สวัสดีค่ะน้องๆ ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ #dek61 ทุกคนอยู่ในช่วงเตรียมตัวสอบ และสมัครเพื่อคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดใช้ระบบการสมัครสอบที่เรียกว่า TCAS ซึ่งในขณะนี้เป็นการดำเนินการในรอบ 3 หรือรอบรับตรงร่วมกัน และอยู่ในช่วงของการประกาศผลและตัดสินใจค่ะ

 

 
     หากย้อนไปในช่วงของการสอบ หลายๆ คนก็กังวลถึงคะแนนสอบที่จะออกมา ว่าจะไปยื่นในคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ชื่นชอบได้หรือไม่ พอยื่นคะแนนไปแล้ว ก็กังวลว่าจะผ่านการคัดเลือกไหม เรียกได้ว่า ตั้งแต่ช่วงการสมัครสอบ ยื่นใบสมัคร การประกาศผล จนถึงการตัดสินใจเพื่อยืนยันสิทธิ์เคลียริงเฮาส์ ทำให้ทั้งน้องๆ #dek61 และผู้ปกครองหลายๆ คน มีความเครียดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับตัวน้องๆ เอง เพราะแบกรับความหวังของตัวเองและผู้ปกครองด้วย
     ในช่วงเดือนที่ผ่านมาพี่แนนนี่เห็นข้อความในกระทู้ของเว็บไซต์เด็กดี ถึงความรู้สึกของน้องๆ เกี่ยวกับการสอบระบบ TCAS มีทั้งดีใจ เสียใจ สมหวัง ผิดหวัง และความกดดันต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา บอกตามตรงพี่แนนนี่และทีมงานเว็บไซต์เด็กดี เป็นห่วงน้องๆ จึงได้ไปสอบถามคำแนะนำจาก "แพทย์หญิงเบญจพร ตันตสูติ" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือ "คุณหมอมินบานเย็น" แอดมินเพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" มาฝากน้องๆ และผู้ปกครองกันค่ะ
 
  การรับมือกับความผิดหวัง เมื่อสอบไม่ผ่าน
     "สำหรับการสอบ TCAS เป็นระบบใหม่ ซึ่งน้องๆ รู้ล่วงหน้าประมาณ 1 ปี ถือว่ามีเวลาเตรียมตัวที่น้อย เพราะน้องๆ ส่วนใหญ่ก็จะเตรียมตัวกับระบบเก่า แล้วพอมาเจอกับอะไรที่มันเปลี่ยนแปลง รวมถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่างๆ เช่น กรณีเว็บล่มที่ผ่านมา ทำให้น้องๆ หลายคนเครียด ซึ่งมันเป็นความไม่แน่นอน และระยะเวลาก็เลื่อนออกไปเรื่อยๆ การประกาศผล การสัมภาษณ์ก็เลื่อนออกไป แล้วก็ยังเจอกับเหตุการณ์ตอนประกาศผลที่เกิดปัญหาในเรื่องของการกันที่ ก็ทำน้องๆ หลายคนรู้สึกว่าเหนื่อยและท้อ คือจริงๆ ไม่ว่าเป็นใครก็ตามที่มาเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ ก็คงจะเครียดมากเช่นกัน"
     "คุณหมอก็แสดงความเข้าใจและเห็นใจน้องๆ ในเรื่องนี้ และอยากให้กำลังใจกับน้องๆ คือมันไม่ใช่ความผิดของน้องๆ แต่เป็นความไม่แน่นอนของระบบที่เปลี่ยนใหม่ คือหมอคิดว่า ทางทปอ. มีความตั้งใจดีที่อยากจะแก้ปัญหาที่ผ่านมา แต่ก็เหมือนยังมีช่องโหว่หลายๆ อย่าง ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ความผิดพลาดของน้องๆ อย่าไปโทษตัวเอง และอย่าไปเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อน หรือคนอื่นๆ และถ้าน้องๆ เครียดมาก ก็ควรจะต้องคุยกับคนที่เราไว้วางใจ อาจจะเป็นคนใกล้ชิด คุณพ่อคุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือเพื่อนสนิท อย่าเก็บปัญหาไว้คนเดียว คิดวนไปเรื่อยๆ เพราะจะทำให้เครียดมากขึ้น พยายามหาอะไรทำ หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น"
 
  วิธีการผ่อนคลายความกดดันที่มีอยู่
     "ที่ทำได้ก็คือ การปรับที่ตัวเอง อาจจะคุยกับคนที่ไว้วางใจ หรือหางานอดิเรกที่ทำแล้วรู้สึกผ่านคลาย พยายามอย่าเก็บเรื่องเครียดเอาไว้คนเดียว อย่างในเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งไม่ได้เกิดจากตัวเราเองคนเดียว ยังมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ด้วย ก็อาจจะต้องคิดว่า บางเรื่องที่เราพอจะจัดการอะไรก็ได้ ก็ทำตรงนั้น แต่ว่าสุดท้ายแล้วก็คงต้องปรับตัว และหาทางออกที่คิดว่าจะทำให้เรามั่นใจมากขึ้นเผื่อเอาไว้ เช่น มหาวิทยาลัยสำรอง คืออย่าคิดว่าความผิดพลาดในการสอบครั้งนี้ จะเป็นตัวที่ตัดสินความเป็นไปของชีวิต จริงอยู่ที่เรื่องนี้สำคัญ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียวแน่ๆ ที่จะกำหนดความเป็นไปของเรา ก็พยายามทำในส่วนที่ทำได้"
 
  การรับมือ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจ
     "เบื้องต้น น้องๆ ต้องทำความเข้าใจคุณพ่อคุณแม่ คือทุกคนก็รักลูกนั่นแหละ เพียงแต่บางครั้งความกังวล ความเป็นห่วง ทำให้แสดงออกด้วยการใช้อารมณ์ หงุดหงิดฉุนเฉียว หรือบางครั้งมีคำพูดที่ทำร้ายจิตใจเรา ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ที่เป็นแบบนี้ คือท่านยังไม่เข้าใจเรา ไม่เข้าใจระบบ สิ่งที่น้องๆ จะทำได้ก็คือ ตั้งสติ อย่าไปเป็นอารมณ์กับคำพูดพ่อแม่มาก พยายามอธิบาย (ฟังท่านก่อนด้วยนะ) พยายามบอกให้ฟังว่า การสอบ TCAS เป็นยังไง มีขั้นตอนในการคัดเลือกแต่ละรอบต่างกัน หลักเกณฑ์ต่างกันยังไง ซึ่งขั้นตอนมันก็ซับซ้อนและยุ่งยาก แน่นอนต้องใช้เวลา หรืออาจจะเปิดพวก Info graphic อธิบายไปด้วย เมื่อพ่อแม่เข้าใจแล้วความเห็นอกเห็นใจลูก ก็จะตามมา ง่ายๆ คือ อธิบายตรงนี้ก่อน แล้วก็ให้เวลาเขาทำความเข้าใจ หมอเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ที่เข้าใจแล้ว ไม่มีใครหรอกที่จะไม่เห็นใจลูก"
 
     นอกจากตัวน้องๆ เองแล้วที่ต้องเรียนรู้วิธีการรับมือต่างๆ ผู้ปกครอง หรือคุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องทำความเข้าใจและเตรียมรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ ซึ่งทางคุณหมอก็ได้ให้คำแนะนำมาด้วยเช่นกันค่ะ
 
  จาก "คุณหมอ" ถึง "ผู้ปกครอง"
     "หมออยากจะบอกคุณพ่อคุณแม่ว่า "ครอบครัว" เป็นส่วนที่สำคัญมากๆ ของเด็กคนนึง ถึงแม้ว่าพอเป็นวัยรุ่นแล้ว จะห่างพ่อแม่ ติดเพื่อนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ก็เป็นคนสำคัญ เวลาเขามีปัญหาอะไร ก็จะนึกถึงพ่อแม่ ฉะนั้นพ่อแม่ก็ควรจะเข้าใจลูกตรงนี้ว่า เขาสอบมาถึงจุดนี้ แล้วยังไม่ได้ที่เรียน แน่นอนความรู้สึกของลูก เขาเครียด เขาสับสัน ยังไม่แน่ใจกับอนาคตข้างหน้า บางคนก็ท้อแท้ คือพ่อแม่ก็ต้องเข้าใจลูก และให้กำลังใจ อย่าใช้คำพูดที่แบบบั่นทอนจิตใจ"
     "บางครั้งคุณพ่อคุณแม่มีความกังวล คงจะต้องให้เข้าใจอารมณ์ตัวเอง อย่าไประบายกับลูก ซึ่งเขาก็กังวลมาก บางทีอาจจะมากกว่าพ่อแม่ด้วยซ้ำ นอกจากนี้ก็ควรหาข้อมูลและทำความเข้าใจระบบ พอเข้าใจมากขึ้น ความกังวล ความเป็นห่วงก็จะดีขึ้น"
 
     พี่แนนนี่เชื่อว่า ทั้งตัวน้องๆ และผู้ปกครองมีความรักและความห่วงใยซึ่งกันและกันอยู่ ดังนั้นถ้าทั้ง 2 ฝ่ายต่างเข้าใจกันและกัน และคอยสนับสนุนกันและกัน ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น