แชร์ 5 วิธีออมเงินง้ายง่าย ปลายเดือนมีเงินเหลือ! เด็กมหา’ลัยทำได้ เด็กมัธยมฯ ทำดี

เคยเป็นไหม “เจออะไรก็มือไม้สั่นไปหมด”
เคยเป็นไหม “อันนี้ก็สวย อันนั้นก็ดี อยากได้”
เคยเป็นไหม “ใครชวนไปไหน ทำอะไร กินอะไร ไม่เคยปฏิเสธ”
เคยเป็นไหม “รู้ตัวอีกที ก็จ่ายเงินเรียบร้อยไปแล้ว”
เคยเป็นไหม “ก็ว่ากินไม่เยอะ ใช้ไม่เยอะ ทำไมเงินไม่เหลือ”
     ในเดือนๆ นึง หลายคนมีการใช้จ่ายเงินอย่างนับไม่ถ้วน ทั้งค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเครื่องเขียนอุปกรณ์การเรียน ค่าเสื้อผ้าหน้าผม และจิปาถะทั่วไป โดยเฉพาะบรรดานักเรียนนักศึกษา ใช้จ่ายตามใจตามปาก รู้ตัวอีกทีเงินก็หมดกระเป๋าซะแล้ว
 

 
     นอกเหนือจากเรื่องเรียนเรื่องสอบแล้ว เรื่องเงินๆ ทองๆ นับเป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องนึงของบรรดานักเรียนนักศึกษา ไม่ว่าจะมีรายรับแบบไหน เป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือว่ารายเดือน ก็ต่างเจอกับปัญหาเรื่อง “ไม่มีเงินเก็บ” ได้เหมือนกันทั้งนั้นค่ะ
 
     ตอนสมัยเรียนพี่แนนนี่เองก็เคยมีปัญหาเหล่านี้ วันนี้เลยจะมาแชร์วิธีเก็บเงิน วิธีบริหารเงิน ที่เคยลองใช้กับเพื่อนๆ แล้วได้ผล รับรองว่าน้องๆ มีเงินเหลือเก็บเหลือใช้แน่นอน
 
     แต่ก่อนอื่น ถ้าน้องๆ อยากให้วิธีเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก็จะต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย คอยจดยอดเงินทุกครั้งที่ใช้ จะทำเป็นแบบสมุดจด หรือใช้เป็นแอปพลิเคชั่นก็ได้ ตามแต่สะดวกเลย แต่อาจจะจดแค่คร่าวๆ ว่าซื้ออะไรไปเท่าไหร่ ไม่ถึงกับต้องลงรายละเอียดก็ได้ค่ะ ซึ่งการจดรายรับรายจ่ายจะทำให้น้องๆ ได้รู้ว่า จริงๆ แล้วอะไรที่จำเป็นและอะไรที่ไม่จำเป็นในการใช้จ่าย ส่วนไหนที่สามารถตัดออกไปได้ ก็จะได้ตัดค่ะ
 

 
     สำหรับวิธีการออมเงิม มี 5 วิธีค่ะ น้องๆ อาจจะเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือนำหลายๆ วิธีมาใช้พร้อมๆ กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนรายรับและลักษณะการใช้เงินของน้องๆ ด้วยนะคะ
 
วิธีที่ 1 ร้อยละ 10
     เป็นการเก็บเงิน 10% ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 วิธี น้องๆ สามารถเลือกที่เหมาะสมกับตัวเองได้เลย
- 10% จากรายรับที่ได้
ให้น้องๆ แบ่งเงินจากรายรับทั้งหมดที่มีเอาไว้ก่อน 10% แล้วนำเงินที่เหลือมาจัดสรรเป็นสัดส่วน เพื่อนำไปใช้
เช่น น้องเอ ได้เงินค่าขนมจากคุณพ่อคุณแม่สัปดาห์ละ 1,000 บาท ให้เก็บใส่กระปุกไว้ 100 บาท ทุกครั้งทันทีที่ได้เงิน ซึ่งจะสามารถใช้เงินได้จริงๆ แค่ 900 บาทต่อสัปดาห์เท่านั้น
 
- 10% จากรายจ่ายในแต่ละวัน
หมายความว่า ในแต่ละวันไม่ว่าน้องๆ จะใช้จ่ายไปเท่าไหร่ ก็ต้องนำเงินมาเก็บ 10% จากรายจ่ายนั้นๆ
เช่น วันนี้น้องเอใช้ไปทั้งหมด 134 บาท น้องก็ต้องเก็บเงินใส่กระปุกเอาไว้ 14 บาท (ถ้าเงินเป็นเศษทศนิยมก็ลองปัดขึ้นดู จะได้มีเงินเก็บเยอะๆ )
 

 
Tip: ถ้าในแต่ละวัน หรือสัปดาห์ หรือเดือน น้องๆ มีเงินเหลือจากที่ใช้ค่อนข้างมาก ก็อาจจะลองเพิ่ม % ในการเก็บออมดู จาก 10 อาจเพิ่มเป็น 15 หรือ 20 ก็ได้ค่ะ
 
วิธีที่ 2 "เหรียญ" ของต้องห้าม
     ในแต่ละครั้งที่ได้เงินทอนเป็นเหรียญ ให้น้องๆ เก็บไว้ แรกๆ อาจจะเก็บ แค่เหรียญ 10 ชนิดเดียวก่อน ต่อมาก็เพิ่มเหรียญ 5 เหรียญบาท เหรียญ 50 สตางค์ และเหรียญ 25 สตางค์ ตามลำดับ หรือจะเลือกชนิดที่จะเก็บ เช่น อาจจะเก็บทั้งเหรียญ 10 และเหรียญ 5 หรือเก็บแค่เหรียญ 5 ก็ได้ พอสิ้นเดือนก็ลองเอาออกมานับดู น่าจะได้หลายร้อยอยู่นะ
 

 
Tip: อาจจะลองคำนวณดูว่า ถ้าจ่ายด้วยแบงค์หรือเหรียญอะไร ถึงจะมีโอกาสได้รับเงินทอนเป็นเหรียญที่เราเก็บบ้าง
 
วิธีที่ 3 แบงค์หายาก
     ตอนนี้ธนบัตร หรือแบงค์เงินสกุลบาทของเรา มีทั้งหมด 5 สี 5 มูลค่า ได้แก่ สีเทา (1,000 บาท) สีม่วง (500 บาท) สีแดง (100 บาท) สีฟ้า (50 บาท) และสีเขียว (20 บาท) ซึ่งถ้าหากพูดถึงแบงค์ที่จะเราเจอได้น้อยในที่สุด (ยกเว้นแบงค์สีเทา ที่เรามีเงินไม่ถึงแล้วนั้น) ก็คงจะเป็น แบงค์สีฟ้า มูลค่า 50 บาทนี่แหละ พี่แนนนี่เลยแนะนำให้น้องๆ ลองเก็บแบงค์ 50 บาท ทุกครั้งที่ได้รับมา เก็บแยกส่วนไว้ไม่ใช้ เอาแบบลืมไปเลยก็ได้
 

 
Tip: ลองคำนวณได้เช่นกันนะคะว่า จะจ่ายเงินไปเท่าไหร่แล้วมีโอกาสได้รับเงินทอนเป็นแบงค์ 50 บ้าง เช่น ซื้อของ 45 บาท แทนที่จะจ่ายแบงค์ 20 เป็นเงิน 60 บาท ก็ลองจ่ายแบงค์ 100 ก็จะมีโอกาสได้แบงค์ 50 มาครอบครอง
 
วิธีที่ 4 วันนี้วันที่เท่าไหร่
     หลายๆ คนอาจจะเคยเห็น เก็บเงินตามวัน ฉบับ 365 วันกันบ้างแล้ว แต่พี่แนนนี่ว่ามันเยอะเกินไปสำหรับเด็กๆ อย่างเรา ก็เลยเอามาย่อส่วนลงค่ะ เหลือเป็นวันในแต่ละเดือนค่ะ แต่ละวันก่อนออกจากบ้าน ให้น้องๆ ดูว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ แล้วเก็บเงินไว้ตามจำนวนนั้นค่ะ ในหนึ่งเดือนจะมีตั้งแต่ 28 – 31 วัน น้องๆ ก็จะเก็บเงินได้ประมาณ 406 - 496 บาทต่อเดือนเลยนะ
 

 
Tip: ถ้าตัวเลขเป็นเศษก็อาจจะเติมให้เต็มเป็นเลขกลมๆ ก็ได้นะคะ
 
วิธีที่ 5 เงื่อนไขนำโชค
     ลองมองหานิสัยที่ไม่ดี หรือที่แก้ไม่หายของตัวเอง หรืออะไรที่ชอบเผลอทำ เช่น กินน้ำอัดลม ไม่กินผัก กลับบ้านดึก ไม่อ่านหนังสือ ลืมทำการบ้าน เล่นเกมจนดึก หรือ ไม่ทำงานบ้าน เป็นต้น จากนั้นก็เอามาตั้งเป็นเงื่อนไขว่า ถ้าเป็นแบบนี้ หรือทำแบบนี้ จะต้องปรับเงินครั้งละ XX บาท ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะได้เงินเก็บแล้ว อาจจะเป็นวิธีที่ช่วยให้เราแก้นิสัยเหล่านั้นได้ด้วยนะคะ
 

 
     สำหรับในเรื่องของการบริหารเงิน พออ่านถึงตรงนี้น้องๆ อาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ แล้วถ้าเราเก็บเงินไปแล้ว แต่ละวัน/สัปดาห์/เดือน เราจะมีวิธีการบริหารเงินยังไงได้บ้าง พี่แนนนี่ก็มีมาฝาก 2 วิธีค่ะ
 
1) ให้กำหนดจากเงินทั้งหมดที่มีว่า ในแต่ละวัน ควรจะใช้ไม่เกินเท่าไหร่
เช่น จากที่แบ่งไปเก็บแล้ว ในสัปดาห์นึงเหลือเงินใช้ 900 บาท ลองเอามาหาร 7 ดู (1 สัปดาห์มี 7 วัน) เท่ากับว่า วันนึงไม่ควรใช้เกิน 128 บาท ถ้าวันไหนเงินเหลือก็อาจจะเก็บไว้อีก หรือทบไปอีกวันก็ได้
 
 
 
2) ให้กำหนดตามประเภทที่ต้องใช้จ่าย
ลองแบ่งหมวดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าอาหารเครื่องดื่ม ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์การเรียน แต่ละประเภทไม่ควรใช้เกินเท่าไหร่ต่อวัน/สัปดาห์/เดือน อาจจะคำนวณจากรายรับรายจ่ายของเดือนก่อนๆ หรือลองคาดเดาคร่าวๆ จากค่าครองชีพ
 

 
     วิธีการเก็บเงินและบริหารเงินของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไปตามจำนวนรายรับ ค่าครองชีพ และลักษณะการใช้เงิน ถ้าน้องๆ Dek-d คนไหน มีวิธีที่ใช้แล้วได้ผล ลองเอามาแชร์กับเพื่อนๆ ดูนะคะ เผื่อจะรวยไปด้วยกัน
 


ขอขอบคุณรูปภาพจาก Pixabay, Freepix
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น