ตอนนี้การรับสมัครในรอบที่ 1 หรือรอบ Portfolio ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในระบบ TCAS 62 และการเปิดรับสมัครสอบ GAT PAT และ 9 วิชาสามัญ ก็ได้ปิดระบบกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับขั้นตอนต่อไปของหลายๆ คน ก็คงจะหนีไม่พ้นการสอบสัมภาษณ์ ที่จะมาต้อนรับหลังช่วงเทศกาลปีใหม่นี้
 

 
     อย่างที่น้องๆ เข้าใจกันเป็นอย่างดี ว่าในรอบ Portfolio นอกจากเกรดเฉลี่ยสะสม ความสามารถ และผลงานต่างๆ ที่เป็นคะแนนหลักในการพิจารณาแล้ว “การสอบสัมภาษณ์” ก็ยังเป็นคะแนนอีกส่วนหนึ่งที่จะส่งผลในกับการคัดเลือก ทำให้น้องๆ หลายคนกังวล วันนี้พี่แนนนี่ก็จะมาแนะนำเทคนิคการเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์สำหรับรอบนี้โดยเฉพาะมาฝาก
 
1) อ่านระเบียบการ เตรียมความพร้อม
     หลายคนอาจจะสงสัยว่า อ่านระเบียบการไปทำไม ช่วยให้สอบสัมภาษณ์ได้ด้วยหรอ...หลายๆ สถาบันจะระบุข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับการสัมภาษณ์ไว้ในระเบียบการ เพื่อให้น้องๆ เตรียมตัว เตรียมความพร้อมก่อนไปสอบ เช่น วิธีการสอบ ภาษาที่ใช้สอบ หัวข้อที่จะสอบ อุปกรณ์ในการสอบ เป็นต้น
 
วิธีการสอบในรอบ Portfolio
      ในการสอบสัมภาษณ์ หลายๆ สถาบันกำหนดให้เป็นการสอบสัมภาษณ์แบบทั่วๆ ไป เป็นการสัมภาษณ์แบบสนททนา พูดคุยกับคณะกรรมการตามปกติ เพียงแต่เนื้อหา หรือคำถามในการสัมภาษณ์จะเข้มขึ้น แต่บางสถาบันอาจจะให้สอบสัมภาษณ์เป็นแบบกิจกรรม มีการ Workshop หรือมีการวัดทักษะความสามารถต่างๆ
      อย่างเช่น บางสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยมหิดล กำหนดให้มีการสัมภาษณ์แบบ Multiple Mini Interview (MMI) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวัดผล ซึ่งการสัมภาษณ์เป็นแบบหลายๆ ฐาน หลายๆ สถานี ในแต่ละฐานก็จะมีโจทย์ หรือแบบทดสอบที่แตกต่างกันออกไป สำหรับทดสอบทักษะในด้านต่างๆ (อ่านเพิ่ม)
     นอกจากนี้น้องๆ จะต้องตรวจสอบว่า ในการสัมภาษณ์จะเป็นในภาษาอะไร ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ตามที่ระเบียบการระบุไว้ (แม้ว่าจะไม่ได้สมัครในหลักสูตรภาษาอังกฤษ หรือนานาชาติก็ตาม)

 
หัวข้อที่จะสอบ
      บางสาขาวิชา บางสถาบัน ได้ประกาศ “หัวข้อ” หรือเนื้อหาในการสอบสัมภาษณ์ไว้ชัดเจน ว่าต้องการทดสอบทักษะในเรื่องใดบ้าง ขอบเขตในการสัมภาษณ์เป็นอย่างไร รวมไปถึงบางสถาบันแจกแจงสัดส่วนอย่างชัดเจนว่า ในแต่ละหัวข้อมีคะแนนเท่าไหร่ หรือการสอบสัมภาษณ์ในครั้งนี้คิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ในการพิจารณาคัดเลือก แต่...ก็มีบางสถาบันที่ไม่ได้ระบุหัวข้อในการสอบ
 
     ตัวอย่างหัวข้อการสอบสัมภาษณ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

 
อุปกรณ์สำหรับการสอบ
     บางสถาบันระบุให้น้องๆ เตรียมเอกสาร หรืออุปกรณ์ต่างๆ ไปในวันสอบสัมภาษณ์ โดยเฉพาะสาขาวิชา หรือโครงการที่ต้องใช้ทักษะความสามารถต่างๆ เช่น สาขาสถาปัตยกรรม เตรียมดินสอ ยางลบ หรือสาขาศิลปกรรมศาสตร์ เตรียมเครื่องดนตรี เป็นต้น แต่บางสถาบันอาจจะไม่ได้ระบุ น้องๆ สามารถเตรียมไปได้ตามความเหมาะสม
      สำหรับในรอบ Portfolio นี้ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ นั่นก็คือ Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงานนั่นเอง ในวันสอบ น้องๆ สามารถใช้เล่มเดียวกับที่ส่งให้กับสถาบันไปแล้ว หรือใส่ผลงานของตัวเองเพิ่มเติมไปให้มากกว่า 10 หน้าก็ได้ แต่จะต้องเป็นผลงานตามจริง ในระดับชั้นม.ปลายนะคะ
                                                                                       
2) อ่าน Portfolio เตรียมความสามารถ
      หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องอ่าน Portfolio ในการสอบสัมภาษณ์รอบนี้ แน่นอนว่าคณะกรรมการจะสอบถาม หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับผลงาน ความสามารถ หรือทักษะต่างๆ ของน้องที่ระบุไป จริงอยู่ที่ผลงานของใคร เจ้าตัวก็น่าจะรู้ดีอยู่แล้ว แต่บางคนอาจจะหลงลืมรายละเอียดของผลงาน หรือกิจกรรมนั้นๆ เช่น ชื่อโครงการ สถานที่ ผู้จัดโครงการ วันที่ เป็นต้น จึงแนะนำให้น้องหยิบผลงานมาทบทวนความจำ หรือกระตุ้นความจำของตัวเองกันบ้าง เวลาที่อยู่ต่อหน้าคณะกรรมการจะได้ไม่เก้อเขิน หรือ dead air ไปนาน ส่วนถ้าใครมีความสามารถ หรือทักษะต่างๆ ก็อย่าลืมฝึกซ้อม หรือเตรียมความพร้อมให้เรียบร้อย
 
3) อ่านคำถาม เตรียมคำตอบ
     ในเรื่องของคำถาม อยากให้น้องๆ ลองนั่งลิสต์คำถามที่มีความเป็นไปได้ว่า คณะกรรมการจะสอบถามเพื่อพิจารณาคัดเลือก เบื้องต้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ คำถามตามหัวข้อที่กำหนดไว้ในระเบียบการ กับคำถามทั่วๆ ไปที่อาจจะเจอได้
 
-ตามหัวข้อที่กำหนดไว้
      ถ้าระบุหัวข้อมาให้แล้ว อันนี้ก็ง่ายหน่อย เพราะมีขอบเขตสำหรับเตรียมตัวในระดับนึง รู้ว่าเป็นคำถามแนวไหนที่คณะกรรมการตั้งใจจะถามบ้าง หรือรู้ว่าคณะกรรมการจะทดสอบอะไร น้องๆ ก็สามารถเตรียมคำตอบได้ในเบื้องต้น
 
-คำถามทั่วไป
      ถ้าทางสาขาไม่ได้ระบุหัวข้อไว้ อาจจะเดายากนิดนึงว่าคณะกรรมการจะสอบถามอะไร แต่ขอบเขตของคำถามคงหนีไม่พ้นที่เกี่ยวกับผลงาน ความสามารถ ทักษะต่างๆ ของน้องๆ เกี่ยวกับความรู้รอบตัวในปัจจุบัน ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตร เกี่ยวกับสาขาวิชา ค่าธรรมเนียมกรศึกษา ความรู้เฉพาะด้านต่างๆ รวมไปถึงความรู้สึก และความสนใจของตัวน้องๆ
      นอกจากนี้ลองก็เตรียมคำตอบของคำถามปิดท้ายการสอบสัมภาษณ์ยอดฮิตอย่าง “มีอะไรจะถามไหม?” ด้วยนะคะ แอบบอกเลยว่า ท่านคณะกรรมการไม่อยากให้จบที่คำว่า “ไม่มี” แน่นอน
 
  ตัวอย่างคำถาม
  • ทำไมถึงเลือกเรียนคณะนี้ สถาบันนี้
  • คิดว่าเรียนสาขานี้จบไปแล้วทำอาชีพอะไร
  • ที่นี่เรียนหนัก การบ้านเยอะ จะไหวไหม
  • ถ้าตกสัมภาษณ์จะทำยังไง
     
4) อ่านประวัติ เตรียมความรู้
     อย่างที่บอกไปเมื่อข้อที่แล้วว่า น้องๆ อาจจะเจอคำถามที่ไม่อาจคาดคิด การที่มีความรู้ มีข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสังคม บ้านเมืองในขณะนี้ ความรู้รอบตัวทั่วๆ ไป ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตร หรือสาขาที่สมัคร (ลองดูว่าเรียนประมาณไหน จบไปแล้วทำอะไรได้บ้าง) รวมถึงความรู้รอบรั้วคณะ รอบรั้วสถาบัน อาจจะเป็นประวัติความเป็นมา ประเพณี หรือกิจกรรมสำคัญ หรือร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ความตั้งใจที่อยากจะเข้าไปศึกษาในสถาบันนั้นๆ
 
>> บทสัมภาษณ์พิเศษ <<
      หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกในรอบ Portfolio; รศ.ดร.กุลธิดา ธรรมวิภัชน์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและสื่อสารองค์กร คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมฯ  มจธ. ให้สัมภาษณ์กับทีมงาน Dek-D ถึง "การเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์รอบ Portfolio"

Q: การสอบสัมภาษณ์ในรอบนี้ต่างจากรอบอื่นอย่างไร และต้องเตรียมตัวอย่างไร
A: การสอบสัมภาษณ์ในรอบนี้จะเข้มข้นกว่ารอบอื่นๆ เพราะรอบอื่นๆ มีคะแนนจากข้อสอบเป็นตัวสกรีนอยู่ ด้านคณะกรรมการก็จะคุยกันถึงแนวคำถามที่ถูกต้อง ทางทปอ. ก็มีคู่มือให้กับทางคณะ ทางมหาวิทยาลัย จะแยกตามกลุ่มคณะ

     เริ่มต้นจะดูจาก Portfolio ก่อน จะดูเรื่องผลการเรียน ความสามารถ การทำกิจกรรม จิตอาสา หรือรางวัลที่เคยได้รับ ซึ่งส่วนนี้ก็จะรอบคอบมากขึ้น เหมือนน้องผ่านการคัดเลือกในเบื้องต้นเข้ามาแล้ว วันสอบสัมภาษณ์ก็อาจจะมี Re-check เกี่ยวกับกระบวนการทำ Portfolio ผลงาน รางวัลต่างๆ ที่นำเสนอไป ความรู้เบื้องต้น หรือคำถามเชิงวิชาการหน่อยๆ เพราะบางคนไปจ้างทำ Portfolio แถมเทรนการตอบคำถามให้อีก แต่ก็จะตอบเทคนิคบางอย่างไม่ได้

     สำหรับตัว Portfolio แล้ว ควรจะมีผลการเรียน เรื่องของกิจกรรม ความสามารถพิเศษ เรื่องครอบครัว และที่สำคัญอย่าใส่ตัวจริงมา เช่น ใบปพ. เกียรติบัตร ควรสแกน และปริ้นท์ออกมา อย่าถือใส่ USB มาให้ดูในคอมพิวเตอร์ ส่วนคนไหนที่สมัครเข้าโครงการความสามารถพิเศษ ก็อย่าลืมพวกอุปกรณ์ หรือการแสดงต่างๆ หรือเพลงมาด้วย

      รวมถึงตอนท้ายๆ ของการสัมภาษณ์มักจะถามว่า มีอะไรจะสอบถามไหม ส่วนใหญ่คาดหวังให้น้องๆ ถามเกี่ยวกับตัวหลักสูตร และลงท้ายถึงความตั้งใจที่อยากจะเข้ามาเรียนที่นี่จริงๆ
 
Q: จำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ ของมหาวิทยาลัยไหม
A: ศึกษาไว้ดีเลยค่ะ ก็อยากให้น้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย คณะ ภาควิชา และลงลึกไปในหลักสูตรที่ไปสอบเลย แล้วในวันสอบก็ควรจะไปถึงก่อนเวลา เพื่อเตรียมตัว ไม่เหนื่อย ไม่หลก และให้สังเกตสภาพแวดล้อม เก็บข้อมูลต่างๆ ตามบอร์ด เพื่อเป็นตัวช่วย เสริมในเรื่องของความสนใจ ความช่างสังเกต
 
Q: บุคลิก-ลักษณะท่าทางของน้องๆ มีผลต่อการสัมภาษณ์ไหม
A: พวกลักษณะท่าทาง กิริยา บุคลิกภายนอก บุคลิกภายใน มีผลนะ คนที่มีบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับแต่ละหลักสูตร เช่นหลักสูตรการแสดง แล้วมีความกล้าแสดงออกก็เป็นผลดี หรือหลักสูตรเกี่ยวกับบัญชี แล้วมีความละเอียดรอบคอบ ไม่อยากเป็นครูแนะแนว แนะนำน้องว่าเหมาะกับสาขาไหนมากกว่า

     นอกจากนี้อาจารย์ก็ยังฝากให้น้องๆ "พูดความจริงกับคณะกรรมการ" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฐานะ หรืออะไรก็ตาม พูดความจริงมาได้เลย เผื่อมีทุนการศึกษาช่วยสนับสนุน หรือมีแนวทางให้ความช่วยเหลือได้
 
     ส่วนใหญ่แล้วการสอบสัมภาษณ์ในรอบ Portfolio จะเกิดขึ้นภายในเดือนมกราคม 2562 และทปอ. จะประกาศผลการคัดเลือกในวันที่ 28 มกราคม และเปิดระบบให้ยืนยันสิทธิ์ 30-31 มกราคมต่อไป
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด