เจาะลึกวิธีทำข้อสอบ O-NET 62 ทั้ง 5 รูปแบบ แต่ละแบบ ฝนยังไงให้ได้แต้ม (สอบ ก.พ.63)

สวัสดีค่ะ ก่อนหน้านี้พี่แนนนี่ได้บอกน้องๆ ไปแล้วว่า O-NET 2562 แต่ละวิชามีรูปแบบการสอบอย่างไร มีกี่ข้อ สาระการเรียนรู้อะไรบ้าง ข่าวดีของปีนี้คือ ข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ลดจำนวนข้อลง จาก 55 ข้อ เหลือ 44 ข้อ รวมทั้งมีการเปลี่ยนรูปแบบเนื้อหาบางส่วนด้วย อย่าลืมเช็กกันนะคะ [คลิกอ่าน]  ทีนี้พอมาดูว่ารายละเอียดข้อสอบ ก็พบว่ารูปแบบข้อสอบมีถึง 5 รูปแบบ จะเป็นอย่างไรบ้าง ลองไปดูกันเลยค่ะ
 

รูปแบบปรนัย 5 ตัวเลือก 1 คําตอบ
เจอในวิชา : ภาษาไทย, สังคมฯ, ภาษาอังกฤษ, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์
เป็นรูปแบบที่เราจะเจอในทุกวิชา เป็นแบบปรนัยที่เราเรียกกันว่าแบบช้อยส์ มี 5 ตัวเลือก เป็นเลข 1. - 5. เลือกคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงคำตอบเดียว ซึ่งเป็นรูปแบบที่เจอปกติอยู่แล้วกับการตอบ 1 ข้อ 1 คำตอบ ข้อควรระวังของรูปแบบนี้คือ การฝนผิดตำแหน่ง เช่น ฝนข้อ 15 ซ้ำกัน 2 ตัวเลือก แต่ไม่ได้ฝนข้อ 16 เป็นต้น แบบนี้เจอบ่อย ส่วนใหญ่จะเกิดเพราะอาการตาลายนั่นเองค่ะ
 

รูปแบบปรนัย 5 ตัวเลือก 2 คําตอบ
เจอในวิชา : สังคมศึกษาฯ
รูปแบบนี้เจอวิชาเดียวคือวิชาสังคมศึกษาฯ เป็นข้อสอบที่เป็นปรนัยแบบ 5 ตัวเลือก เหมือนแบบแรก แต่ต้องเลือกตอบ 2 คำตอบ (1 ข้อต้องฝน 2 ช่อง) ถ้าฝนถูกทั้ง 2 ช่องถึงจะได้คะแนนไป ความยากของข้อสอบอันนี้คือ เราจะเจอคำตอบข้อหนึ่งที่ยืนหนึ่งมาแล้วว่าใช่แน่ๆ แต่เราจะหาคำตอบอีกข้อไม่เจอ ต้องอ่านแล้วอ่านอีก ห้ามตีความเกินกว่าโจทย์เด็ดขาด
 

รูปแบบเลือกตอบเชิงซ้อน
เจอในวิชา : วิทยาศาสตร์
เป็นการเลือกคำตอบแบบ "ธรรมดาโลกไม่จำ" ดูเหมือนจะง่าย แต่จริงๆ ไม่ง่ายเลย ไม่เลยเจ้าค่ะ T_T รูปแบบข้อสอบนี้ก็คือจะให้โจทย์และมีข้อย่อย ต้องตอบถูกทั้งหมดถึงจะได้คะแนน โดยให้เราตอบว่าข้อย่อยนี้ "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" ใน 1 ข้อย่อย โอกาสที่ตอบถูกคือ 50% จะมีแบบนี้ทั้งหมด 4 ข้อในข้อสอบวิทยาศาสตร์วิชาเดียว กระจายอยู่ในสาระการเรียนรู้เรื่อง สิ่งมีชีวิตกับกระบอวนการดำรงชีวิต, สารและสมบัติของสาร, แรงและการเคลื่อนที่ และ ดาราศาสตร์และอวกาศ
 


รูปแบบเลือกคําตอบจากแต่ละหมวดที่สัมพันธ์กัน
เจอในวิชา : ภาษาไทย
ถ้าบอกว่ารูปแบบเลือกตอบเชิงซ้อนมีความซับซ้อนแล้ว ต้องมาเจอรูปแบบเลือกคําตอบจากแต่ละหมวดที่สัมพันธ์กัน ที่จะเจอในวิชาภาษาไทย อารมณ์คล้ายๆ รูปแบบปรนัย 5 ตัวเลือก 2 คำตอบ แต่อันนี้เป็นการแยกข้อย่อย ใน 1 ข้อจะแบ่งย่อยเป็นข้อ ก. และ ข. แต่ละข้อย่อยก็จะมีทั้งหมด 5 ตัวเลือก ต้องตอบทั้ง 2 ข้อ(ย่อย) ให้มีความสัมพันธ์กันค่ะ
 


รูปแบบเลือกระบายคําตอบที่เป็นค่า/ตัวเลข
เจอในวิชา : คณิตศาสตร์
รูปแบบนี้จะเจอในข้อสอบ PAT คณิตศาสตร์ด้วย เป็นการคิดเลขแล้วฝนเป็นค่าตัวเลขเลย โดยกระดาษคำตอบจะมีให้ทั้งหมด 5 หลัก เป็นจำนวนเต็ม 3 หลัก และทศนิยมอีก 2 หลัก ปกติข้อสอบจะเป็นค่าคำตอบที่ลงตัวในทศนิยม 2 ตำแหน่งอยู่แล้ว ถ้าคิดแล้วไม่ลงตัวก็คือใช้หลักปัดขึ้น-ปัดลงตามหลักคณิตศาสตร์ได้เลย รูปแบบนี้ไม่ใช่แค่ฝนอย่างเดียว แต่ต้องเขียนตัวเลขให้ถูกต้องในช่องด้านบนด้วย จะใช้ดินสอหรือปากกาในการเขียนก็ได้ แต่ในช่องที่ฝนต้องเป็นดินสอเท่านั้น
 

จากประสบการณ์ที่เคยดูแลน้องๆ ที่เข้าสอบเสมือนจริง โครงการ Dek-D's Pre-ONET ม.6 พบว่ายังมีน้องๆ หลายคน ยังงงๆ กับรูปแบบข้อสอบ O-NET ม.6 บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้อสอบไม่ได้มีรูปแบบ 5 ตัวเลือก 1 คำตอบอย่างเดียว บางคนยังใช้ปากกาฝนข้อสอบอยู่เลย ซึ่งจะส่งผลต่อเครื่องตรวจกระดาษคำตอบนะ อาจจะทำให้เราเสียคะแนนได้

ซึ่งคะแนน O-NET คิดเป็น 30% ใน TCAS รอบ 4 หรือรอบแอดมิชชั่นเลยนะคะ รวมทั้งยังใช้เป็นเกณฑ์ใน กสพท สำหรับน้องๆ ที่เพิ่งจบ ม.6 อีก ถ้า O-NET ไม่ถึง 60% ก็ไม่ผ่านเกณฑ์ กสพท ด้วยค่ะ ถ้าอยากลองทำ Pre Test แบบเสมือนจริง โครงการ Dek-D's Pre-ONET ม.6 ก็สามารถสมัครได้เลยที่ www.dek-d.com/pre-onet/ จ้า


 
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น