สวัสดีค่ะ เวลาผ่านไปเร็วจริงๆ นะคะ TCAS61 ยังไม่ทันจะผ่านพ้นไป การทำประชาพิจารณ์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบ TCAS62 ก็เริ่มขึ้นแล้ว ไม่รู้ว่าน้องๆ Dek62 ได้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นกันหรือยัง หรือกำลังหน้าดำคร่ำเคร่งอยู่กับภารกิจเคลียร์การบ้านและสอบปลายภาค ^^


 
         เพื่อไม่ให้เหน็ดเหนื่อยจนเกินไป และตอนนี้ในบอร์ดก็เริ่มมีน้องๆ 62 มาถามวิธีอ่านหนังสือสอบแล้ว วันนี้เคล็ดลับการเรียนเลย “รวมสูตรอ่านหนังสือสอบสำหรับ #Dek62” มาฝากค่ะ ถนัดทางไหนก็เลือกตามชอบเลย

สูตรอ่านง่ายสบายใจ (6 เดือนก่อนสอบ)
         ความจริงเราสตาร์ทเครื่องแรงได้ตั้งแต่แรกเลยนะคะน้องๆ บางคนอ่านหนังสือสะสมมาตั้งแต่ ม.4 แน่ะ แต่ #Dek62 คนไหนเพิ่งจะมาเริ่มเอาจริงเอาจังตอนนี้ ก็ยังทันอยู่ สำหรับ Step การอ่านหนังสือตามสูตรอ่านง่ายสบายใจนะคะ

        
Step 1 : รู้สิ่งที่ต้องสอบ แน่นอนสิ ถ้าไม่รู้ว่าตัวเอง ต้องใช้คะแนนอะไรบ้าง สอบวิชาอะไรบ้าง เราจะอ่านหนังสือไปแบบงมเข็มในมหาสมุทรเหรอคะ
        
Step 2 : ตามหารูปแบบข้อสอบ ผังการสร้างข้อสอบ หรือ Test Blueprint สิ่งนี้จะทำให้รู้ว่าเนื้อหาที่ออกสอบมีอะไรบ้าง ของปีนี้รายละเอียดยังไม่ออกมา (ออกมาแต่ปฏิทินสอบ O-NET รู้รึยัง สอบวันที่ 2-3 มี.ค. 62 นะ) แต่เราสามารถอ้างอิงจากรุ่นพี่ #Dek61 ได้ ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงเยอะค่ะ อย่างข้อสอบวิทย์ที่หลายๆ คนกลัวว่าโจทย์จะยากแบบพลิกสิบตลบ ปีที่แล้วเซอร์ไพรส์มาก เพราะข้อสอบเหมือนหลุดออกมาจากหนังสือเรียนของ สสวท. เลย ใครอ่านถูกจุดก็ได้แต้มไป!      
        
Step 3 : ทวนความรู้ที่มี หลังจากได้สิ่งที่ต้องอ่านมาทั้งหมด เราก็ทวนความรู้ที่เคยเรียนมาได้เลยค่ะ ช่วงแรกน้องบางคนอ่านจะเริ่มจากวิชาที่เราไม่ถนัด วิชาที่ต้องใช้ความจำและเข้าใจก่อน หรือวิชาที่ต้องเข้าใจทฤษฎี ถึงจะไปต่อพาร์ทคำนวณได้ ตรงนี้เรายังพอมีเวลาอ่านและทำสรุปได้อยู่ หลายๆ วิชาเนื้อหาเยอะและกว้างมาก ต้องอาศัยการอ่านทวนหลายรอบ และถ้าเก็บวิชาที่ไม่ถนัดแต่จำเป็นต้องสอบไปเตรียมตัวช่วงหลังๆ ความกดดันจะยิ่งบีบคั้นให้เราเครียดจนอ่านไม่รู้เรื่องค่ะ
         Step 4 : งัดเทคนิคอ่านหนังสือ ช่วงเวลา 6 เดือนก่อนสอบนี้ ยังพอดีกับการขนเทคนิคมาใช้เวลาอ่านหนังสือค่ะ บางคนอ่านชีวะแล้วเขียนสรุปสิ่งสำคัญ + เนื้อหาที่เจอในข้อสอบบ่อยๆ ลง post it 1 - 2 แผ่น แปะหน้าต่อหน้า เวลาย้อนกลับมาอ่านทวนจะได้ความรู้เนื้อๆ เน้นๆ บางคนอ่านเหมือนติวให้ตัวเอง มีสรุปเนื้อหาวันสำคัญทางพระพุทธฯ ด้วยการกางปฏิทินจำเลยล่ะ หรือจำประวัติศาสตร์ตะวันตกเป็นภาพเหตุการณ์ ทำให้จำนานขึ้น นอกจากนี้ก็อาจจะนำทริคเล็กๆ น้อยๆ อย่างการอ่านหนังสือตามช่วงเวลาที่สมองทำงานดีที่สุดมาใช้ด้วย เช่น
         
