ลุย TCAS มั่นใจทุกสนาม! ด้วยเทคนิคพิชิต Reading (GAT, O-NET, วิชาสามัญ)

   
       การเตรียมตัวสอบในสนาม TCAS ต่างวิชาก็มีเทคนิคต่างกันนะคะ จะดีหน่อยก็วิชาอื่นๆ จะมีหัวเรื่องมาให้ว่าออกอะไรบ้าง แต่กับภาษาอังกฤษนี่เดาย้ากยาก ส่วนพาร์ทที่ตกม้าตายกันบ่อยๆ ก็พาร์ท Reading เพราะเดาทางไม่ออก บทความไม่เคยเห็น เรียกว่าไปตายเอาดาบหน้าของแท้เลย

       ดังนั้น เทคนิคที่หลายคนเตรียมก็มักจะไปฝึกทางเรื่องคำศัพท์ ซึ่งส่วนใหญ่จะยังติดปัญหาเรื่องสรุปใจความไม่ได้อ่านแล้วลืม วันนี้พี่มิ้นท์ก็เลยมี เคล็ดลับพิชิตพาร์ท Reading วิชาภาษาอังกฤษมาฝาก รับรองว่าได้เจอข้อสอบส่วนนี้ทั้ง GAT Eng, O-NET และวิชาสามัญ


   ข้อสอบ Reading Eng มีกี่แบบ
        หัวข้อนี้พี่มิ้นท์จะไม่ได้บอกว่าเอาเรื่องอะไรมาออก เพราะสุดแล้วแต่ใจผู้ออกข้อสอบค่ะ (แต่ก็คงวนเวียนอยู่กับเรื่องวิทยาศาสตร์ การแพทย์ สังคม เศรษฐกิจ) แต่จะมาโฟกัสที่รูปแบบของข้อสอบ Reading ที่ออกกันบ่อยๆ หรือ ออกกันแทบทุกปี เพื่อเตรียมรับมือการอ่านแต่ละแบบค่ะ

      1. อ่านป้ายประกาศต่างๆ
          ที่เห็นบ่อยๆ จะเป็นป้ายโฆษณา ขายสินค้าและบริการต่างๆ เช่น รับทำความสะอาดบ้าน ขายเฟอร์นิเจอร์ ห้องเช่า ขายบ้าน และอีกสารพัดของที่จะมาขาย รวมทั้งประกาศรับสมัครงาน การอ่านป้ายพวกนี้ พี่มิ้นท์ว่าเป็นพาร์ทที่โกยคะแนนสุดๆ ดังนั้นพยายามอย่ามั่วหรือข้ามเด็ดขาด เพราะคำตอบก็อยู่ในรูปนั่นแหละค่ะ
         อ่านโจทย์ให้ดี ดูว่าเขาถามอะไร ถามราคา ถามเมือง ถามเบอร์โทร หรือ ถามชื่อร้าน บริการ เปรียบเทียบร้าน ฯลฯ แต่รับประกันว่าคำตอบมีในรูปภาพใบประกาศแน่ๆ ดังนั้น การดูรูปรอบแรก ต้องสังเกตให้ดีๆ ค่ะว่ามีข้อมูลอะไรให้บ้าง

    2. อ่านการ์ตูน
       เป็นการ์ตูนสั้นๆ มาให้ มีบทสนทนาเล็กน้อย แต่จะเน้นสอดแทรกมุขตลก ที่เราคนไทยอาจจะเก็ทบ้างไม่เก็ทบ้าง >//< การอ่านประเภทนี้จะยากกว่าประกาศในข้อแรก ต้องคิดมากขึ้น เพราะคำถามอาจจะถามบทสรุปของการ์ตูน หรือ สิ่งที่ตัวการ์ตูนในเรื่องทำ ซึ่งนอกจากจะต้องเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในการ์ตูนแล้ว ต้องรู้ด้วยว่าคำตอบนั้น ถ้าเป็นภาษาอังกฤษจะใช้คำว่าหรือประโยคแบบไหน


ตัวอย่างข้อสอบ Eng O-NET 2559
 

   3. อ่านบทความสั้น
       จะเริ่มเป็นบทความจริงๆ เริ่มมีย่อหน้า แบ่งบทความเป็นพารากราฟ แต่จะสั้นๆ เพียง 1-3 พารากราฟค่ะ มักจะเป็นข่าวหรือเรื่องเล่าสั้นๆ

   4. อ่านบทความยาว
       บทความในรูปแบบนี้จะยาวขึ้นมากกกก เคยเจอน้องๆ บ่นว่า Text ยาว 2 หน้าก็มี สงสารเลย ซึ่งรูปแบบนี้แหละค่ะ ที่เด็กไทยกลัวมากที่สุด บางคนไม่กลัวค่ะแต่ขี้เกียจอ่าน อ่านย่อหน้าที่สามยังไม่ทันเข้าใจดี ก็ลืมเนื้อหาของย่อหน้าแรกซะแล้ว ดังนั้นการอ่านบทความยาวๆ แบบนี้ต้องตั้งสติให้มาก และอย่าลืมหาเทคนิคไปใช้ด้วย
 

ตัวอย่างความยาวข้อสอบแบบ passage ยาว จริงๆ มีต่อหน้า 2 นะคะ >//<
ข้อสอบ GAT Eng 2/2553

    ซึ่งพอเป็นรูปแบบของบทความแล้ว แนวคำถามก็จะหลากหลายขึ้น หลักๆ จะมี
       4.1 การถาม main idea ซึ่งก็คือใจความสำคัญของเรื่องนั้นๆ นั่นเอง เราเรียนกันมาแล้วว่า main idea มักจะอยู่ไม่ต้นก็ท้ายย่อหน้าบทความ หลักนี้ยังใช้ได้อยู่เสมอนะ
        4.2 การถามวัตถุประสงค์ อันนี้จะยากหน่อย เพราะอ่านแล้วต้องมาตีความต่อว่า บทความนั้นๆ มีจุดประสงค์เพื่ออะไร ลำพังเจอข้อสอบแบบนี้ในภาษาไทยก็ว่ายากแล้ว ต้องมาเจอเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษอีก
        4.3 การถามอ้างถึง ในบทความยาวๆ เวลาพูดถึงบางสิ่งบางอย่าง เขาจะไม่ใช้คำๆ นั้นตลอดทั้งเรื่อง อาจจะใช้ This บ้าง It บ้างแล้วแต่บริบท ถ้าเราอ่านแบบไม่มีสติตั้งแต่แรก พอมาเจอสรรพนามหลังๆ จะเริ่มงงแล้วว่าเขาพูดถึงอะไร และนี่แหละคือที่มาของคำถาม ตัวอย่างโจทย์ที่ให้มา เช่น "This" (paragraph 2) refer to? หรือ "This" ในพารากราฟที่ 2 หมายถึง/กล่าวถึงอะไร เราจะต้องกลับไปอ่านอีกครั้งว่า This คำนั้นพูดถึงส่วนใดของเนื้อเรื่อง ถึงจะตอบออกมาได้ถูกต้อง
      ในโจทย์รูปแบบนี้ พี่มิ้นท์มีเคล็ดลับที่ทำให้เราอ่านและกลับมาหาคำตอบได้ง่ายขึ้น ก็คือ การจดเลขบรรทัดไว้ทุกบรรทัดค่ะ หรือถ้ากลัวเสียเวลา จดบรรทัดเว้นบรรทัด แบบ 1 3 5 7 9 แบบนี้ก็ได้ เพราะบางทีโจทย์อาจอ้างถึงตัวบรรทัดก็ได้นะ

    เทคนิคการอ่านให้เร็ว ตอบให้แม่นเป๊ะ
    เอาล่ะ รู้แนวคำถามไปบ้างแล้ว มาถึงเทคนิคที่อยากจะแนะนำน้องๆ เมื่อเจอ passage ยาวๆ ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ดู
  
 
     1. อ่านชื่อเรื่อง + skimming ดูภาพรวมเนื้อหา

      ถ้ามีชื่อเรื่อง ดูชื่อเรื่องแล้วรีบอ่านเนื้อหาแบบ skimming คือ อ่านแบบเร็ว ไม่ต้องเก็บรายละเอียดทุกอย่าง ไม่ต้องแปลทุกคำ เอาแค่อ่านรวมๆ แล้วได้คีย์เวิร์ดติดหัวมาบ้าง เพื่อให้รู้ว่าเรากำลังอ่านบทความเรื่องอะไร หมวดไหน เช่น อ่านเรื่องท่องเที่ยว เรื่องการแพทย์ เรื่องสุขภาพ เป็นสุด อ่านให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้
      นอกจากการ skimming แล้ว อีกเทคนิคที่อยากจะให้ใช้ควบคู่กันก็คือ การจำเป็นภาพ คือ ระหว่างอ่านเร็วๆ ให้จดจำไปด้วยว่าแต่ละย่อหน้าพูดถึงอะไร เช่น ถ้าเราไปอ่านโจทย์เจอถามเรื่องที่ตั้งเมือง ในหัวจะนึกได้ทันทีว่าอยู่ย่อหน้าไหน เป็นต้น

     2. อ่านคำถาม + ช้อยส์
      เมื่ออ่านแบบสกิมมิ่ง 1 รอบเสร็จแล้ว ให้ข้ามมาอ่านโจทย์และช้อยส์ด้านล่างก่อน เพื่อดูว่าเขาถามอะไรบ้าง ถ้ามีหลายข้อ กลัวลืม แนะนำให้วงคีย์เวิร์ดของคำถามไว้ เช่น main idea ถามเมนไอเดีย, TRUE ข้อความที่ถูกต้องที่สุด เป็นต้น พร้อมกับอ่านช้อยส์คร่าวๆ ช้อยส์ข้อไหนที่อ่านแล้วคุ้นๆ อาจจะทำสัญลักษณ์เล็กๆ เอาไว้ก็ได้


อ่านโจทย์แล้วทำสัญลักษณ์ใจความของคำถามเอาไว้ด้วย

ตัวอย่างข้อสอบ Eng O-NET 2559
 

    3. กลับไปอ่านเนื้อเรื่องแบบสแกนหาคำตอบ
       เอาล่ะ รู้เนื้อหาคร่าวๆ และรู้ประเด็นที่โจทย์ต้องการถามก็ได้เวลาลุย ช่วงนี้ให้กลับไปที่ตัวบทความอีกครั้งนึง แล้วใช้วิธีการอ่านแบบสแกน คือ การเจาะบทความเพื่อหาคำตอบค่ะ มุ่งไปที่การอ่านเพื่อเอาคำตอบ ไม่ใช่การอ่านแบบเก็บรายละเอียดทุกอย่าง โดยเฉพาะการถามที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง เช่น ถามชื่อ ถามร้าน ถามเมือง ถามปี พ.ศ. ใช้วิธีนี้จะไวมาก ยกเว้นการถามสรุปความ ข้อใดถูก ข้อใดผิด แบบนี้อาจจะต้องตั้งใจอ่านกันนิดนึง
       ส่วนใหญ่น้องๆ มักจะตกม้าตายหาคำตอบไม่เจอ แล้วต้องอ่านวนไปวนมาหลายๆ รอบ ซึ่งการอ่านแบบสแกนหาคำตอบจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และอยากให้น้องๆ นึกไว้อยู่เสมอว่า เมื่อเราอ่านหาคำตอบข้อนี้แล้ว สิ่งที่เราอ่านจะต้องอยู่ในหัวเราตลอดด้วย ข่อต่ไปจะได้ไวขึ้น ไม่ใช่เจอคำตอบปุ๊บลืมเนื้อเรื่องทั้งหมดปั๊บ พอไปอ่านโจทย์ข้อต่อไปก็ต้องกลับมาอ่านทั้งหมดใหม่อีก เสียเวลาค่ะ

   4. ระหว่างอ่านใช้ดินสอลากตามไปด้วย
       สุดท้ายแล้ว เป็นเทคนิคเสริมที่ค่อนข้างจำเป็น ระหว่างการอ่าน ใหใช้ดินสอหรือปากกานำสายตาไปด้วยค่ะ การอ่านอะไรยาวๆ จะหลงบรรทัดได้ง่ายมาก ถ้าไม่มีสมาธิ ยิ่งเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าหลงจนต้องเริ่มใหม่บ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องสนุกแน่นอน ดังนั้นค่อยๆ ใช้ดินสอลากตามข้อความที่เราอ่าน จะช่วยเพิ่มสมาธิให้กับเราได้ด้วยนะ ลองดูๆๆ
       และอย่าลืมสิ่งที่พี่มิ้นท์ได้บอกไปตั้งแต่ช่วงแรกๆ ว่า ใส่เลขบรรทัดไว้หน้าข้อด้วย เวลากลับมาหาข้อความหรือคำตอบ จะได้ง่ายขึ้นจ้า

       แต่ก่อนนี้พี่มิ้นท์ก็เป็นคนนึงที่กลัวพาร์ท Reading ค่ะ เพราะจับใจความไม่ค่อยได้ ต่อมาถึงได้รู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องครบทุกบรรทัด ไม่ต้องแปลได้เหมือนแปลหนังสือขาย ขอแค่จับใจความสำคัญให้ได้ สแกนหาคำตอบให้เป็น และทำข้อสอบให้ทัน แค่นี้ก็ได้คะแนนแล้วค่ะ สุดท้ายอย่าลืมฝึกทำข้อสอบเยอะๆ หลายๆ แนวบทความ เพื่อให้รู้ศัพท์ในแต่ละกลุ่มค่ะ สู้ๆ จ้า
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น