นับถอยหลังอีกไม่นาน ก็จะถึงวันสอบข้อเขียนของน้องๆ ม.6 กันแล้ว โดยเริ่มที่ GAT-PAT ตามที่ O-NET และวิชาสามัญ ซึ่งหนึ่งในวิชาที่ไม่ว่าน้องจะเรียนอยู่สายไหน จะสายวิทย์ หรือสายศิลป์ ก็หนีไม่พ้น นั่นคือ วิชาภาษาอังกฤษ อันที่จริงก็เป็นวิชาที่แทรกซึมอยู่ในทุกข้อสอบ และเกือบทุกสาขาวิชา ทุกคณะกำหนดใช้ ทำให้หลายๆ ครั้งวิชาภาษาอังกฤษที่แหละ กลายเป็นอาวุธเสริม มาช่วยเพิ่มคะแนนให้ ด้วยเหตุผลนี้ พี่แนนนี่ก็เลยมีเทคนิคการสอบวิชาภาษาภาษาอังกฤษใน TCAS มาฝากน้องๆ กันค่ะ
 

 
     แม้ว่าตอนนี้จะเหลือเวลาในการเตรียมตัวสอบอีกไม่มาก “อาจารย์ติงลี่” รชต กิตติโกสินท์ แห่ง Dek-D's School ผู้เป็นติวเตอร์ที่มีประสบการณ์การสอนวิชาภาษาอังกฤษมาอย่างยาวนาน ก็มีเทคนิค เคล็ดลับในการทำข้อสอบ ฉบับเร่งรัดมาให้น้องๆ ได้เตรียมความพร้อมกันด้วย ไปดูกันเลย
 
Q: จุดทำคะแนนข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษของแต่ละตัว
 
"จุดทำคะแนนของแต่ละข้อสอบ คือ จุดที่เราถนัด"
     เราต้องมาวิเคราะห์จุดแข็งของเราก่อน แบบกว้างๆ ก็ได้ ดูว่าเราถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร แล้วก็ใช้กลยุทธ์กำจัดจุดอ่อน คือจะไม่ทิ้งจุดที่เราด้อยนะ แต่เลือกทำในจุดที่ไม่ถนัด หรือถนัดน้อยกว่าก่อน เพราะตอนที่เราเข้าห้องสอบตอนแรก เราจะยังสดชื่น ยังมีสมาธิ ยังไม่ล่กไม่ลนลาน จึงควรเอาความนิ่งตรงนี้ไปทำข้อสอบที่เราคิดว่ายาก ให้เวลากับมัน จะได้พยายามอย่างเต็มที่
     ในทางกลับกัน ถ้าเจอข้อสอบยากตอนที่ทำผ่านมาสักพักหนึ่งแล้ว เราจะเริ่มกังวล กลัวว่าอาจจะเจอข้อที่ทำไม่ได้ แล้วยิ่งมาเจออันที่ยากก็ยิ่งถอดใจ บางคนอาจจะทิ้งดิ่งไปเลยก็ได้ ซึ่งไม่อยากให้ทำ เพราะคะแนนทุกคะแนนมีค่า ทุกข้อมีค่า อย่าเดาแบบมั่วๆ เด็ดขาด แต่ ถ้าจะต้องเดา ขอให้ได้อ่านทั้งหมดก่อน แล้วค่อยคิด ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็เดาอย่างมีหลักการ อย่างน้อยพี่เชื่อว่าถ้าได้อ่านโจทย์ก่อน คงจะตัดชอยส์ได้บ้างล่ะ หรือไม่ก็จะต้องตะหงิดๆ สักนิดว่าข้อไหนถูก ส่วนจุดที่เราถนัด ก็คงไม่มีปัญหา เอาแค่ว่ารอบคอบ อย่าย่ามใจเกินไปจนไม่อ่านดีๆ แล้วก็อย่าคิดเยอะเกินนะ บางทีเจอข้อง่ายๆ แต่ดันคิดมาก ตอบผิดซะงั้น เสียดาย...ดังนั้น ต้องตั้งสติ! พี่ว่าข้อสอบแต่ละตัวให้เวลาค่อนข้างพอดี ไม่ถึงกับต้องรีบ แต่ก็ไม่ควรคิดช้า หรือทำช้าเกินไป และคอยดูนาฬิกาบ่อยๆ จะได้ไม่พลาด
 
"ข้อสอบแต่ละตัว O-NET, GAT, วิชาสามัญ โดยรวมๆ ไม่มีอะไรต่างกัน"
     อาจจะแค่เรียกส่วนต่างๆ ไม่เหมือนกัน อย่าง พาร์ท Language use (O-NET)/ Expressions (GAT)/ Listening and speaking (วิชาสามัญ) เนี่ย ไม่ว่าจะชื่ออะไร มันคืออันเดียวกัน มันคือพาร์ทที่ตั้งใจจะทดสอบว่า เราสามารถโต้ตอบในสถานการณ์ต่างๆ ได้หรือไม่ ดังนั้นถ้าเราจะเตรียมตัวสอบพาร์ทนี้ เราก็ต้องดูสำนวนการพูดในชีวิตประจำวันเอาไว้ให้มากๆ เพราะสำนวนมันจะไม่แปลตรงตัว มันจะมีการใช้เฉพาะของมัน
ตัวอย่าง
     เวลามีคนพูด thank you ปกติเราตอบ you’re welcome ซึ่งข้อสอบคงไม่ถามแบบนี้เพราะง่ายไป แต่จะออกสำนวน Don’t mention it ซึ่งถ้าแปลตรงตัวว่า อย่าพูด/กล่าวมันเลย หลายคนไม่รู้จัก ก็จะคิดว่าไม่สามารถเอามาตอบรับ thank you ได้ ซึ่งจริงๆ เจ้าของภาษาใช้บ่อยมาก ประมาณว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องขอบคุณหรอก
     สรุปคือ ถ้าถนัด Grammar อาจจะไปทำข้อที่เกี่ยวกับ Vocab ก่อน เช่น Reading Passage หรือ Language Use/ Expressions ก่อน แล้วค่อยกลับมาทำ Grammar ใน Writing/ Structure/ Error/ Close test อะไรแบบนี้ (แต่ก็อยากแอบกระซิบนะว่า อย่าง Reading เนี่ย ถึงจะไม่ได้มีคำถาม Grammar ตรงๆ แต่ก็ต้องใช้ความรู้ Grammar มาช่วยอ่านด้วยนะ) ส่วนถ้าใครบอกว่าไม่ถนัดสักอย่าง ก็อาจจะเลือกทำที่ต้องใช้เวลาในการอ่านนานๆ ก่อนก็ได้ เช่น Reading จะได้มีสมาธิอ่านตั้งแต่เริ่มต้นสอบเลย

 
Q: วิธีรับมือ Passage ในวิชาสามัญ จะให้ทำทันและถูกต้องอย่างไรดี
 
"อ่านคำถามก่อน แล้วมา skim scan หาคำตอบให้เร็ว"
 
     จริงๆ พาร์ท Reading Passage เจอในข้อสอบภาษาอังกฤษทุกตัว ไม่ใช่แค่วิชาสามัญ หรือใน TCAS นะ  เพราะ Reading Comprehension เป็น Part ที่มีความสำคัญ เป็นการวัดทักษะด้านการอ่าน การคิดเชิงวิเคราะห์ และการตีความ โดยโจทย์ให้บทความภาษาอังกฤษเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปตอบคำถาม ข้อสอบ Part นี้ ต้องอาศัยการบริหารเวลาให้ดี ปัญหาหลักๆ ก็คือ อ่านไม่ทันเนื่องจากบทความที่โจทย์ให้มานั้นค่อนข้างยาว ส่วนปัญหาอีกอย่างคือ อ่านไม่เข้าใจ แปลไม่ออก เราจึงต้องมีระเบียบวิธีในการทำความเข้าใจกับบทความ ให้สามารถทำข้อสอบได้อย่างรวดเร็ว
     ส่วนในสนาม TCAS ก็แนะนำว่าทำก่อนพาร์ทอื่นๆ เลยก็ได้ เพราะมันต้องใช้สมาธิ และเวลาค่อนข้างมากในการอ่าน ในการ Scan หาคำตอบ ซึ่งเทคนิคง่ายๆ คือ อ่านคำถามก่อน แล้วมา skim scan หาคำตอบให้เร็ว แค่นี้ก็สบาย และอีกอย่างที่สำคัญมากคือ Vocabulary หรือศัพท์ (ข้อสอบบางตัวอาจจะแยกพาร์ทออกมา) ถ้าจะสอบพาร์ทนี้ให้ได้ก็ต้องแม่นศัพท์พอสมควร
 
ขั้นตอนในการทำ Passage
1. อ่านโจทย์ก่อนเสมอ
     อ่านโจทย์ทุกข้อ วิเคราะห์ลักษณะของโจทย์ ข้อไหนหาคำตอบได้จากบทความ ข้อไหนต้องคิดต่อ การอ่านโจทย์จะทำให้เรารู้ว่า เรากำลังมองหาอะไรจากบทความนี้
2. คำถามที่มีคำตอบ ใช้เทคนิค Scanning
     ถ้าเราเจอโจทย์ที่ต้องหาคำตอบจากในบทความ เราจะใช้เทคนิค Scanning กวาดตา หาเฉพาะคำสำคัญ (Keyword) ที่เราต้องการ โดยกำหนด Keyword จากโจทย์-หา Keyword ในบทความ-ดูบริบทรอบๆ และเทียบตัวเลือก ตัดช้อยส์อะไรก็ว่าไป
3. คำถามที่ไม่มีคำตอบ ใช้เทคนิค Skimming
     ถ้าเราเจอโจทย์ที่เราต้องวิเคราะห์คำตอบเอง และต้องการเข้าใจความหมายโดยรวมของบทความ เราจะใช้เทคนิค Skimming อ่านแบบผ่านๆ ให้อ่านบทความได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเก็บข้อมูลโดยรวม สังเกตคำที่ปรากฏเยอะๆ และรู้ว่าบทความพูดถึงอะไร และเน้นส่วนที่สำคัญในแต่ละย่อหน้า อย่างประโยคแรกและประโยคสุดท้ายของย่อหน้า เพราะใจความสำคัญ มักอยู่ที่ใน 2 ส่วนนั้น ส่วนที่เหลือจะเป็นรายละเอียดที่นำมาสนับสนุนใจความสำคัญมากกว่า
     ตรงนี้เป็นแบบคร่าวๆ จริงๆ มันมีรายละเอียดมากนะ และที่สำคัญมันต้องเทียบให้เห็นจากตัวอย่างข้อสอบ ใครที่อยากฝึกละเอียดมาลงสมัครเรียนคอร์สพี่ได้ อิอิ (แอบขายของหน่อย)

 
Q: ในวิชาภาษาอังกฤษ มีเรื่องไหนที่อ่านแล้วต้องเจอ เน้นแล้วต้องคุ้มบ้าง
 
Remember, learning is a self-motivated activity.
Only you can prepare yourself for the exams.
 จำไว้ว่าเราต้องให้กำลังใจตัวเอง ฮึดสู้ในการสอบให้ได้ เราเท่านั้นเป็นผู้กำหนด
 
เรื่องที่ทบทวนได้เยอะๆ เพราะเจอหลายข้อแน่ๆ มีดังนี้
1) part of speech แต่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องค่อนข้างกว้าง ถ้าจะให้เน้น ก็คงเป็นเรื่อง Noun, Verb, Adjective และ Adverb
2) Subject Verb Agreement เรื่องความสอดคล้องกันของประธานและกริยา ประธานเอกพจน์ กริยาต้องเอกพจน์ ประธานพหูพจน์ กริยาก็ต้องพหูพจน์
3) Relative Clause ประโยคที่เป็นประโยคขยาย การใช้พวก who whom which that
4) Phrasal Verbs ใช้บ่อยในพาร์ทบทสนทนา เป็นกริยาวลีที่คนใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น get out, come up, come on เป็นต้น
 
แถม!! tips เล็กๆ น้อยๆ สำหรับการสอบ
Exam Preparation Tips
1. Study regularly. ฝึกฝนบ่อยๆ กำหนดเวลาที่แน่นอนในทุกๆ วันสำหรับอ่านและทบทวนบทเรียนเพื่อให้ติดเป็นนิสัย เป็นกิจวัตรที่สม่ำเสมอ
2. Do a little at a time. ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เวลาในการทบทวนนั้นไม่จำเป็นต้องเยอะ แต่ทบทวนแล้วต้องเข้าใจ
3. Budget your time. รู้จักแบ่งเวลา ข้อสอบ GAT เป็นข้อสอบที่มีกำหนดเวลา ในการทบทวนบทเรียนจึงต้องมีการกำหนดเวลา เพื่อหัดใช้เวลาในการทำข้อสอบอย่างมีประสิทธิภาพ
4. Know your goal. มีเป้าหมาย เป้าหมายคืออะไร คณะใด มหาวิทยาลัยใดที่น้องอยากเข้า คะแนนที่น้องต้องได้เป็นเท่าไหร่
5. Have a positive attitude. มองโลกในแง่ดี ใช้ Power of Positive Thinking เชื่อมั่นในตนเองว่าเราทำได้
6. Relax. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ต้องเครียด แบ่งเวลาพักผ่อนด้วย
 
Self-Study Activities ให้ไว้ฝึกตลอดไป
เพราะวิชาภาษาอังกฤษ ไม่ได้เรียนแค่ให้สอบผ่าน แต่เรียนแล้วใช้ไปได้ตลอดชีวิต

 
1. Listen to as much English as you can.
เมื่อฟังแล้ว ก็ถามคำถามกับตัวเอง เพื่อพัฒนาความสามารถและความเข้าใจของภาษา
  • Who is talking? ใครพูด
  • Who are they talking to? พูดกับใคร
  • What are they talking about? คุยอะไร
  • Where are they talking? คุยที่ไหน
  • Why are they talking? ทำไมถึงคุยกัน
     
ฟังอะไรได้บ้าง?
  • Listen to news websites: CNN, BBC, CBS พวกเวปข่าวทางการต่างๆ
  • Watch movies and television in English ดูหนังที่น้องๆ ชอบ แบบไม่ต้องปิดซับไตเติลก็ได้
  • Watch YouTube videos and TED Talks ดูพวกยูทูป เท็ดทอล์ค
  • Listen to music and the radio in English ฟังเพลงฝรั่ง ช่องวิทยุภาษาอังกฤษ
     
2. Read as much English as you can.
     ทักษะด้านการอ่านเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในการทำข้อสอบ เมื่ออ่านแล้วก็ถามคำถามกับตัวเอง แบบเดียวกับข้อ 1
อ่านอะไรได้บ้าง?
  • Read newspaper and magazines in English อ่านหนังสือ นิตยสาร
  • Read books and novels in English พวกนิยายก็ดี
  • Read news and magazine articles online อ่านออนไลน์ก็สะดวก
  • Follow blogs that interest you ตามพวกบลอกที่น้องๆ ชอบก็ได้
     
3. Write and speak as much English as you can.
     พอฟังและอ่านแล้ว ก็หัดพูด หัดเขียน ตอบตัวเองเป็นภาษาอังกฤษให้ได้ ฝึกพูดหน้ากระจกเองเลยค่ะ ถ้าไม่มีฝรั่งหรือใครให้ฝึกด้วย
 
4. Keep a vocabulary notebook.
     ต้องมีสมุดจดศัพท์เฉพาะ ใช้เล่มเล็กๆ แล้วพกติดตัวตลอดเวลา เจอศัพท์ใหม่เมื่อไหร่ก็สามารถจดทันที จดตัวอย่างประโยคมากๆ ทบทวนทุกครั้งที่ว่าง
ใช้ English-English Dictionary มีให้ใช้ได้ฟรี จาก
  • http://dictionary.cambridge.org/
  • http://www.oxforddictionaries.com/
  • http://www.merriam-webster.com/

     
     เป็นยังไงบ้างคะ ได้เทคนิคกลับไปเต็มๆ ทั้งที่ประยุกต์ใช้กับการสอบครั้งนี้ และที่เอาไปใช้ได้ตลอดชีวิต น้องๆ คนไหนอยากได้เทคนิคเพิ่มเติม หรืออยากพูดคุย อยากเรียนกับอาจารย์ติงลี่ คลิกเลย! หรือถ้าใครมีเทคนิค เคล็ดลับของตัวเอง ก็สามารถมาแชร์ แบ่งปันเพื่อนๆ น้องๆ กันได้ในคอมเม้นท์เลยนะคะ


 
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น