แชร์ประสบการณ์ "พี่ปริญญ์" ชอบฟิสิกส์แต่ใจอยู่ "เภสัชฯ" พร้อมแนะเทคนิคไม่เก่งเคมี ก็รอดได้

          การได้เจอคณะที่ใช่ยิ่งกว่าถูกหวย แต่ถ้ายังไม่ใช่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกและต้องกังวลถ้าจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เหมือนอย่าง "พี่ปริญญ์" ปริญญ์ณวิชญ์ รุ่นพี่ปี 4 จากรั้วเขียวมะกอก จุฬาฯ เริ่มต้นชีวิตมหาวิทยาลัยที่คณะวิศวะฯ เพราะชอบฟิสิกส์มาก เมื่อได้เรียนจริง กลับพบว่าไม่ชอบวิชาอื่นในคณะเลย จึงตัดสินใจซิ่ว จนได้พบกับคณะที่ใช่จริงๆ.. ลองไปติดตามเรื่องราวของรุ่นพี่คนนี้กันค่ะ


ก่อนจะได้เจอสิ่งที่ใช่ ต้องเจอสิ่งที่ไม่ใช่ก่อน
         พี่ปริญญ์ ปริญญ์ณวิชญ์ เบาะโต้ง กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม พี่ปริญญ์เล่าถึงแรงบันดาลใจที่อยากเข้าคณะนี้ว่า ตอนเด็กคุณพ่อป่วย ต้องไปหาหมอและร้านขายยาบ่อย มักจะได้คำแนะนำดีๆ จากเภสัชกรหลายคน จนเป็นอาชีพในฝันวัยเด็กว่าสักวันนึง จะเป็นเภสัชกรให้ได้
         แต่ชีวิตก็มีจุดเปลี่ยน เมื่อขึ้น ม.ปลาย เริ่มมีความลังเลว่าจะเรียนคณะอะไรดี เพราะวิชาที่ชอบที่สุดคือ ฟิสิกส์ ทำให้มีตัวเลือกเพิ่มเข้ามา จาก 1 เป็น 2-3 คณะ คือ เภสัชศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และครุศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ แต่เพราะความชอบวิชาฟิสิกส์ จึงเลือกวิศวะฯ ไป และสอบติดวิศวะฯ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.เกษตรฯ
         เรียนไปจนผ่านการสอบกลางภาค พบว่าไม่ชอบวิชาที่เรียนเลย ทั้งเขียนโปรแกรม ดรออิ้ง ชั่งใจอยู่ว่าจะเรียนวิศวะฯ ต่อดีไหม ซึ่งตอนนั้นใกล้แอดมิชชั่น(ของรุ่นน้อง)แล้ว จึงกลับมาทบทวนตัวเองแล้วถามตัวเองว่าอยากเรียนอะไรกันแน่ สุดท้ายตัดสินใจซิ่วใหม่อีกครั้งโดยใช้คะแนนเดิมเลือกเภสัชฯ และ ครุศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ เช่นเดิม ในที่สุดก็สอบติดคณะเภสัชศาสตร์ สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม จุฬาฯ และเรียนมาจนถึงทุกวันนี้

เคล็ดไม่ลับ เซฟพลังงานเตรียมตัวสอบ
         พอรู้ว่า มีคณะที่อยากเข้าเป็นเภสัชฯ วิศวะฯ ครุศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ ก็จะมาดูต่อว่าแต่ละคณะ/สาขา ต้องใช้สัดส่วนคะแนนอะไรบ้าง แล้วก็ตั้งใจอ่านเฉพาะวิชาที่ใช้สอบ เท่านั้นยังไม่พอ ต้องดูรอบที่ต้องการสอบเข้าด้วย เหตุผลคือรอบที่ต่างกัน วิชาที่ใช้ก็ต่างกัน อย่างเช่น วิศวะฯ ในรุ่นแอดมิชชั่นปี 59 หากสอบรอบรับตรง จะต้องใช้ PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ด้วย ส่วนรอบแอดมิชชั่น ไม่ต้องใช้ PAT 1
         ดังนั้นเพื่อเซฟพลังงานการเตรียมสอบและทำให้โฟกัสการอ่านวิชาที่จำเป็นได้มากขึ้น จึงเน้นอ่านวิชาที่ครอบคลุมการสอบคณะในรอบแอดมิชชั่น คือเน้นอ่าน GAT PAT 2 PAT 3 และ O-NET
         การแบ่งเวลาเตรียมตัวสอบ มาจริงจังในช่วงครึ่งปีก่อนสอบ ส่วน ม.4-6 ไม่ได้ทำอะไรที่หักโหมมาก เพราะตั้งใจเรียนในห้องอยู่แล้ว ทำให้มีพื้นฐานความเข้าใจระดับหนึ่ง เมื่อกลับมาทวนก็จะเข้าใจได้ไวขึ้น
        หลังกลับมาจากโรงเรียนในแต่ละวัน ก็ทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ ออกกำลังกาย เล่นกีฬากับเพื่อน อาบน้ำ และนอนงีบสักพักให้ร่างกายสดชื่นก่อนค่อยอ่านหนังสือ จะมีช่วงเวลาในการอ่านของตัวเองคือ ตั้งแต่ 2 ทุ่ม แต่จะไม่ให้เกินตี 2 โดยพักไปเล่น facebook หรือ Line เป็นพักๆ เพื่อคลายเครียด ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป นอกจากนั้นมีเรียนพิเศษบ้าง แต่จะเน้นอ่านด้วยตัวเองมากกว่า


credit:
IG : Prinnawitch

4 in 1 ใน PAT 2 วิทยาศาสตร์ อ่านยังไงให้รอดทุกวิชา
         ข้อสอบวิชา PAT 2 วิทยาศาสตร์ จะมีสอบฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาและดาราศาสตร์ ปนมาด้วย เริ่มแรกก็ต้องดูว่าเราถนัดวิชาไหนที่สุด พี่ปริญญ์ถนัดฟิสิกส์มากที่สุดก็จะสบายๆ สามารถอ่านทีหลังได้ แล้วไปให้เวลากับวิชาอื่นมากหน่อย เช่น
         - เคมี ไปให้เวลาในพาร์ทคำนวณ เพราะเป็นพาร์ทที่ไม่ได้ชอบมาก พอถูไถไปได้ จะชอบพาร์ทบรรยายมากกว่า จึงตั้งเป้าว่าต้องทำพาร์ทคำนวณนี้ให้เยอะที่สุด
         - ชีววิทยา เป็นวิชาที่ไม่ชอบที่สุด แต่ก็ไม่ทิ้ง จะไปหาเล่มสรุปสั้นๆ มาอ่าน อาศัยว่าอ่านสรุปหลายๆ เล่มและหลายๆ รอบ ซึ่งบางเล่มจะมีเขียนโน้ตสรุปจุดสำคัญไว้ให้ ก็จะเอาเล่มนั้นไว้อ่านช่วงใกล้สอบ 1-2 วัน
         - ดาราศาสตร์ก็อ่านด้วย โดยไปหาหนังสือสรุปขายเหมือนเดิม และต้องมีแบบฝึกหัดให้ทำ ถึงจะเป็นวิชาที่ไม่ค่อยได้เรียน ก็ไม่อยากให้ทิ้ง เป็นวิชาช่วยมากกว่า
         พี่ปริญญ์ จะอ่านหนังสือนอกตำราเรียนเยอะมากๆ วิชานึงจะมีเกิน 5 เล่มสำหรับอ่านสอบ เพราะบางครั้งหนังสือนอกตำราจะมีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย บางทีเราเรียนไม่เข้าใจ แต่พออ่านหนังสือนอกเวลาแล้วเข้าใจ

ถึงจะมั่ว แต่ก็มั่วแบบมีหลักการ
         ถ้าทำข้อสอบแล้วข้อไหนที่ทำไม่ได้ ให้ข้ามไปก่อน จนทำให้เสร็จหมดทุกข้อ แล้วค่อยกลับมาดูว่า ข้อไหนเราตอบน้อยที่สุด ก็จะฝนชอยส์ข้อนั้นลงไป ยกเว้นว่าถ้าทำไม่ได้ติดกันเกิน 3 ข้อ จะใช้วิธีเลือกช้อยส์เดียวกันหมดเลย เช่น สมมติทำข้อ 1-3 ไม่ได้ ถ้าจะตอบ ก.ไก่ ก็จะตอบไปเลย 3 ข้อเรียงกัน จะไม่หว่านว่าข้อนี้ ก.ไก่ ข้อ 2 ข.ไข่


credit: IG : Prinnawitch

บริบาล - เภสัชอุตสาหการ ใครเหมาะกับแบบไหน?
         เภสัชศาสตร์ มี 2 สาขาหลักๆ (บางที่อาจมีแค่ 1 สาขา แต่บางที่อาจมีมากกว่า 2 สาขา) แต่สาขาที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ เภสัชอุตสาหการ และ การบริบาลทางเภสัชกรรม ตอนแอดมิชชั่น บางมหาวิทยาลัยจะต้องเลือกสาขาตั้งแต่ตอนสอบเข้า พี่ปริญญ์พยายามหาข้อมูลว่าทั้ง 2 สาขาแตกต่างกันยังไง
         สาขาเภสัชอุตสาหการ/เภสัชอุตสาหกรรม จะเป็นด้านการผลิต ทำแล็บ อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมด้านการผลิต ตรวจคุณภาพของยา พี่ปริญญ์ไม่ได้ชอบด้านนี้อยู่แล้ว เพราะเพิ่งซิ่วออกมาจากวิศวะฯ ด้วย แต่ชอบให้คำแนะนำผู้อื่นมากกว่า จึงเลือกที่จะเข้าสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม
         โดยในสาขาบริบาลนี้ จะเป็นสายที่ดูแลสุขภาพคน การจ่ายยา การแนะนำเรื่องการใช้ยาให้ผู้ป่วย เป็นต้น ดังนั้น หากน้องชอบด้านการดูแล การอธิบาย ให้คำแนะนำผู้อื่น นาจะเหมาะกับสายบริบาล ส่วนใครชอบวิเคราะห์ ชอบคิดสูตรใหม่ๆ ทำงานในแล็บ ไปทางเภสัชอุตสาหการดีกว่า


credit:
IG : Prinnawitch

เรียนคณะที่ใช่แล้วมีความสุข
         รู้สึกว่าคิดถูกมากที่มาเรียนสาขานี้ ถึงแม้จะมีการแยกสาขาแล้ว แต่เวลาเรียนจริงในช่วงปีแรกๆ ต้องเรียนวิชาพื้นฐานของทั้ง 2 สาขาเลย จำได้ว่าตอนเรียนวิชาในส่วนของโครงสร้างเคมี แล็บทำยา จะรู้สึกว่ามันไม่ใช่แนวของเราเลย พอได้เรียนวิชาที่จะต้องฝึกซักประวัติผู้ป่วย ดูแลผู้ป่วย ทำให้เราชอบและรู้สึกอินมากๆ
         นอกจากนี้ยังได้ไปฝึกงานจริง ล่าสุดได้เลือกฝึกที่ศูนย์สาธารณสุข เป็นระยะเวลา 1 เดือน แต่เป็น 1 เดือนที่ได้ความรู้มาก วันแรกที่ได้ไปฝึกงาน พี่ๆ เภสัชกรจะให้เราลองไปจ่ายยาจริงๆ เลยเพื่อดูว่าเรามีความรู้ระดับไหน ถ้าทำได้ก็จะให้เราจ่ายยาเรื่อยๆ ภายใต้การควบคุมดูแลของพี่เภสัชกรว่าเราให้คำแนะนำกับผู้ป่วยไปแบบนี้ดีไหม ควรแนะนำอะไรเพิ่ม และคอยสอนงานเราเรื่อยๆ เช่น กลุ่มยาที่ไม่สามารถใช้ด้วยกันได้ หรือ การอ่านค่าแล็บก่อนจ่ายยา หรือการไปคุยกับหมอเกี่ยวกับเรื่องยาที่จ่ายให้คนไข้ เป็นต้น และยังมีการลงไปชุมชน ตรวจตู้ยา ให้ความรู้กับนักเรียนที่โรงเรียนด้วย
    

ไม่เก่งเคมี ก็เรียนได้ แต่ปรับตัวมากกว่าคนอื่น
         พื้นฐานของพี่ปริญญ์ก็ไม่ได้ชอบเคมี (ชอบฟิสิกส์มากกว่า) แต่เชื่อว่าตัวเองต้องรอด การที่เราไม่ได้รู้เท่าคนอื่น ก็ต้องอ่านหนักกว่าคนอื่น จึงเชื่อว่าน้องๆ ก็ทำได้เช่นกัน คนติดคณะนี้อาจไม่ใช่คนที่เก่งเคมีทุกคนก็ได้ แนะนำว่าถ้าไม่เก่งเคมีจริงๆ หลังจากสอบติด จะมีเวลาประมาณ 1 เดือนก่อนเปิดเทอม ให้เอาเวลานี้ไปทบทวนวิชาเคมีตอน ม.ปลาย ให้แน่น เพราะตอนเราเข้าไปเรียนแล้ว อาจารย์อาจจะไม่ได้ทวนเนื้อหาเก่า ถ้าพื้นฐานเราแน่น เราก็จะเรียนง่ายขึ้น
         นอกจากเคมี ก็มีวิชาภาษาอังกฤษที่สำคัญมาก เพราะต้องอ่าน Text book หรือตำราเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าเราได้ภาษาอังกฤษก็จะได้เปรียบเพื่อนระดับนึง เพราะเราสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้มากกว่า


credit:
IG : Prinnawitch

ปรับ Portfolio ให้เข้ากับคณะที่จะสัมภาษณ์
         พี่ปริญญ์เข้าเภสัชฯ ในรอบแอดมิชชั่น แต่ก็ทำ Portfolio ไปเผื่อด้วย เนื้อหาในพอร์ตฟอลิโอ จะแบ่งเป็นส่วนๆ ไป อย่างแรกคือประวัติของเราในแต่ละด้าน ต่อไปจะเป็นส่วนของเกียรติบัตร ที่ไล่ลำดับความสำคัญว่าถ้าเราไปสัมภาษณ์คณะนี้ ควรเอาเกียรติบัตรไหนขึ้นก่อน อย่างตอนไปสัมภาษณ์ ในพอร์ตก็จะเป็นผลงานด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นก่อน เหตุผลที่ทำแบบนี้เพราะกรรมการคงไม่ได้ดูเกียรติบัตรเราทุกหน้าอยู่แล้ว และส่วนท้ายๆ จะใส่ผลงานที่เป็นกิจกรรมอาสา หรือ ผลงานการประกวดในโรงเรียนอื่นๆ
         พออาจารย์เปิดดูในแฟ้มเราแล้ว เขาก็จะถามในเชิงชวนคุยเช่น ไปประกวดอะไรมาหรอ เล่าให้ฟังหน่อย เอาเล่มมาหนาขนาดนี้ มีอะไรอยากบอกอาจารย์มั้ย ถ้าอาจารย์เปิดทางมาแบบนี้ ก็ได้เวลาที่เราจะต้องพรีเซนต์ตัวเองให้เต็มที่ได้เลย

ม.6 เวลามันผ่านไปไวมาก อย่าปล่อยให้ผ่านไปไร้ประโยชน์
         "ตอนพี่เหลือเวลา 1 ปี ก็รู้สึกว่าเหลือเวลาอีกตั้ง 1 ปี 300 กว่าวัน  ไม่อ่านก็ได้ ไปอ่านใกล้ๆ ก็ได้ เคยคิดแบบนี้ ก็เลยอ่านทีละนิดๆ มาเรื่อยๆ ไม่ได้จริงจังมาก สักพักเริ่มเหลือประมาณ 4-5 เดือนสุดท้าย ก็รู้สึกว่าทำไมเวลามันเร็วจัง! เนื้อหายังเหลือเยอะมากอยู่เลย ทำให้ต้องอ่านหนักในช่วงท้ายๆ แล้วก็กลับไปคิดว่า ถ้าเรามีเวลาเตรียมตัวปีนึง และเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนั้น ก็คงสบายกับเรา ดังนั้นไม่อยากให้น้องๆ เก็บทุกอย่างไปอ่านช่วงใกล้ๆ มันจะเหนื่อยมาก"
 
     เรื่องราวสนุกๆ ของการเรียนคณะเภสัชศาสตร์และคณะวิทย์สุขภาพอื่นๆ ยังไม่หมดเท่านี้ พี่ปริญญ์และรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยต่างๆ จะมาบอกเล่าการเรียนคณะวิทย์สุขภาพ กลุ่มเคียงคู่หมอ เรื่องที่เข้าใจผิด แนวทางอาชีพในอนาคต รับประกันความเข้มข้น 5 ตุลาคมนี้ ที่ HALL EH 106 ไบเทค บางนา จองบัตรได้ถึง 29 ก.ย.นี้ สนใจ คลิกเลย


 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น