         สูตร 15 นาที : อ่าน 15 นาที พัก 15 นาที เพื่อให้สมองไม่ล้าจนเกินไป
         สูตร 25 นาที : อ่าน 2 ชม. แบ่ง 4 ยก ยกละ 25 นาที พัก 5 นาที ทำให้อ่านได้เรื่อยๆ จำแม่น
         สูตร 50 นาที : อ่าน 50 นาที พัก 10 นาที เพราะช่วงเวลาที่สมองจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ดี โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50 นาที   

         การตื่นมาอ่านหนังสือตอนเช้า หรือตื่นมาอ่านตอนกลางคืนก็มีผลนะคะ สมองเราโลดแล่นตอนไหน นั่นแหละเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด      


สูตรอ่านวนปนตะลุยโจทย์ (3 เดือนก่อนสอบ)
         สูตรนี้เหมาะสำหรับน้องที่กลัวว่าตัวเองจะอ่านหนังสือไม่ทัน และเหมาะสำหรับน้องที่ต้องสอบวิชาคำนวณเยอะๆ เช่น คณิต ฟิสิกส์ เคมี ฯลฯ ค่ะ

        
Step 1 : ทำช็อตโน้ต พาร์ทคำนวณควรอ่านเนื้อหาเพื่อทำความเข้าใจทฤษฎี และสรุปสูตรที่ต้องใช้ก่อน ส่วนพาร์ทที่เน้นทักษะอย่างวิชาอังกฤษให้สรุป Grammar สำคัญๆ ออกมา
        
Step 2 : ฝึกทำโจทย์ รวบรวมข้อสอบเก่า 5 ปีย้อนหลังแล้วลงมือทำเลยค่ะ ตรงไหนที่ทำไม่คล่องมือ รู้สึกความรู้หายให้กลับไปอ่านทวนอีกครั้ง สเต็ปนี้จะทำให้น้องเริ่มจับแพทเทิร์นข้อสอบได้ รู้ว่าข้อสอบชอบมาสไตล์ไหน พลิกแพลงยังไง เอาโจทย์เก่ามาดัดแปลงไหม
        
Step 3 : จับเวลาทำข้อสอบ ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเริ่มทำโจทย์สะสมได้มาก ก็ลองหยิบข้อสอบเก่าพร้อมนาฬิกาขึ้นมาจับเวลาดู จำลองให้เหมือนกับว่าเรากำลังทำข้อสอบจริงอยู่ สนามจริงใช้เวลา 1 ชม. เราก็จับเวลา 1 ชม. เท่ากันค่ะ ลองทำดูซิว่าได้เท่าไหร่ ทำผิดข้อไหนก็เปิดเฉลยดูวิธีการคิดเลย แต่ต้องเลือกแบบที่มั่นใจว่าเฉลยละเอียดและถูกต้องนะคะ ถ้าโจทย์ข้อนั้นไม่มีคำตอบที่ดีให้เรา ก็ลองหาโจทย์ที่มีรูปแบบคล้ายกันมาลองแกะดู จะทำให้เราคุ้นชินกับข้อสอบ จำวิธีแก้โจทย์ได้ขึ้นใจ เผลอๆ ยังได้ทริกแก้โจทย์ทางลัดกลับมาเป็นของแถมด้วย
สูตรตกประเด็นอ่าน (1 เดือนก่อนสอบ)
         ใครที่ติดบ่วงอยู่ในช่วงเหลือเวลาแค่ 1 เดือนสุดท้ายก่อนสอบ แล้วคิดว่าจะอ่านหนังสือไม่ทัน ขอบอกว่าถึงจะรู้ตัวช้า แต่ก็ยังทันนะคะ

        
Step 1 : ทำสรุปเรื่องที่สอบ ปริ้นท์ใส่กระดาษตัวโตๆ แล้วแปะไว้ที่โต๊ะหนังสือเลยว่า วิชาที่เราต้องสอบออกบทไหนบ้าง บทละกี่ข้อ รู้แล้วก็อย่าลน ให้ตั้งสติแล้วลุยสเต็ปต่อไป
        
Step 2 : อ่านแค่ Main Idea เข้าใจง่ายๆ คือหลักสำคัญของเรื่อง น้องอาจจะเพิ่งเริ่มต้นอ่านเนื้อหาตั้งแต่ ม.4 ใหม่อีกครั้ง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราต้องอ่านทั้งหมดนะคะ ความรู้เดิมต้องมีติดตัวกันบ้างล่ะ พยายามเก็บประเด็นสำคัญให้ได้มากที่สุด ถ้าคิดว่าอ่านเองไม่ทันจริงๆ ก็ต้องเข้าหาแหล่งความรู้ที่มีประโยชน์ เช่น หนังสือสรุปดีๆ สัก 1 - 2 เล่ม Studygram เพจสำหรับเด็กเตรียมสอบ แชแนลยูทูปติวฟรี ฯลฯ ในนั้นจะมีสิ่งที่เราตามหา ทั้งสรุปเนื้อหาวิชาต่างๆ บางคนมาแบบละเอียดมากๆ เทคนิคการทำข้อสอบ + วิเคราะห์ข้อสอบ   
        
Step 3 : อ่านหรือทำข้อสอบเก่าวนไป พอได้ประเด็นสำคัญมาแล้วก็อ่านวนไปนี่แหละค่ะ เวลา 1 เดือนเหมือนจะน้อย แต่ข้อดีของสูตรนี้คือคนที่ถนัดใช้ความรู้ร้อนๆ จะโดนใจมาก บางคนขี้ลืมง่ายไง ถ้าอ่านทิ้งไว้นานๆ แบบ 3 - 6 เดือน โดยไม่ได้ทวนซ้ำให้เปลี่ยนความจำระยะสั้นเป็นความจำระยะยาว มันจะลืมหมด แต่ 1 เดือนเราทวนทุกวัน ก็จะทันใช้งานพอดีเลย บางคนที่ไม่ถนัดอ่าน ก็ทำข้อสอบเก่าสู้กับเวลาไปค่ะ อย่านอยด์แล้วก็เท เพราะคิดว่าอ่านไม่ทันนะคะ ช่วง 1 เดือนสุดท้ายนี่เปลี่ยนชีวิตใครมานักต่อนักแล้ว
 

สูตรอ่านเอาเป็นเอาตาย (1 สัปดาห์ก่อนสอบ)
         เข้าสัปดาห์สุดท้ายแล้ว ยิ่งกว่ารู้ตัวช้าอีก แต่นี่คือตัวตัดสินชะตากรรมของน้องๆ แล้วนะคะ ไม่ต้องไปสนว่าจะอ่านทันหรือไม่ทัน ขอแค่อ่านเถอะ สิ่งที่อ่าน 1 สัปดาห์อาจจะช่วยชีวิตได้หลายข้อก็ได้

        
Step 1 : ประเมินตัวเอง ลองประเมินความรู้ที่มีในตัวซิว่าตอนนี้แต่ละวิชาในตารางสอบ เราอ่านบทไหนแล้วคุ้ม บทไหนอ่านแล้วเสียเวลา หรือถ้าไม่มองเป็นบทแต่มองในแง่รายวิชา วิชาไหนอ่านอีกนิดเราน่าจะทำคะแนนได้ดี ส่วนวิชาไหนเทียบกับเวลาแล้วต้องอ่านอีกเยอะมาก แถมยังเข้าใจยาก เขียนใส่กระดาษเปรียบเทียบกันไว้เลยค่ะ
        
Step 2 : ตัดเนื้อร้าย เนื้อร้ายอย่างแรกของเราคือวิชาที่ไม่ได้สอบ จะอ่านทำไมตอนนี้ เทไปเลยจ้า อีกอย่างก็คือวิชาที่ยากเกินไป อ่านไปก็มีแต่จะงง + ท้อแท้ ตัดออกจากแผนอ่านหนังสือเราได้เลยจ้ะ แต่ก็ต้องดูด้วยนะว่าวิชานั้น ต้องใช้สัดส่วนคะแนนเยอะหรือเปล่า เกิดคณะที่อยากเข้าใช้ PAT 1 30% GAT 20% แล้วเราไปตัดคณิตออก แย่แน่ๆ เลย สำหรับกรณีนี้ให้เลือกเก็บบทที่เราพอทำคะแนนได้ หรือถ้ามีเวลาเหลือก็ย้อนกลับมาทบทวนบทที่คาดว่าจะออกข้อสอบบ่อยค่ะ
        
Step 3 : อ่านแบบเร่งรัด คือไปเรียนรู้จากเฉลย แล้วทวนจากในนั้นเลย อย่างน้อยเราก็ได้รีเช็กความเข้าใจของตัวเอง ถ้าดูเฉลยแล้วยังมีเวลาเหลืออยู่ ก็หาสรุปดีๆ อ่านค่ะ อ่านมาราธอนให้เหมือนว่านี่เป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้แตะหนังสือแล้ว ห้ามเทเด็ดขาด! ที่สำคัญงดติดต่อกับโซเชียล งดเล่นเกมไปเลย
สูตรอ่านจนโค้งสุดท้าย (วันสุดท้ายก่อนสอบ)
         สูตรนี้ไม่อยากให้น้องๆ มาเริ่มอ่านเอาในวันสุดท้ายก่อนสอบจริงๆ สภาพจะย่ำแย่มากค่ะ ก่อนลงสนามจริงอยากให้เราได้นำสิ่งที่อ่านหรือสรุปไว้ทั้งหมดมาทบทวนมากกว่า ถ้าเป็นไปได้ลองเขียนขึ้นมาเลยว่าจำอะไรได้บ้าง เช่น สรุปชีววิทยา เรื่องพันธุศาสตร์ มีศัพท์สำคัญคือจีโนไทป์ ฟีโนไทป์ ฯลฯ มีกฎพันธุกรรมคือ...ตรงไหนจำไม่ได้ก็เว้นไว้ก่อนค่ะ ถ้าเป็นจุดสำคัญ เก็งไว้ว่าน่าจะออกข้อสอบก็ค่อยกลับไปอ่านทวนอีกที ค่อยๆ อ่าน ทำใจให้สบาย ไม่ต้องเครียด แล้วก็เข้านอนเร็วๆ ค่ะ ตื่นเช้ามาจะได้สมองแจ่มใสพร้อมเข้าห้องสอบ

         สิ่งที่อยากจะบอกน้องๆ คือระยะเวลาในการอ่านหนังสือ จะอ่านมา 300 วัน หรือเพิ่งเริ่มอ่านได้แค่ 100 วัน ไม่ได้เป็นการบ่งบอกว่าเราจะทำคะแนนได้ดีหรือไม่ดีนะคะ มันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างด้วย บางคนเริ่มต้นอ่านเร็ว แต่อ่านบ้าง เทบ้าง อ่านผิดจุด ผิดวิธีก็พลาดได้ บางคนมีเวลาอ่านหนังสือน้อย แต่มีต้นทุนดีคือตั้งใจเรียนสม่ำเสมอ ขยันทำโจทย์ตามที่ครูมอบหมายด้วยตัวเองทุกครั้ง นั่นก็ถือเป็นการเตรียมตัวอย่างหนึ่งเหมือนกัน
       ดังนั้น ขอให้น้องๆ หมั่นสำรวจความพร้อม ใช้เวลาอ่านหนังสือให้คุ้มค่า และเหมาะสมกับตัวเองนะคะ สอบเข้ามหา’ลัยทั้งที เต็มที่กับชีวิตไปเลย!  
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Rence Member 14 ก.ค. 61 13:51 น. 2

ของผมใช้วิธีแบบนี้ นั่งหน้าห้องตั้งใจเรียนที่อาจารย์สอน สงสัยอะไรยกมือถามเลย ทำแบบทดสอบในห้องให้ได้คะแนนเต็ม หรือเอาแบบทดสอบในห้องเรียนมาฝึกทำใหม่จะทำให้จำง่ายขึ้นมาก สิ่งที่จะออกข้อสอบส่วนมากจะเป็นสิ่งที่ครูหรืออาจารย์เขียนบนกระดานดำหรือไวท์บอร์ด ถ้าออกนอกจากนั้นอาจารย์อาจจะบอกให้ไปทำแบบทดสอบนี้เป็นการบ้าน ไฮท์ไลท์หัวข้อที่อาจารย์เน้นแล้วดูว่าหัวข้อนั้นมีแบบทดสอบให้ทำไหม จุดประสงค์ของครูอาจารย์ก็คือให้นักเรียนนักศึกษาทำเป็นเอาไปใช้ในการทำงานได้อันนี้คือจุดประสงค์อันดับหนึ่งของแท้แน่นอน

จับกลุ่มกับเพื่อนๆทำแบบทดสอบที่ครูอาจารย์เน้นเอาไว้ทำไปบ่อยๆจนกว่าเพื่อนในกลุ่มจะทำได้คะแนนเต็มถึงพอ คนที่ทำได้คะแนนเต็มแล้วก็ได้ทบทวนทำให้จำได้ดียิ่งขึ้นไปด้วย อันนี้คือสิ่งที่นักเรียนนักศึกษาเก่งๆทำข้อสอบได้คะแนนเต็มเป็นประจำครับ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Rence Member 14 ก.ค. 61 13:51 น. 2

ของผมใช้วิธีแบบนี้ นั่งหน้าห้องตั้งใจเรียนที่อาจารย์สอน สงสัยอะไรยกมือถามเลย ทำแบบทดสอบในห้องให้ได้คะแนนเต็ม หรือเอาแบบทดสอบในห้องเรียนมาฝึกทำใหม่จะทำให้จำง่ายขึ้นมาก สิ่งที่จะออกข้อสอบส่วนมากจะเป็นสิ่งที่ครูหรืออาจารย์เขียนบนกระดานดำหรือไวท์บอร์ด ถ้าออกนอกจากนั้นอาจารย์อาจจะบอกให้ไปทำแบบทดสอบนี้เป็นการบ้าน ไฮท์ไลท์หัวข้อที่อาจารย์เน้นแล้วดูว่าหัวข้อนั้นมีแบบทดสอบให้ทำไหม จุดประสงค์ของครูอาจารย์ก็คือให้นักเรียนนักศึกษาทำเป็นเอาไปใช้ในการทำงานได้อันนี้คือจุดประสงค์อันดับหนึ่งของแท้แน่นอน

จับกลุ่มกับเพื่อนๆทำแบบทดสอบที่ครูอาจารย์เน้นเอาไว้ทำไปบ่อยๆจนกว่าเพื่อนในกลุ่มจะทำได้คะแนนเต็มถึงพอ คนที่ทำได้คะแนนเต็มแล้วก็ได้ทบทวนทำให้จำได้ดียิ่งขึ้นไปด้วย อันนี้คือสิ่งที่นักเรียนนักศึกษาเก่งๆทำข้อสอบได้คะแนนเต็มเป็นประจำครับ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Sarah2546 Member 2 พ.ค. 63 12:45 น. 4

อยากสอบถามว่าวิชาชีวะเนี่ยต้องอ่านทุกบทเลยไหมคะหรือจะอ่านแค่เฉพาะที่ออกสอบบ่อยๆดี เป็นคนชอบทำสรุปด้วยกลัวช้าและไม่ทันค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด