สวัสดีค่ะ น้องๆ เคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น’ กันไหมคะ ในการเรียนมหาวิทยาลัย นอกจากการเรียนรู้ในห้องเรียน ในห้องแล็ปแล้ว เราจะเห็นพี่ๆ นิสิตนักศึกษา ออกไปฝึกงาน ฝึกประสบการณ์ เรียนรู้การทำงาน ลงมือปฏิบัติงานกับผู้ประกอบการจริงกันด้วย ซึ่งบางสาขาวิชาก็กำหนดให้การฝึกงานเป็นเหมือนหนึ่งในวิชาเรียน มีการนับหน่วยกิตในหลักสูตร โดยบางหลักสูตรเรียกการฝึกงานที่เก็บหน่วยกิตว่า "ฝึกงาน" แต่บางหลักสูตรเรียกว่า "สหกิจศึกษา" และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ชื่อที่มีความแตกต่างกันค่ะ
 

 
        พี่แนนนี่มีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์ดร.ตุลย์ ศิริกิจพุทธิศักดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ถึงความหมายของสหกิจศึกษา และความแตกต่างระหว่าง สหกิจศึกษา กับการฝึกงาน ซึ่งสรุปออกมาได้ ดังนี้
        การฝึกงาน หรือที่เรียกกันว่า Internship เป็นการที่นักศึกษา ไปฝึกงาน เรียนรู้ประสบการณ์ในหน่วยงาน หรือองค์กรที่สนใจ โดยจะตรงตามสายงานที่เรียนอยู่ หรือไม่ก็ได้ ไม่จำกัดประเภทงาน
        ส่วนโครงการสหกิจศึกษา (Cooperative Education) จะเป็นโครงการที่เน้นให้นักศึกษาได้ออกไปเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจริงในหน่วยงาน หรือองค์กรที่ตรงกับสายงานที่เรียนอยู่ โดยจะต้องทำโปรเจค หรือโครงงาน มีการนำองค์ความรู้ตามสาขาวิชา ไปประยุกต์และพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการ ซึ่งด้านผู้ประกอบการเองจะจัดหาพี่เลี้ยง มาคอยกำกับดูแลการทำงานด้วย
 
ระยะเวลาในการออกไปฝึกประสบการณ์
        ทางสกอ.ได้กำหนดไว้ว่า การไปสหกิจศึกษา จะต้องฝึกทั้งหมด 4 เดือน หรือ 16 สัปดาห์ โดยนักศึกษา จะต้องอบรม เตรียมความพร้อมก่อนไปฝึก 30 ชั่วโมง และจะมีอาจารย์ผู้ผ่านการอบรมไปดูแล นิเทศ หรือประเมินการฝึกงาน ทั้งนี้การออกไปสหกิจศึกษาจะมีการประสานงานระหว่างอาจารย์มหาวิทยาลัย กับหน่วยงาน/องค์กรกันอย่างสม่ำเสมอ ส่วนการฝึกงาน จะใช้เวลาประมาณ 2 - 4 เดือน ไม่เน้นในเรื่องของการทำโปรเจค จะมีอาจารย์ไปนิเทศแบบทั่วๆ ไป ไม่จำเป็นต้องผ่านการอบรมมาก่อน
 
หัวข้อโปรเจค หรือโครงงานในการสหกิจศึกษา
        ปกติแล้วหัวข้อในการทำโปรเจคจะไม่ตายตัว ไม่มีการกำหนดขึ้นมากก่อน จะขึ้นอยู่กับนักศึกษา และผู้ประกอบการ คือ หลังจากที่น้องๆ เลือกหน่วยงาน หรือองค์กรที่จะไปฝึกได้แล้ว เมื่อได้ไปสัมผัสหน้างาน ก็จะนำหัวข้อที่น่าสนใจมาเสนอกับอาจารย์ และผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกันบางหน่วยงาน หรือองค์กรอาจจะมีหัวข้อเป็นโจทย์ไว้แล้ว เพื่อให้นักศึกษาได้เข้ามาร่วมกันพัฒนา ซึ่งส่วนมากจะเป็นหน่วยงานที่คุ้นเคยกัน หรือเคยร่วมมือกันมาก่อน
 
ประโยชน์ของการไปสหกิจศึกษา หรือฝึกงาน
        มีประโยชน์มาก นอกจากนักศึกษาจะได้ประสบการณ์การทำงานจากสถานที่จริงแล้ว การไปสหกิจศึกษายังก่อให้เกิดการเรียนรู้มากมาย มีการพัฒนาตัวเอง มีทักษะการสื่อสาร การทำงานร่วมกันผู้อื่น บางคนที่เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ก่อนไปดูไม่ค่อยมั่นใจ เงียบๆ หงิมๆ แต่พอกลับมาก็มั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าพูดมากขึ้น หรือบางคนได้รู้ตัวเองก่อนว่า การไปทำงานสายนี้จริงๆ ชอบ หรือไม่ชอบ ถูกใจตามที่คิดไว้รึป่าว ซึ่งพวกนี้เป็นเรื่องที่ดีต่อตัวนักศึกษาเอง
 
ยกตัวอย่าง นักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
        ในหลักสูตรที่กำหนดให้เก็บหน่วยกิตจากการฝึกงาน ก็จะสามารถเลือกได้ว่า จะออกไปแบบฝึกงาน คือ ฝึกงาน 2 เดือน แล้วกลับมาทำโปรเจคอย่างเข้มข้นกับอาจารย์ที่ปรึกษา อีก 2 เดือน หรือไปสหกิจศึกษากับหน่วยงานภายนอก 4 เดือน ซึ่งระหว่างนั้นก็จะมีอาจารย์ไปนิเทศที่หน่วยงาน
        ระหว่างที่ออกไปฝึกงาน หรือสหกิจศึกษา นักศึกษาจะต้องส่งรายงานให้กับอาจารย์ที่ปรึกษา และหัวหน้างาน เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน เดิมทีจะเป็นการเขียน หรือพิมพ์เล่มรายงานส่ง แต่ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้ใช้ 'ระบบฝึกประสบการณ์วิชาชีพออนไลน์' ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกให้กับอาจารย์ที่ปรึกษา หัวหน้างาน และหน่วยงาน ในการเข้าถึงข้อมูล และติดตามดูแลนักศึกษา ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ นำเสนอหน่วยงานที่สนใจ รายงานการทำงานประจำวัน ตลอดจนกระทั่งจบกระบวนการสหกิจศึกษา โดยระบบจะช่วยลดระยะเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารรายงานอีกด้วย อีกทั้งทางอาจารย์ และหัวหน้างานก็สามารถเข้ามาตรวจสอบ และอนุมัติงานผ่านระบบออนไลน์ได้ทันที
        หลังจากที่นักศึกษาได้ออกไปสหกิจศึกษาเรียบร้อยแล้ว จะมีการนำเสนอโปรเจคกันภายในวิทยาเขต (ไม่ใช่ทุกที่ที่จะทำ) และคัดเลือกเพื่อนำไปประกวดในระดับภูมิภาคต่อไปด้วย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเองก็เป็นแชมป์ในส่วนของภาตใต้ตอนล่างเป็นประจำ
        แล้วการนำเสนอโปรเจคนี้เอง ก็เป็นผลทำให้เรามีระบบฝึกประสบการณ์วิชาชีพออนไลน์นี้ เพราะเป็นผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากโครงการสหกิจศึกษาที่ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นของมหาวิทยาลัยฯ ประจำปี 2562 ในสาขานวัตกรรมหรือพัฒนางานของสายสนับสนุน
 
      นอกจากนี้อาจารย์ยังเล่าให้ฟังอีกว่าส่วนใหญ่การไปสหกิจศึกษา จะเป็นนักศึกษาจากคณะ จากสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีมากกว่า  แต่ก็ใช่ว่าคณะทางศิลป์จะไม่มี พวกคณะอย่างสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และการจัดการก็สามารถไปสหกิจฯ ได้เช่นกัน
 
 
 
    และช่วงนี้ที่เว็บไซต์เด็กดี ก็มีนักศึกษามาสหกิจศึกษาพอดี พี่แนนนี่ก็เลยได้โอกาสขอตัว "พี่ใบเฟิร์น" "พี่ฟอร์ย" จากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  ที่มาฝึกงานในตำแหน่ง Content  เป็นเวลา 4 เดือน (16 สัปดาห์) มาเล่ากระบวนการในการสหกิจศึกษาให้น้องๆ ฟัง
      "สาขาวิชาฯ กำหนดให้สหกิจศึกษา เป็นเหมือนวิชาเรียนที่มีน้ำหนัก 9 หน่วยกิต ซึ่งสามารถเลือกได้ว่า จะออกมาฝึกคนเดียว เป็นคู่ หรือ 3 คน โดยกระบวนการเริ่มต้นจากที่พี่ๆ ค้นหาหน่วยงาน หรือบริษัทที่สนใจที่จะฝึกงาน และส่งใบสมัคร สัมภาษณ์ (ตามวิธีการของแต่ละบริษัท) แล้วเมื่อหน่วยงานตอบรับ พี่ๆ ก็นำไปแจ้งกับทางมหาวิทยาลัยเพื่อทำเรื่องส่งตัว เและเมื่อเอกสารเรียบร้อยทางมหาวิทยาลัยจะมีให้อบรมก่อนที่จะออกมาฝึก
      ในระหว่างที่ฝึกพี่ๆ จะต้องทำรายงานประจำวัน โครงงานสรุปผลการฝึก (เดี่ยว) และโครงงานวิจัย ซึ่งตัวนี้จะได้ทำเป็นคู่ จากนั้นพอได้หัวข้อที่สนใจ จะต้องนำเสนอพี่เลี้ยง (หน่วยงาน) และอาจารย์ที่ปรึกษา เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายอนุมัติ จึงจะสามารถเริ่มทำโครงงานได้ และตลอดการฝึกงาน จะมีอาจารย์มานิเทศ ก็คือมาพูดคุยและประเมินกับพี่เลี้ยงถึงออฟฟิศ (อาจารย์แต่ละท่านก็จะมาไม่เหมือนกัน ของพี่มา 2 ครั้ง แต่บางคนอาจารย์ก็ไปหลายครั้ง แล้วแต่ตกลงกัน)
      หลังจากที่พี่ๆ ฝึกงานจบ ก็ต้องกลับไปนำเสนอโครงงานวิจัยที่มหาวิทยาลัย พร้อมทำรูปเล่มรายงานส่ง ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างมีผลต่อคะแนน ต่อเกรดด้วย"
 
      การออกไปสหกิจศึกษา ก็เหมือนได้ไปทดลองเป็นพนักงานของหน่วยงานนั้นๆ ได้ประสบการณ์ ความรู้ ทักษะต่างๆ เพิ่มเติมหลายรูปแบบ รวมถึงยังได้สัมผัสกับบรรยากาศการทำงานจริงๆ และบางคนอาจจะได้งาน ถูกจองตัวตั้งแต่ยังเรียนไม่จบเลยก็ได้ และสำหรับพี่ๆ คนไหนที่เคยไปสหกิจศึกษา สามารถมาเล่าประสบการณ์เด็ดๆ ให้น้องๆ ฟังได้ในคอมเมนต์เลยนะคะ
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น