สวัสดีค่ะน้องๆ ถ้าให้จัดลำดับความยากของคะแนนสอบกลางต่างๆ O-NET มักขึ้นชื่อว่าความยากอยู่ในระดับเบสิกที่สุด ความน่ารักของโจทย์แต่ละปีก็จัดว่าฮามาก หลายคนเลยมักจะชิลล์ๆ ขาดสอบคงไม่เป็นไรมั้ง? หรือหลับตากาก็ยังได้ (เอิ่ม อะไรจะชิลล์เบอร์นั้น = =”) 


 
          จริงๆ แล้ว O-NET เป็นการสอบที่ค่อนข้างสำคัญเลยนะคะ อย่างที่รู้กันว่าสอบครั้งเดียวคะแนนติดตัวไปทั้งชีวิต ใช้วัดมาตรฐานของโรงเรียน และที่สำคัญไปอยู่ในเกณฑ์การคัดเลือก TCAS ครบทั้ง 5 รอบเลย ไปดูรายละเอียดกันเลยค่ะ  

TCAS รอบที่ 1 Portfolio
          จุดเด่นของรอบ Portfolio ที่น้องๆ คุ้นเคยกันดีคือเป็นรอบที่รับน้องๆ ผู้มีความสามารถพิเศษในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน กีฬา จิตอาสา ฯลฯ ในการยื่นสมัครนั้นจะใช้ Portfolio ตามเกณฑ์ที่คณะกำหนด ไม่มีการใช้คะแนนสอบกลางในการวัดผล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช้เลยค่ะ เพราะเจ้า O-NET ยังไปแจมอยู่ในคุณสมบัติต่างๆ ของบางมหาวิทยาลัย ถ้าน้องๆ ขาดคะแนนตัวนี้ไปก็อาจจะมีผลต่อการเข้าศึกษาเลยล่ะค่ะ ยกตัวอย่าง

โครงการผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.พะเยา 
          - ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องแสดงผลสอบ O-NET ในวันรายงานตัวขึ้นทะเบียนนิสิต
โครงการรับนักเรียนผู้พิการ (คณะเทคนิคการแพทย์) ม.ขอนแก่น 
          - ผู้สมัครต้องมีคะแนน O-NET ภาษาอังกฤษ ไม่ต่ำกว่า 30 คะแนน
โครงการรับด้วย Portfolio (AUTO สาขาวิศวกรรมยานยนต์ โครงการพิเศษ , TEP และ TEPE สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า/อุตสาหการ/โยธา/เคมี/เครื่องกล) ม.ธรรมศาสตร์   
          - ผู้สมัครสามารใช้คะแนน O-NET ภาษาอังกฤษ ไม่ต่ำกว่า 45 คะแนน ยื่นเป็นหนึ่งในคุณสมบัติได้

TCAS รอบที่ 2 โควตา
          จุดเด่นของรอบโควตาคือแต่ละมหาวิทยาลัยสามารถกำหนดเกณฑ์การสอบได้ตามที่เห็นสมควร จะใช้คะแนนสอบกลางของ สทศ. อย่าง O-NET 9 วิชาสามัญ หรือ GAT PAT ก็ได้ หรือจะใช้ข้อสอบวิชาเฉพาะที่มหาวิทยาลัยจัดสอบขึ้นเองก็ได้ ดังนั้น เตรียมใจไว้เลยว่ายังไงต้องมีบางมหาวิทยาลัยเรียกใช้ O-NET แน่นอน! บางที่ไม่ได้ขอดูคะแนนธรรมดา มีกำหนดขั้นต่ำของคะแนนด้วยค่ะ ยกตัวอย่าง

โครงการเพชรนนทรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ม.เกษตรศาสตร์ 
          - ใช้คะแนน O-NET ภาษาอังกฤษ เป็นหนึ่งในเกณฑ์คัดเลือก ค่าน้ำหนักคะแนน 20% และกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 30 คะแนน
โควตา ม.ธรรมศาสตร์ 
          - บางคณะใช้ O-NET เป็นหนึ่งในรูปแบบคะแนน เช่น กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ รูปแบบที่ 1 ใช้ O-NET เกณฑ์ตาม กสพท กับ รูปแบบที่ 2 ใช้ O-NET เป็นหนึ่งในเกณฑ์คัดเลือก กำหนดค่าน้ำหนัก 100 จากคะแนนเต็ม 300
โควตา ม.สวนดุสิต
          - บางหลักสูตร/สาขาวิชา ใช้คะแนนรวม O-NET เป็นหนึ่งในเกณฑ์คัดเลือก กำหนดค่าน้ำหนักถึง 30% เช่น หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต , หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจการบิน , หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์นวัตกรรมและผู้ประกอบการธุรกิจ

TCAS รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน 
          จุดเด่นของรอบนี้ ทุกๆ มหาวิทยาลัยจะมาสมัครผ่านระบบ TCAS ร่วมกัน เกณฑ์การคัดเลือกก็ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยกำหนดได้อย่างอิสระตามเดิม แต่คะแนนที่ใช้จะเป็นคะแนนสอบกลางอย่าง O-NET GAT PAT 9 วิชาสามัญเท่านั้นค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละแห่งจะเรียกใช้คะแนนอะไรบ้าง แต่รอบนี้เริ่มมีคะแนน O-NET เข้ามาแจมเยอะ ไม่ว่าจะกำหนดเป็นหนึ่งในคุณสมบัติพิเศษหรือเกณฑ์ขั้นต่ำ ยกตัวอย่าง

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ 
          - ผู้สมัครต้องมีคะแนนสอบ O-NET ครบทั้ง 5 วิชา ไทย สังคม อังกฤษ คณิต วิทย์ 
คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง , การระหว่างประเทศ , บริหารรัฐกิจ ม.ธรรมศาสตร์ 
          - ผู้สมัครต้องมีคะแนนสอบ O-NET ไทย วิทย์ สังคม และอังกฤษ กำหนดขั้นต่ำวิชาสังคมและอังกฤษ ไม่ต่ำกว่า 40 คะแนน 
คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาไทย ม.ธรรมศาสตร์ 
          - ผู้สมัครต้องมีคะแนนสอบ O-NET ไทย ไม่ต่ำกว่า 60 คะแนน 
ทุกคณะของ ม.เกษตรศาสตร์ 
          - กำหนดขั้นต่ำ O-NET ภาษาอังกฤษ เช่น คณะเศรษฐศาสตร์การประกอบการ (นานาชาติ) ไม่ต่ำกว่า 75 คะแนน คณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ ไม่ต่ำกว่า 50 คะแนน
คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาเอเชียศึกษา (โครงการพิเศษ) ม.ศิลปากร
          - ใช้คะแนน O-NET เป็นส่วนหนึ่งในวิธีการคัดเลือก ภาษาไทย ค่าน้ำหนัก 15% สังคม ค่าน้ำหนัก 15% อังกฤษ ค่าน้ำหนัก 20% 
กสพท  
          - ใช้ O-NET เป็นส่วนหนึ่งในเกณฑ์คัดเลือก ผู้สมัครต้องมีคะแนนรวม 5 วิชา ไทย สังคม อังกฤษ คณิต วิทย์ ไม่ต่ำกว่า 60% หรือ 300 คะแนน 

TCAS รอบที่ 4 แอดมิชชั่น 
          จุดเด่นของ O-NET ในรอบนี้ แทบจะเป็นพระเอก เพราะใช้เป็นหนึ่งในเกณฑ์คัดเลือก โดยมีค่าน้ำหนักถึง 30% หรือ 9,000 คะแนน! โดยรอบนี้ หลายๆ มหาวิทยาลัยมักกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำด้วย ถ้าไม่ตั้งใจทำแล้วคะแนนออกมาไม่ถึงเกณฑ์ ขำไม่ออกเลยนะคะ เพราะสมัครไม่ได้ T T บางที่กำหนดขั้นต่ำไว้ลิบลิ่วด้วย ไปดูกัน!   

ทุกสาขาวิชา ม.แม่ฟ้าหลวง
          - กำหนดขั้นต่ำ O-NET ภาษาอังกฤษ เช่น สาขาภาษาอังกฤษ ไม่ต่ำกว่า 50 คะแนน , สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 40 คะแนน , สาขาการจัดการธุรกิจการบิน ไม่ต่ำกว่า 36 คะแนน
คณะสัตวแพทยศาสตร์ สาขาสัตวแพทยศาสตร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ม.สงขลานครินทร์
          - กำหนดขั้นต่ำ O-NET ไทย สังคม อังกฤษ คณิต วิทย์ แต่ละวิชาไม่ต่ำกว่า 30 คะแนน
คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ ม.เชียงใหม่
          - กำหนดขั้นต่ำ O-NET ไทย สังคม อังกฤษ คณิต และวิทย์ แต่ละวิชาไม่ต่ำกว่า 30 คะแนน 

TCAS รอบที่ 5 รับตรงอิสระ 
          รอบนี้เป็นรอบที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเปิดรับสมัครเอง และกำหนดเกณฑ์การรับได้อิสระเลยค่ะ จากข้อมูลตอนนี้เท่าที่ทราบ ม.มหิดล ไม่เปิดรับรอบ 5 ส่วนมหาวิทยาลัยที่เปิดรับอื่นๆ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลหรือระเบียบการรับสมัครเผยออกมา เช่น ม.บูรพา ม.ขอนแก่น ม.ศิลปากร ม.แม่ฟ้าหลวง ม.วลัยลักษณ์  ม.มหาสารคาม ม.นครพนม ม.แม่โจ้ มีเพียง ม.ธรรมศาสตร์ ที่ปล่อยข่าวแว่วมาว่าจะเปิดรับบางสาขา ให้น้องๆ รอประกาศอีกครั้งหลังรอบ 4 ระหว่างรอระเบียบการพี่เมก้าเลยไปหาข้อมูลปีที่แล้วมาให้น้องๆ ดูเป็นน้ำจิ้มกันก่อนค่ะว่าใช้คะแนน O-NET กันยังไงบ้าง

โครงการภาคพิเศษ ม.บูรพา
          - ใช้ O-NET เป็นหนึ่งในเกณฑ์คัดเลือก มีค่าน้ำหนักคะแนนถึง 80-90% 
คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 
          - ใช้ O-NET เป็นหนึ่งในเกณฑ์คัดเลือก มีค่าน้ำหนักคะแนนถึง 30%
โครงการรับตรงรอบสมทบพิเศษ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 
          - ใช้ O-NET เป็นหนึ่งในเกณฑ์คัดเลือก เช่น คณะครุศาสตร์อุสาหกรรม สาขาวิศวกรรมโยธาและ การศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาเคมีอุตสาหกรรม สาขาสถิติประยุกต์ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ มีค่าน้ำหนักคะแนนถึง 30%

          หูว เป็นยังไงกันบ้างคะน้องๆ เห็นไหมว่า GAT PAT ที่ว่าแน่ยังต้องยอมแพ้ให้ O-NET เหมือนกันนะ บางรอบถ้าเราไม่มีคะแนน O-NET หรือ O-NET ไม่ถึงขั้นต่ำ ถึงกับสมัครไม่ได้เลยแหละ รู้แบบนี้แล้วตั้งใจทำคะแนนสอบตัวนี้ให้ดีกันเถอะค่ะ บอกเลยว่าไม่ได้หมูๆ อย่างที่เคยคิดกันนาาา   
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น