20 เรื่องจริง “แพทย์แผนไทยประยุกต์” รักษา ปรุงยาด้วยสมุนไพร ตำรับประยุกต์จาก “ทองเอก หมอยาท่าโฉลง”


 
      ทองเอก หมอยาท่าโฉลง ละครดังช่อง 3 ที่เพิ่งจบไป นับเป็นละครอีกเรื่องหนึ่งที่ใครหลายๆ คนให้ความสนใจ เพราะพระเอกของเรื่องเป็นหมอยา ทำหน้าที่รักษาคนไข้ด้วยสมุนไพรต่างๆ ซึ่งการรักษาแบบนี้เป็นการรักษาแบบแผนไทยที่มีมาตั้งแต่โบราณ และจากกระแสละครนี้เอง ทำให้ใครหลายๆ คนหันมาสนใจกับการแพทย์แผนไทยมากยิ่งขึ้น
 

 
      ในปัจจุบันยังคงมีการเรียนการสอนแพทย์แผนไทยอยู่ 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรการแพทย์แผนไทยบัณฑิต และหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต ทำให้หลายคนสงสัยว่าหลักสูตรเหล่านี้เรียนอะไรกันบ้าง จะเหมือนกับในละครหรือป่าว วันนี้พี่แนนนี่มีเรื่องจริง 20 ของหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มาฝากกันค่ะ
 
1. หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เป็นการเรียนที่ผสมผสานศาสตร์การแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนปัจจุบันเข้าด้วยกัน โดยจะมีการเรียนการสอนที่ค่อนข้างครอบคลุมหลักสูตรแพทย์แผนไทย
 
2. สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จะได้รับวุฒิแพทยแผนไทยประยุกต์บัณฑิต ส่วนสาขาการแพทย์แผนไทย จะได้รับวุฒิการแพทยแผนไทยบัณฑิต
 
3. หลักสูตรการเเพทย์แผนไทยประยุกต์มีความแตกต่างจากแพทย์แผนไทย เพราะจะมีการเรียนเรื่องวิทยาศาสตร์ทางการเเพทย์ การแพทย์แผนปัจจุบันมากกว่าแพทย์แผนไทย แต่ในปัจจุบันสาขาการแพทย์แผนไทย อาจจมีการปรับปรุงหลักสูตรสอดแทรกความรู้ด้านการแพทย์แผนปัจจุบันเข้าไปด้วย
 
4. แพทย์แผนไทยประยุกต์ต่างจากเเพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทย ทักษะ และองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งการใช้สมุนไพรรักษา การนวดรักษา เเละอื่นๆ เพื่อดูเเลเเละบำบัดผู้ป่วยตามโรคหรือกลุ่มอาการต่างๆ เเพทย์แผนไทยประยุกต์จะไม่สามารถทำการรักษาเเบบเเพทย์แผนปัจจุบันได้ เช่น การสั่งจ่ายยา (ยกเว้นการสั่งจ่ายยาสมุนไพร ที่เป็นตำรับยา หรือการปรุงยาเฉพาะรายได้) การฉีดยา การผ่าตัด เป็นต้น ที่เรียนรู้วิธีการรักษาของเเพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อช่วยดูเเลผู้ป่วยร่วมกัน
 
5. ศาสตร์ทางการแพทย์แผนไทย แบ่งออกเป็น 4 สาขาวิชาหลักๆ ได้แก่ เวชกรรมแผนไทย  หัตถเวชกรรมแผนไทย เภสัชกรรมแผนไทย เเละผดุงครรภ์เเผนไทย ซึ่งแพทย์แผนไทยประยุกต์ก็ต้องเรียนทั้ง 4 สาขา และการแพทย์แผนปัจจุบัน
 
6. เวชกรรมแผนไทย คือการเรียนรู้ในเรื่องเกี่ยวกับการตรวจร่างกาย การซักประวัติ การรวบรวมข้อมูลคนไข้ การวินิจฉัยโรค การวางแผนรักษาว่าจะต้องใช้วิธีการไหนตามคัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณ
 
7. หัตถเวชกรรม คือการเรียนรู้เกี่ยวกับหัตถการ เป็นการนวดรักษาโรค ส่วนใหญ่จะเป็นการนวดไทยแบบราชสำนัก ก็คือการใช้นิ้วมือและฝ่ามือในการนวดเท่านั้น โดยไม่ใช้ข้อศอก ฝ่าเท้า การดึง หรือการดัด นอกจากนี้ยังมีการประคบสมุนไพรด้วย
 
8. ผดุงครรภ์แผนไทย คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับคุณแม่ระหว่างการตั้งครรภ์ การทำคลอด ตลอดจนการดูแลคุณแม่หลังคลอด โดยหนึ่งในศาสตร์ที่ได้รับความนิยมมากๆ ทุกวันนี้ คือ การอยู่ไฟหลังคลอด
 
9. เภสัชกรรม คือการเรียนรู้เกี่ยวกับตำรับยาสมุนไพร รสยาของสมุนไพรแต่ละชนิด ศึกษารายละเอียดในการทำยา ส่วนผสมอะไรที่ใช้ทำยาได้บ้าง มีวิธีในการคัดเลือกยังไง คัดกรองยังไง ปรุงยายังไง ยาออกฤทธิ์แบบไหนได้ๆ ซึ่งในการเรียนรู้การทำยา จะได้ทำยาหลายรูปแบบ ทั้งแบบแคปซูล อัดเม็ด หรือยาลูกลอน ลูกประคบ ขี้ผึ้ง ยาดม พิมเสน เป็นต้น
 
10. หนึ่งในสเน่ห์ของการเรียนแพทย์แผนไทย คือการได้ศึกษาพวกพฤกศาสตร์ ต้นไม้ สมุนไพรต่างๆ ทั้งในเรื่องของตระกูลพืช โครงสร้างพืช เช่น ราก ใบ ลำต้น ผล เป็นต้น องค์ประกอบทางเคมีของพืช สรรพคุณต่างๆ ของพืชที่สามารถนำมาทำเป็นยารักษาได้ ซึ่งจะได้ทั้งสัมผัส ดมกลิ่น และลิ้มรส
 
11. หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หลักสูตรการแพทย์แผนไทย จะทำการเรียนการสอน 4 ปี ต่างกับหลักสูตรแพทยศาสตร์ที่ทำการเรียนการสอน 6 ปี
 
12. ในการเรียนการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ช่วงปี 1-2 จะเรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์พื้นฐานทั่วๆ ไป เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ รวมถึงวิชาพื้นฐานอื่นๆ อย่าง คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ รวมไปถึงวิชาทางสาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์ในเบื้องต้น ช่วงปี 2 ก็จะเน้นพวก Anatomy (กายวิภาคศาสตร์) Physiology (สรีรวิทยา) พยาธิวิทยา จุลชีววิทยา ชีวเคมี เป็นต้น เพื่อปูพื้นฐาน รวมถึงมีการเรียนวิชาของสาขาแพทย์แผนไทยมากขึ้นด้วย
     ส่วนช่วงปี 3-4 จะเรียนวิทยาศาสตร์การเเพทย์มากขึ้น เรียนวิธีการรักษาแต่ละโรคของแพทย์ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบันเข้มข้นมากขึ้น เช่น อาการวิทยา รังสีวิทยา CT-SCAN MRI เป็นต้น
     หมายเหตุ: วิชาที่เรียน หรือลำดับการเรียนของแต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะแตกต่างกัน แต่จะต้องอยู่ภายใต้กำหนดของสภาฯ
 
13. ศาสตร์ทางแพทย์แผนไทย เชื่อว่าร่างกายมนุษย์จะขับเคลื่อนด้วยธาตุ ทั้ง 4 ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ละคนจะมีธาตุประจำตัว หรือที่เรียกว่าธาตุเจ้าเรือน โดยดูจากวันเกิด เดือนเกิด เวลาเกิด เป็นต้น ซึ่งธาตุเจ้าเรือนของแต่ละคน จะสามารถบอกลักษณะ บุคลิกของแต่ละคนได้ในเบื้องต้น
 
14. การแพทย์แผนไทยจะเรียนการจับชีพจรด้วย 3 นิ้ว (แพทย์แผนปัจจุบันจะจับชีพจร 2 นิ้ว) โดยจะดูธาตุในร่างกาย คือ ลม ไฟ น้ำ (ร่างกาย คือ ธาตุดิน) ซึ่งการวางแต่ละนิ้ว เป็นการตรวจธาตุที่แตกต่างกัน คือ นิ้วชี้ ดูธาตุลม นิ้วกลาง ดูธาตุไฟ และนิ้วนาง ดูธาตุน้ำ นอกจากนี้ลักษณะการเต้นของชีพจร และขนาดของชีพจร ก็ช่วยบอกโรคได้เบื้องต้น
 
15. แพทย์แผนไทยจะมีคำศัพท์ทางการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทยโดยเฉพาะ ตามที่ได้ยินกันในละคร เช่น วาตะ ปิตะ เสมหะ ตรีสมุฏฐาน มหาภูตรูป เป็นต้น ซึ่งเป็นคำที่ถอดมาจากคัมภีร์ภาษาบาลี-สันสกฤต
 
16. ตามหลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์ จะมีการฝึกงาน ฝึกวิชาชีพเยอะมาก ทั้งในช่วงปิดภาคเรียนและในภาคเรียน (เก็บเป็นหน่วยกิต) นิสิตนักศึกษาจะต้องออกไปฝึกประสบการณ์ให้ครอบคลุมทุกด้านที่เรียน ทั้งเวชกรรมแผนไทย เภสัชกรรมแผนไทย หัตถเวชกรรมแผนไทย และการผดุงครรภ์
 
17. สำหรับน้องๆ คนไหนที่สนใจการสมัครเข้าเรียนสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือแพทย์แผนไทยเอง จะต้องสำเร็จการศึกษษระดับมัธยมศึกษา แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ส่วนสมัครเข้าในระบบ TCAS ให้ตรวจสอบระเบียบการจากมหาวิทยาลัยของแต่ละรอบให้ดี เช่น ในรอบ Admission จะต้องใช้คะแนน GPAX 20% O-NET 30% GAT 20% และ PAT 2 (วิทยาศาสตร์) 30% เป็นต้น
 
18. เลือกสถาบันที่สภาการแพทย์แผนไทยรับรองหลักสูตร
ตัวอย่างสถาบันที่สภาการแพทย์แผนไทยรับรองหลักสูตรแผนไทยประยุกต์ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล (ศิริราช) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา-อภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นต้น
ตัวอย่างสถาบันที่สภาการแพทย์แผนไทยรับรองหลักสูตรแพทย์แผนไทย เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นต้น
 
19. การสอบใบประกอบโรคศิลป์การแพทย์แผนไทยประยุกต์ จะสอบทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งเเรกเป็นการสอบด้านวิชาวิทยาศาสตร์การเเพทย์พื้นฐานเป็นหลัก (สอบทฤษฎี) ครั้งที่ 2 สอบด้านเเพทย์เเผนไทยเป็นหลัก (สอบทฤษฎีเหมือนกัน) ส่วนครั้งที่ 3 เป็นการสอบปฏิบัติ จะวนตามฐาน และปฏิบัติตามคำสั่งในเวลาที่กำหนด คล้ายกับคุณหมอที่กำลังตรวจรักษาคนไข้ ส่วนการเตรียมตัวสอบนั้น จะต้องอ่านหนังสือทบทวนความรู้ มีสติในการทำงาน ฝึกซ้อมกับเพื่อนๆ บ่อยๆ เพื่อให้จดจำเเละไม่ตื่นเต้นเมื่อเจอเหตุการณ์สอบจริงๆ (แตกต่างกับการสอบใบประกอบโรคศิลป์แพทย์แผนไทย) ซึ่งจะแตกต่างจากการสอบใบประกอบโรคศิลป์การแพทย์แผนไทย
 
20. การทำงานของบัณฑิตแพทย์แผนไทยประยุกต์ นอกจากจะเป็นแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาล หรือเปิดคลินิกเป็นของตัวเองโดยตรงแล้ว บางคนก็ไปอยู่ฝ่ายผลิตยา หรือไปทำงานวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรต่างๆ
 
      เป็นอย่างไรกันบ้าง น่าเรียนไม่ใช่เล่นเลยใช่ไหมล่ะคะ สำหรับใครที่สนใจ ใน TCAS รอบ 3 - 4 ก็มีมหาวิทยาลัยที่เปิดรับสมัครหลายที่อยู่ ลองศึกษาจากระเบียบการของมหาวิทยาลัยที่ผ่านการรับรองดูนะคะ

 
ขอบคุณข้อมูลจากนิสิตนักศึกษา
สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สาขาการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

-BoyZ- Member 4 เม.ย. 62 20:24 น. 1

แพทย์แผนไทยประยุกต์จะมีการประยุกต์ใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์การแพทย์เพิ่มขึ้น รวมถึง การเย็บแผลสดเล็กน้อย การผ่าตัดเล็ก เช่น ฝี หูด ที่ไม่อยู่ในตำแหน่งบริเวณสำคัญ อันนี้จะยกเว้นให้สามารถใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการทำหัตถการเหล่านี้ได้ (เช่น การฉีดยาชา ก่อนผ่า / ก่อนเย็บ เป็นต้น)


#ตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/284/12.PDF (ตอนนี้ลิ้งค์เสียอยู่)


1
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด