แชร์เทคนิค "พี่น้ำตาล" จบอักษรฯ ตรี-โท แต่ติดแพทย์ จุฬาฯ กสพท ด้วยคะแนน 77.62 !


             รู้กันดีอยู่แล้วว่าการสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ มีแค่ กสพท เท่านั้น ที่เด็กสายศิลป์ หรือ เทียบเท่า  สามารถสอบเข้าหมอได้ แต่ในความเป็นจริง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะวิชาเรียนก็แตกต่างกันมาก ต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่น ดังนั้นจะเห็นว่าถึงจะเปิดโอกาสให้กับทุกคน แต่คนที่สอบเข้าได้จริงก็มีน้อยมากหรือบางปีก็อาจจะไม่มีเลย
             แต่วันนี้ พี่มิ้นท์มีไอดอลคนเก่งสายศิลป์ ที่สอบติดแพทย์ จุฬาฯ กสพท ปี 63 ได้ ด้วยคะแนนสูงถึง 77.6291 คะแนน ที่สำคัญ พี่น้ำตาล เป็นเด็กที่เรียนสายศิลป์มาตลอดชีวิต ทั้ง ม.ปลาย ปริญญาตรี และ ปริญญาโท พี่น้ำตาลมีเทคนิคและแรงบันดาลใจอะไร ไปทำความรู้จักกันเลยค่ะ
 

    เรียนศิลป์มาทั้งชีวิต แต่แอบเรียนชีววิทยาเป็นงานอดิเรก
             พี่น้ำตาล เพ็ญพิสุทธิ์ เขตต์กัน จบ ม.ปลาย สายศิลป์ญี่ปุ่นจาก รร.เตรียมอุดมศึกษา ต่อ ป.ตรี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกภาษาญี่ปุ่น (หลักสูตรเกียรตินิยม) และได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปต่อ ป.โทสาขาภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยโอซาก้า เพิ่งจบเมื่อปลายเดือนกันยายนปี 2562 หลังจากเรียนจบได้เตรียมตัวสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ด้วยตนเอง ซึ่งจากการประกาศผล TCAS รอบ 3 ออกมา ติดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยคะแนน 77.6291 คะแนน
             แม้จะเรียนศิลป์มาโดยตลอด แต่ตัวตนจริงๆ ของพี่น้ำตาลมีความสนใจเกี่ยวกับมนุษย์มาตั้งแต่เด็กๆ ม.ต้น ชอบวิชาชีววิทยาส่วนที่เกี่ยวกับมนุษย์ ชอบเคมีส่วนที่เป็นชีวเคมี และชอบสังคมวิทยา จิตวิทยา และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์ ตอนนั้นคิดว่าตัวเองน่าจะสนใจเรียนด้านมนุษยศาสตร์ จึงติดสินใจเรียนศิลป์ภาษาและเข้าโครงการนำร่องพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ของคณะอักษรฯ จุฬาฯ พอจบ ม.6 ก็เข้าอักษรฯ ต่อเลย
             แต่ด้วยความที่สนใจมนุษย์ในแง่มุมวิทยาศาสตร์ไม่แพ้กัน ก็เลยเรียนชีวะบทที่เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ รวมถึงพวก Anatomy, Physiology (แบบเบื้องต้นมากๆ) เป็นงานอดิเรกไปด้วย เลยรู้ตัวแล้วว่าชอบสายแพทย์พอๆ กับมนุษยศาสตร์ แต่ก็ไม่คิดจะไปสอบหมอ เพราะวิชาอื่นๆ เราไม่มีความรู้พอจะเข้าสายแพทย์ได้
             จนได้มาเรียนวิชาของภาคปรัชญา ถึงเริ่มสนใจคณิตและฟิสิกส์ และเห็นว่าความเป็นวิทย์และศิลป์มีจุดเชื่อมโยงกันอยู่ ปรัชญาพยายามอธิบายความจริงในธรรมชาติโดยใช้การคิดแบบมีเหตุผลเป็นเครื่องมือ ส่วนฟิสิกส์เป็นการอธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ โดยใช้คณิตและวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ พอเราชอบปรัชญา ก็เลยคิดว่าอยากลองศึกษาคณิตและฟิสิกส์บ้าง พอเรียนดูแล้วก็ชอบมากกก ยิ่งพอรวมกับความสนใจแพทย์ ก็เลยอยากต่อยอดจริงจังมากขึ้น
    

ตัดสินใจเดินออกจาก comfort Zone ตั้งเป้าเข้าแพทย์
             พอเริ่มเรียนวิชาต่างๆ มากขึ้นจนชอบ บวกกับที่ชอบเรื่องการแพทย์แล้ว ก็เริ่มมีความคิดที่จะเรียนด้านนี้ แต่ก็ยังมีความกลัวไม่กล้าออกจาก comfort zone เพราะเรียนอักษรฯ ก็ราบรื่นดี จนช่วงต่อ ป.โท เราเริ่มรู้ว่าการทำงานของแพทย์หนักมากในหลายๆ แง่ แต่แทนที่จะตัดใจ กลับทำให้ยิ่งมุ่งมั่นอยากจะทำให้ได้แบบนั้น และคิดด้วยว่า ถ้าไม่ทำวันนี้ เราต้องกลับมาเสียใจภายหลังแน่ๆ จึงตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะวางแผนสอบหมอ
                 ซึ่งการตัดสินใจนี้ พ่อแม่และเพื่อนสนิทไม่มีใครแปลกใจเลย ถึงขั้นมีเพื่อนพูดประมาณว่า "นึกแล้วว่าสักวันต้องเลือกไปทางนั้น" ส่วนอาจารย์ที่คณะฯ ก็ทำใจนานหน่อยกว่าจะกล้าบอก แต่สุดท้ายอาจารย์ก็เคารพการตัดสินใจของเราและคอยเอาใจช่วย ยิ่งมีกำลังใจเพิ่มขึ้นไปอีก
 

เรียนโท ควบกับการเตรียมสอบแพทย์
               เมื่อตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว ตอนนั้นยังเรียนอยู่ ป.โท ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็เริ่มเตรียมตัวประมาณปลายปี 2560 - ต้นปี 2561 การเตรียมตัวหลักๆ ช่วงแรก จะหา textbook ทั้งภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นอ่าน ประกอบกับเรียนคอร์สออนไลน์ทั้งของต่างประเทศและไทย ช่วงแรกพยายามปูพื้นฐานใหม่ทั้งหมด คณิตศาสตร์ เรียน Khan Academy ย้อนไปถึงระดับประถม และ ม.ต้น เลย ที่ให้ความสำคัญกับพื้นฐานเพราะถ้าฐานแน่นก็จะช่วยให้ทำโจทย์ประยุกต์ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น และเมื่อเข้าใจคอนเซ็ปต์ของแต่ละหัวข้อเพียงพอแล้วก็ศึกษาจากโจทย์จริง
 
จะเอาชนะข้อสอบได้ ต้องวางกลยุทธ์ด้วย
               ก่อนจะไปสอบจริง พี่น้ำตาลเคยไปลองสอบ Dek-D PreAd จึงมีภูมิต้านทานในการทำข้อสอบเข้าแพทย์ระดับหนึ่ง คือ ได้รู้รูปแบบว่าวิชานี้มีกี่ข้อ เรียงข้อยังไง แต่ละบทออกประมาณไหน ต้องทำตรงไหนก่อน มันจะมีกลยุทธ์ที่แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน
    
             อย่างกรณีของพี่น้ำตาล วิชาภาษาอังกฤษ จะรีบเก็บ conversation ก่อน จากนั้นก็ข้ามไปเรียงประโยคและ cloze test เพื่อให้เหลือเวลามาเก็บ reading มหาศาลตรงกลางๆ ข้อสอบ วิชาเลขก็เปิดหาข้อที่มั่นใจว่าตัวเองทำได้แน่ๆ เช่น แคลคูลัสกับ expolog เพื่อวอร์มอัพ ไม่ก็เริ่มจากข้อ 2 คะแนนที่เห็นแล้วรู้ว่าต้องทำยังไง ส่วนข้อไหนทำไม่ได้ข้ามไปก่อนเลย
  
              จุดที่ยาก คือ "เวลาที่มีจำกัดในการทำข้อสอบทั้งวิชาสามัญและ กสพท" ต่อให้วางกลยุทธ์มาแล้วก็ยังตื่นเต้นจนคิดถูกๆ ผิดๆ หรือไม่ก็ทำไม่ทันอยู่ดี ตรงนี้คิดว่าตัวเองพลาดเองด้วย เพราะยุ่งกับการทำธีสิสและฟรีแลนซ์จนห่างหายจากการทำโจทย์ แถมยังพลาดที่ใช้เวลาทบทวนมากไปจนมีเวลาฝึกโจทย์แบบจับเวลาจริงน้อย (ส่วนใหญ่ที่ฝึกไปเยอะๆ คือไม่ได้จับเวลา) พอถึงคราวสอบจริงประหม่าจนพลาดเยอะมาก โดยเฉพาะฟิสิกส์ที่เข้าใจโจทย์ไฟฟ้าผิด และคณิตที่คิดเลขข้อ 4 คะแนนพลาดไปเต็มๆ 2 ข้อ ถ้าไม่อยากพลาดกลางห้องสอบแบบนี้ แนะนำว่าให้ฝึกทำโจทย์จับเวลาเสมือนจริงไปเยอะๆ ให้ชิน

เทคนิคฉบับพี่น้ำตาล คว้าวิชาสามัญ เกิน 65 คะแนนทุกวิชา (สูงสุดอังกฤษ 92.5)
               ก่อนอื่นต้องหาสไตล์ที่เหมาะสมกับตัวเองให้เจอก่อน อย่างตนเองไม่ชอบการวางตารางตายตัว แต่จะชอบทำอะไรที่มันปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้ตลอดเวลา เพราะต้องใช้เวลาว่างจากการเขียนธีสิสและการทำงานมาเตรียมสอบ อาจจะไม่ได้เตรียมคราวละมากๆ แต่เน้นว่าต้องสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือถ้าหาแรงบันดาลใจให้ได้
             ยกตัวอย่างกรณีตนเอง สนใจโมเดิร์นฟิสิกส์มากๆ เลยไปยืมหนังสือแนวนี้จากห้องสมุดมาอ่าน แต่ส่วนใหญ่จะอ่านไม่เข้าใจ (พวกควอนตัมหรือทฤษฎีสัมพัทธภาพ) เลยยิ่งอยากฟิตเนื้อหาพื้นฐานเพื่อที่ว่าสักวันจะได้เข้าถึงสิ่งที่ชอบมากกว่านี้ หรือกรณีชีวะบทที่เกี่ยวกับระบบต่างๆ ในร่างกาย ถ้าวันไหนเบื่อๆ ก็สั่งซื้อโมเดล anatomy มาต่อเล่น อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็สร้างแรงบันดาลใจให้อยากเรียนได้เยอะเลย
 


โมเดล anatomy ที่ซื้อมาต่อเล่น



หนังสือแนวโมเดิร์นฟิสิกส์ พวกทฤษฏีสัมพัทธภาพ ควอนตัม สมการชเรอดิงเงอร์
ที่ใช้เป็นแรงบันดาลใจเรียนฟิสิกส์

                 จุดที่ควรเน้น ถ้าเป็นวิชาภาษาอังกฤษ เลข ฟิสิกส์ ไทย ควรเน้นที่การฝึกให้มากๆ อังกฤษวิชาสามัญจะเน้น reading เยอะมาก ก็ฝึกอ่าน textbook หรืออ่านข่าวภาษาอังกฤษบ่อยๆ ก็ได้ อย่างเลขกับฟิสิกส์ ถ้าคอนเซ็ปต์แน่นพร้อมแล้วก็เรียนรู้จากโจทย์ไปเลย ส่วนไทยวิชาสามัญมักเป็นแนวบทอ่านซะมาก อันนี้ก็ต้องอาศัยฝึกอ่านฝึกจับใจความบ่อยๆ
             ส่วนถ้าเป็นวิชาเนื้อหาเยอะๆ อย่างชีวะ สังคม จะใช้วิธีอ่านเนื้อหาสลับกับฝึกทำโจทย์ เพราะถ้าอ่านอย่างเดียวบางทีก็จำไม่ค่อยได้ แต่พอเจอโจทย์จริงแล้วจะจำได้มากขึ้น ส่วนเคมีที่มีทั้งคำนวณและเนื้อหา บทไหนเป็นคำนวณเราจะใช้วิธีเรียนรู้จากโจทย์เหมือนวิชาทักษะ ส่วนบทเนื้อหาก็ใช้วิธีเดียวกับวิชาเนื้อหาเลย

แนะนำคอร์สออนไลน์และหนังสือที่ใช้อ่าน
              อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ต้องเตรียมตัวสอบเอง ทั้งการซื้อหนังสืออ่านและเรียนออนไลน์ ก็จะมีแนะนำประมาณนี้
              ในส่วนของคอร์สเรียน ที่เลือกรียนคอร์สออนไลน์ เพราะเรียนจากที่บ้านได้ และทบทวนได้เรื่อยๆ โดยลงเรียนคอร์สออนไลน์ของ Dek-D School ในคอร์ส TCAS 3 วิชาหลักคือ ฟิสิกส์ เคมี และคณิตศาสตร์  และมาเรียนเพิ่มอีก 3 คอร์สตอนต้นปีคือ วิชาสังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และตะลุยโจทย์ชีวะ ซึ่งข้อดีของ Dek-D School คือ ช่วยจัดระเบียบเนื้อหาที่เรียนมาให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น โดยลงเป็นคอร์สสรุปเนื้อหาให้กระชับสำหรับเตรียมสอบ TCAS ก็เลยช่วยให้เอาเนื้อหาที่เคยเรียนเคยอ่านมาเรียบเรียงให้เป็นระเบียบ ทำให้รู้ว่ายังสับสนตรงไหน ควรเสริมจุดไหน แถมยังได้ฝึกทำโจทย์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนด้วย และที่สำคัญที่สุดคือมีช่องให้คอมเมนต์ถามใต้คลิป พอสงสัยตรงไหนก็ถามได้ทันที ช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้นเยอะเลย
              สำหรับการอ่านหนังสือเตรียมสอบ ก็จะใช้หนังสือประกอบกันหลายเล่ม ในแต่ละวิชาพี่ใช้หนังสือตามนี้
              คณิต - หนังสือพี่ณัฐ อุดมพาณิชย์, Hi-Speed Maths, ตะลุยโจทย์เทพคณิต 1 พิชิต 9 วิชาสามัญ (ปกรูปนกสีขาว) สารภาพตามตรงว่าได้ทำทันจริงๆ แค่ syntax และ 25 พ.ศ. ของพี่ณัฐสองเล่ม แต่เท่าที่เคยเปิดดูแนวโจทย์ของเล่มอื่นผ่านๆ และสุ่มทำแค่บางข้อเท่าที่เวลาพอมี ก็เห็นว่าโจทย์น่าสนใจทั้งนั้น เลยยกมาแนะนำด้วย
             ฟิสิกส์ – เนื้อหาเก็บจากหนังสือคลายปมฟิสิกส์และฟิสิกส์ขนมหวาน นอกนั้นก็เป็นหนังสือภาษาญี่ปุ่นซะส่วนใหญ่ ส่วนโจทย์ฝึกจากแนวข้อสอบวิชาสามัญและ สอวน. ในคอร์สออนไลน์หมดเลย อาจจะแนะนำหนังสือโจทย์ไม่ได้มากนัก แต่ถ้าหนังสือเล่มอื่นที่เคยเปิดดูแล้วเห็นว่าแนวโจทย์น่าสนใจก็เช่น หนังสือติดหมอ และแนวข้อสอบฟิสิกส์ 9 วิชาสามัญ (กสพท) เล่มสีเขียวเข้ม
             เคมี – ตัวเนื้อหาเราใช้เล่ม cliMAX ของครูกุ๊กเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการเรียนออนไลน์ ส่วนหนังสือโจทย์เสริมที่น่าสนใจก็เช่น HACK โจทย์ 9 วิชาสามัญเคมี ม.ปลาย ของอาจารย์ไมธ์ เพิ่งได้แตะเล่มนี้ช่วงโค้งสุดท้ายจริงๆ จึงทำไปได้แค่ชุดเดียว เล่มนี้วัดคอนเซ็ปต์แต่ละหัวข้อได้ดี และเล่นกับจุดที่ข้อสอบอาจจะยังไม่เคยเล่นด้วย
             ชีวะ – เนื้อหาเราใช้ Campbell Biology ที่ซื้อติดบ้านไว้ตั้งแต่สมัยเด็กเพราะตอนนั้นชอบชีวะมาก ส่วนเวลาอยากอ่านเนื้อหาภาษาไทยละเอียดๆ หรืออยากทำโจทย์ก็ใช้เล่มปกหมึกและเล่มที่เป็นโจทย์ของ อ.อุ้ย เวลาอยากอ่านสรุปก็ชีวะพี่เต๊น (ปกเต่าทอง) ส่วนเวลาอยากอ่านสบายๆ ทีละคอนเซ็ปต์พร้อมดูภาพประกอบสวยๆ ก็ 360 Concepts in Biology
                 ไทย – เป็นวิชาเดียวที่ไปเรียนคอร์สสด และฝึกจากข้อสอบเก่าโดยตรง จึงไม่ได้มีหนังสือแนะนำเป็นพิเศษ
                 อังกฤษ – หนังสือเซ็ตของอาจารย์ศุภวัฒน์ พุกเจริญ มีหลายเล่มมาก อาศัยทบทวนแกรมม่าและคำศัพท์ที่หลงๆ ลืมๆ ไปแล้ว และอย่างที่บอกไปว่าอังกฤษวิชาสามัญออก reading เยอะมาก เลยอาศัยอ่าน textbook เป็นประจำเพื่อฝึกให้ชิน
                 สังคม – เป็นวิชาที่อ่อนที่สุดเลย หลักๆ จะใช้สังคม อ.ชัย ประกอบกับคอร์สออนไลน์ ซึ่งตอนแรกลืมสังคม ม.ปลาย ไปหมดแล้ว ก็เลยเริ่มวอร์มอัพด้วยการอ่านหนังสือ ม.ปลาย โรงเรียนเตรียมฯ ของตัวเอง ถึงเนื้อหาจะค่อนข้างเก่าแล้ว แต่ในหนังสือมีลายมือยุ่งๆ กับภาพวาดเล่นที่ตัวเองวาดเอาไว้อยู่ ทำให้พอใช้เรียกความทรงจำได้บ้าง
                 กสพท – ใช้เล่มตีโจทย์ กสพท ของ GANBATTE และทางที่ดีคอยติดตามหนังสือที่ออกใหม่ๆ ด้วย เพราะข้อสอบค่อนข้างเปลี่ยนแนวเป็นระยะๆ นอกจากนี้ พาร์ทจริยธรรมเน้นถามสถานการณ์ในชีวิตประจำวันมากกว่าเรื่องในวงการแพทย์ เน้นตอบข้อที่แสดงความ empathy ต่อผู้อื่น แต่เป็นตัวเลือกที่ practical หรือก็คืออยู่ในระดับที่ปฏิบัติได้จริง

"หาข้อที่ทำได้ก่อน" เทคนิคเคลียร์เกณฑ์ขั้นต่ำ 30%
                ข้อสอบแต่ละฉบับจะมีข้อง่าย ข้อกลางๆ และข้อยากปราบเซียนปนๆ กันไป
   
             ก่อนอื่นคือหาให้เจอก่อนว่าในวิชานั้นๆ เราถนัดหัวข้อไหน หรือถ้าให้ดีคือดูแนวข้อสอบเก่าก่อนแล้วเล็งไว้เลยว่าข้อประมาณไหนที่เราทำได้แน่ๆ พอเข้าห้องสอบจริงก็ให้เปิดข้อสอบดูคร่าวๆ แล้วตามหาข้อที่มั่นใจว่าทำได้ชัวร์ ให้เริ่มทำข้อพวกนั้นก่อนเลย ต่อให้ทำข้อยากไม่ได้ แต่ถ้าเก็บข้อง่ายที่มั่นใจว่าฝึกมาดีพอและทำได้แน่ๆ ก็ช่วยให้สามารถเคลียร์เกณฑ์ 30% ได้ แถมการเริ่มจากข้อที่ทำได้ยังช่วยสร้างความมั่นใจในการทำข้อต่อๆ ไปได้ด้วย การจัดลำดับการทำข้อสอบถือว่าเป็นการบริหารเวลาอย่างหนึ่งด้วย เพราะบางคนนั่งทำไล่ข้อจาก 1 ไปจนถึงข้อสุดท้าย อาจไปเสียเวลากับข้อยากๆ จนไม่มีเวลาทำข้ออื่น


ฝากอะไรถึงน้องๆ ที่มีความฝันแต่ยังไม่กล้าไปเป้าหมาย
               "  ถ้ามีความฝันและมั่นใจว่านั่นคือสิ่งที่เราต้องการทำจริงๆ ก็อยากให้แน่วแน่กับสิ่งที่ทำอยู่และลงมือทำไปเลย บางคนอาจจะมีความฝันอินดี้เกินไปจนคนรอบข้างไม่ยอมรับ หรือไม่ก็ฝันไกลตัวมากจนอาจจะมีคนมาพูดบั่นทอนกำลังใจ ซึ่งการรับฟังความเห็นคนรอบข้างเองก็สำคัญ แต่ถึงยังไงความคิดเห็นก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงอยู่ดี
             เรายังเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฝัน ถ้าพยายามแบบถูกจุดก็มีสิทธิ์ที่จะทำฝันให้เป็นจริงได้ อาจมีบ้างที่ลังเลว่าสิ่งที่ชอบกับสิ่งที่ถนัดคืออย่างเดียวกันหรือเปล่า เช่นเราเองคิดว่าตัวเองถนัดภาษาญี่ปุ่น แต่ชอบวิชาสายแพทย์มากแบบตัดใจไม่ลง เลยทำให้กล้าๆ กลัวๆ อยู่นานว่าถ้าเปลี่ยนสายไป สิ่งที่ชอบอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถนัดก็ได้ แต่พอมาถึงจุดจุดหนึ่งก็เริ่มคิดว่าถ้าไม่ทำจะต้องเสียใจภายหลังแน่ๆ เราถึงได้ตัดสินใจมาลุยทางแพทย์เต็มที่ เพราะงั้นเลยอยากให้ใครที่ยังมีความฝันเชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้ ถ้าท้อแท้ก็พยายามให้กำลังใจและรักตัวเองให้มากๆ หรือถ้าท้อถึงที่สุดแล้วจริงๆ ก็อาจจะลองพักทบทวนความรู้สึกตัวเองก่อนแล้วลองมองหาเส้นทางอื่นดูก็ได้ ถ้าถึงขนาดนั้นแล้วยังมั่นใจว่านั่นเป็นความฝันของตัวเองจริงๆ ก็ลุยต่อเลยค่ะ สักวันมันต้องเป็นจริงได้อยู่แล้ว เป็นกำลังใจให้นะคะ "
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

8 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด