"ข้อสอบเก่ายิ่งทำเยอะยิ่งได้เปรียบ" เทคนิคติดหมอตั้งแต่รอบโควตา ฉบับ "พี่แบม"


 
      สวัสดีน้องๆ #dek63 รวมถึงรุ่นอื่นๆ ที่กำลังเตรียมตัวสอบกันอยู่ด้วย พี่มิ้นท์เชื่อว่าน้องๆ ส่วนใหญ่ที่รู้จัก TCAS พอสมควรก็คงวางแผนไว้แล้วว่าอยากจะเข้ารอบไหนมากที่สุด เหมือนอย่าง "พี่แบม" คนนี้ ที่คิดไว้แล้วว่าจะเข้าให้ได้ตั้งแต่รอบ 1-3  และในที่สุดก็สอบติดโควตาภาคใต้ คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ จนสำเร็จ ไปอ่านเทคนิคและการเตรียมตัวสอบของพี่แบมกันเลยค่ะ
 

 
เกือบเปลี่ยนความฝัน เพราะรู้ว่าเรียนหนัก
ณิชา เหลืองวรพันธ์ หรือพี่แบม จบจากโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

พี่แบมมีความฝันอยากเป็นคุณหมอตั้งแต่เด็ก เพราะรู้สึกว่าอาชีพนี้เท่และมีเกียรติ ประกอบกับชอบอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพหมอ จึงอยากเป็นแบบนั้นบ้าง แต่พอโตมาก็เริ่มรู้ว่าแพทย์ เรียนค่อนข้างหนัก และใช้เวลาหลายปี ก็ลังเลเล็กน้อยแต่พอลองถามใจตัวเองอีกที ลองได้ไปเข้าค่ายต่างๆ ว่าเราเรียนไหวไหม เราชอบไหม คำตอบที่ได้ก็คือเราอยากเรียนและเชื่อว่าเราจะสามารถทำได้ จึงกลับมาตั้งเป้าหมายว่าอยากเป็นคุณหมอเหมือนเดิม


ทำข้อสอบเก่าบ่อยๆ ดีจริง พิสูจน์มาแล้ว
พี่แบมเริ่มเตรียมตัวช่วงประมาณ ม.5 เทอม 2 ไม่ได้ตั้งต้นว่าจะต้องอ่านอะไรกี่เล่มให้จบ เริ่มจากดูแนวข้อสอบ บทที่ออกสอบเป็นหลัก ให้เห็นว่าข้อสอบออกอะไร และเตรียมตัวสอบ กสพท พาร์ทเชื่อมโยงตั้งแต่ตอนนั้นเลย เพราะวิชานี้ไม่มีสอนในห้องเรียนและต้องอาศัยทักษะในการฝึกทำ การเริ่มฝึกฝนลองทำตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้ชินและคะแนนจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้น ตอน ม.5 เทอม 2 ก็ไม่ได้เตรียมตัวหนัก เน้นเรียนเรื่อยๆ มากกว่า

พอได้ลองทำข้อสอบเก่าเยอะๆ แล้วไปเจอข้อสอบจริงในห้องสอบ รู้เลยว่าตัวเองโชคดีมาก ที่ฝึกทำข้อสอบเก่ามาเยอะ เพราะในความรู้สึกคือ วิชาภาษาไทยออกเหมือนเดิมเป๊ะ ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ เคมีและชีววิทยาก็คล้ายๆ กับข้อสอบเก่า วิชาฟิสิกส์ก็แนวคล้ายๆ กับข้อสอบเก่าหลายข้อ ยกเว้นภาษาอังกฤษที่รู้สึกว่าข้อสอบยากขึ้น ดังนั้นคนที่เคยทำข้อสอบเก่ามาเยอะๆ จะได้เปรียบกว่ามากๆๆ เพราะมันถูกจุด ถูกประเด็น การทำข้อสอบมันสำคัญจริงๆ

รอบการสอบต่างกัน ความต้องการต่างกัน
อย่างที่รู้กันว่า การสอบ TCAS แต่ละรอบ มีความแตกต่างกัน อย่างคณะแพทยศาสตร์รอบ Portfolio จะใช้ผลงานของเรา สัมภาษณ์ก็จะมีความจริงจังกว่ามาก เพราะเขาดูคนที่เหมาะสมจริงๆ ตามคุณสมบัติที่ประกาศรับสมัคร ส่วนรอบ 2 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะใช้ข้อสอบ 9 สามัญ คะแนนเต็ม 700 คะแนน (คะแนนเต็มวิชาละ 100 คะแนน) เป็นเกณฑ์การคัดเลือก จะเห็นว่าแต่ละรอบมีจุดโฟกัสต่างกัน ถ้ามองการสอบไว้หลายรอบ ก็ต้องเตรียมตัวสอบให้พร้อมเสมอและมีแผนสำรอง เพราะถึงเวลาจริงจะมีข้ออ้างไม่ได้ว่ารอบก่อนหน้านี้ ไม่ได้คัดเลือกแบบนี้

สำหรับพี่แบม สอบติดโควตาภาคใต้ ม.สงขลาฯ ได้คะแนน 500.5/700 โดยในปี 62 รับทั้งหมด 56 ที่นั่ง ไม่มีตัวสำรอง โดยทางมหาวิทยาลัยจะคัดเลือกจากคะแนนวิชาสามัญ 7 วิชา คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ 1 ฟิสิกส์ เคมีและชีววิทยา หลังจากประกาศผลแล้ว จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนสัมภาษณ์ 3 วัน โดยแบ่งเป็น วันสอบข้อเขียน (ส่วนใหญ่เป็นคำถามวัดความคิด ทัศนคติ ไม่ใช่ข้อสอบวิชาการ) และตรวจร่างกาย วันที่ 2 จะเป็นการสัมภาษณ์รอบที่ 1 และรอบที่ 2 ส่วนวันสุดท้าย เป็นการฟังผลตรวจร่างกาย


เรียงลำดับความยากภาษาอังกฤษ วิชาสามัญ - O-NET - GAT
ภาษาอังกฤษ เป็นวิชาเดียว ที่โผล่ไปทุกสนามสอบจนมีการเปรียบเทียบจากเด็ก ม.6 หลายคนว่าวิชาไหน ยากหรือง่ายที่สุด แต่สำหรับพี่แบมคิดว่า ในเรื่องความยากง่ายอาจจะเป็นที่ตัวของบุคคลว่าฝึกข้อสอบแบบไหนมามากกว่า แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็น ภาษาอังกฤษ 9 วิชาสามัญยากสุด รองลงมาคือ O-NET และสุดท้ายคือ GAT ความจริงแล้ว ข้อสอบทั้ง 3 อย่างก็มีความคล้ายกับอยู่ แต่มีพาร์ทข้อสอบที่แตกต่างกันเล็กน้อยเช่น GAT และ O-NET มีข้อสอบ ERROR ด้วย ส่วน 9 วิชาสามัญ จะมีพาร์ท Reading ใหญ่และเยอะมากๆ ต้องอ่านและทำให้ทัน หลายคนตกม้าตายตรงนี้

รีวิววิธีการเตรียมตัวสอบของตัวเอง
1. ตัดสินใจว่าจะเข้าในรอบ 1-3 เลยไม่ได้ใช้เกรดของเทอมที่ 6 แล้ว จึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือเตรียมสอบ 9 สามัญไว้เป็นอันดับ 1
2. เกมโทรศัพท์ ที่ละได้ก็จะละเลิกชั่วคราว คิดเสมอว่า หลังสอบเสร็จเดี๋ยวเราก็จะว่างมากๆๆ ค่อยไปเล่นตอนนั้นดีกว่า
3. ตอนไหนว่างๆ เช่นพักกลางวัน อยู่บนรถ ไปเข้าห้องน้ำ ก็หยิบชีทแทนโทรศัพท์ มันจะช่วยเพิ่มเวลาของเราได้เยอะมากๆ
4. อย่าฝืนตัวเอง ถ้าเหนื่อยหรือล้าก็พักผ่อน ไม่อย่างนั้นจะยิ่งเหนื่อยเป็นหลายเท่าในการอ่านหนังสือ และการอ่านอาจจะไม่มีประสิทธิภาพ
5. อ่านน้อยอ่านมากไม่สำคัญเท่า เราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นบ้างในแต่ละวัน ต้องตอบตัวเองให้ได้


เคล็ดลับการอ่านหนังสือง่ายๆ ที่ช่วยให้เข้าใจมากขึ้น
ก่อนอื่นเราต้องรู้ตัวว่าเราถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไรก่อน คือเราต้องรู้จักตัวเอง โดยอาจจะเป็นการทำข้อสอบเก่าแล้วเช็คว่าเราผิดอะไรเยอะที่สุด นั่นแปลว่าเราอาจจะไม่ถนัดวิชานั้น พอรู้จักตัวเองแล้ว จงแก้ไขจุดอ่อนของเรา วิธีนี้จะทำให้เราไม่หลงทางและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และสุดท้าย พอเราได้อ่านหรือทำข้อสอบเก่าเยอะๆ ต้องทบทวนเสมอ เพื่อทบทวนข้อผิดพลาดของเรา ทบทวนสิ่งที่เราได้เรียนรู้ เพราะไม่งั้นเราจะลืม และกลับไปทำผิดอีก

ให้กำลังใจถึงน้องๆ ม.6 รุ่นต่อไป
"พวกเราทุกคนก็ยังเป็นวัยรุ่น สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของชีวิตเรา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา เดี๋ยวทุกอย่างมันจะผ่านไป ใครที่รู้สึกหลงทาง เครียด หรือ สับสน จริงๆ ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปกดดันหรือโทษตัวเอง เราร้องไห้ได้เสมอ และเราก็สามารถเช็ดน้ำตาให้ตัวเองได้เสมอ ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้คือการทำให้ดีที่สุดในทุกๆ วัน เพราะฉะนั้น โฟกัสกับปัจจุบัน แล้วลงมือทำเลยดีกว่า สู้ๆนะทุกคน เลิฟฟ"
 
กระทู้ที่พี่แบมเคยเขียนรีวิว
www.dek-d.com/board/view/3933144,
www.dek-d.com/board/view/3918595/,
hwww.dek-d.com/board/view/3930834/

 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด