How to อ่านวิชา “ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา” แบบรวดเดียว เก็บครบทุกสนามสอบ!

สวัสดีค่ะ นับเป็นช่วงที่ใกล้ยิ่งกว่าโค้งสุดท้ายอีกค่ะ สำหรับการสอบรัวๆ ติดกัน 3-4 สัปดาห์ของเด็ก 63 ตั้งแต่การสอบ GAT PAT ต่อด้วยสนามสอบ O-NET ต่อด้วยวิชาเฉพาะแพทย์ กสพท และปิดท้ายที่สนามสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ยังไม่นับรวมกับที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จัดสอบวิชาเฉพาะอีก สอบจนเหงือกแห้งกันไปข้างหนึ่งเลยล่ะค่ะ
 

ในวันนี้พี่แป้งมีทริคสำหรับการเตรียมสอบวิชาสายวิทย์อย่างฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา มาฝากน้องๆ กันค่ะ รวบไว้ทีเดียวทั้ง 3 วิชาเลย เน้นที่ 3 สนามหลัก คือ GAT PAT, O-NET และวิชาสามัญ ผ่านการสัมภาษณ์อาจารย์สายตรงของทั้ง 3 วิชา รับรองว่าได้คลุกคลีกับข้อสอบอย่างแท้จริง!

วิชาชีววิทยา
เริ่มกันที่วิชาชีววิทยาโดย อาจารย์อุ้ย ดร.ศุภณัฐ ไพโรหกุล ผู้เขียนหนังสือ Essential Biology (หนังสือปู) และหนังสือ Biology (หนังสือปลาหมึก) อ.อุ้ย กล่าวว่า วิชาชีววิทยาเป็นวิชาที่เนื้อหาเยอะ และน้องๆ จะเน้นจำแบบจำตรงๆ เข้าไปเลย ซึ่งมันเยอะมากจนจำไม่หมด บางคนจำได้ก็จริง แต่พอจะเข้าห้องสอบก็คือลืมหมดแล้ว หลักการจำแบบที่ อ.อุ้ย แนะนำคือ ให้จำเป็นสตอรี่ เพราะเรื่องราวของชีววิทยามันเชื่อมโยงกันหมด
 

อาจารย์อุ้ย ดร.ศุภณัฐ ไพโรหกุล

การเรียนชีววิทยาถูกออกแบบมาให้เรียนทีละบทเพื่อเก็บเนื้อหาไปเรื่อยๆ เลยกลายเป็นว่าเรียนจบบทหนึ่งก็ปิดแล้วตัดทิ้ง ทั้งๆ ที่แต่ละบทมีความเชื่อมโยงกัน เช่น เรื่องพืช เราเริ่มเรียนโครงสร้างพืชก่อนว่า ราก ลำต้น ใบ หน้าตาเป็นยังไง บทต่อไปคือการลำเลียงน้ำ การลำเลียงอาหาร การสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งเป็นการบอกว่าพืชทำงานอย่างไร

ถ้าเราเชื่อมโยงกันได้ เราก็จะเข้าใจเลยว่าโครงสร้างพืชที่เราเรียนในบทก่อนหน้า มีผลต่อกลไกการทำงานเหล่านี้ยังไง เช่น ปากใบของพืชมีรูปร่างเป็นอย่างไร แล้วเวลาจะเปิดปิดมันสัมพันธ์กับแรงดันเต่งอย่างไร พอทุกอย่างมันเชื่อมโยงเป็นสตอรี่แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งท่องจำเป็นข้อความอีกเลย


ลักษณะข้อสอบ
O-NET: เนื้อหาง่ายสุดในข้อสอบทั้งหมด ไม่ได้ลึก ออกข้อสอบเน้นการวิเคราะห์ ถ้ามีพื้นฐานวิทย์ทั่วไปแน่นมาตั้งแต่ ม.ต้น ในพาร์ทชีวะของ O-NET ก็สามารถทำได้แบบสบายๆ เลย

วิชาสามัญ: ข้อสอบยังอยู่ในหลักสูตร ม.ปลาย ถ้าออกเกินก็ไม่เกิน 10% เน้นแบบคิดต่อเพื่อให้ตอบได้ ซึ่งข้อสอบจะให้ข้อมูลมากพอที่ช่วยในการวิเคราะห์ แต่ข้อสอบเป็น Speed Test มีทั้งหมด 80 ข้อ เวลา 90 นาที ถ้าตัดเวลาฝนด้วยก็ตกข้อละ 1 นาทีเอง ให้เน้นทำข้อโจทย์สั้นๆ ก่อนเพื่อประหยัดเวลา เพราะแต่ละข้อคะแนนเท่ากันหมด

PAT 2: เป็นข้อสอบที่คิดเยอะ(หน่อย) คิดอ้อม(หน่อย) มีความซับซ้อนมากกว่าวิชาสามัญ เนื้อหากว้าง แต่จำนวนข้อน้อยเพราะมีวิชาเคมีกับฟิสิกส์ด้วย แต่ละปีข้อสอบจะต่างกัน อาจมีบางปีที่ออกเนื้อหาเกินหลักสูตร ม.ปลาย แต่ไม่เยอะ ไม่ได้ยากเกินความสามารถถ้าพื้นฐานแน่นพอ

 

เรื่องไหนควรอ่าน เพื่อเก็บทั้ง 3 สนามสอบ
ในช่วงเวลาแบบนี้ เราต้องประเมินตัวเองก่อนว่า บทไหนมีปัญหา บทไหนที่ไม่เข้าใจ แล้วไปโฟกัสที่บทนั้น จะช่วยให้จำเนื้อหาได้มากขึ้น ข้อสอบชีวะควรอ่านเนื้อหามากกว่าทำโจทย์เก่า เพราะเนื้อหาเยอะมาก ไม่ว่าจะสอบสนามไหนก็ตาม แก่นของเนื้อหามันก็คือตัวเดิม แค่ออกสอบในบริบทที่ต่างกันออกไป ส่วนการทำข้อสอบเก่าไม่ได้ช่วยให้เราจำได้มากขึ้น แต่ช่วยให้เราทำข้อสอบได้เร็วขึ้น

ข้อสอบวิชาสามัญชีววิทยา
สำหรับข้อสอบชีวะในวิชาสามัญ จะแบ่งออกเป็น 5 พาร์ทหลักๆ คือ 1.เซลล์/ชีวโมเลกุล 2.ระบบร่างกายสัตว์ 3.พืช 4.พันธุศาสตร์/วิวัฒนาการ และ 5.ระบบนิเวศ/พฤติกรรม พาร์ทที่แนะนำให้อ่านก่อนเลยคือ เซลล์/ชีวโมเลกุล, ระบบร่างกายสัตว์ และ ระบบนิเวศ เพราะข้อสอบออกไม่ซับซ้อนมาก เก็บคะแนนได้ง่าย

ฝากย้ำน้องๆ ว่าวิชาสามัญมี 80 ข้อ แต่ละข้อคะแนนเท่ากัน ไม่ว่าจะโจทย์สั้นหรือยาว เพราะฉะนั้นให้เลือกทำข้อที่คิดเร็วก่อน ส่วนข้อที่ต้องคำนวณอย่างพันธุศาสตร์เก็บไว้ทีหลัง เพราะต้องใช้เวลา จะช่วยให้น้องๆ เก็บคะแนนได้เร็วขึ้น ไม่เสียโอกาสด้วย


วิชาเคมี
ต่อกันที่วิชาเคมี โดย อาจารย์เต้ ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ ค่ะ วิชาที่น้องๆ หลายคนจะเป็นกังวลว่า มีศัพท์เฉพาะมากมาย กลัวว่าจะทำข้อสอบไม่ได้ แล้วถ้าไม่เก่งคำนวณจะเรียนได้ไหม? หรือถ้าท่องตารางธาตุไม่ได้จะทำข้อสอบได้ไหม? วันนี้พี่แป้งจะพาไปหาคำตอบกับ อ.เต้ กันค่ะ
 

อาจารย์เต้ ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ
ไม่เก่งคำนวณ เรียนเคมีได้ไหม?
ส่วนตัว อ.เต้ เองก็ไม่ได้เก่งคำนวณเลย จริงๆ แล้ววิชาเคมีใช้การคำนวณแค่การเทียบบัญญัติไตรยางค์ ซึ่งเรียนมาตั้งแต่สมัยประถมปลายแล้ว ถ้าเทียบได้ก็ทำข้อสอบเคมีได้ ปัญหาส่วนใหญ่ที่น้องๆ ทำข้อสอบไม่เพราะชอบคิดว่าวิชาเคมีมีแพทเทิร์นและมีสูตร น้องก็จะพยายามท่องจำในทุกสูตร ทุกรูปแบบ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าไปเจอข้อสอบที่ไม่ใช่แพทเทิร์นแบบที่จำมาก็คือจะทำไม่ได้เลย ตรงนี้เป็นปัญหาทำให้ไม่ชอบวิชาเคมี

ต้องเข้าใจก่อนว่า วิชาเคมีไม่ได้มีแพทเทิร์นตายตัว สิ่งที่จะช่วยได้ คือการเข้าใจเนื้อหาอย่างแท้จริง ปูพื้นฐานให้แน่น เช่น ถ้าเข้าใจเรื่องของปริมาณสารสัมพันธ์ รู้หลักว่าสารไหนใช้เท่าไหร่ ใช้อย่างไร จะไปต่อเรื่องอื่นอย่างเรื่องอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมีได้ เพราะหลักการใช้เหมือนเดิม รูปแบบการแก้ปัญหาเหมือนเดิม แค่มีการติดสมการ ติดตัวแปรเพิ่มขึ้นมา อยากให้น้องๆ จำไว้ว่า ปัญหาทางเคมีมีรูปแบบไม่จำกัด ไม่มีแพทเทิร์นตายตัว จำหลักการให้ได้ ไม่ว่าข้อสอบมาแบบได้ก็ทำได้


ท่องตารางธาตุไม่ได้ ก็ทำข้อสอบได้!
ในการเรียนเคมี อยากให้เรียนเป็นไปแบบธรรมชาติ ธาตุตัวไหนที่เราใช้บ่อยๆ แปลว่ามันสำคัญ ยิ่งใช้บ่อยเราจะจำได้เองว่ามันอยู่ตรงไหนของตารางธาตุ เพราะฉะนั้นตารางธาตุไม่จำเป็นต้องท่องได้ ซึ่ง อ.เต้ เองก็ท่องไม่ได้ ถ้าเจอธาตุไม่คุ้นก็จำไม่ได้เหมือนกัน จริงๆ แล้วตารางธาตุถูกคิดขึ้นและสร้างตำแหน่งของมันออกมาให้เป็นระบบ เพื่อให้เราไม่ต้องท่อง ถ้าเราเข้าใจระบบของมันก็จะเข้าใจตารางได้

ข้อสอบที่ดีมักจะให้ตารางธาตุมาอยู่แล้ว ถ้าไม่ให้ตารางธาตุ ก็จะมีข้อมูลมาให้ว่าใช้อะไรในการแก้ปัญหาโจทย์บ้าง อย่างเช่น การคำนวณน้ำหนักอะตอม ก็จะวงเล็บมาให้เลยว่าธาตุนั้นๆ มีน้ำหนักอะตอมเท่าไหร่ ข้อสอบเคมีจะไม่ได้วัดความจำ แต่วัดกระบวนการ วัดความรู้ความเข้าใจ วัดการคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะให้ข้อมูลมาครบอยู่แล้ว ถ้าเข้าใจกระบวนการในเรื่องนั้นๆ ก็สามารถทำข้อสอบได้

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://ngthai.com/science

ลักษณะข้อสอบ
O-NET: เป็นข้อสอบพื้นฐาน ถูกดีไซน์มาเพื่อวัดว่าน้องๆ มีความรู้มากพอที่จะจบ ม.ปลาย หรือไม่ จึงต้องวัดทุกสายการเรียน เคมีที่อยู่ใน O-NET จะเป็นเคมีพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องรู้ ข้อสอบจะถามแบบตรงๆ ถ้ามีอัตราส่วนก็คือหารตรงๆ เลย

วิชาสามัญ: แนวคล้ายๆ ข้อสอบเอนทรานซ์สมัยก่อน ในหนึ่งวิชาก็คือเป็นเคมีของตัวเองเลย ไม่ต้องไปหารกับใครแบบ PAT 2 เพราะฉะนั้นข้อสอบแต่ละข้อก็วัดแต่ละเรื่องได้เลย ไม่ต้องเอาหลายๆ บทมารวมกัน แต่ข้อสอบจะเป็นแนว Speed Test ต้องแข่งกับเวลา

PAT 2: เป็นข้อสอบที่วัดเด็กสายวิทย์แบบชัดเจน รวมทั้ง 3 วิชาวิทย์ไว้ ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา โดยส่วนใหญ่จะเฉลี่ยเท่าๆ กัน ในส่วนของเคมีจะออกสัดส่วนตามจำนวนชั่วโมงเรียน ถ้าบทไหนเรียนเยอะก็ออกข้อสอบเยอะ แต่จะยากกว่าวิชาสามัญ เพราะจำนวนข้อน้อย ทำให้หนึ่งข้ออาจจะรวมความรู้หลายๆ บทเข้าด้วยกัน

PAT 3: ใน PAT 3 ก็มีพาร์ทของเคมีเหมือนกัน แต่จะมีไม่เยอะ เป็นเคมีที่เกี่ยวกับหลักการทางวิศวกรรม ซึ่งอาจารย์ที่ออกข้อสอบเป็นอาจารย์สายวิศวกรรมศาสตร์ จะดึงพาร์ทของเคมีที่เกี่ยวข้องไปอยู่แล้ว เพราะข้อสอบนี้ถูกดีไซน์มาเพื่อวัดเด็กที่จะเข้าเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์


ข้อควรระวังในการทำข้อสอบเคมี
สิ่งสำคัญในการทำข้อสอบคือ ต้องมีสติ น้องๆ หลายคนอ่านโจทย์ตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้ายแล้วไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจก็จะแพนิก สุดท้ายสติแตกทำข้อสอบข้ออื่นไม่ได้ ถ้าเจอข้อสอบที่ทำไม่ได้ให้ข้ามไปก่อน พอใจเย็นแล้วค่อยกลับมาใหม่ อ่านใหม่ น่าจะช่วยได้มากขึ้น

นอกจากสติแล้วต้องมีพื้นฐานด้วย อย่าลืมว่าข้อสอบกลางเป็นข้อสอบแข่งขันเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย จะไม่เหมือนข้อสอบของโรงเรียนที่จะวัดผลของเด็กเป็นเรื่องๆ เพราะฉะนั้นการทำข้อสอบกลางจะจำทุกแพนเทิร์นไม่ได้ ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจด้วย โจทย์บางข้อมีช้อยส์ลวงมา ถ้าใช้สูตรอาจจะตอบผิดก็ได้


วิชาฟิสิกส์
มากันที่วิชาสุดท้าย คือ วิชาฟิสิกส์ โดย อาจารย์หลิน ดร.สลิลพร กิตติวัฒนากูล เชื่อว่าเป็นวิชาที่น้องๆ สายวิทย์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบมากนัก แต่เชื่อไหมคะว่า วิชาฟิสิกส์เป็นวิชาที่เป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องราวรอบตัว มีความตรงไปตรงมา อ่านโจทย์ถ้าเข้าใจ ใส่สูตร คิดเลขแล้วตอบได้เลย (พูดเหมือนง่าย) สิ่งที่ต้องเตรียมในการสอบวิชาฟิสิกส์มีอะไรบ้าง อ.หลิน มีคำตอบมาให้ค่ะ
 

อาจารย์หลิน ดร.สลิลพร กิตติวัฒนากูล

คอนเซ็ปต์ฟิสิกส์ คือการเข้าใจที่มาที่ไปของสูตร ของสมการ ของตัวแปร ซึ่งมันคือความเข้าใจในธรรมชาติรอบตัวที่เราต้องมองภาพให้ออก สิ่งที่ช่วยได้มากๆ เลยก็คือ การจินตนาการ เช่น ถ้ากล่องมันไหลจากพื้นเอียง กล่องจะไหลเร็วขึ้น-ช้าลงได้ยังไงและเพราะอะไร พยายามมองสิ่งรอบ ๆ ตัวเรา แล้วมาเปรียบเทียบกับสมการให้เห็นภาพ

ลักษณะข้อสอบ
O-NET: พาร์ทฟิสิกส์ใน O-NET โจทย์จะยาว เน้นอ่านเยอะ ใช้เวลาในการอ่านโจทย์นาน ให้จับใจความให้ได้ แล้วแปลงโจทย์เป็นสมการ ส่วนสมการก็จะเป็นสมการง่ายๆ ในสูตรพื้นฐาน แก้สมการครั้งเดียวจบ เป็นฟิสิกส์เบื้องต้นที่ทุกสายการเรียนสามารถทำได้

วิชาสามัญ: ข้อสอบวิชาสามัญฟิสิกส์ ส่วนใหญ่จะเป็นข้อสอบแบบติดตัวแปร โจทย์ไม่ได้ยาวมากเพราะถ้ายาวอ่านแล้วเหนื่อย บางทีมีรูปช่วยให้เราประหยัดเวลามากขึ้น แต่โจทย์จะแก้สมการ 2-3 สมการแบบติดตัวแปรไว้ หลักการทำข้อสอบวิชาสามัญหลักๆ คือต้องเข้าใจคอนเซ็ปต์ก่อน ตั้งต้นให้ถูก แก้ให้ถูก อาจจะเหนื่อยหน่อย แต่ไม่ค่อยได้คำนวณมาก ข้อสอบจะวัดกระบวนการคิด เน้นความเข้าใจในฟิสิกส์

PAT 2: ข้อสอบแทบไม่ติดตัวแปรเลย จะใช้ตัวเลขแทนค่า แก้สมการอย่างมากแค่ 2 สมการ แล้วได้คำตอบออกมา ปัญหาของข้อสอบ PAT 2 คือต้องตั้งต้นสมการให้ถูกก่อน ถ้าเริ่มต้นถูกแล้วแทนค่าเลขลงไปยังไงก็ได้คำตอบ ซึ่งเวลาทำข้อสอบสามารถนำตัวเลขจากช้อยส์มาแทนค่าได้เลย จะช่วยประหยัดเวลาในการทำข้อสอบได้มากกว่า

PAT 3: เป็นข้อสอบแนวประยุกต์ จะไม่ใช่ฟิสิกส์ตรงๆ แบบข้อสอบอันอื่น จะเน้นไปเรื่องที่เกี่ยวกับวิศวกรรมศาสตร์ เช่น กลศาสตร์ แสง คลื่น ไฟฟ้า ส่วนเรื่องอื่นจะไม่ค่อยออกสอบเท่าไหร่ ใน PAT 3 ไม่ได้มีแค่ฟิสิกส์อย่างเดียว จะมีคณิตและเคมีด้วย ซึ่งล้วนเกี่ยวกับหลักการทางวิศวกรรมทั้งสิ้น

 

บทไหนที่เก็บคะแนนได้เยอะ
ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนสอบ ให้เน้นตะลุยโจทย์ ทำโจทย์เยอะๆ ดูว่าบทไหนเราไม่ถนัด แล้วกลับไปอ่านคอนเซ็ปต์ของบทนั้น ไม่ใช่การอ่านเฉลยของข้อสอบนะคะ ถ้าอ่านเฉลยเราจะไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์เลย แล้วถ้าเจอพลิกแพลงก็จะทำไม่ได้เช่นกัน แต่ถ้าเรื่องไหนที่ยังพอทำโจทย์ได้แสดงว่าเราพอเข้าใจอยู่

บทที่ออกข้อสอบเยอะที่สุดคือเรื่อง กลศาสตร์ (ม.4) ถ้าเข้าใจจะเก็บคะแนนได้เยอะ เป็นเนื้อหาต่อกันตั้งแต่การเคลื่อนที่แบบต่างๆ เคลื่อนที่แนวตรง โปรเจคไทล์ วงกลม การหมุน งาน พลังงาน โมเมนตัม ข้อสอบออกแน่ๆ แต่น้องๆ ไม่ชอบเพราะต้องแก้สมการเยอะ อีกส่วนที่เก็บคะแนนง่ายก็คือ ฟิสิกส์ยุคใหม่ (ม.6) เช่น ฟิสิกส์อะตอม ฟิสิกส์นิวเคลียร์ ไม่ได้ซับซ้อนแต่เนื้อหาเยอะ จบเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ต่อเนื่องกันแบบกลศาสตร์ เป็นบทที่คำนวณง่าย แต่ต้องจำเยอะเลย สมการไม่ซับซ้อนแต่ต้องรู้ที่มาที่ไปของแต่ละเรื่อง ถ้าชอบจำแนะนำเรื่องนี้เลยค่ะ


เรื่องที่ต้องระวังในฟิสิกส์
การทำข้อสอบฟิสิกส์ เรื่องแรกที่ต้องระวังเลยก็คือ การแปลงหน่วย ข้อสอบจะมีการให้หน่วยมาไม่เท่ากัน แล้วเราต้องแปลงให้เป็นหน่วยเดียวกัน หรือให้เป็นหน่วยเดียวกับสูตร เพื่อที่จะแก้สมการออกมาได้ถูกต้อง เช่น โจทย์ให้มาเป็นค่าเซนติเมตร แต่สูตรใช้ค่าเป็นเมตร ก็ต้องแปลงจากเซนติเมตรไปเป็นเมตรก่อนแล้วค่อยแทนค่า ถ้าไม่ได้แปลงหน่วย ช้อยส์ก็จะมีคำตอบที่หลอกมาเหมือนกัน เท่ากับว่าถ้าลืมแปลงหน่วยแล้วคิดเลขไปเรื่อยๆ ก็จะเจอคำตอบที่ตรงกันในช้อยส์ด้วย

เรื่องต่อมาคือเรื่องทิศทาง ข้อสอบฟิสิกส์จะมีปริมาณที่เป็นเวกเตอร์ ซึ่งน้องๆ สับสนเรื่องทิศทางค่อนข้างเยอะ ตั้งต้นให้ถูกแล้วมันจะไปต่อได้เอง อีกเรื่องที่ต้องระวังก็คือ ค่า g หรือค่าแรงโน้มถ่วง ซึ่งตอนเรียนจะปัดขึ้นใช้เป็น 10 เพื่อง่ายในการคำนวณ แต่ในข้อสอบจริงต้องใช้ 9.8 แล้วช้อยส์คำตอบจะมีเลขที่ใกล้เคียงกันมาก ถ้าใช้ 10 อาจจะประมาณค่าผิดแล้วทำให้ตอบผิดไปด้วย

สุดท้ายข้อสอบฟิสิกส์จะมีที่เป็น Speed Test การจำสูตรได้จะช่วยได้เยอะมาก ถ้าจำสูตรรองไม่ได้ก็ให้จำสูตรหลักให้ได้ ส่วนสูตรรองเราสามารถไปพิสูจน์เองได้ถ้าจำเป็นต้องใช้ นอกจากจำสูตรได้ ต้องจำหน่วยของตัวแปรให้ได้ด้วย สูตรทุกตัวมีที่มาที่ไปชัดเจน ถ้าเราเข้าใจคอนเซ็ปต์ก็จะเข้าใจสูตรไปด้วย ที่สำคัญต้องคิดเลขให้ถูกด้วย ในห้องสอบไม่มีเครื่องคิดเลขให้และโจทย์เป็นช้อยส์ ถ้าคิดเลขผิดถึงแม้ว่าจะใส่สูตรถูกต้อง คำตอบก็ออกมาผิดเช่นกัน

เรียกว่าจัดหนักจัดเต็มแบบจุกๆ ไปเลยทั้ง 3 วิชาสายวิทย์ เตรียมพร้อมทั้งสนาม GAT PAT , O-NET และวิชาสามัญ เป็นทริคเพื่อช่วยน้องๆ ก่อนที่จะสอบติดกันยาวๆ สุดท้ายแล้วพี่เองเชื่อว่าไม่มีใครพร้อมที่สุดในการทำข้อสอบหรอกค่ะ ต่อให้มีเวลามากกว่านี้ อ่านมากกว่านี้ เราก็จะรู้สึกไม่พร้อม สิ่งที่สำคัญในการทำจ้อสอบคือต้องมีสติ ทบทวนให้ดี อ่านโจทย์ให้รอบคอบ จะได้ไม่มาเสียใจทีหลัง

ส่วนใครที่ยังมีตรงไหนไม่เข้าใจ อยากฟิตให้ทันในช่วงโค้งสุดท้ายแบบนี้ สามารถติวคอร์ส อาจารย์อุ้ย อาจารย์หลิน อาจารย์เต้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจได้ที่ >>คลิก<<
 
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด