ม.กรุงเทพ เพิ่มวิชาสาย Tech อาทิ AI, App, Coding ให้ปี 1 ทุกคณะเลือกเรียน พร้อมให้ นศ.เรียนข้ามคณะได้

             สวัสดีครับ "ให้หุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีทำงานแทนคน" ประโยคนี้อาจฟังดูไกลตัวอีกนานมาก แต่จริงๆ แล้วใกล้มากครับ เพราะตอนนี้หลายองค์กรเริ่มมาใช้เทคโนโลยีทำงานแทนคนแล้ว เช่น ใช้โปรแกรมตอบข้อความแชทแทนคน หรือใช้เทคโนโลยีในการส่งเมลแทนคนส่งเอง ซึ่งผลออกมาคือ หลายองค์กรชอบมาก เพราะทำได้เร็วมากกว่าคน และหุ่นยนต์ทำงานได้ทุกวัน ไม่มีบ่นว่าเหนื่อย ไม่มีปรับขึ้นเงินเดือน ด้วยเหตุนี้ในหลายหน่วยงาน จึงเริ่มมอบงานที่เป็นงานประจำทำซ้ำๆ ให้หุ่นยนต์เป็นคนทำ แทนการเปิดรับคนมาทำ แต่หากมองอีกมุม นี่คือ ระเบิดเวลาของมนุษย์หรือเปล่า หากหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีทำได้หมด เราเรียนจบไป จะไปทำอะไร ?
 


อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
            จากคำถามด้านบนนี้แหละ จึงเป็นที่มาของข่าวดี! ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับนักศึกษาเก่าและใหม่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพทุกคน ทุกหลักสูตร เพราะทางคณาจารย์ที่นี่เขามองปรากฏการณ์นี้มาตลอด และเห็นตรงกันว่า ในอนาคตงานบางประเภทจะมีเทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์มาทำงานแทนคนแน่ๆ แต่สิ่งที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้นั้นก็มี นั้นคือ หุ่นยนต์จะไม่สามารถคิดหรือสร้างสรรค์ไอเดียอะไรออกมาได้เลย และนี่แหละจึงเป็นที่มาที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ประกาศข่าวดีปรับการเรียนการสอนใหม่ ภายใต้ไอเดีย Creativity + Technology โดยมีแนวคิดว่า "ไม่ต้องกลัวว่า AI จะมาแทนมนุษย์ได้ เพราะมนุษย์เป็นคนสร้างและพัฒนามันขึ้นมา สิ่งที่ AI มีไม่ได้ก็คือ Creativity ที่เป็นบ่อเกิดนวัตกรรมมีแต่มนุษย์นี่แหละที่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้" ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงทำทุกวิธีทางให้นักศึกษาที่เข้ามาเรียนทุกคนได้ฝึก ได้เรียนทุกรูปแบบหล่อหลอมให้เกิด Creativity เพื่อให้ไปทำงานกับหุ่นยนต์ในอนาคต

            โดย Creativity + Technology จะมีทั้ง 1.ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพจะเพิ่มวิชาพื้นฐานสาย Technology ให้เฟรชชี่ปี 1 ทุกคณะได้เรียน เช่น Coding, AI, Cloud service, Block chain, Mobile app, Big data/Data analytics, 5G, Internet of Things, UX UI , AR  โดยแต่ละคณะสามารถเลือก 3-5 รายวิชาจากทั้งหมด เพื่อให้นักเรียนทุกคนทุกหลักสูตรมีโอกาสได้เรียนวิชาสาย Technology เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนตามที่แต่ละหลักสูตรพิจารณาว่าเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อทำงานของนักศึกษา และ 2.เปิดโอกาสให้นักศึกษาเรียนข้ามศาสตร์ข้ามคณะได้ ไม่ว่าจะเป็น คณะสายวิทยาศาสตร์ หรือคณะสายศิลปศาสตร์ สามารถเลือกเรียนข้ามสายตามความสนใจในวิชาที่เป็นประโยชน์และประยุกต์ใช้กับสายงานในคณะที่กำลังเรียนอยู่ได้ อาทิ นักศึกษาสายวิทย์ อย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่กำลังออกแบบหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยง สามารถเรียนการสื่อสารของคณะนิเทศศาสตร์ได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจมนุษย์ศาสตร์มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้สามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นหุ่นยนต์สุนัขพันธุ์เล็กที่เหมือนจริงเชิงพฤติกรรมมากที่สุด เช่น คนรักสุนัขที่แพ้ขนสัตว์ ที่มีซอฟต์แวร์ AI สามารถแสดงความรู้สึกกับเจ้าของได้ จากการจดจำใบหน้า ท่าทาง การสัมผัสฟังเสียง รับคำสั่ง และสามารถประมวลผลเพื่อแสดงท่าทางต่างๆ เหมือนการเลี้ยงสุนัขจริงๆ

 

ผลงานด้านนวัตกรรมของพี่ๆ นักศึกษา ม.กรุงเทพ 


Creative AI ปลอกแขนอัจริยะ และแขนกลสั่งงาน พัฒนาเป็นรถยนต์ไร้คนขับในอนาคต


อาจารย์ทั้ง 3 ท่านที่มาให้ข้อมูลรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Creativity + Technology
ผศ.สรรเสริฐ มิลินทสูตร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
รศ.ดร.ณัฐภพ นิ่มปิติวัน รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมศึกษ

ผศ.ดร.ปกรณ์ ยุบลโกศล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์

 
             รศ.ดร.ณัฐภพ นิ่มปิติวัน รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าให้ฟังถึงความน่าตื่นเต้นในครั้งนี้ว่า "ที่ผ่านมาคอนเซ็ปต์การเรียนของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือการให้นักศึกษาทุกคน ย้ำว่าทุกคนได้เรียนในคณะที่สนใจ และพร้อมกับการลงมือปฎิบัติแบบจริงๆ โดยมีอาจารย์ทำหน้าที่เป็นโค้ชให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ และเรามองเห็นว่านักศึกษาที่จบไปจะอยู่ในยุคที่ต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ ปีนี้เป็นต้นไปทาง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงร่วมกันคิดและเพิ่มเติมการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่าเป็นแนวคิด Creativity + Technology ด้วยการผนวกวิชาการด้านเทคโนโลยีเข้าไปในการเรียนรู้ของนักศึกษาทุกคนทุกคณะ มุ่งเน้นให้นักศึกษาใช้เทคโนโลยีเป็น และนำไปต่อยอดครีเอทเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในสายงานคณะของตนเอง อย่างเช่น นักศึกษาในปี 1 ทุกคนจะได้เรียนวิชาพื้นฐานด้าน Technology ที่คณะเลือกไว้ให้ โดยวิชานั้นจะเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องและประยุกต์ใช้กับสายงานคณะนั้นได้ อาทิ คณะมนุษยศาสตร์ เอกการโรงแรม อาจได้เรียนวิชา Coding เป็นพื้นฐานในปี 1 เพื่อให้รู้จักว่า Coding ช่วยงานอะไรในสายการโรงแรมได้บ้าง เช่น อาจช่วยตอบคำถามบริการลูกค้าแทนคน หรือช่วยค้นหาความต้องการของลูกค้าเพื่อนำมาปรับใช้กับการบริการให้ตรงความพึงพอใจมากที่สุด หรืออย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ที่นี่ก็จะมีรายวิชาที่ช่วยเสริมสร้างกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์มาให้ได้เรียนรู้  เพื่อจะสามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์คนยุคดิจิทัล หรือสร้างนวัตกรรมล้ำสมัยใหม่ๆได้โดยนักศึกษาทุกคนจะได้เรียนรู้ในบรรยากาศแวดล้อมที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดแบบสร้างสรรค์ซึ่งเป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ"

              หากพูดภาษาชาวบ้านคือเป็นมหาวิทยาลัยที่คิดรอบคอบมากครับ พี่ลาเต้ แอบเซอร์ไพรส์ตั้งแต่หลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อรองรับงานในยุคดิจิตอล คือมหาวิทยาลัยคิดมาให้เลยว่า หากเราเริ่มเรียนปีนี้ อีก 4 ปีพอจบไปจะตรงกับยุคไหน และสอนให้เราทำงานตอบโจทย์กับยุคนั้น จนมาถึงการเรียนแบบ Creativity + Technology ที่มีการนำวิชาด้าน IT มาสอนเป็นวิชาพื้นฐานให้นักศึกษาทุกคนได้เห็นว่าสายงานของคณะที่เราเรียนสามารถให้เทคโนโลยีช่วยตรงไหนได้บ้าง จนคิดสร้างสรรค์มาเป็นนวัตกรรมใหม่ เห็นแล้วแอบดีใจกับน้องๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพทุกชั้นปีที่จะได้เรียนแบบ Creativity + Technology ในครั้งนี้ด้วยนะครับ สุดยอดมากๆ
พี่ลาเต้
พี่ลาเต้ - Columnist นักข่าวสายการศึกษา เกาะติดทุกข่าวแทนน้องๆ ตัวถีบ ตัวดันให้ ม.6 สอบติด

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด