็รู้สึกว่าตอบโจทย์มากกว่าเดิมนะคะ แต่ก็จะแอบเสียดายเวลาชีวิตที่แบบไปอยู่กับฟิสิกส์ เคมี ชีวะ อย่างตอน ม.ต้น เราอยู่ศิลป์-จีนมา แล้วก็รู้สึกว่าไม่ชอบ เลยเบนเข็มมาสายวิทย์ เพราะตอนนั้นเราก็อยากเรียนจิตวิทยาด้วย แต่พอมาศึกษาข้อมูลแบบจริงจัง แล้วรู้ตัวเองแบบแน่ชัด ก็กลับมาเป็นสายศิลป์เหมือนเดิม

 เรียนหนัก งานเยอะ มีมุมท้อบ้างไหม
          เคยท้อค่ะ แต่ตอนเราท้อมากๆ มันจะมีคำหนึ่งที่สำคัญสำหรับเรามาก คือคำว่า กำลังใจ เช่น "เป็นกำลังใจให้นะ สู้ๆ" คือถ้าช่วงไหนเราถึงขนาดมองว่าคำนี้สำคัญแล้ว ออกแบบมองว่าตอนนั้นคือ เรากำลังท้อถึงขั้นสุด แล้วยิ่งถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่พูดคำนี้กับเรา หรือคนรอบตัวเราที่รักเรา มาบอกให้เราสู้ๆ นะ เราจะรู้สึกดีมาก แบบรู้สึกอบอุ่น ว่ามีคนอยู่รอบตัวเรา คอยสนับสนุนเรามากขนาดนี้ ทำไมไม่สู้ ต้องสู้สิ ก็จะเป็นแรงผลักดันให้เราสู้ต่อไป

 อยากฝากอะไรด้านการเรียนถึงน้องๆ ที่ติดตามเราบ้าง
          ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคน ที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย เตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย หรือใกล้ที่จะเข้ามหาวิทยาลัย หรือกำลังลุ้นผลกันอยู่ ขอให้ผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ อย่าท้อ หรือถ้าท้อ ก็ให้ลองมองคนรอบข้างเลย ว่าเรามีใครอยู่บ้าง ออกแบบรู้สึกว่าทุกคนเหล่านั้นจะเป็นกำลังใจให้เราสู้ต่อไปได้ค่ะ :D
 

          เป็นยังไงกันบ้างคะกับการแบ่งเวลาของพี่ออกแบบ หรือถ้าใครได้แรงบันดาลใจจากความพยายามของพี่ออกแบบที่ถึงแม้จะรู้ตัวช้า แต่ก็มุ่งมั่นจนสอบติดคณะในฝันได้ ก็อย่าเพิ่งถอดใจไปกับความพยายามของตัวเองนะคะ ถ้าเรามุ่งมั่น ความฝันต้องเป็นจริงแน่นอนค่ะ :D
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
ออมม่าซารางเฮ 1 ส.ค. 61 18:39 น. 2

เก่งมากเลยค่ะ แถมทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย มีความรับผิดชอบดีมากๆ

ตอนนี้เพิ่งเริ่มมาชอบ จากที่ดูรายการเดอะสแตนดาส น่ารัก ทัศนคติดี ครบเครื่องจริงๆ555

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด