สวัสดีค่ะ อีกไม่กี่วัน รายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกการสมัคร TCAS รอบ 3 ก็จะประกาศออกมาแล้วนะคะ น้องบางคนค่อนข้างกังวลว่ารอบนี้ ถ้าประกาศออกมาว่า "มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์" เราจะสอบติด 100% เลยไหม? หรือมีคัดออกอีก ไม่ค่อยมั่นใจ วันนี้พี่เมก้าเลยมี "How to ปรับบุคลิกให้กระแทกใจกรรมการสัมภาษณ์" มาฝาก นี่เป็นเทคนิคที่นักจิตวิทยายืนยันมาแล้วว่าใช้ได้ผลจริง! เตรียมตัวให้พร้อม แล้วไปลุยกันเลยค่ะ


 
สอบติดแล้ว! ชมตัวเองรึยัง?
          เมื่อสอบติดสิ่งแรกที่ควรทำคือกรี๊ดลั่นบ้าน แล้วก็ชมตัวเองไปเลยว่า "อู้หู! เก่งใช่ย่อยนะเราเนี่ย" กว่าจะผ่านด่านรอบ 3 มาได้ น้องๆ ก็รู้ว่าเราทุลักทุเลกันมาขนาดไหน เรียนหนัก อ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืน สอบมาราธอนติดกันเป็นเดือน ระดับนี้ไม่มีคำว่าฟลุ๊กแน่นอน! อย่ามองข้ามความสำเร็จ เพราะนั่นจะทำให้สง่าราศีในตัวน้องๆ ดร็อปลงค่ะ จงเชื่อมั่นในตัวเองนะคะ

ยืนยันว่า "เราคือใคร!"
          ความมั่นใจอย่างเป็นธรรมชาติ คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้กรรมการสอบสัมภาษณ์ประทับใจในตัวเรามากขึ้นค่ะ ก่อนไปสัมภาษณ์ลองมองหาคุณค่าในตัวเอง แล้วปักหมุดลงไปในใจเลยว่า "เรามีดีและจะใช้ข้อดีของเรากับการสอบสัมภาษณ์ครั้งนี้ยังไง" หลังจากพบคุณค่าของตัวเองแล้ว ตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอนให้ทบทวน หรือเขียนติดใส่กระดาษในทุกที่ที่น้องมองเห็น นี่เป็นวิธีที่เรียกว่า "Self - Affermation (Positive Affirmation) หรือการยืนยันตัวเอง" ค่ะ

          เวลาโดนจ้องตอนถูกสัมภาษณ์ ความรู้สึกกดดัน + เครียด มักจะตามมาเป็นธรรมดา แต่ถ้าไม่ลืมจุดแข็งของตัวเอง สิ่งนี้จะช่วยลดความประหม่า สร้างแรงฮึด และทำให้พร้อมรับแรงกดดันได้ดี  


 
เด็กแบบเราคือ "อนาคตของคณะ"   
          จำไว้ว่าเราจะเดินเข้าห้องสัมภาษณ์ไปแบบเหม่อลอยจิตใจห่อเหี่ยวเหมือนเตรียมเข้าห้องดำไม่ได้ค่ะ น้องต้องเชื่อมั่นและเติมเต็มศักยภาพให้ตัวเองได้ว่า "ด้วยความสามารถที่มี เราเหมาะที่จะเป็น 1 ในนักศึกษาของที่นี่ และวางเป้าหมายไว้ให้ตัวเองอย่างไร" เช่น อยากเป็นนักกิจกรรมที่ช่วยงานคณะ-มหา'ลัยได้ อยากเรียนวิชาเอกในสาขา A จนเชี่ยวชาญ เพื่อนำไปใช้กับการทำงานในอนาคต ฯลฯ การกำหนดเป้าหมายในใจนี้ ทำให้เวลากรรมการป้อนคำถามมา เรารู้จุดยืนในตัวเอง

          และจากเป้าหมายที่มีอยู่ ก็สามารถแตกออกไปตอนซ้อมตอบคำถามสัมภาษณ์ได้ด้วยว่า เราต้องเตรียมอ่านข้อมูลอะไรบ้าง ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับมหา'ลัย คณะ สาขา เรามีมากพอหรือยัง? ไม่ต้องไปเสี่ยงนั่งติดอ่าง สมองว่างเปล่าให้ใจแป้วด้วย แล้วถ้าความคิดเราน่าสนใจเข้าตากรรมการ นี่ก็ถือเป็นการเพิ่มแต้มคะแนนให้ตัวเองด้วยค่ะ แล้วจะทำยังไงให้หน้าตาดูฝากความหวังไว้ได้? 


ชุดนักเรียนเนี้ยบนิ้ง
          แต่งชุดนักเรียนแบบสุภาพ น้องผู้ชายจัดทรงผมให้เข้ารูปเข้าทรง เก็บชายเสื้อไว้ในกางเกง น้องผู้หญิงผมยาว เก็บผมให้เรียบร้อย เก็บชายเสื้อใส่กระโปรงเช่นกัน ถ้าชุดส่งเสริมให้เราดูสมาร์ท ก็จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้เราได้ค่ะ เดินเข้าห้องสัมภาษณ์ไปแบบชายเสื้อหลุดรุ่ย ผมเผ้ากระเซอะกระเซิง หรือรีบไปยอมสีผมมาซะแดงเถือก นอกจากจะสื่อถึงความไม่มืออาชีพแล้ว อาจเสี่ยงต่อการถูกปรับตกสัมภาษณ์ได้   

ทำความคุ้นเคยกับ "ภาษากาย"
          แต่ละคนมีภาษากายที่แตกต่างกัน แต่บุคลิกภาพที่ดีนั้นควรมาจากภาษากายแบบไหน? เริ่มตั้งแต่ความประทับใจแรกพบเลยค่ะ ท่าทางการเดินของน้องๆ ไม่เดินห่อไหล่ หรือเดินตัวเกร็ง ไหว้กรรมการเอาฤกษ์เอาชัยก่อนเลย ตอนตอบคำถามสัมภาษณ์ ระวังอย่าหลบสายตาหรือนั่งหลุกหลิกไปมา มันเสียบุคลิก และดูเหมือนเราไม่ตั้งใจฟังด้วยค่ะ


 
          ถ้าตื่นเต้นจนไม่รู้จะวางมือไว้ตรงไหน ไม่ต้องยกขึ้นมาถูเสื้อ ถูกระโปรงไปมาค่ะ ให้จับประสานวางไว้ที่หน้าตัก หรือวางบนโต๊ะด้านหน้าอย่างเป็นธรรมชาติ "งดนั่งกอดอก - เคาะโต๊ะ - ไขว่ห้าง" เด็ดขาด! เพราะนี่เป็นท่าทางที่ไม่สุภาพ และดูไม่ให้เกียรติผู้สัมภาษณ์อย่างร้ายแรง กรรมการสัมภาษณ์ป้อนคำถามมาเมื่อไหร่ ส่ง Eye Contact สบตาปิ๊งๆ พร้อมรอยยิ้มสดใสไปให้เลย รอยยิ้มช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลายได้จริงๆ นะคะ ลองฝึกยิ้มหน้ากระจกดูก่อนก็ได้ ถ้าไม่มั่นใจว่ารอยยิ้มเราดูฝืนๆ หรือดูเหมือนแยกเขี้ยวซะมากกว่า 

ซ้อมสัมภาษณ์ เวลาลงสนามจริงจะทำได้แบบที่ซ้อม!
          ถ้าน้องเป็นคนขาดความมั่นใจมากๆ ไม่กล้าแสดงความคิด พูดน้อยเหมือนกลัวดอกพิกุลจะร่วง ลองหาต้นแบบไอดอลนักพูดที่ดีและเก่ง แล้วสมมติว่าตัวเองเป็นแบบเขาดูค่ะ นี่อาจเป็นอีกวิธีที่ช่วยเรียกความมั่นใจให้กลับคืนได้ พี่เมก้านึกถึงพี่โอปอลล์ ปาณิสรา พี่สาวคนนี้ฉลาดพูดมากๆ บุคลิกดีสุดๆ ซึ่งกว่าที่น้องๆ จะมาถึงจุดนี้ได้ ก็ต้องผ่านการฝึกฝน ฝึกคิดมาเป็นอย่างดี ช่วงแรกที่ฝึกอาจจะดูขำตัวเองไปหน่อย เพราะเราไม่ชิน แต่ฝึกไปฝึกมา เชื่อเถอะว่าน้องๆ จะหาธรรมชาติของตัวเองเจอ และความเรียลจะตามมาเองค่ะ หาโอกาสซ้อมสอบสัมภาษณ์กับคนใกล้ชิดดู ตอนลงสนามจริงจะได้ช่วยลดความประหม่าลงไปได้อีกเยอะ
 

พูดจาฉะฉาน น้ำเสียงน่าฟัง
          การพูดงึมงัมในลำคอ นอกจากจะทำให้กรรมการฟังไม่รู้เรื่อง ยังน่ารำคาญจนอยากยกปากกาขึ้นมาตัดคะแนนเราด้วยนะคะ น้องๆ ไม่จำเป็นต้องพูดเสียงดัง ข่มเสียงให้ดูเข้ม น่าเกรงขาม ขอให้เปล่งน้ำเสียงน่าฟังออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ตอบคำถามด้วยความมั่นใจ ฉะฉาน นี่ก็ถือเป็นจุดขายให้เราได้แล้วค่ะ ที่อยากให้ระวังคืออย่าหลุดประเด็น อย่าวกวนอ้อมโลก ตอบให้ตรงคำถามเข้าไว้ เรื่องไหนไม่รู้ ก็กล้าที่จะยอมรับว่าไม่รู้ แล้วให้ความมั่นใจกับผู้สัมภาษณ์ว่าจะกลับไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม


 
          ตอนสอบสัมภาษณ์น้องอาจจะโดนป้อนคำถามกดดันจนอยากจะหายตัวไปเลย เช่น

          ๐ คิดว่าตัวเองทำคะแนนสอบได้ดีระดับไหน?
          ๐ คะแนนน้อยที่สุดในรุ่นเลยนะ จะเรียนไหวเหรอ?
          ๐ ไหนลองแสดงความสามารถพิเศษซิ ทำได้แค่นี้เหรอ?
          ๐ คิดว่าเธอโดดเด่นกว่าคนอื่นยังไง ทำไมคณะต้องรับเธอเข้ามา?

          ทั้งหมดนี้คือคำถามวัดทัศนคติค่ะ ถ้าเผลอไปตอบในมุมที่สื่อให้เห็นความคิดด้านลบต่อตัวเอง แสดงท่าทีก้าวร้าว หรือวิจารณ์คนอื่นเพื่อทำให้ตัวเองดูสูงขึ้น ผู้ฟังไม่ประทับใจชัวร์!

          สติคือเรื่องสำคัญในการตอบคำถามสัมภาษณ์เลยค่ะ อย่ารีบพูดแทรก รอให้ครูผู้สัมภาษณ์ถามคำถามให้จบก่อน แล้วค่อยตอบตามสเต็ป แล้วการสัมภาษณ์จะผ่านไปด้วยดีค่ะ 


ไม่ต้อง "เพอร์เฟคท์" ไปทั้งหมดก็ได้
          น้องๆ เคยได้ยินคำว่า "เพอร์เฟคท์ในความไม่เพอร์เฟคท์" ไหมคะ หลายคนเลยชอบยึดติดกับคำว่า "เพอร์เฟคท์" แล้วพอล้มเหลวหรือผิดหวังขึ้นมา ก็มักจะยอมรับไม่ค่อยได้ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่มีอะไรเพอร์เฟคท์ไปได้ตลอดหรอกค่ะ เราเตรียมตัวไปให้ดีที่สุดก็พอ ไม่จำเป็นต้องคาดหวังว่าการสอบสัมภาษณ์ของเราจะต้องไม่มีจุดบกพร่องใดๆ เราสามารถทำได้ทุกอย่าง หรือรู้ทุกเรื่อง เพอร์เฟคชั่นนิสต์ส่วนใหญ่มักจะมีความนับถือตัวเองน้อย เพราะชอบจับผิดและวิจารณ์ตัวเองตลอดเวลา

          ถ้าน้องๆ โดนคำถามจี้จุดอ่อนในห้องสอบสัมภาษณ์ ก็อย่าเพิ่งปล่อยโฮหรือวีนแตกกลางห้องนะคะ แค่ยอมรับ แล้วอดทนกับข้อบกพร่องของเรา เราสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ค่ะ แค่นี้พรากพรสวรรค์และความแกร่งในใจเราไปไม่ได้หรอก


          สุดท้ายนี้อยากฝากน้องไว้ว่า การสอบสัมภาษณ์เป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะทำให้คณะกรรมการ (ซึ่งอาจจะเป็นอาจารย์ของเราในอนาคต) รู้จักความเป็นตัวตนของเรา รู้ว่าเรามีความสามารถ และมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเรียนคณะนี้จริงๆ ทั้งลักษะท่าทาง ทัศนคติที่น่าชื่นชม ไหวพริบในการตอบคำถาม และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ดังนั้น ขอให้เตรียมความคิด สติ และความมั่นใจไปแบบเต็ม 100 นะคะ "โชคดี + สอบติด" ถ้วนหน้าค่ะ 
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://psychology.com/12-ways-to-build-self-confidence/
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด