มารู้จัก 5 สาขาวิชาใน "คณะแพทยศาสตร์" ที่จบมาไม่ใช่หมอ แต่ยังอยู่ใน "วงการแพทย์" EP.2

     สวัสดีค่ะน้องๆ Dream campus สัปดาห์ก่อน พี่แนนนี่พาน้องๆ ไปรู้จักกับ 3 สาขาวิชาในคณะแพทยศาสตร์ อย่าง "สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์" "สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย" และ "สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ" กันไปแล้ว (อ่าน:คลิก) วันนี้ก็จะพาไปรู้จักกับอีก 2 สาขาวิชา 3 หลักสูตรที่เหลืออยู่ นั่นก็คือ สาขาวิชาเวชนิทัศน์ และ สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาการแพทย์ และสาขาวิชากายอุปกรณ์ศาสตร์
 

 
มาเริ่มกันที่ 2 สาขาวิชานี้ "สาขาวิชาเวชนิทัศน์" และ "สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทย์" แม้ว่า 2 สาขาวิชานี้ จะมีชื่อที่แตกต่างกัน แต่การเรียนการสอนมีความคล้ายคลึงกันมาก จริงๆ จะเรียกว่าเหมือนกันก็ไม่ผิด เพราะในอดีตสาขาวิชาเวชนิทัศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ใช้ชื่อว่า "เทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์" มาก่อน หรืออย่างของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเอง สาขาวิชาเทคโนโลยีการแพทย์ ก็อยู่ภายใต้ความดูแลของโรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนาอีกที ซึ่งทำให้รู้ว่า เป็นหลักสูตรที่เหมือนกัน เพียงแต่ใช้ชื่อสาขาและปริญญาที่แตกต่างกันเท่านั้น
 
สาขาวิชาเวชนิทัศน์
เรียนอะไร?
     เรียนเกี่ยวกับการผลิต "สื่อ" ทางการแพทย์โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ วิดีทัศน์ โฆษณา ภาพถ่าย ภาพวาด อินโฟกราฟิก โมชั่นกราฟฟิก การผลิตหุ่นจำลอง เป็นต้น คือจะเหมือนทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้กับแพทย์ เป็นการนำเสนอข้อมูลทางการแพทย์ให้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย หรือบุคคลทั่วไปได้เข้าใจ
 
"การเรียนที่ผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์สุขภาพ ศิลปะ นิเทศศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน"
 
มีเรียนเกี่ยวกับแพทย์ อย่างไรบ้าง?
     จะมีเรียนกับอาจารย์ใหญ่ในช่วงปีที่ 1 ไม่ถึงกับผ่าตัด แค่ศึกษาสรีระ ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพโครงสร้างของร่างกายมากยิ่งขึ้น และทำให้ง่ายต่อการผลิตสื่อและสื่อมีความถูกต้อง สามารถใช้งานได้จริง
 
การเรียนแต่ละชั้นปี
ชั้นปีที่ 1
     เรียนวิชาพื้นฐานเรื่องการออกแบบ ทั้งการวาดเส้น การใช้สีต่างๆ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การถ่ายรูปเบื้องต้น และก็เรียนเกี่ยวกับพื้นฐานทางการแพทย์ คือ โครงสร้างและระบบร่างกายต่างๆ กายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) จุลกายวิภาคศาสตร์ (Microanatomy) 
 
ชั้นปีที่ 2
     เรียนคล้ายๆ ปี 1 แต่จะลงลึกมากขึ้น เช่น จากการเรียนสื่อกราฟฟิกภาพนิ่ง ก็เป็นสื่อที่เคลื่อนไหวได้ หรือโมชั่นกราฟฟิก แล้วก็จะมีเรียนพวกวิชาประติมากรรมพื้นฐาน (ปั้นหุ่มจำลอง ทั้งทำจากมือ และทำในคอมพิวเตอร์) การถ่ายภาพทางการแพทย์ ส่วนด้านการแพทย์จะเรียนพวกอาการทางคลินิก ปรสิตวิทยา (Parasite)
 
ชั้นปีที่ 3
     เริ่มนำวิชาพื้นฐานต่างๆ ทีได้เรียนไปมาสร้างผลงานเกี่ยวกับการแพทย์การสร้างภาพประกอบทางการแพทย์ การผลิตหุ่นจำลองทางการแพทย์ การถ่ายภาพทางการแพทย์ การถ่ายภาพทางนิติวิทยาศาสตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทางการแพทย์ ส่วนวิชาทางการแพทย์ เช่น
พยาธิวิทยา (Pathology) เกี่ยวกับโรคต่างๆ

 
ชั้นปีที่ 4
     เป็นการทำโปรเจค หรือวิชาโครงงานสื่อทางการแพทย์ มีการจัดนิทรรศการ และมีออกไปสหกิจศึกษา 4 เดือน
 
วุฒิการศึกษา และการทำงาน
     เมื่อเรียนจบจะได้รับวุฒิการศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาเวชนิทัศน์) หรือ Bachelor of Science (Medical Illustration) ส่วนการทำงานหลักๆ คือ นักเวชนิทัศน์ ช่างภาพทางการแพทย์ หรือนักประชาสัมพันธ์ ที่ผลิตสื่อทางการแพทย์ทั้งกับภาครัฐ และเอกชน หรืออาจจะไปเป็นบุคลาการทางการศึกษา ไม่ก็นำความรู้ที่มีไปประยุกต์ผลิตสื่อ-งานด้านอื่นๆ เช่น นักออกแบบกราฟฟิก หรือ Production
 
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น
     
สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์
เรียนอะไร?
     เรียนเพื่อผลิตสื่อการเรียนการสอนทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยสื่อที่ได้เรียนนั้นแบ่งออกเป็น 5 แขนง ได้แก่ วาดภาพ ถ่ายภาพ คอมพิวเตอร์กราฟิก วีดีโอ และโมเดล หรือหุ่นจำลอง
 
มีเรียนเกี่ยวกับแพทย์ อย่างไรบ้าง?
     จะมีเรียนวิชาพื้นฐานทางการแพทย์ ได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่ในวิชากายวิภาคศาสร์ ให้เข้าใจพื้นฐานอวัยวะ และกล้ามเนื้อเท่านั้น ไม่ได้เรียนลงลึกเหมือนกับแพทย์
 
การเรียนแต่ละชั้นปี
ชั้นปีที่ 1
     เรียนวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัย เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป เช่น คณิตศาสตร์ ชีววิทยา เคมี เป็นต้น และวิชาพื้นฐานทางสาขาวิชา เช่น การวาดภาพพื้นฐาน พื้นฐานศิลปะ คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน พื้นฐานคอมพิวเตอร์สำหรับงานศิลปะ เป็นต้น
 
ชั้นปีที่ 2
     เรียนวิชาที่เกี่ยวข้องภาษาสำหรับงานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ จุลกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา การวาดภาพ หลักการถ่ายภาพ การเขียนบทวิดีทัศน์ การสร้างหุ่นต้นแบบ เป็นต้น
 
ชั้นปีที่ 3
     มีเรียนวิชาเทคโนโลยีการสื่อสารสำหรับการศึกษาทางการแพทย์ สถิติและวิธีวิจัย การออกแบบสื่อทางแพทย์ และก็มีการเรียนวิชาทางการแพทย์ เช่น พยาธิวิทยา จุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา และวิทยาภูมิคุ้นกัน
 
ชั้นปีที่ 4
     เป็นการบูรณาการความรู้และทักษะต่างๆ ที่เรียนมา มาสร้างสื่อ มีการทำโครงงานรายบุคคล เรียนการพัฒนาสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อทางการแพทย์เพื่อการโฆษณา และฝึกงาน ทั้งภายในโรงพยาบาลศิริราช และภายนอก
 
วุฒิการศึกษา และการทำงาน
     เมื่อเรียนจบจากสาขานี้จะได้รับวุฒิการศึกษา เทคโนโลยีบัณฑิต (เทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์) หรือ Bachelor of Technology (Medical Educational Technology) ส่วนในเรื่องการทำงาน ก็สามารถทำได้ทั้งในภาครัฐและเอกชน เช่น นักวิชาการโสตทัศนศึกษา, นักวิชาการศึกษา (หน้าที่หลักๆ วาดภาพประกอบทางการแพทย์ ออกแบบหนังสือตำรำ ทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์) , ช่างภาพนิติเวช, Technician ถ่ายภาพดวงตา หรือทำงานในหน่วยงานเอกชน เช่น Motion graphic designer, Graphic designer, Content creator, ช่างภาพ, นักวาดภาพประกอบ  ฯลฯ
 
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

     
NOTE: นอกจาก 2 สาขาวิชานี้แล้ว ยังมีหลายๆ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในหลักสูตรลักษณะนี้ แต่อาจะสอดแทรกไปในคณะทางเทคโนโลยี หรือสถาปัตยกรรม
 
สาขาวิชากายอุปกรณ์ศาสตร์
 
เรียนอะไร?
     เรียนเกี่ยวกับผลิตเครื่องมือกายอุปกรณ์ หรือ อุปกรณ์ที่ใช้กับร่างกาย เช่น ขาเทียม แขนเทีย อุปกรณ์ประคองหรือดามหลัง อุปกรณ์ดามมือ เพื่อช่วยเหลือคนไข้ที่มีความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
 
เรียนเกี่ยวกับแพทย์อย่างไรบ้าง?
     มีเรียนวิชาทางแพทย์ที่เกี่ยวกับโครงสร้างร่างกาย อวัยวะต่างๆ รวมถึงระบบการทำงานของร่างกาย กลไลการเกิดโรค ซึ่งก็มีได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่ในวิชากายวิภาคศาสตร์ด้วย
 
การเรียนแต่ละชั้นปี
ชั้นปีที่ 1
     เรียนวิชาพื้นฐานของทางมหาวิทยาลัย และเรียนวิชาพื้นฐานการศึกษาทั่วไป ภาษาอังกฤษ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา สังคมศึกษา สถิติ เป็นต้น แล้วก็จะมีวิชาแนะนำกายอุปกรณ์ ที่ทำให้เรารู้ว่าอนาคตจะต้องเจอกับอะไร
 
ชั้นปีที่ 2
     จะเรียนวิชาทางการแพทย์ เช่น กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา ปรสิตวิทยา พยาธิวิทยา พวกโรคต่างๆ ที่ต้องเจอ เป็นต้น และเริ่มเรียนวิชาเฉพาะสาขา อย่าง ชีวกลศาสตร์ การประเมินผู้ป่วย การวิเคราะห์การเดิน วัสดุศาสตร์ และมีการฝึกปฏิบัติทักษะ พื้นฐานต่างๆ เช่น การเลื่อยไม้ การดัดเหล็ก และการใช้เครื่องจักรอย่างปลอดภัย และจะได้เรียนรู้การผลิตอุปกรณ์ คือ แผ่นรองในรองเท้า, อุปกรณ์ประคองข้อเท้า และขาเทียมใต้เข่า
 
ชั้นปีที่ 3
     เริ่มเรียนในเนื้อหาที่ลึกมากขึ้น มีการเรียนรู้การผลิตอุปกรณ์ เช่น แขนเทียม ขาเทียมเหนือเข่า อุปกรณ์ประคองแขนและมือ อุปกรณ์พยุงลำตัว แล้วก็มีการเรียนพื้นฐานการทำวิจัย
 
ชั้นปีที่ 4
     จะมีเรียนวิชาเรียนจิตวิทยาเบื้องต้น แล้วก็เน้นไปทางวิชากายอุปกรณ์ขั้นสูง การดัดแปลงรองเท้า และการฝึกประสบการณ์คลินิก โดยนักศึกษาจะเรียนรู้การผลิตอุปกรณ์ เช่น ขาเทียมระดับตัดผ่าข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก
 
วุฒิการศึกษา และการทำงาน
     เมื่อเรียนจบจะได้รับวุฒิการศึกษา กายอุปกรณศาสตรบัณฑิต หรือ Bachelor of prosthetic and orthotic programme ส่วนการทำงานหลักๆ คือ นักกายอุปกรณ์ เป็นผู้ตรวจประเมิน วินิจฉัย ออกแบบ ประดิษฐ์ คิดค้น และรักษาผู้ป่วย ด้วยการใช้กายอุปกรณ์เทียมและกายอุปกรณ์เสริม ซึ่งก่อนที่จะออกไปทำงานได้ ก็ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพให้ผ่านก่อน
 
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
  • โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
     
     เป็นอีกกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพที่น่าจะถูกใจ "เด็กวิทย์ หัวใจศิลป์" มากๆ เลยล่ะค่ะ สำหรับพี่ๆ น้องๆ คนไหนที่เคยเรึยนในสาขาเหล่านี้ สามารถเล่าประสบการณ์การเรียนการทำงานสนุกๆ ให้น้องๆ ฟังได้ที่คอมเมนท์เลยนะคะ
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น