สวัสดีค่ะ ผ่านเทอม 1 มาแล้ว และก็ผ่านปิดเทอมเล็กมาแล้ว สัปดาห์หน้าก็จะเป็นการเปิด TCAS 63 รอบที่ 1 Portfolio อย่างเป็นทางการแล้ว เห็นไหมคะว่าเวลามันผ่านไปไวจริงๆ เห็นน้องหลายๆ คนทำ Portfolio เตรียมไว้แล้ว แล้วได้คิดต่อหรือยังคะว่า ถ้าถึงวันไปสอบสัมภาษณ์เราจะตอบกรรมการยังไงดี? หรือว่าเราจะเอาอะไรมาเป็นจุดน่าสนใจให้การสอบสัมภาษณ์เป็นที่ประทับใจ พี่แป้งมีวิธีมาฝากค่ะ
 

รู้จัก Portfolio ของเราก่อน
ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยจะกำหนดให้ส่ง Portfolio ในช่วงการสมัคร มีทั้งแบบเป็นไฟล์และแบบเล่ม เท่ากับว่าเราจะต้องทำ Portfolio เสร็จตั้งแต่ก่อนสมัครแล้ว แต่ด้วยความที่ยังงงๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ อาจจะทำให้ลืมไปแล้วว่าเราทำ Portfolio แบบไหน เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือ กลับมาเปิดก่อนค่ะ

สิ่งที่ควรทำก็คือ ต้องจำให้ได้ว่า Portfolio ที่ทำไปประกอบด้วยอะไรบ้าง ข้อมูลส่วนตัวที่ใส่ไปมีอะไรบ้าง เกรดเฉลี่ยหรือผลสอบต่างๆ การแข่งขัน/ผลงาน ที่ใส่ไว้มีอะไร เกิดขึ้นที่ไหน และตอนนั้นเหตุการณ์เป็นอย่างไร ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยในการสอบสัมภาษณ์ค่ะ


หาข้อมูลของสาขาที่สมัคร
เมื่อรู้จัก Portfolio ของตัวเองแล้ว ก็กลับมาหาข้อมูลของสาขาที่เลือกสมัครไป อาจจะมีมากกว่า 1 สาขาก็ได้ แล้วแต่ว่าใครจะสมัครที่ไหนไปบ้าง แต่อย่างน้อยต้องรู้จักข้อมูลของทุกสาขาที่สมัคร เช่น เรียนเกี่ยวกับอะไร มีอะไรที่เป็นจุดเด่นบ้าง เรียนที่ไหน การเรียนการสอนเป็นรูปแบบไหน เป็นต้น การมีข้อมูลตรงนี้จะช่วยให้เรามีเรื่องที่จะพูดตอนสอบสัมภาษณ์ ดีกว่านั่งเงียบเฉยๆ แล้วตอบว่าไม่รู้ค่ะ/ครับ

คิด Story เตรียมไว้
Portfolio ก็รู้จักแล้ว ข้อมูลของสาขาที่สมัครก็มีแล้ว ทีนี้ถึงช่วงของการใช้ความรู้ GAT เชื่อมโยงแล้วล่ะค่ะ ลองสร้าง Story ดูว่า ผลงานของเราที่สั่งสมมาตลอด 3 ปีในช่วง ม.ปลาย สามารถนำไปเสนอขายได้ยังไงเพื่อให้กรรมการเห็นว่าเรามีความสามารถ เนื้อหาใน Portfolio ไม่ได้มากพอที่จะทำให้ดูน่าสนใจเท่ากับการที่เราเล่าเองหรอกค่ะ

สิ่งต้องห้ามของงานนี้ก็คือ ห้ามคิดที่จะให้กรรมการที่สอบสัมภาษณ์เปิดดูเองตอนที่เราอยู่ต่อหน้าท่านเด็ดขาด ต้องพยายามขายค่ะ เช่น สมัครเข้าสาขาการบัญชี ทำ Portfolio เกี่ยวกับกิจกรรมชมรมที่เคยทำ ก็โม้ไปเลยค่ะว่า ตอนที่ทำกิจกรรมนี้ ก็รับหน้าที่เป็นเหรัญญิก คอยดูแลการเงินของงาน เขียนรายละเอียดแจกจงออกมา เลยทำให้เห็นภาพรวมของการบัญชี และเลือกเรียนสาขานี้ สวยๆ ไปเลยจ้า!

 

บุคลิกภาพก็ต้องมา
เมื่อมีข้อมูลแน่นแล้ว ส่วนต่อไปที่เราจะต้องซ้อมไว้ก็คือ บุคลิกภาพ ภาพความประทับใจสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วินาทีที่เปิดประตูเข้าไปเลย ท่าทางการเดิน การถือ Portfolio การก้าวขา และการทำความเคารพเมื่อไปถึงหน้าโต๊ะ ล้วนสำคัญทั้งสิ้น

เรื่องของการถือ Portfolio เข้าไป ควรถือเข้าไปแบบแนบข้างลำตัว ไม่ต้องถือไปแบบวางทาบหน้าอก คิดถึงภาพคล้ายๆ ถือปริญญาบัตร ไม่เอานะคะ ถือเข้าไปแบบปกติ เมื่อได้รับคำอนุญาตให้นั่งแล้ว ค่อยวาง Portfolio ลงบนโต๊ะอย่างเบามือ แล้วหันหน้า Portfolio ไปทางกรรมการคุมสอบพร้อมรอยยิ้ม เท่านี้ก็สร้างความประทับใจได้มากแล้วค่ะ


ซ้อมพูดให้คนอื่นฟัง
เชื่อว่าหลายคนน่าจะมีความกังวลตอนพูดหรือเล่าเรื่อง บางคนทำกิจกรรมเยอะมาก ไปแข่งขันเยอะมาก มีผลงานเยอะมาก แต่ว่าพรีเซ้นท์ออกมาไม่ได้ บางคนหนักไปอีกคือพูดแล้วดูไม่น่าเชื่อถือ การซ้อมพูดให้คนอื่นฟังจะสามารถช่วยได้เยอะเลยค่ะ

หรือถ้าไม่มีคนช่วยฟังจริงๆ ก็ซ้อมให้ตัวเองฟังนี่แหละ ใช้โทรศัพท์อัดเสียง เมื่อเราพูดจบก็เอากลับมาฟัง จะได้รู้ด้วยว่าบกพร่องตรงไหน ควรพูดอย่างไร เน้นย้ำนะคะว่า การไปสอบสัมภาษณ์เนี่ย ต้องพูดลงท้ายมีหางเสียง ค่ะ/ครับ ไม่พูดห้วนๆ แบบเพื่อนคุยกัน อย่าลืมนะคะว่ากรรมการที่มาสอบเรา ท่านไม่เคยรู้จักเรามาก่อน เจอกันครั้งแรก สร้างภาพไปเลย 55+

อย่าลืมนะคะว่ารอบ Portfolio การสัมภาษณ์คือส่วนที่สำคัญมาก เพราะไม่มีคะแนนสอบอื่น ส่วนใหญ่จะใช้การดู Portfolio และคุยกันในวันสอบสัมภาษณ์มาเป็นตัวตัดสิน เราสามารถซ้อมก่อนได้เพื่อความมั่นใจก่อนที่จะสอบจริง ยิ่งซ้อมบ่อยแค่ไหนก็จะยิ่งมั่นใจมากเท่านั้น ว่าแล้วก็ไปเริ่มซ้อมกันเลย!


 
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด