20 เรื่องจริง “ธรรมศาสตร์” มหาวิทยาลัยที่หลายคนไม่ค่อยรู้ว่ามีถึง 4 ศูนย์(วิทยาเขต)


 
      สวัสดีค่ะ กลับมาเจอ Dream Campus กันอีกครั้ง หลังจากคราวที่แล้ว พี่แนนนี่พาน้องๆ ไปสืบหาความจริงและทำความรู้จักกับมหาวิทยาลัยของภาคใต้ อย่าง ม.สงขลานครินทร์กัน คราวนี้จะพาสืบตามคำเรียกร้องกันอีกครั้ง แต่จะพาเขยิบขึ้นมาทำความรู้จักกับมหาวิทยาลัยในเมืองหลวงของประเทศไทยกันบ้างค่ะ
 

 
      มหาวิทยาลัยที่วันนี้ จะพาน้องๆ ไปรู้จักเรื่องราว และล้วงลึกความลับรอบๆ รั้ว นั่นก็คือ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” นับเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและก่อตั้งเป็นอับดับต้นๆ ของประเทศไทย มาดูกันว่ามีเรื่องไหนที่ยังไม่รู้กันอีกบ้าง
 
1. ชื่อแรกของมหาวิทยาลัย
      แรกเริ่มใช้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ (มธก.)” ก่อนจะตัดคำว่า “การเมือง” ออก กลายเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่นทุกวันนี้
 
2. มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศ
      อดีตตลาดวิชา เปิดให้คนที่สำเร็จประโยคมัธยมศึกษา และผู้ที่ทำงานแล้วเข้าเรียนโดยไม่มีการสอบเข้า เก็บค่าเรียนในอัตราต่ำ จัดพิมพ์คำสอนจำหน่ายราคาถูก ไม่บังคับฟังบรรยาย แค่มาสอบตามเวลาที่กำหนด มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศ เปิดสอน 2 แขนง หลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต และวิชาการบัญชี
 
3. 4 คณะแรกของมหาวิทยาลัย
       หลังจากมหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลง หลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต จึงแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 3 คณะ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์  และคณะเศรษฐศาสตร์  และวิชาการบัญชี เป็นคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
 
4. ตึกโดม อาคารหลังแรก=สัญลักษณ์มหาวิทยาลัย
      อาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัย หรือที่นักศึกษาเรียกกันว่า แม่โดม ออกแบบโดย จิตรเสน (หมิว) อภัยวงศ์ ปรับปรุงมาจากตึกเก่า 4 หลังของกองพันทหารราบที่ 4 ซึ่งรูปแบบของโดมอธิบายกันว่า นำรูปแบบมาจากดินสอแปดเหลี่ยมที่เหลาปลายจนแหลม เพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาที่สูงส่งของการจัดการศึกษา ตามแนวคิดของศ.ดร.ปรีดี และกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของมหาวิทยาลัย
 
5. ตรามหาวิทยาลัย
      เรียกว่า ตราธรรมจักร เป็นรูปธรรมจักรสีเหลืองทอง ตัดเส้นด้วยสีแดง ทั้งหมด 12 แฉก โดยมีพานรัฐธรรมนูญสีแดงสลับเหลืองอยู่กึ่งกลาง ที่ขอบธรรมจักรมีอักษรสีแดงด้านบนมีคำว่า "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" หรือ "ม.ธ." อยู่ ด้านล่างมีคำว่า "THAMMASAT UNIVERSITY" หรือ "T.U." อยู่ และระหว่าง 2 คำจะมีลายกนกสีแดงคั่นอยู่
 
6. 4 ศูนย์ = 1 มหาวิทยาลัย
      ธรรมศาสตร์ จัดการเรียนการสอนใน 4 ศูนย์ หรือวิทยาเขต ได้แก่ ท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์พัทยา และศูนย์ลำปาง
  • ท่าพระจันทร์ มีการเรียนสอนระดับปริญญาตรีในหลักสูตรนานาชาติ และโครงการพิเศษในสายสังคมศาสตร์ฯ เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ (PBIC) เป็นต้น
  • ศูนย์รังสิต เปิดสอนทั้งในสายสังคมศาสตร์ฯ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง คณะแพทยศาสตร์คณะพยาบาลศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร เป็นต้น
  • ศูนย์ลำปาง เปิดสอนในคณะนิติศาสตร์, วิทยาลัยสหวิทยาการ, คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์, คณะศิลปกรรมศาสตร์, คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ศูนย์พัทยา เปิดสอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ สาขาวิศวกรรมยานยนต์ สาขาวิศวกรรมซอฟแวร์ และวิทยาลัยนวัตกรรม สาขาการบริหารเทคโนโลยี
     

 
7. ไม่บังคับใส่ชุดนักศึกษา
      ที่นี่เรียกว่าได้รับเสรีภาพในการแต่งกายไปเข้าเรียน มหาวิทยาลัยไม่บังคับให้นักศึกษาใส่ชุดนักศึกษาในวันเรียนปกติ แต่ในวันที่มีการสอบ หรือมีพิธีการต่างๆ อาจจะต้องสวมใส่เครื่องแบบตามที่กำหนด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่อาจารย์ในแต่ละรายวิชาด้วย
 
8. พระราชทานปริญญาบัตร
     เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว บัณฑิตจะได้เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) จะทรงเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต
 
9. 3 บุคคลสำคัญ
      3 บุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบไปด้วย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ และศ.ดร.สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นผู้มีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัย ทั้งในฐานะผู้ก่อตั้ง และผู้พัฒนามหาวิทยาลัยจนเจริญก้าวหน้า ซึ่งมีอนุสาวรีย์ตั้งอยู่ภายในศูนย์รังสิต
 
10. เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ (มธ. ท่าพระจันทร์)
  • เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516: ที่ลานโพธิ์ และสนามฟุตบอล เป็นจุดที่เริ่มมีการชุมนุมและปราศรัย และเป็นสถานที่ที่นิสิตนักศึกษาจากทั่วทุกสารทิศมารวมตัวกัน
  • เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519: กลุ่มนักศึกษาชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิติขจรที่ลานโพธิ์, สนามฟุตบอล เป็นที่ตั้งเวทีชุมนุมและสถานที่เข่นฆ่านักศึกษา, มีเจ้าหน้าที่ระดมยิงเข้ามาบริเวณมหาวิทยาลัยจากด้านหน้าหอประชุมใหญ่
     
11. ยืม-คืนหนังสือระหว่าง 11 ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย
      สำหรับ ม.ธรรมศาสตร์แล้ว มีห้องสมุดทั้งหมด 11 แห่งกระจายอยู่ทั่วทุกศูนย์ ทั้งท่าพระจันทร์ รังสิต ลำปางและพัทยา โดยน้องๆ สามารถยืม หรือคืนหนังสือข้ามกันระหว่างห้องสมุดได้ ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางไปยังห้องสมุดนั้นๆ
 
12. งานฟุตบอลประเพณี
      ในแต่ละปีจะมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ และปีไหนใครเป็นเจ้าภาพ ก็จะใช้ขึ้นต้นชื่องาน เช่น ธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าภาพ ก็จะเป็น “งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ”  ซึ่งนอกจากการแข่งขันฟุตบอลแล้ว ยังมีสีสันของขบวนพาเหรดล้อการเมือง การแปรอักษร ผู้นำเชียร์ ผู้อันเชิญเกี้ยว คฑากร ทูตกิจกรรม รวมไปถึงเสื้อที่ระลึกในแต่ละปีด้วย
 

ขอบคุณรูปภาพจาก หนังสือสูจิบัตรงานฟุตบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬา ครั้งที่ 73
 
13. แปลงนาธรรมศาสตร์
      มหาวิทยาลัยมีแปลงนาเป็นของตัวเอง สำหรับปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงต้อนรับนักศึกษาใหม่ โดยจะมีกิจกรรมบริเวณแปลงนาทุกปี ปีละ 2 ครั้ง คือวันดำนา และวันเกี่ยวข้าว ซึ่งจะนำข้าวไปแปรรูปให้เพื่อนใหม่รับประทานในวันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่
 
14. สวนสาธารณะขนาดใหญ่
  • สวนสาธารณะ 80 ธรรมศาสตร์ จะมีลานประติมากรรม และเส้นทางให้ออกกำลังกายและพักผ่อน โดยระบบไฟฟ้าในสวนเป็นระบบโซลาเซลล์
  • บริเวณสะพานดาว ตรงข้ามตึกเรียนคณะแพทยศาสตร์ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมขนาดใหญ่ต่างๆ
  • กระท่อมชาญี่ปุ่น พร้อมสวนขนาดใหญ่ ซ่อนอยู่ในสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มีการตกแต่งสไตล์ญี่ปุ่น เปิดให้ใช้งานเฉพาะหน่วยงาน เช่น การจัดประชุม อบรม สัมมนา และห้องพัก
     
15. ศูนย์บริการกีฬาครบวงจร
      มหาวิทยาลัยให้บริการศูนย์กีฬาแบบครบวงจร มาตรฐานเอเซียนเกมส์ ประกอบไปด้วย สนาฟุตบอล ธรรมศาสตร์ รังสิต (ถูกใช้เป็นสนามแข่งฟุตบอลอาชีพ นักศึกษาดูฟรี) มินิสเตเดี้ยม (สนามหอพักเอเชี่ยนเกมส์) อาคารยิมเนเซียม (4 อาคาร) TU@Fitness Fit Firm Fun สนามเทนนิส TUSPORTS TUSports Aqutic (รองรับกิจกรรมทางน้ำ ทั้งว่ายน้ำ โปโลน้ำ ระบำใต้น้ำ) หน้าผาจำลองที่สูงที่สุดในประเทศไทย
 
16. ห้างสรรพสินค้าในกำกับมหาวิทยาลัย
      มหาวิทยาลัยดูแลห้างสรรพสินค้า 2 แห่ง ได้แก่ TU DOME และอินเตอร์โซน
  • TU DOME ประกอบไปด้วย ศูนย์อาหาร ร้านอาหารชั้นนำ และร้านค้าต่างๆ เช่น MK, KFC, YAYOI, AMAZON, WATSON, ร้านหนังสือ ร้านอินเทอร์เน็ต, ร้านซ่อมและจำหน่ายอุปกรณ์มือถือ, ร้านทำผม, ไปรษณีย์, ซุปเปอร์มาเก็ต เป็นต้น
  • อินเตอร์โซน ประกอบไปด้วย ห้องเธียร์เตอร์ ห้องอบรมสัมมนา สถานที่จัดงานเลี้ยงสังสรรค์/อาคารยิมเนเซี่ยมอินเตอร์โซน (ความจุ 3,000 ที่นั่ง) และลานกิจกรรมอเนกประสงค์ รวมถึงศูนย์บริการ และร้านค้าต่างๆ รอบอาคาร เช่น สระว่ายน้ำ ธนาคาร ศูนย์บริการโทรศัพท์ ร้านทำผม นวดแผนไทย ร้านถ่ายรูป ร้านแว่นตา เป็นต้น
     
17. ธรรมศาสตร์เปิดตลาดวิชาอีกครั้ง
      ปัจจุบันเปิดโครงการตลาดวิชาอีกครั้ง ชื่อ Thammasat Gen Next Academy เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอก เป็นศิษย์ธรรมศาสตร์ สามารถเข้าไปเรียนวิชาต่างๆ ที่เปิดสอน โดยไม่จำกัดอายุ วุฒิการศึกษา หรือสัญชาติของผู้เรียน โดยการเรียนการสอนจะมีทั้งเป็นแบบเรียนออนไลน์ เรียนในห้องเรียน และ Workshop (คอร์สระยะสั้น) ขึ้นอยู่กับแต่ละรายวิชา (อ่านเพิ่มเติม: คลิก)
 
18. มี CO-Learning Space
      เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับทุกการทำงาน ภายใต้แนวความคิด ทำไมการเรียนของนักศึกษาจะต้องถูกล้อมรอบด้วยห้องเรียน โดยเปิดให้บริการหลายที่ เช่น
  • ชั้น 2 ของศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพื้นที่สำหรับใช้นั่งทำงานและประชุมกลุ่มแบบหลากหลายสไตล์ และห้องประชุมกลุ่มย่อย แบบส่วนตัว
  • ชั้น 1 หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดพื้นที่สำหรับนั่งทำงานอย่างอิสระ และมีห้องประชุมขนาด 12 ที่นั่งไว้บริการ รวมถึง Thammasat Creative Space (TCS) ที่สามารถนั่งทำงาน หรือเลื่อนโต๊ะ จัดห้องเป็นพื้นที่โล่งสำหรับจัดกิจกรรม
     

ขอบคุณรูปภาพ จาก http://www.tu.ac.th/thammasat-co-learning-space-rangsit
 
19. มีแอปพลิเคชั่นให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต
      มหาวิทยาลัยทำแอปพลิเคชั่น mindmood ที่เป็นระบบให้คำปรึกษาและดูแลสุขภาพจิต และพัฒนาบุคลิกภาพนักศึกษา ถ้าเกิดความเครียด หรือปัญหาต่างๆ ผ่านการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา ประเมินสุขภาพจิตใจ และวิธีการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเกิดความเครียด ซึมเศร้าวิตกกังวล และเป็นช่องทางติดต่อช่วยเหลือนักศึกษา โดยมีทั้งนักจิตวิทยา และจิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญช่วยกันพัฒนาระบบ
 
20. โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบเหมือนกัน!
      เป็นโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ที่เริ่มก่อตั้งโดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการเรียนการสอนครั้งแรกในปีการศึกษา 2560 (สิงหาคม 2560) ซึ่งทั้งนักเรียนและผู้ปกครองจะต้องเข้าทดสอบกระบวนการคิด ทัศนคติและการส่งเสริมการเรียนของลูก (ต้องผ่านเกณฑ์จึงมีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์) นอกจากนี้นักเรียนยังมีอิสระในการแต่งกาย ไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบ/ชุดนักเรียนมาเรียนทุกวัน (อ่านเพิ่มเติม: คลิก)
 
     เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับ 20 เรื่องราวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น้องๆ คนไหนที่กำลังจะไปสอบสัมภาษณ์ หรือใฝ่ฝันที่อยากเป็น “ลูกแม่โดม” ก็สามารถเก็บข้อมูลเหล่านี้ เผื่อเป็นประโยชน์ในการสอบสัมภาษณ์ได้ค่ะ สำหรับน้องๆ คนไหนที่สนใจ ใน TCAS 62 นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเปิดรับสมัครอีก 4 รอบ สามารถติดตามรายละเอียดได้ ที่นี่
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.tu.ac.th/about
http://www.tu.ac.th/thammasat-co-learning-space-rangsit
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด