สรุป! บัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ TCAS รอบ 3 เลือกไปแล้ว ต่างจากเรียนปกติ ยังไง?

     ก่อนหน้านี้ใครหลายๆ คนอาจจะได้ยินได้เห็น “หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อประเทศไทย 4.0” ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง หรือน้องๆ บางคนที่เข้าไปสมัคร TCAS รอบ 3 ก็จะเจอกับ banner หลักสูตรนี้อยู่ที่หน้าเว็บไซต์ของทปอ. หรือตอนยืนยันการสมัคร มีให้เลือกว่า “เข้าร่วมโครงการนี้หรือไม่ด้วย” เพราะเป็นสาขาวิชาที่มีรายชื่ออยู่ในหลักสูตรนี้ด้วย
 

 
     “หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อประเทศไทย 4.0” เปิดรับสมัครนักศึกษาเพื่อศึกษาในภาคเรียนที่ 1/2561 นี้ โดยเปิดรับสมัครรอบแรกใน TCAS รอบ3 รับตรงร่วมกัน จำนวน 16 หลักสูตร จาก 9 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (อ่านหลักสูตร: คลิก)
 
     น้องๆ หลายคนที่สนใจเข้าหลักสูตรเหล่านี้ เกิดความสงสัยว่าการเรียนการสอน จะแตกต่างยังไงกับหลักสูตรปกติกัน แล้วใครที่อยากศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวจะต้องเข้าร่วมโครงการหรือไม่ วันนี้พี่แนนนี่มีคำตอบจากการเข้าฟังการแถลงข่าวประเด็น TCAS ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. มาฝากกันค่ะ
 
แตกต่างอย่างไร?
     โครงการหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ จะเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ระยะเวลาไม่น้อย 50% ซึ่งจะแตกต่างจากการฝึกงาน เนื่องจากถ้าเป็นการฝึกงาน สถานประกอบการอาจจะไม่ได้ให้งานเต็มที่ ไม่คิดว่าเป็นพนักงานบริษัท และก็แตกต่างจากสหกิจศึกษา เดิมสหกิจศึกษาเน้นให้รู้จักการเป็นลูกจ้างบริษัท ใช้ชีวิตแบบลูกจ้างบริษัท แต่ขาดการบ่มเพาะ หรือพัฒนาการเรียนรู้ในที่ทำงาน
      หลักสูตรนี้จึงเป็นการร่วมมือกันในกระบวนการผลิตนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการ และต้องมีคนมาคอยบริหารจัดการนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ และคนในสถานประกอบการจะต้องเป็น Co-teaching Co-coaching มีการประสานกัน ร่วมกันบ่มเพาะนักศึกษา หาประเด็นให้ศึกษาเวลาทำงาน ร่วม discuss กัน คล้ายๆ กับการทำ project กับทางมหาวิทยาลัย แต่เป็นทำร่วมกับบุคลากรในสถานประกอบการ และนักศึกษาจะได้รับการปฏิบัติเหมือนพนักงานคนหนึ่ง ถ้าเกิดการทำผิดกฎของสถานประกอบการ ก็มีโทษเหมือนกับพนักงาน
 
ด้านการเรียนการสอน และการรับสมัคร
     ในการรับสมัคร 16 สาขาวิชา หรือ 16 หลักสูตรในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ที่เปิดรับสมัครใน TCAS รอบที่ 3 นี้ แต่ละมหาวิทยาลัยจะเปิดรับสมัครแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละสาขาวิชา นั่นหมายความว่า เป็นไปได้ที่บางสาขาวิชาจะเปิดรับทั้งโครงการปกติ และโครงการใหม่ แยกจากกัน เช่น อย่างละ 40 คน และก็มีความเป็นไปได้ที่จะรับเป็นโครงการใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้ จะต้องสอบถามเข้าไปยังแต่ละสาขาแต่ละมหาวิทยาลัยที่สนใจ รวมถึงการเรียนการสอน นักศึกษาอาจจะศึกษาในบางวิชา อย่างวิชาพื้นฐานของสาขาร่วมกัน และในบางสาขาวิชาแยกกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละสาขาวิชา
 
     ทั้งนี้ น้องๆ คนไหนที่ต้องการศึกษาในหลักสูตรที่เข้าร่วมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ สามารถเลือกได้ว่า จะเรียนในโครงการปกติ หรือเข้าร่วมโครงการก็ได้ ถ้าสนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถแจ้งความประสงค์ได้ในขั้นตอนการสมัคร TCAS รอบ 3 บนเว็บไซต์ของทปอ. ได้เลยค่ะ
 
      นอกจากนี้ทปอ.ยังได้ชี้แจงอีกว่า จะมีหลักสูตรมาเข้าร่วม “โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ” เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ น้องๆ สามารถติดตามรายละเอียดและหลักสูตรใหม่ๆ ได้ในระบบการสมัคร TCAS รอบที่ 5 นี้ค่ะ
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

MZR 11 ก.พ. 62 20:16 น. 1

กรุณาศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องสหกิจศึกษาหรือ Cooperative Education ให้ถูกต้องด้วยครับ ว่าสหกิจศึกษาก่อให้เกิดกระบวนการบ่มเพาะนักศึกษาอย่างไร การเขียนข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเช่นนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ครับ สิ่งที่ผู้เขียนเขียนมา "หลักสูตรนี้จึงเป็นการร่วมมือกันในกระบวนการผลิตนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการ และต้องมีคนมาคอยบริหารจัดการนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ และคนในสถานประกอบการจะต้องเป็น Co-teaching Co-coaching มีการประสานกัน ร่วมกันบ่มเพาะนักศึกษา หาประเด็นให้ศึกษาเวลาทำงาน ร่วม discuss กัน คล้ายๆ กับการทำ project กับทางมหาวิทยาลัย แต่เป็นทำร่วมกับบุคลากรในสถานประกอบการ และนักศึกษาจะได้รับการปฏิบัติเหมือนพนักงานคนหนึ่ง ถ้าเกิดการทำผิดกฎของสถานประกอบการ ก็มีโทษเหมือนกับพนักงาน" คือสิ่งที่สหกิจศึกษาทำอยู่มานานกว่า 20 ปีแล้ว

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด