สอบติดภูมิศาสตร์ จุฬาฯ สไตล์ "พี่เมฆ" ตีกรอบคณะที่อยากเข้า แล้วลุยไปคณะเดียว

เปิดเทอมใหม่ ม.6 เริ่มตื่นตัวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันแล้ว โดยเฉพาะช่วงนี้ ทปอ. ทยอยประกาศสำคัญออกมาเรื่อยๆ คนที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าอยากเรียนอะไร ก็เตรียมทบทวนวิชาที่จำเป็นในการสอบ แต่ถ้าใครยังไม่รู้ตัว ต้องเริ่มค้นหาตัวเองได้แล้วค่ะ เพื่อที่ให้มีเวลาเตรียมตัวสอบได้ตรงสาขาที่ต้องการมากที่สุด เหมือน "พี่เมฆ" คนนี้ ที่รู้ตัวว่าอยากเรียนภูมิศาสตร์ ก็ตั้งใจจนสอบเข้าได้สำเร็จ พี่คนนี้วางแผนยังไงบ้าง ไปทำความรู้จักกันเลยค่ะ
 

ค้นหาตัวเองได้เพราะ "เกม"
พี่เมฆ หฤษฎ์ ทะวะบุตร จบ ม.ปลายจากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย (โครงการ วมว.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ปัจจุบันกำลังจะเป็นนิสิตภาควิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย โดยผ่านการคัดเลือกใน TCAS ปี 62 รอบที่ 3 รับตรงทั่วไป โดยการยื่นคะแนน GAT PAT และ 9 วิชาสามัญ

ย้อนกลับไปตอนเรียนภูมิศาสตร์สมัย ม.ต้น รู้สึกว่าตนเองจำแผนที่ได้แม่นมาก (ไม่รู้ตอนนั้นขยันจำไปทำไมเยอะขนาดนั้น) ทำให้มีความเข้าใจความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ต่างๆ ความเข้าใจเหล่านี้เองที่พัฒนาไปเป็นความสนใจในด้านผังเมืองหรือการพัฒนาเมืองต่อไปในช่วง ม.ปลาย โดยมีช่วงหนึ่งที่ติดใจเกม Cities: Skyline สร้างเมืองที่ Function ดีๆ มาอวดกับเพื่อนประจำ

ตอนแรกตั้งใจจะเรียนผังเมืองหรือสาขาในแนวนั้นโดยตรง แต่ตอน ม.5-6 มีโอกาสเข้าอบรมในค่าย สอวน. สาขาภูมิศาสตร์ กับคณะอักษรฯ จุฬาฯ ก็เลยได้รู้ว่าการเรียนสาขานี้จริงๆ เป็นอย่างไร พบว่ามันครอบคลุมเนื้อหา และวิชาเรียนที่เราสนใจได้มากกว่าไปเรียนสาขาการออกแบบผังเมืองโดยตรง หรือสาขาไหนๆ ที่รู้จัก เหตุผลเหล่านี้เองที่เป็นปัจจัยประกอบให้มุ่งเป้ามาที่สาขานี้ในตอนสุดท้าย


ค้นหาตัวเองให้เจอตั้งแต่ต้น วางแผนต่อง่ายกว่า
พี่เมฆไม่ได้เตรียมตัวหนักและนานเหมือนกับเพื่อนหลายๆ คน เพราะในขณะที่คนอื่นมีตารางอ่านหนังสือเรียบร้อยแล้ว พี่เมฆยังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเองว่าควรจะเรียนอะไรต่อดี พอรู้แนวทางอยู่บ้างจากวิชาที่ชอบเรียน แล้วก็ค่อยๆ ใช้หลายๆ ปัจจัยตีกรอบความสนใจให้แคบลง จนสุดท้ายเหลือไม่กี่คณะ ไม่กี่ภาควิชา ซึ่งกว่าจะรู้ตัวตรงนี้ ก็ผ่าน ม.6 ไปได้สักพักแล้ว

หลังจากที่รู้ว่าอยากจะเรียนอะไรต่อ สิ่งที่ทำต่อก็คือหาว่ามีทางใดที่จะเข้าไปเรียนได้บ้าง ต้องใช้คะแนนอะไรสอบบ้าง และจะดูเผื่อไปถึงว่าต้องใช้ในระดับเท่าไหร่ เพื่อเตรียมตัวก่อนล่วงหน้า แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ก็ถือคติไว้เสมอว่าการแย่งที่นั่งในมหาวิทยาลัยต้องไม่กระทบต่อชีวิตประจำวัน และไม่ทำลายความสุขมากเกินไป

สอบระบบไทย ระวังข้อสอบภาษาอังกฤษ
ข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษในไทยเพื่อใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย จะมีหลักๆ คือ GAT, 9 วิชาสามัญ และ O-NET แต่บางทีเงื่อนไขการรับสมัครก็อาจมีภาษาอังกฤษอื่นๆ โผล่มาให้เห็นบ้าง เช่น IELTS, TOEFL, CU-TEP เป็นต้น ซึ่งพี่เมฆก็ได้สอบ IELTS มาด้วย โดยได้คะแนน IELTS Band 7.5 เพราะหลังจากที่ดูคณะอักษรศาสตร์ว่าแต่ละรอบใช้คะแนนอะไรบ้าง ก็เจอว่ารอบแรกมีกำหนดให้ต้องมีคะแนน IELTS (หรือคะแนนสอบอื่นๆ เช่น SAT ที่ทดแทนกันได้) อย่างต่ำระดับหนึ่ง ดังนั้นอยากให้น้องๆ ดูข้อมูลการรับสมัครของคณะที่ตัวเองอยากเข้า โดยเฉพาะในรอบแรกๆ ที่ไม่มีการสอบข้อเขียนอย่าง Portfolio หรือ Quota อาจมีให้ใช้คะแนนภาษาอังกฤษแบบนี้ด้วย

ซึ่งข้อสอบ IELTS นั้นยากกว่าข้อสอบภาษาอังกฤษของไทยพอสมควร และไม่เป็นรูปแบบตัวเลือก แต่จะเป็นแบบเติมคำเกือบทั้งหมดเลย มีข้อสอบทั้งส่วนการฟัง การอ่าน การเขียน ซึ่งเป็นบทความ Debate ที่ต้องใช้ความคิดลึกซึ้งพอสมควร และมีกระทั่งการพูด ซึ่งต้องไปนั่งคุยกับผู้สัมภาษณ์จริงๆ เพื่อวัดระดับทักษะของเรา รวมถึงระดับความจริงจังในการจัดสอบ เรียกได้ว่าทุกๆ อย่างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ด้วยระดับของข้อสอบที่ออกแบบมาให้ยากอยู่แล้ว (แม้กระทั่งผู้ที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกหลายๆ คนก็ยังทำคะแนนได้ไม่ดีมาก) จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะทำคะแนนให้ได้ดีในครั้งแรกที่เจอ ถึงแม้ว่าจะเก่งภาษามาแต่ไหนก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากคือการทำให้ตนเองรู้ก่อนว่าต้องเจอกับอะไรบ้างในข้อสอบ ประเมินให้ได้ว่าต้องรีบทำขนาดไหน และต้องรู้อะไรบ้าง ซึ่งการเตรียมตัวก็ทำได้หลายทาง ตั้งแต่การไปลงคอร์สเรียนที่มีอยู่มากมายทั้งทางออนไลน์ และตามสถาบันต่างๆ จากหนังสือตัวอย่างข้อสอบ หนังสือฝึกฝน หรือจากเว็บไซต์ทั้งหลาย ขึ้นอยู่กับวิธีการเรียนรู้ และกำลังทรัพย์ของแต่ละคน ว่าจะเลือกใช้วิธีไหน


ขอบคุณรูปภาพจาก สสวท.

แนวทางการจัดอันดับ TCAS รอบ 3
ในรอบที่ 3 พี่เมฆจัดอันดับ ดังนี้

อันดับหนึ่ง - สาขาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
อันดับสอง – สาขาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
อันดับสาม – สาขาการผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์
อันดับสี่ – สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
อันดับห้า และหก - ไม่ได้เลือกไว้

ตอนนั้นมั่นใจแล้วว่าจะเรียนสาขาวิชานี้ และได้เปรียบเทียบคะแนนตัวเองตามสถิติจากปีก่อนๆ มาแล้วระดับหนึ่งก่อนที่จะสละสิทธิ์รอบ Portfolio ไป ดังนั้นผมจึงค่อนข้างมั่นใจกับรอบนี้ และเลือกยื่นสาขาวิชาเดิมในจุฬาฯ ตามมาด้วยธรรมศาสตร์ โดยในการจัดอันดับ 2 อันดับแรก นอกจากจะเลือกสาขาที่อยากเรียนจริงๆ แล้ว จะดูเรื่องสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย โดยรอบมหาวิทยาลัย ที่ตั้ง และคุณภาพงานวิจัยของอาจารย์ในภาควิชาเป็นปัจจัยพิจารณาด้วย

ส่วนอันดับที่ 3 เลือกเป็นสาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่สนใจเป็นพิเศษอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่ครอบคลุมมากเท่าลำดับแรก ๆ แต่ถ้าสอบติดก็ดีใจและยินดีที่จะเรียน

ในลำดับที่สี่ ผมเลือกอันที่สนใจมากที่สุดลำดับถัดไปที่ไม่ข้ามสายวิชามาก และไม่ได้เลือกมากกว่านั้น เพราะดูแล้วไม่มีคณะที่คิดจะตัดสินใจไปเรียน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้วยส่วนหนึ่ง

อยากเรียนด้านภูมิศาสตร์บ้าง เตรียมตัวอย่างไร
ลำดับแรก ต้องหาว่าสาขานี้อยู่ในคณะอะไร บางมหาวิทยาลัยจัดสาขานี้ไว้ในคณะสังคมศาสตร์ บางมหาวิทยาลัยจัดไว้ในคณะศิลปศาสตร์ (ซึ่งมีอีกชื่อว่าอักษรศาสตร์) บางมหาวิทยาลัยจัดไว้ในคณะวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

ลำดับถัดมา ต้องลองตรวจดูว่าสาขาภูมิศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่สนใจนั้นต้องการคะแนนวิชาอะไรในการสอบไหนบ้าง (เกณฑ์สำหรับแต่ละที่ค่อนข้างต่างกัน บ้างมองเป็นคณะสายศิลป์ บ้างมองเป็นคณะสายวิทย์) แต่วิชาที่เป็นตัวแปรสำคัญในหลายๆ ที่ น่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ แต่ไม่ต้องเป็นห่วง ขอบล่างคะแนนคณิตจะไม่สูงลิบเหมือนคณะอื่นๆ หลายๆ คณะหรอก

ดังนั้น ขึ้นอยู่กับว่าอยากเรียนที่มหาวิทยาลัยอะไรครับ อย่าลืมสมัครสอบวิชาที่จำเป็น และทำให้มั่นใจว่าตัวเองจะไม่ได้คะแนนต่ำกว่าขอบล่างของปีที่ผ่านๆ มาก็จะดี

เรียนแบบมองให้สัมพันธ์กัน จะช่วยให้เข้าใจยิ่งขึ้น
พี่เมฆชอบวิชาสังคมศึกษามากที่สุด โดยเคล็ดลับการเรียนนั้นจะใช้วิชาประวัติศาสตร์เป็นแกนหลักในการมองเนื้อหาสาระต่างๆ โดยมีแนวคิดว่าทุกหลักการ และทุกเรื่องราวเกิดอย่างมีเหตุผล และความสัมพันธ์ต่อกัน การมองเนื้อหาที่ต้องเรียนแบบนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าเรากำลังเรียนอะไร และเรียนไปทำไม ไม่ได้ใช้ได้กับแค่วิชาสังคมเท่านั้น วิธีการนี้ยังอาจเอื้อประโยชน์ไปถึงวิชาวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ได้อีกด้วย ถ้ามองอย่างลึกซึ้งมากพอ ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้มองเห็นเป็นระบบความสัมพันธ์แบบนี้ เดาว่าโรงเรียนมีผลมากพอสมควร เพราะโรงเรียนดรุณสิกขาลัยสนับสนุนการเรียนรู้แบบ Story-based Learning คือการเรียนโดยใช้ลำดับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่สำหรับคนอื่นๆ พี่เมฆก็แนะนำว่าให้ลองฝึกดู ไม่ยากเกินที่จะลอง (ถ้าสนใจรู้เรื่องวิธีประยุกต์เนื้อหา ม.ปลาย เป็นเรื่องราวแบบนี้ สามารถอ่านจากบทความที่พี่เมฆเคยเขียนอธิบายหลักสูตรที่โรงเรียนลงเพจไว้คร่าวๆ ได้เลย คลิกอ่าน)

อีกเทคนิคที่ทำให้พี่เมฆใฝ่รู้ด้านนี้อยู่เสมอคือการมีเพื่อนๆ ที่พร้อม Discuss เรื่องเหล่านี้กันตลอดเวลา หลายๆ ครั้ง เราก็ลองหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาบอกเล่ากัน หรือนำมาวิพากษ์เชิงปรัชญาได้อีก ทั้งสองอย่างนี้ประกอบกันทำให้เราเข้าใจเนื้อหาวิชาต่างๆ โดยเฉพาะสังคมฯ จากหลายๆ มุมมอง ซึ่งทำให้เราสนุกไปกับมันได้ดีขึ้น


อยากให้เลือกเป้าหมายจากสิ่งที่สนใจจะเรียน
"ฝากถึงน้องๆ #dek63 หรือน้องๆ รุ่นอื่น สำหรับคนที่ตัดสินใจเรียนในสาขาวิชาที่ไม่ใช่สาขายอดนิยมในกระแสหลัก: ยินดีด้วยครับ การแข่งขันของทุกคนคงไม่ลำบากมากนัก สำหรับคนที่ตั้งใจเข้าคณะที่เป็นที่นิยม: ขอให้ตั้งใจพอประมาณ อย่าหละหลวม อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป สำหรับคนที่ยังไม่มีเป้าหมายชัดเจน: ขอให้เลือกเป้าหมายจากสิ่งที่เราสนใจจะ “เรียน” จริง ๆ อย่าสนใจกระแสหลักในสังคมมากนัก และไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มใดก็ตาม อย่ากดดันอยู่กับอนาคตเพียงอย่างเดียว ทุกคนอย่าลืมที่จะมีความสุขกับปัจจุบันด้วยเช่นกันนะครับ”

 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด