รวม 7 กลุ่มคณะที่ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ (17 ประเภท) คณะอื่นเก่งแค่ไหนก็มาแย่งงานไม่ได้!


          สวัสดีค่ะ การเลือกคณะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งคณะจะแบ่งเป็นหลายประเภท เช่น คณะสายวิทย์ คณะสายศิลป์ คณะวิทย์สุขภาพ แต่ครั้งนี้พี่แป้งขอแบ่งอีกแบบ เป็นคณะสายวิชาชีพ กับ สายวิชาการ ค่ะ  

          คณะสายวิชาการ คือคณะที่เรียนเนื้อหาในด้านต่างๆ เฉพาะลงไป แต่สามารถไปประยุกต์เข้ากับงานต่างๆ ได้ เช่น เรียนการตลาด ก็ปรับเข้าแต่ละองค์กร หรือ นิเทศฯ ที่สามารถปรับเข้ากับด้านอื่นๆ ได้

          ส่วนคณะสายวิชาชีพ จะเป็นคณะที่เฉพาะเจาะจงในอาชีพนั้นๆ ไปเลย เช่น คณะแพทยศาสตร์ เป็นหมอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นวิศวกร จบคณะอื่นไม่สามารถเป็นหมอ หรือวิศวกรได้ การสอบใบวิชาชีพแต่ละอาชีพ จะมีระบุไว้เลยค่ะว่าต้องจบมาจากคณะนี้เท่านั้น มีอะไรบ้างไปดูกันเลย

 

1.กลุ่มคณะสายวิทย์สุขภาพ
          กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในวงการเลยค่ะ กลุ่มคณะสายวิทย์สุขภาพ จำง่ายๆ เลยว่า อะไรที่เกี่ยวกับวงการแพทย์ การรักษา ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ ต้องมีใบประกอบวิชาชีพหมด แบ่งเป็นย่อยๆ ดังนี้

1. ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม
    สอบได้เฉพาะผู้ที่จบ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต

2. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม
    สอบได้เฉพาะผู้ที่จบ หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต

3. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
    สอบได้เฉพาะผู้ที่จบ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต

4. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
    สอบได้เฉพาะผู้ที่จบ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต

5. ใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
    สอบได้เฉพาะผู้ที่จบ สาขาการแพทย์แผนไทย

6. ใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์
    สอบได้เฉพาะผู้ที่จบ สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์

7. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์
    สอบได้เฉพาะผู้ที่จบ สาขาเทคนิคการแพทย์

8. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด
    สอบได้เฉพาะผู้ที่จบ สาขากายภาพบำบัด

9. ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ
    สอบได้เฉพาะผู้ที่จบ สาขากิจกรรมบำบัด, สาขารังสีเทคนิค, สาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย, สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก, สาขาจิตวิทยาคลินิก, สาขาการแพทย์แผนจีน, สาขาทัศนมาตรศาสตร์ และ สาขากายอุปกรณ์

10. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์
    สอบได้เฉพาะผู้ที่จบ หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต


2.กลุ่มสาขาสายบัญชี
          อีกสายที่น้องๆ สับสนกันมากเลยก็คือ สายบัญชี หลายคนจะสับสนสาขาบัญชี สาขาการเงิน และสาขาเศรษฐศาสตร์ หลายคนเข้าใจว่าทั้ง 3 สาขาสามารถสอบ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพบัญชี ได้ อธิบายก่อนว่า มี 2 สาขาไม่ได้สามารสอบใบอนุญาตฯ ได้ค่ะ มีเพียงสาขาบัญชีเท่านั้นที่สอบได้

          งานสายบัญชีจะมีทั้งเป็นผู้จัดทำและผู้ตรวจสอบ ซึ่งจะเป็นทั้ง 2 ตำแหน่งได้ก็ต้องเป็นผู้ที่จบสาขาการบัญชีเท่านั้น ส่วนการสอบใบอนุญาตฯ จะอยู่ในสายผู้ตรวจสอบ โดยจะมีการเก็บชั่วโมงการทำงานและการสอบอีก และไม่ว่าจะเป็นงานฝั่งไหนก็ต้องผ่านสภาวิชาชีพบัญชีค่ะ


3.กลุ่มคณะวิศวกรรมศาสตร์(บางสาขา)
          การทำงานในสายวิศวกรรมบางสาขาจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพด้วย เรียกว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งเรียนจบก็ต้องไปสอบอีกที แต่ละสาขาก็จะมีประเภทของใบอนุญาตฯ ต่างกัน สาขาที่สอบได้มีดังนี้

     สาขาวิศวกรรมโยธา
     สาขาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง
     สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร
     สาขาวิศวกรรมเครื่องกล
     สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ
     สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่
     สาขาวิศวกรรมเคมี
     สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

          ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม จะมีหลายระดับ ตั้งแต่ภาคีวิศวกร สามัญวิศวกร วุฒิวิศวกร ซึ่งแต่ละระดับก็จะสามารถทำได้ต่างกัน เช่น งานให้คำปรึกษาทำได้แค่ระดับวุฒิวิศวกร แต่ถ้างานพิจารณาตรวจสอบ ทำได้ทุกระดับเลย

 

4.คณะนิติศาสตร์
          ถ้าพูดเรื่องกฎหมายไม่มีคณะไหนทำแทนได้แน่นอนค่ะ เป็นคณะที่เฉพาะทางมากๆๆ เป็นคณะที่เรียนภาษาไทย แต่เป็นภาษาไทยที่เข้าใจยาก เรียนจบมาแล้วจะไปทำงานเลยก็ได้ แต่ก็มีอาชีพเฉพาะทางที่ต้องสอบใบอนุญาตฯ ซึ่งการสอบของสายนิติศาสตร์มีดังนี้

     1.ใบอนุญาตให้เป็นทนายความ หรือ ตั๋วทนาย เป็นใบอนุญาตฯสำหรับการเป็นทนายความ จะเป็นทนายความไม่ได้ถ้าไม่มีใบนี้ค่ะ ซึ่งการสอบก็จะมีหลายแบบ ทั้งแบบรุ่นและแบบปี ซึ่งแต่ละแบบก็จะรายละเอียดต่างกัน

     2.เนติบัณฑิต เป็นการสอบสำหรับผู้ที่จะเป็นอัยการหรือผู้พิพากษา คือการสอบอัยการ-ผู้พิพากษาจะมีข้อกำหนดไว้ว่า หนึ่งในคุณสมบัติที่จะสอบได้ต้องเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งการสอบเนติบัณฑิตไม่ต้องมีตั๋วทนายก็ได้

          ส่วนอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทางกฎหมาย เช่น นิติกร ทำร่างหนังสือสัญญาต่างๆ ไม่ต้องสอบใบอนุญาตฯ ก็ได้ ซึ่งงานทางด้านกฎหมายก็มีทั้งงานราชการและเอกชน ส่วนใหญ่จะต้องสอบวัดความรู้ก่อนทำงานด้วย เพราะกฎหมายอาจมีการเปลี่ยนแปลงตลอด


5.กลุ่มคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
          งานทางสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นอีกสายงานที่ละเอียดมากๆ จึงต้องมีใบอนุญาตด้วย เรียกว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ออกโดย สภาสถาปนิก ซึ่งใบนี้จะสอบได้เฉพาะผู้ที่จบสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ในบางสาขา คือ

     1.สาขาสถาปัตยกรรมหลัก
     2.สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง
     3.สาขาภูมิสถาปัตยกรรม
     4.สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์

          โดยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมจะมีขอบเขตงานกำหนดว่าใช้ในการทำอะไร เช่นจากสาขาสถาปัตยกรรมหลัก ก็เป็นงานวางผังที่อาคารที่อยู่อาศัย กำหนดพื้นที่ 150 ตร.ม. ขึ้นไป เป็นต้น


6.สายสาขาการศึกษา-ครุศาสตร์
          ใครที่อยากเป็นครูต้องเคยได้ยืนคำว่า ใบประกอบวิชาชีพครู แน่นอนค่ะ ใบนี้จะสอบได้เฉพาะผู้ที่สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ การศึกษา หรือครุศาสตร์ ถ้าจะสมัครเป็นข้าราชการครู ยังไงก็ต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูก่อนค่ะ

          ถ้ามองภาพรวมด้านการศึกษา ไม่ได้มีเพียงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น ยังมีใบอื่นอีก เช่น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา, ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา, ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพบุคลากรทางการศึกษาอื่น บางใบอนุญาตก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องจบครุศาสตร์

 

7.กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม
          กลุ่มสุดท้าย เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะไม่รู้มาก่อนว่าต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วมี เป็นสาขาด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์  สำหรับการทำงานเกี่ยวกับสารอันตราย และใช้กับสาขาควบคุม ซึ่งใบอนุญาตฯจะมีใน 4 สาขา ดังนี้

     1. นิวเคลียร์
     2. การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษ
     3. การควบคุมสารเคมีอันตราย
     4. การเพาะเลี้ยงและใช้จุลินทรีย์ที่ก่อโรค

          โดยใบอนุญาตนี้จะมีชื่อว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม ออกโดยสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ ลักษณะงานที่จะต้องขอใบอนุญาตนี้เช่น งานวิเคราะห์ ตรวจสอบ การวิจัย, งานออกแบบและการควบคุม, งานให้คำปรึกษา , การนำเข้า การส่งออก สารอันตราย เป็นต้น ซึ่งจะละเอียดและเฉพาะทางมากเลยค่ะ

          เราอาจจะเคยเห็นแล้วว่า คนที่จบจากกลุ่มคณะเหล่านี้ก็ไปทำอย่างอื่นเหมือนกัน ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองเรียนมา พี่แป้งว่า เรื่องของการทำงานในอนาคตมันคือความสุขอะค่ะ บางคนเรียนคณะวิชาชีพมาเพราะคิดว่าทำงานได้สบาย แต่ไม่มีความสุขกับงานที่ทำ ก็ออกไปทำอย่างอื่นก็มี อยากให้น้องๆ เลือกคณะที่มีความสุข ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีงาน ถ้าเรามีความสุขกับมัน เราจะมีงานทำแน่นอน

 
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
จป.เด็กใหม่ 17 พ.ย. 61 17:30 น. 2

เพิ่มเติมนิดนึงนะคะ มีของสายสุขภาพอีกอย่างคือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ มีคนรู้จักน้อยมากๆๆๆ อันนี้ก็มีวิชาชีพรองรับนะคะ แต่ไม่ต้องสอบ เป็นการขึ้นทะเบียนกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ต้องเป็นคนที่จบเฉพาะสายตรงทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเท่านั้นถึงจะได้เป็นระดับวิชาชีพ บางมหาวิทยาลัยสังกัดในคณะสาธารณสุขศาสตร์ หรือบางมหาวิทยาลัยสังกัดในคณะวิทยาศาสตร์ อยากประชาสัมพันธ์ในน้องๆรู้จักกันเยอะๆ ฝากน้องๆที่สนใจลองศึกษาดูนะคะ คนเรียนน้อย มีกฎหมายวิชาชีพรองรับด้วย อยากให้บ้านเรามี จป.เพิ่มขึ้นอีกเยอะๆ

3
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด