เก่งรอบด้าน! ทำความรู้จัก "อุ้ม" นักไอซ์สเก็ต ดีกรีนิสิตแพทยฯ จุฬาฯ ที่เข้าด้วยโควตาชีวะโอลิมปิก

      สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D.com ค่ะ ทุกครั้งที่พูดถึงการเรียนคณะแพทย์ เชื่อว่าต้องคิดกันว่าเป็นคณะที่เรียนหนัก วันๆ คงเรียนอย่างเดียว ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นแน่ๆ ถ้าว่างก็คงอยากจะนอนมากกว่า
       แต่ไม่ใช่กับ "พี่อุ้ม" คนนี้ ที่นอกจากจะเป็นนิสิตแพทย์แล้ว ยังมีงานอดิเรกเป็นกีฬาไอซ์สเก็ต ฝีมือไม่ธรรมดา เพราะได้ลงแข่งขันในระดับเอเชีย จนคว้ารางวัลติดมือกลับมาด้วย เรียนดี กีฬาเด่น แบบนี้ พี่มิ้นท์จึงอยากแนะนำให้ได้รู้จักกันค่ะ^^

 

   ไม่อยากเรียน "แพทย์" แบบเครียดๆ ก็เลยหากีฬาเล่น
       น้องอุ้ม หรือ พี่อุ้ม สาวสวยดีกรีนิสิตคณะแพทยศาสตร์คนนี้ มีชื่อจริงว่า สิริกร วงศ์สีนิล เป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบมัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาห้องนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์
        แต่เดิม "อุ้ม" เป็นคนไม่เล่นกีฬา เพิ่งมาเริ่มเล่นประมาณ 1 ปี ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อสอบเข้ามาคณะแพทยศาสตร์ได้แล้ว จึงอยากเล่นกีฬาเพราะการเรียนหมอค่อนข้างหนัก มีความคิดที่ว่า ถ้าอยากเรียนอย่างมีความสุขก็ต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย และอาชีพแพทย์ต้องดูแลสุขภาพคนอื่น การเป็นแพทย์ที่ดีจึงควรเริ่มจากการดูแลสุขภาพตัวเองก่อน

    ไอซ์สเก็ต คือ กีฬาที่ฝึกร่างกายครบทุกด้าน
        เหตุผลที่ อุ้ม เลือกเล่นกีฬาไอซ์สเก็ต เพราะเป็นกีฬาที่ฝึกร่างกายครบทุกด้านเลย ทั้งกำลังแขนกำลังขา การทรงตัว การประสานการทำงานของส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมไปถึงด้านอารมณ์ ซึ่ง อุ้ม เป็นคนชอบอากาศเย็นด้วย เลยชอบเล่นเป็นพิเศษ พอเริ่มเล่นก็รู้สึกว่ายากมากแต่สนุกและชื่นใจมากเวลาที่เห็นฝีมือของตัวเองที่พัฒนาขึ้นจากการซ้อมในแต่ละวัน


   ก่อนสอบติดคิดว่าหมอเรียนยาก เรียนจริงถึงรู้ว่ายากจริง! แต่ที่ยากกว่าคือ ปรับตัว!
      เชื่อว่าหลายคนต้องจินตนาการถึงการเรียนในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว อุ้ม ก็เช่นกัน ก่อนเริ่มเรียนพอรู้มาแล้วว่า เรียนแพทย์ยาก แต่ที่ยากกว่าที่คิดหรือการปรับตัวให้เข้ากับระบบการเรียนของคณะซึ่งไม่เหมือนกับมัธยมปลาย คือ ระบบบล็อค ระบบนี้จะเป็นการเรียนเนื้อหาในวิชาเดียวในทุกๆ วันจนจบเนื้อหาในวิชานั้น ด้วยเนื้อหาที่ยากและเยอะ ทำให้ค่อนข้างตกใจและเครียดในช่วงแรก แต่โชคดีที่เพื่อนๆ ในกลุ่มทุกคนช่วยกันเรียน ทำให้ปรับตัวได้เร็วขึ้นและเรียนอย่างมีความสุข

   1 ใน 3 ที่ได้เข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ก่อนใคร
       ทางหลักสำหรับการสอบคณะแพทยศาสตร์ จะนึกถึงโครงการ กสพท เป็นอันดับแรก แต่จริงๆ แล้ว แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีโควตาเปิดรับแยกเพิ่ม ทั้งในรอบ 1 รอบ Portfolio และ รอบ 2 โควตา
       สำหรับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ  มีเปิดรับในรอบที่ 1 ในชื่อโครงการโควตาโอลิมปิกวิชาการ (ชีววิทยา) และ พี่อุ้ม ก็เข้าผ่านมาทางโควตานี้ได้ ซึ่งในปี 60 นั้นรับแค่ 3 คนเท่านั้น โดยมีเกณฑ์คือ ต้องผ่านค่ายโอลิมปิกชีววิทยาในระดับ สสวท. และใช้คะแนน GAT PAT ในการพิจารณารับเข้าศึกษา (แต่ในรุ่นหลังเปลี่ยนเป็นใช้คะแนน 9 วิชาสามัญแล้ว)

 

   เคล็ดลับคือ เริ่มเตรียมตัวก่อนขึ้น ม.6
       เมื่อรู้ว่ารอบที่เราอยากเข้า เปิดรอบตอนไหน ก็ต้องวางแผนล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัว
       โดยเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ ม.5 เทอม 2 เป็นการทวนเนื้อหาทั้งหมดที่เคยเรียนมาตั้งแต่ ม.4 และมีเรียนล่วงหน้าของ ม.6 เผื่อไว้ด้วย พอขึ้น ม.6 จริง จะเป็นการนั่งทำโจทย์เองและเก็บตกเนื้อหาที่ไม่ถนัด ถ้าไม่วางแผนและเตรียมมาก่อนเลย อาจจะเตรียมตัวไม่ทัน หากจะสอบเข้าในรอบแรกๆ

   จากการฝึกเล่น สู่การเล่นจริงจังและลงแข่ง
       หลังจากที่ได้ลองฝึกเล่นมาเรื่อยๆ ก็เริ่มมีความรู้สึกชอบมากขึ้นและมีความท้าทายใหม่ๆ เข้ามา พอทราบข่าวว่าจะมีการแข่งนี้ อุ้ม รู้สึกอยากลองแข่งเลยพยายามซ้อมอย่างมีเป้าหมายเพื่อไปสอบ ก่อนที่จะสามารถเป็นตัวแทนเพื่อไปแข่ง พอสอบได้ก็เลยพยายามซ้อมมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้ทำผลงานออกมาได้ดีที่สุด
       การแข่งขันรายการที่อุ้มแข่ง คือ การแข่งขัน Skate asia 2018 เป็นการแข่งขันเก็บคะแนนสะสมชิงแชมป์เอเชีย ที่ปีนี้กำหนดจัดขึ้นที่ประเทศไทย มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นนักสเก็ตน้ำแข็งจาก 12  ประเทศ ได้แก่ ไทย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย มาเก๊า เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยคว้ามาได้ถึง 3 รางวัลคือ
       - อันดับที่ 2 Solo Compulsory FS1 การแข่งขันความแม่นยำและถูกต้องของท่าที่กรรมการกำหนดในแต่ละระดับ
       - อันดับที่ 3 Artistic FS1 การใช้ท่าสเก็ตมาเรียบเรียงให้เข้ากับเพลงที่เลือกมาทำโปรแกรม
       - อันดับที่ 3 Jump and spin FS1 การแข่งขันท่ากระโดดและท่าหมุนโดยเฉพาะ


   เคล็ดลับการแบ่งเวลาที่ใครก็ทำได้
       ถ้าจะทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน ต้องแบ่งเวลาที่เหมาะสมให้ตัวเองด้วย สำหรับอุ้มจะแบ่งเวลาชัดเจนระหว่างกิจกรรมแต่ละอย่าง ตอนเช้าจะไปเรียนที่คณะ ตอนเย็นไปซ้อม หลังซ้อมจะเหนื่อยจนทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว กลับถึงบ้านก็จะรีบนอนเลยแล้วค่อยตื่นเช้ามาทบทวนบทเรียน
       การพักผ่อนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อุ้มจะพยายามนอนให้พอในทุกๆ วันเพื่อที่จะตื่นมาเรียนในวันต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       หลังจากนี้ จะพยายามบาลานซ์ชีวิตและทำทั้ง 2 อย่างให้เต็มที่ จะทุ่มเวลาให้กับการเรียนคณะแพทยศาสตร์มากขึ้น ส่วนเรื่องการเล่นไอซ์สเก็ตก็จะฝึกควบคู่ไปด้วย แต่จะแบ่งเวลาให้การซ้อมมากขึ้น ในช่วงที่มีสอบวัดระดับกับช่วงที่มีการแข่งขัน

 

   ฝากถึงน้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวสอบ
    สำหรับน้องๆ ที่อ่านบทความนี้และอยากเข้าคณะแพทยศาสตร์นะคะ พี่ก็ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ ระหว่างทางอาจจะมีความยากลำบากอยู่บ้าง อาจจะท้อบ้าง แต่เชื่อว่าถ้าทุกๆ คนพยายามอย่างเต็มที่แล้ว ความสำเร็จอยู่ไม่ไกลแน่นอน สู้ๆ

     หลายๆ ครั้งที่เรามีความคิดและความฝันอยากจะทำอะไรบางอย่าง แต่มักจะหยุดด้วยคำว่า "ไม่มีเวลา" และ "คงทำไม่ได้" สุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง ได้อ่านแนวความคิดของพี่อุ้มคนนี้แล้ว ลองนำไปปรับใช้กันนะคะ เชื่อว่าจะช่วยเติมไฟให้อยากกลับมาทำอะไรใหม่ๆ ได้อีกครั้ง
 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด