ถึงตาบอดก็สอบติด! มาดูความพยายามของ "พี่ยิ้ม" ที่คนตาดีต้องทบทวนตัวเองว่าตั้งใจมากพอหรือยัง

        สวัสดีค่ะ  อดทนรอกันมาเป็นเทอม TCAS ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้ว มาถึงวันนี้หลายคนอาจจะบอกว่ายังไม่แตะหนังสือเลย เหลือเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะสอบ แต่รู้ไหมว่า คนที่คิดแบบนี้พลาดกันมาหลายคนแล้ว เพราะถึงเวลาจริง กลับเตรียมตัวไม่ทัน
        ในมุมของคนที่มีความพร้อม ร่างกายครบ 32 ก็เลือกได้ว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ ในขณะที่อีกมุมหนึ่ง น้องๆ ที่มีความบกพร่องที่ต้องการเข้ามหาวิทยาลัย ต้องเตรียมความพร้อมมากกว่าหลายเท่าตัว อย่างเช่น "พี่ยิ้ม" แม้ตาจะมองไม่เห็นทั้งสองข้าง แต่ย้อนกลับไปเมื่อตอน ม.6 เธอคนนี้พยายามอย่างเต็มที่จนสอบแอดมิชชั่นติดได้สำเร็จ มาทำความรู้จักกับแรงบันดาลใจของเราในวันนี้กันค่ะ


 

    เตรียมตัว รับมือ กับโลกที่มืดสนิท
    พี่ยิ้ม หทัยพัชร์ ธนารุ่งเรืองกิจ ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่คณะสังคมศาสตร์ เอกสังคมศึกษา หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต ชั้นปีที่ 2 ซึ่งหลักสูตรนี้จะเรียนกัน 5 ปี พี่ยิ้มได้เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้ว ดวงตาของพี่ยิ้มเป็นต้อหินแต่กำเนิด แต่ไม่ได้ตาบอดสนิท เด็กๆ ยังมองเห็นและเรียนร่วมกับนักเรียนคนอื่นได้ตามปกติ แต่หมอที่รักษาบอกว่า การมองเห็นจะลดลงเรื่อยๆ จึงแนะนำให้ไปเรียนอักษรเบรลล์ ซึ่งในตอนนั้นพี่ยิ้มอยู่เพียงชั้น ป.2 ก็ตัดสินใจเริ่มเรียนอักษรเบรลล์ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด เพราะปรับตัวเรียนได้ง่ายกว่า พอมัธยมก็มาเรียนร่วมในโรงเรียนปกติที่โรงเรียนศรีอยุธยา การมองเห็นลดลงเรื่อยๆ จนมืดสนิทตอนช่วง ม.5

    เบื่อง่าย... "สังคม" คือสาขาที่ตอบโจทย์
     พี่ยิ้ม มีความฝันที่อยากเป็นครูตั้งแต่เด็ก เวลาเล่นกับเพื่อนๆ ก็อยากเล่นเป็นครู ตอน ม.ปลาย ก็มีโอกาสสอนรุ่นน้อง ทั้งรุ่นน้องที่มีความบกพร่องทางสายตาเหมือนกัน และน้องที่มองเห็นปกติ รู้สึกสนุกและมีความสุขที่ได้สอนคนอื่น โดยเฉพาะเวลาที่เขาเข้าใจในสิ่งที่เราพูด
     ช่วงจะเลือกคณะเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นมีในใจ 2 ตัวเลือกคือ ครูไทยกับครูสังคม เพราะคะแนน O-NET ภาษาไทยอยู่ในเกณฑ์ดี จึงมีความคิดแรกที่จะเลือกเรียนเอกครูไทย แต่นิสัยของตนเองที่เบื่อง่าย ก็เลยรู้สึกว่าวิชาสังคมมี 5 กลุ่มสาระ มีความหลากหลายกว่า น่าจะเหมาะกับเราและสนุกมากกว่า และตอน ม.ปลาย ได้เรียนวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ เรียนแล้วมีความสุข ก็เลยเป็นแรงผลักดันว่า ถ้าวันนึงได้เข้ามาเรียนในคณะนี้แล้ว ทุกๆ วันที่ตื่นขึ้นและรู้ว่าจะได้ไปเรียนวิชาสังคม เราจะต้องมีความสุข หรือเรียนจบไปแล้วได้สอนวิชานี้ ก็น่าจะทำให้เรามีความสุขด้วย

    กว่าจะได้อ่านหนังสือสักเล่ม... ไม่ง่ายเลย
    หลายคนเข้าใจว่า น้องๆ ที่มีความบกพร่องทางสายตาจะต้องอ่านแต่อักษรเบรลล์เพียงอย่างเดียว แต่พี่ยิ้มบอกว่า จริงๆ แล้วหนังสือที่เป็นอักษรเบรลล์มีแค่หนังสือเรียนที่ใช้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่หนังสือที่ใช้อ่านสอบเหมือนเด็กตาปกติ มีทำเป็นอักษรเบรลล์น้อยมาก ถ้าจะอ่านก็ต้องหาวิธีอ่าน เช่น เอาหนังสือไปสแกนในคอมพิวเตอร์เพื่อให้เป็นไฟล์ .PDF พอได้ไฟล์มาแล้วก็นำไปเข้าโปรแกรมแปลงไฟล์ .PDF ไปเป็น MS WORD และแปลงออกมาเป็นเสียงได้ แต่จะไม่ได้ออกมาเป๊ะเท่าไร อาจจะมีเพี้ยนๆ บ้างตามฟอนท์ของหนังสือ ถ้าฟอนท์มาตรฐานทั่วไปก็จะอ่านรู้เรื่อง
    อีกวิธีนึงคือ หาอาสาสมัครอ่านหนังสือให้ แต่ก็จะมีไม่เพียงพอ เพราะหนังสือเล่มนึงก็หนา เนื้อหาค่อนข้างเยอะ ซึ่งอาสาสมัครส่วนใหญ่ เป็นคนทำงานที่เวลาว่างแล้วจึงมาช่วยอ่าน ดังนั้นการรอให้มีอาสาสมัครมาอ่านให้ก็จะไม่ทัน หรือ บางทียิ้มจะใช้วิธีขอความช่วยเหลือในกรุ๊ป facebook เป็นกรุ๊ปที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนตาดีช่วยอ่านเอกสารต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้ เช่น ฉลากยา เป็นต้น พอลงรูปลงไป จะมีอาสามัครพิมพ์ให้ว่าข้อความคืออะไร ก็อาจจะใช้ช่องทางนี้ ลงเอกสารที่เราสแกน แล้วให้พี่ๆ ช่วยพิมพ์กลับมา ยอมรับว่าบางทีก็เกรงใจ แต่จำเป็น ก็จะพิมพ์ขออาสาสมัครให้ช่วยพิมพ์ ซึ่งถ้ามีเยอะมาก ก็จะต้องรบกวนให้ช่วยแบ่งกันพิมพ์ เช่น มี 100 หน้า ขออาสาสมัคร 10 คน
เราก็จะได้เอกสารอ่านเร็วขึ้น

    ถึงลำบาก แต่ยิ่งทำให้พยายามมากขึ้น
    กว่าจะได้หนังสือหรือข้อมูลในหนังสือมาได้มันยาก ก็ถือเป็นข้อดี ทำให้เห็นคุณค่าของเนื้อหา เพราะกว่าเราจะได้อ่านเรื่องนี้มันยาก ต่างจากคนทั่วไปที่อ่านเมื่อไหร่ก็ได้ มันมีแรงผลักดันบางอย่าง เราจะกระตือรือร้นที่จะอ่าน เพราะเราคิดเสมอว่า มีจิตอาสาหลายคนที่สละเวลามาอ่านให้เราหรือพิมพ์ให้เรา ทั้งๆ ที่พวกเขาสามารถเอาเวลาไปดูซีรีส์ ไปเที่ยว หรือหาความสุขอื่นๆ ได้ แต่เขาเสียเวลาในชีวิตของเขาเพื่อเรา จึงเห็นคุณค่าของหนังสือมากขึ้น และเราก็เริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ ม.5

    วันประกาศผลแอดมิชชั่น
    พี่ยิ้ม ไม่ได้สมัครโควตาสำหรับผู้พิการที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ออกมา แต่เลือกสมัครรอบแอดมิชชั่น ใช้คะแนน GAT PAT, O-NET ตามปกติ โดย 4 อันดับที่เลือก คือ
     อันดับ 1 ครู จุฬาฯ เพราะเคยได้ยินว่ามีรุ่นพี่ตาบอดเรียนอยู่ มหาวิทยาลัยน่าจะมีประสบการณ์ในการสอนนักเรียนกลุ่มนี้จึงอยากเข้า
     อันดับ 2 ครู สังคมฯ มศว
     อันดับ 3 ครู ภาษาไทย มศว
     อันดับ 4 ครู สังคมฯ ม.ศิลปากร
     ประกาศผลออกมา พี่ยิ้มติดอันดับ 2 คณะสังคมศาสตร์ เอกสังคมศึกษา ซึ่งสาขานี้ยังไม่มีคนตาบอดเรียน ช่วงแรกก็จะกังวลนิดๆ ว่า จะเรียนได้หรือเปล่า และต้องไปเรียนที่องครักษ์ในปีแรก ซึ่งพี่ยิ้มเป็นคนติดบ้านมาก อีกอย่างคือมองว่าเป็นโอกาสที่จะได้ลองไปใช้ชีวิต ซึ่งคิดไม่ผิดที่เลือกมา เพราะอาจารย์ เพื่อนๆ รุ่นพี่ รวมถึงบุคคลากรในมหาวิทยาลัยดูแลดีมากๆ
    ในส่วนของกิจกรรมรับน้อง ก็เข้าร่วมพร้อมกับเพื่อนๆ ตามปกติ ยกเว้นกิจกรรมที่อาจจะดูอันตรายเกินไปสำหรับเรา  รุ่นพี่ก็จะไม่ให้เข้าร่วม


 

    การปรับตัวเข้าสู่สังคมมหาวิทยาลัย
     ก่อนเข้ามาเรียน ที่บ้านก็เป็นห่วงที่ยิ้มจะเรียนสายครู ในเรื่องที่จะต้องไปฝึกสอนหรือไปสอนเด็กปกติ  แต่เมื่อเราเข้ามาเรียนจริงๆ จนถึงตอนนี้ปี 2 แล้ว รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี คุณครูและเพื่อนๆ ให้การช่วยเหลือเต็มที่ พาเราไปห้องเรียนห้องต่างๆ ตรงไหนที่เราไม่เข้าใจ หรือวิชาที่มีรูปภาพประกอบ เช่น วิชาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เพื่อนจะช่วยอธิบายว่าเป็นรูปอะไร ถ้ายังไม่เข้าใจอีก อาจารย์จะมาช่วยเสริม
      ส่วนเรื่องการจัดการเอกสาร ที่มหาวิทยาลัยจะมีศูนย์บริการนิสิตพิการ ซึ่งจะช่วยเรื่องการจัดการเอกสารและประสานกับอาจารย์แต่ละรายวิชาให้อีกด้วย
      พี่ยิ้มเล่าถึงวิชาเรียนในคณะสังคมศาสตร์ เอกสังคมศึกษา ว่าจะมีวิชาแบ่งเป็น 3 หมวดวิชาหลัก กลุ่มแรกเป็นวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัย เป็นวิชาทั่วไป เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิชาทั่วไปของมหาวิทยาลัย กลุ่มที่ 2 จะเป็นวิชาพื้นฐานเกี่ยวกับครู เช่น วิชาจริยธรรมวิชาชีพครู กระบวนทัศน์ทางการศึกษา ภาษาอังกฤษสำหรับครู จิตวิทยาสำหรับครู และหมวดที่สามจะเป็นกลุ่มวิชาสังคมศึกษา เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย รัฐศาสตร์ วิชาในกลุ่มนี้จะมีต่อท้ายว่าสำหรับสังคมศึกษา เพื่อเป็นการเจาะลึกลงไปเลย ว่าเป็นครูสังคม เนื้อหาที่สอนก็จะนำไปต่อยอดสอนได้จริงๆ และมีการออกไปภาคสนามอีกด้วย
     เมื่อถามถึงผลการเรียนของพี่ยิ้ม ก็ได้คำตอบที่น่าดีใจแทน เพราะเกรดเฉลี่ยสะสมปี 1 อยู่ที่ 3.79  ซึ่งถือว่าสูงมากทีเดียว

    ฝากถึง Dek62 ทุกการตัดสินใจ อยู่ที่ตัวเรา
     ในเวลาที่มีอยู่แค่นี้ ทุกคนมีเวลาเท่ากัน การที่เราจะอ่านหรือไม่อ่านมันเป็นสิทธิ์ของเรา เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะจัดการเวลาอย่างไร เราเลือกได้ที่จะเอาเวลาไปดูซีรีส์ หรือไปทำอย่างอื่น แต่อย่าลืมว่าคู่แข่งของเรา อาจเอาเวลาตรงนั้นไปอ่านหนังสือ ท่องศัพท์ ทำโจทย์ อยู่ก็ได้ หากเป็นแบบนี้ทุกวันๆ เราจะต้องตามเขาอีกกี่ก้าวกว่าจะทัน
     และฝากถึงเพื่อนที่จะซิ่วหรือได้คณะที่ไม่ชอบ หากสุดท้ายมันไม่ได้อย่างที่เราต้องการ เราเสียใจได้ เศร้าได้ ท้อได้ และมีสิทธิ์ที่จะถอยด้วย ถอยไปเพื่อตั้งหลัก เพราะเราอาจจะหยุดไปเพื่อทบทวนตัวเอง แต่เราก็อย่าลืมให้โอกาสตัวเองในการต่อสู้ และเผชิญหน้ากับมัน เรามีสิทธิ์ที่จะทำตามความฝัน สรุปแล้วทั้งหมด เราเลือกได้ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกทำอะไร

 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

MeanPlanFC Member 12 ธ.ค. 61 10:47 น. 1
อ่านจบแล้วน้ำตามันไหลออกมาแบบไม่ทันตั้งตัวเลย ขอบคุณพี่ยิ้มที่ทำให้เห็นว่ายังมีคนที่ลำบากมากกว่าเรา ถึงจะไม่ครบ 32 แต่ก็ทุ่มเทและพยายามเต็มที่.. ผมต้องกลับมาคิดทบทวนตัวเองใหม่แล้วแหละที่ผ่านมาทำดีพอหรือยัง ขอบคุณที่ทำให้เด็กที่ไม่ค่อยจะเอาไหนคนนึงเห็นคุณค่าในตัวเองขึ้นมาทันที.. ขอบคุณแรงบันดาลใจที่แสนจะมีคุณค่า.. ขอให้พี่ยิ้มมีความสุขมากๆ สุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นที่รักใคร่ของเพื่อนๆครูบาอาจารและพ่อแม่.. จากใจเด็ก62 คนนึง
1
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

MeanPlanFC Member 12 ธ.ค. 61 10:47 น. 1
อ่านจบแล้วน้ำตามันไหลออกมาแบบไม่ทันตั้งตัวเลย ขอบคุณพี่ยิ้มที่ทำให้เห็นว่ายังมีคนที่ลำบากมากกว่าเรา ถึงจะไม่ครบ 32 แต่ก็ทุ่มเทและพยายามเต็มที่.. ผมต้องกลับมาคิดทบทวนตัวเองใหม่แล้วแหละที่ผ่านมาทำดีพอหรือยัง ขอบคุณที่ทำให้เด็กที่ไม่ค่อยจะเอาไหนคนนึงเห็นคุณค่าในตัวเองขึ้นมาทันที.. ขอบคุณแรงบันดาลใจที่แสนจะมีคุณค่า.. ขอให้พี่ยิ้มมีความสุขมากๆ สุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นที่รักใคร่ของเพื่อนๆครูบาอาจารและพ่อแม่.. จากใจเด็ก62 คนนึง
1
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด