รับตรง 63 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (ด้านการจัดการ) SIIT ม.ธรรมศาสตร์ รอบ Inter Program - Admission 2

                                                สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ ใกล้เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของ TCAS63 แล้ว ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยเปิดรับอยู่ในรอบที่เหลือ รวมถึงมหาวิทยาลัยที่เปิดรับนอกระบบ TCAS ก็สามารถสมัครควบคู่กันไปได้เลยนะคะ
 

                               หนึ่งในนั้นก็คือ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์ หรือที่น้องๆ รู้จักในนาม SIIT (อ่านว่า เอส-ไอ-ไอ-ที) หลายคนรู้กันแล้วว่าที่นี่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติด้านวิศวกรรม แต่จริงๆ แล้วยังมีหลักสูตรทางด้านการจัดการด้วย โดยจะได้วุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต มี 2 สาขา ได้แก่ สาขาการจัดการวิศวกรรม (EM: Engineering Management) และ สาขาเทคโนโลยีการจัดการ (MT: Management Technology) ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งปัจจุบันและในอนาคต โดยในการจัดการเรียนการสอน SIIT มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา องค์กรอุตสาหกรรมมากมายทั้งในและต่างประเทศ นักศึกษาสามารถเลือกรูปแบบการเรียนได้เอง โดยมี 3 รูปแบบ คือ เป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน, การฝึกงานระยะยาว และการทำวิจัย
                               ซึ่งจากสถิติรุ่นพี่ที่ SIIT มีอัตราการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 90% และเงินเดือนไม่ต่างจากวิศวกรของ SIIT เพราะมีความรู้เชิงลึก และมีความเป็นนานาชาติด้วย ก่อนจะไปดูรายละเอียดการรับสมัคร ไปทำความรู้จักสาขานี้กันก่อนเลย

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการวิศวกรรม (EM)
                                  เป็นหลักสูตรที่ผสมผสานศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ + วิศวกรรม + เทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาเดียวรวบรวมหลากหลายศาสตร์มาบูรณาการและต่อยอดให้สามารถทำงานได้หลากหลายขึ้น เมื่อเจาะลึกองค์ความรู้ในแต่ละศาสตร์ น้องๆ จะได้เรียนศาสตร์ด้านบริหารจัดการ ตั้งแต่การเงิน การบัญชี การตลาด กลยุทธ์ทางธุรกิจ ในส่วนของด้านวิศวกรรม จะได้เรียนรู้ในเรื่องของการวางแผนการผลิต การควบคุมคุณภาพ การประกันคุณภาพ การลดค่าใช้จ่าย วัสดุ พลังงาน และทรัพยากรอื่นๆ รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาของกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นหัวใจของวิศวกรรมศาสตร์
                                   และในศาสตร์สุดท้าย ด้านเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ จะได้เรียนรู้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารองค์กรในยุคอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงการเรียนรู้การเป็นสตาร์ทอัพ ให้พร้อมเป็นผู้ประกอบการในอนาคต
                                   จุดเด่นที่แตกต่างจากหลักสูตรบริหารธุรกิจทั่วไปคือ จะได้เปรียบในด้านกลยุทธ์ธุรกิจ การตลาดและการเงิน โดยมีความรู้ด้านเทคนิคของวิศวกรรมเข้ามาเพิ่มเติม ทำให้สร้างธุรกิจที่เข้มแข็งและสามารถจัดการลดต้นทุนต่างๆ และควบคุมคุณภาพได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการ (MT)
                                   เป็นหลักสูตรที่เรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการและการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้ธุรกิจเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เสริมสร้างทักษะบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซอฟต์แวร์ต่างๆ เพื่อสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และจำลองสถานการณ์ที่มีอยู่จริง เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนขององค์กร รวมถึงมีความเข้าใจเรื่องของ Supply Chain Management หรือการจัดการโซ่อุปทาน การกระจายสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในทุกธุรกิจ หรือความรู้ด้าน Business Analytics/ Management Information Systems เป็นการนำ data science มาจัดการข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ช่วยในการตัดสินใจหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ลดต้นทุน เพิ่มกำไร และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย โดยทั้ง 2 องค์ความรู้นี้ จะได้เลือกเรียนในชั้นปีที่ 3
                                   นอกจากนี้ นักศึกษาสาขาการจัดการวิศวกรรม (EM) และสาขาเทคโนโลยีการจัดการ (MT) ยังมีโอกาสได้รับปริญญาบัตร 2 ใบ จากความร่วมมือระหว่าง SIIT กับ Ravensburg – Weingarten University of Applied Sciences (RWU) ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาตรี โดยจะศึกษาที่ SIIT เป็นระยะเวลา 3 ปีครึ่ง และ RWU 1 ปี

คุณสมบัติการรับสมัคร
                               - จบ ม.6 สายวิทย์-คณิต / ศิลป์คำนวณ / เทียบเท่า

โครงการที่รับสมัคร (เลือกสมัครได้ 1 โครงการ)
                               1. โครงการสอบตรง โดยสอบข้อเขียน 2 วิชา คือ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ กรณีไม่สามารถสอบได้ จะใช้เกณฑ์เกรดเฉลี่ย ม.ปลาย โดยหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตจะใช้เกณฑ์ เกรด 25% + เกรดเฉลี่ยรวมวิชาคณิตศาสตร์ 50% + เกรดเฉลี่ยรวมวิชาภาษาอังกฤษ 25%
                               2. โครงการยื่นคะแนนมาตรฐานสากล เช่น GSAT, SAT I, SAT II, GCE A-Level ฯลฯ
                               3. โครงการยื่นผลคะแนน GAT PAT
                               4. โครงการยื่นผลคะแนน 9 วิชาสามัญ
                               5. โครงการยื่นคะแนน GED โดยใช้เป็นทั้งวุฒิการศึกษาและเกณฑ์คัดเลือก
                               6. โครงการยื่นเกรดเฉลี่ยในกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ โดยจะต้องมากกว่า 2.75
                               7. โครงการสอบตรงสำหรับนักเรียนกลุ่มอาชีวศึกษา จัดสอบข้อเขียน 2 วิชา คือ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ กรณีไม่สามารถสอบได้ จะใช้เกณฑ์เกรดเฉลี่ย ม.ปลาย โดยหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตจะใช้เกณฑ์ เกรด 25% + เกรดเฉลี่ยรวมวิชาคณิตศาสตร์ 50% + เกรดเฉลี่ยรวมวิชาภาษาอังกฤษ 25%

กำหนดการรับสมัคร


รายละเอียดเพิ่มเติมทาง  >>คลิก<<
 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น