ชวนพิชิตข้อสอบ "วิชาภาษาไทย" อ่านปุ๊บตอบปั๊บใน 10 วินาที ไม่เต็มไม่ได้แล้ว!

          
          ถ้าพูดถึงวิชาที่หลายๆ คนคุ้นเคย แต่ตกม้าตายมากที่สุด เดาถูกไหมคะว่าคืออะไร "ภาษาไทย" นั่นเอง ถ้าน้องๆ ลองเปิดสถิติย้อนหลังดูแต่ละสนาม ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ แม้แต่ภาษาอังกฤษ โหดแค่ไหนก็ยังมีคนได้ 100 คะแนนเต็ม แต่! ภาษาไทยที่เป็นภาษาประจำชาติเราเอง กลับไม่เคยมีใครทุบสถิติได้เลย ส่วนใหญ่ Top ประเทศจะเฉลี่ยอยู่ที่ 94 - 95 คะแนนเท่านั้น 


 
          ช่วงโค้งสุดท้ายนี้แหละค่ะ อาจารย์แจ๊กกี้ นิธิโรจน์ สุวัชรธีรนิล ติวเตอร์ระดับประเทศ ที่ติวสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้กับน้องๆ มากกว่า 10 ปี จะมาปั้นทุกคนให้กลายเป็นม้ามืด พิชิตคะแนนสอบภาษาไทยทุกสนามให้ได้คะแนน 80% ขึ้นไป หรือไม่แน่ครั้งนี้อาจจะมีน้องๆ ทำข้อสอบวิชาภาษาไทยได้ 100 เต็มขึ้นมาก็ได้ ไปดูกันเลย! 

เพราะคิดว่าเป็นภาษาตัวเอง...เลยไม่มีใครได้ “ไทย” เต็ม
          การที่ไม่มีใครได้เต็ม "วิชาภาษาไทย" ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะด้วยความชะล่าใจว่าเป็นภาษาของตัวเอง อีกประการหนึ่งคือมาตกม้าตายพาร์ทตีความและการอ่าน การตีความและระยะเวลาในการอ่านเป็นส่วนที่ต้องฝึกกันเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องความคิดของคนออกข้อสอบ และส่วนใหญ่เป็นตัวบังคับด้วยว่านักเรียนจะตอบได้หรือไม่ได้ในเวลาจำกัด ทั้งยังเป็นการดึงเวลาให้เด็กทำข้อสอบไม่ทัน ตีความไม่ถูก ตอบโจทย์ไม่ได้ ยิ่งอ่านแล้วไม่รู้จุดประสงค์ของเรื่องที่กำลังอ่านอยู่ ยิ่งเสียเวลา เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร

          เทคนิคในการทำข้อสอบประเภทการอ่าน ถ้าตีความได้ถูกและแม่นยำ โอกาสที่จะได้เต็มก็มี แต่เรียกได้ว่ามันก็น้อย เพราะหลายๆ อย่างต้องฝึก อย่างการตีความ นอกจากตีความตามนัยยะของผู้แต่งผู้เขียนแล้ว ยังมีการตีความนัยยะของการเป็นตัวละครอีก เราต้องเดาใจคนออกข้อสอบหลายขั้น บางทีเราคิดว่าข้อหนึ่งถูก แต่คนออกข้อสอบอาจจะไม่ตอบข้อนี้ก็ได้ 

สอบ “ไทย” ให้คะแนนดี...ข้อสอบต้องเป็นกลาง
          "ข้อสอบภาษาไทย" บางครั้งต่อให้เราอ่านหนังสือมาเป็นร้อยเล่ม ก็เป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบได้ ตัวอย่างเช่น สมัยก่อนคำว่า ‘ราชวัง’ ทุกคนจะให้คำตอบมาตรงกันหมดว่าไม่ใช่ ‘คำสมาส’ ทุกตำราเรียนและทุกที่เรียนพิเศษก่อนหน้านี้ ก็จะยกเว้นคำว่า ‘วัง’ ไว้ เพราะวังเป็นคำไทย พอประกอบกับคำว่าราชวังจึงไม่ใช่คำสมาส กลายเป็นคำที่เลียนแบบคำสมาสแทน ทุกคนเลยต้องพึงระวัง แต่พอวันเวลาผ่านไป ก็มีการระบุว่าคำว่า ‘วัง’ เป็นคำภาษาเขมร จะเห็นว่ามีการค้นคว้าและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

          เทรนด์การออกข้อสอบในสมัยหนึ่งไม่เหมือนกับอีกสมัยหนึ่ง สมัยเอนทรานซ์ฮิตมากเรื่องการออกคำไทยกับคำยืม ถ้าเป็นคำยืมก็จะออกพวกคำแปลกๆ แต่พอเป็นสมัย O-NET มันเปลี่ยนไปแล้ว ข้อสอบที่ยากที่สุด ไม่ได้หมายความว่าข้อสอบข้อนั้นดีที่สุด และการออกข้อสอบที่ง่ายที่สุดก็ไม่ใช่ว่าจะดีที่สุดเหมือนกัน “อันดับแรกข้อสอบต้องเป็นกลางตามมาตรฐานของการจัดการสอน” พอข้อสอบเป็นกลาง จะออกเชิงลึกก็ไม่ได้ นักเรียนแค่จำหลักเบื้องต้น และทำบททดสอบว่ารู้หรือไม่รู้เท่านั้นเอง เพราะจุดประสงค์แรกของการสอบ O-NET คือไว้วัดหลักสูตรของสถานศึกษา เป็นการตรวจสอบว่าโรงเรียนสามารถออกแบบหลักสูตรได้ตรงกับหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงได้หรือเปล่า  

โกยคะแนนพาร์ทตีความ ไม่ใช่เรื่องยาก
          การทำข้อสอบไม่ใช่เรื่องยาก และข้อสอบยาวก็ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องกลัว คีย์เวิร์ดจะสัมพันธ์กับกลวิธีการออกข้อสอบ สมมติว่าโจทย์ถามถึง ‘เจตนาของผู้แต่ง’ ถ้าเกี่ยวกับการเสนอแนะ ชี้แนะ ในข้อความก็ควรมีคำว่า ควรจะ อาจจะ น่าจะ ปรากฎอยู่ ส่วนถ้าอยากจะหาข้อความสรุปก็มักจะอยู่ในส่วนท้ายของเรื่อง/ข้อความนั้นๆ นั่นเป็นกลวิธีในการเขียนส่วนจบเรื่อง ถ้าเกี่ยวกับประกาศเชิญชวน ก็ใช้แค่ใจเรานึกดูว่าอยากซื้อของเขาหรือเปล่า อยากทำตามที่เขาบอกหรือเปล่า 

          จริงๆ เป็นเรื่องของการใช้ภาษาและสัมพันธ์กับการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าข้อความแบบนี้กระชากใจเราก็ถือว่าใช่ สามารถใช้ความรู้สึกตัวเองตอบได้ แต่ควรจะเป็นการเลือกคำตอบที่เป็นกลางมากที่สุด แล้วก็ตอบโจทย์กับเซ้นส์ปกติของคน ความจริงแล้วทุกวิชาใช้การเดาได้ แต่นักเรียนจะเดาอย่างไรให้ได้คำตอบ ให้โอกาสผิดน้อยลง นักเรียนก็ต้องฝึกเดาอย่างมีเหตุผล หรือที่เรียกว่าการอนุมาน


 
เทคนิคตอบคำถามพาร์ทอ่านใน 10 วินาที
          ข้อสอบ O-NET ไม่มีค่อยมีพาร์ทอ่านยาว ๆ โดยปกติประมาณ 5-7 บรรทัด แต่วิชาสามัญข้อหนึ่งอาจอ่านเป็นหน้า วิธีอ่านเร็วไม่มี มีแต่ตอบคำถามได้เร็วภายใน 3-5 วินาที ไม่เกิน 10 วินาที เช่น เทคนิคง่ายๆ ถ้าข้อสอบถามว่าข้อใดกล่าวถึงหรือไม่ได้กล่าวถึง นั่นแปลว่าข้อสอบต้องการวัดความสามารถด้านการอ่านเก็บรายละเอียดไม่ต้องไปเดาใจคนออกข้อสอบ ไม่มีอะไรต้องตีความ  และคำตอบของข้อนั้นอยู่ในข้อสอบตรงหน้านักเรียนแล้ว พออ่านคำถามจบ สามารถสแกนด้วยสายตา เก็บภาพรวมจากการหาในเนื้อความ แล้วเลือกช้อยส์ตอบได้เลย จะเจอคำที่เป็นจุดสังเกต คุ้นตา และไม่ได้อยู่ทั่วไปในทุกบรรทัด 

          ส่วนเรื่องสรุปความ มีหลักการง่ายๆ คือ ให้นักเรียนจำว่าใคร ทำอะไร ถ้าข้อสอบให้แสดงความคิดเห็น ไม่ต้องไปอ่านข้อความเลย อ่านตัวเลือกแล้วตอบได้เลย ส่วนการอธิบาย บรรยาย พรรณนา จะมีคีย์เวิร์ดอยู่ เราไม่ต้องอ่านเนื้อความหรือทำความเข้าใจเนื้อเรื่องมากมายขนาดนั้น จำหลักการ/ลักษณะการใช้ภาษาให้ได้เท่านั้นพอ (นึกถึงตอนดูละครย้อนยุคในทีวี ภาษา จะไม่ค่อยคุ้นหู ฟัง(อ่าน)ปุ๊บ ก็รับรู้ได้ทันทีว่า ไม่ปกติ)

ข้อสอบวรรณคดีไทยยุคใหม่ ไม่เน้นความจำ
          สมัยก่อนวิชาภาษาไทยจะมีการบังคับว่าทั่วประเทศต้องใช้หนังสือแบบเดียวกัน แต่ตอนนี้กระทรวงให้อิสระแก่โรงเรียนในการกำหนดหลักสูตรได้เองโดยยึดหลักสูตรแกนกลางเป็นเกณฑ์ ทุกวันนี้หนังสือเอกชนก็เลยใช้ได้แล้ว แต่ต้องได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงว่าให้ใช้เป็นหนังสือในโรงเรียนได้ เช่น แกนกลางกำหนดให้นักเรียนระดับชั้น ก เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องได้รู้จักโคลงสี่สุภาพเหมือนกัน ร่ายสุภาพเหมือนกัน ร่ายยาวเหมือนกัน ไม่ว่าจะมาจากวรรณคดีเรื่องไหนก็ตาม ถือว่าบรรลุแล้ว เพราะโรงเรียนจัดการเรียนการสอนได้ตรงกับที่หลักสูตรกระทรวงตั้งไว้ 

          ข้อสอบจะไม่ถามอะไรที่เฉพาะเจาะจง ไม่ได้ถามเกี่ยวกับเรื่องราวแล้วว่านางวันทองตายเพราะอะไร เรื่องพระอภัยมณีเกิดอะไรขึ้น และไม่ได้ออกเป็นความรู้ความจำเกี่ยวกับวรรณคดี ดังนั้น “การออกข้อสอบจะเน้นไปที่การพิจารณาคุณค่างานประพันธ์มากกว่า ว่างานประพันธ์ชิ้นนี้มีคุณค่าตรงไหนบ้าง” เช่น มีลักษณะพิเศษอย่างไร เน้นสัมผัสพยัญชนะไหม หรือโคลงสี่สุภาพบทนี้ ต้องเติมอะไรบ้าง ขาดอะไรบ้าง คำใดไม่ควรเติม ต่อให้จะหยิบโคลงสี่สุภาพบนโลกนี้มาสุ่มถาม แต่ถ้านักเรียนจำโครงสร้าง ฉันทลักษณ์ได้ โยงมาได้ ตำแหน่งนี้เป็นคำเอก คำโท มันก็ต้องเป็นตำแหน่งนี้เสมอ จะไปเลือกคำอื่นมาเติมก็ไม่ได้ มันจะผิดฉันทลักษณ์ 

          จริงๆ แล้วไม่มีวิชาไหนที่ไม่ต้องจำ เลขก็ต้องจำสูตร เคมีก็ต้องจำตารางธาตุ ถ้าไม่จำเลยเป็นไปไม่ได้ ทุกการเรียนรู้ต้องอาศัยความจำ แต่จะจำมากจำน้อยต้องมีเทคนิคในการจำ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัวและต้องฝึกฝน 

เนื้อหาที่ใช้ออกข้อสอบวิชาสามัญ...หยิบปากกาจดเลย!
          การอ่าน - วิเคราะห์จุดประสงค์/เจตนาของผู้เขียน , การอ่านเพื่อเข้าใจเนื้อหา , การจับใจความ/การสรุปสาระสำคัญของข้อความ , การวิเคราะห์ข้อคิด/แนวคิดที่ได้จากการอ่าน , การอนุมานเนื้อหาข้อความ ท่าที น้ำเสียง อารมณ์ และความรู้สึกของผู้เขียน 
          การเขียน - การลำดับข้อความ , การเขียนเรียงความ , การบรรยาย พรรณนา อธิบาย , การใช้เหตุผล , การแสดงทรรศนะ , การโต้แย้ง , การโน้มน้าว 
          การพูดและการฟัง - วิเคราะห์จุดประสงค์ในการพูด , การใช้ข้อความถามและตอบที่สัมพันธ์กัน , วิเคราะห์น้ำเสียงของผู้พูด , การตีความ อนุมาน วิเคราะห์สาร , บุคลิกภาพของผู้พูดหรือผู้ฟัง
          หลักการใช้ภาษา - การสะกดคำ , การใช้คำให้ถูกความหมาย , ประโยคกำกวม , ประโยคสมบูรณ์ , ระดับภาษา , การใช้สำนวนถูกต้องตามความหมาย , ชนิดของประโยคตามเจตนา , คำที่มีความหมายตรง/อุปมา , คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ , ราชาศัพท์ 


 
O-NET ออกใกล้เคียงของเดิม
          ข้อสอบ O-NET ออกใกล้เคียงของเดิม ถ้าอิงตาม 10 ข้อแรกของการสอบ O-NET ข้อสอบ 1 ข้อ มี 2 คำตอบ ข้อละ 1 คะแนน ยกตัวอย่าง

          ข้อ 1-2 ชนิดของคำ 
          1 ก. 1 ข. ถามเรื่องคำนาม คำกริยาหลัก 
          2 ก. 2 ข. ถามเรื่องคำบุพบท คำสันธาน 
          ข้อ 3 ระบบเสียง (มักให้นับจำนวนพยางค์คำเป็นและคำตาย) 
          3 ก. คำเป็น
          3 ข. คำตาย
          ข้อ 4 คำราชาศัพท์ 
          4 ก. ข้อความใดเหมาะสมที่จะเติมลงในช่องว่าง 
          4 ข. คำราชาศัพท์ข้อใดถูกข้อใดผิด 
          ข้อ 5 วัจนภาษากับอวัจนภาษา 
          5 ก. ข้อใดเป็นวัจนภาษาหรือข้อใดไม่ใช่วัจนภาษาที่ปรากฎจากข้อความ 
          5 ข. อวัจนภาษาที่ปรากฎในข้อความคืออะไร  

อ่าน “ไทย” ทีเดียวได้ครบ 2 สนาม 
          ภาษาไทย O-NET กับวิชาสามัญ สามารถอ่านไปพร้อมกันได้ 9 วิชาสามัญ มีจำนวนข้อสอบ 50 ข้อ พาร์ทอ่าน 30 ข้อเป็นอย่างน้อย ข้อละ 2 คะแนน ส่วนอีก 20 ข้อ เป็นหลักภาษาคัดมาประมาณ 10 เรื่อง ใกล้เคียงกับ O-NET ซึ่งมีพาร์ทอ่าน 20 ข้อ และมีค่า 2 คะแนน ยังไงการอ่านก็คือส่วนที่เป็นน้ำหนักหลักของการสอบทั้ง 2 วิชาเลย อ่านไปยังไงก็คุ้ม 

จุดที่ต้องระวังเป็นพิเศษ
          ด้วยความที่ข้อสอบภาษาไทยมีตัวอักษรเยอะ ขอให้นักเรียนใช้ความระมัดระวังในการอ่าน อ่านโจทย์ อ่านคำถาม อ่านคำสั่งให้ดีเสมอ จะเป็นผลดีกับการสอบ อย่างน้อยก็ลองดูเกณฑ์การให้คะแนนไว้บ้าง เช่น พาร์ทนี้ 2 คะแนนนะ ต้องรีบทำก่อน ระวังโจทย์/คำสั่งแต่ละข้อ ข้อสอบใช่/ไม่ใช่ มีตัวหนา ขีดเส้นใต้หรือไม่ ให้ดูดีๆ เราต้องระมัดระวังด้วยตัวเอง และอย่างน้อยขอให้อ่าน คิด หรือพิจารณา ข้อสอบก่อนสักนิด ก่อนใช้วิธีเดาสุ่ม หรือเดาทิ้งดิ่ง

          อ่านจบแล้วพอจับทางข้อสอบวิชาภาษาไทยได้บ้างไหมคะ ขนาดตัวพี่เองชอบภาษาไทยมากๆ ยังรู้สึกว่ายากเลย แต่ถ้าเราพอรู้แนวและเทคนิคทำข้อสอบแต่ละพาร์ทมาบ้าง รับรองว่าวิชานี้ช่วยชีวิตได้เยอะ และสำหรับน้องๆ ที่อยากเป็นเด็กเอกไทยโดยเฉพาะ ประมาทวิชานี้ไม่ได้เลยนะคะ เพราะบางที่กำหนดคะแนนขั้นต่ำด้วย เช่น คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาไทย ม.ธรรมศาสตร์ รอบ 3 เคยกำหนด O-NET ไทย ไม่ต่ำกว่า 60 คะแนน มาแล้ว ต้องเช็กระเบียบการให้ดีเลยค่ะ 

          น้องๆ คนไหนชอบเทคนิคของ "อาจารย์แจ๊กกี้" อยากได้ทริคเตรียมสอบเพิ่มเติม หรือเร่งฟิตวิชาภาษาไทยให้แม่นยำพร้อมสอบมากขึ้น ก็สามารถร่วมคอร์สติวกับอาจารย์ได้ที่ช่องทางนี้เลยค่ะ คลิกที่นี่!


 
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น