แชร์เทคนิคสอบติด TCAS รอบ 3 จากเรื่องจริง "พี่อู๋" ที่กลับมาซิ่วจนสอบติดรัฐศาสตร์ จุฬาฯ



                    สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ พี่มิ้นท์รู้ดีว่าการเรียนหนัก บางทีก็ทำให้เราท้อและไม่อยากเรียนไปเลย แต่จะบอกว่า ในวัยของน้องๆ ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับการเรียนแล้วค่ะ เพราะการศึกษาก็เหมือนเป็นใบเบิกทางให้เราสร้างอนาคตของตัวเองได้ เหมือนอย่างที่ "พี่อู๋" ได้เคยตัดสินใจไม่เรียนเพื่อลองไปใช้ชีวิตของตัวเองตั้งแต่ ม.ต้น แล้วตอนหลังก็กลับมาให้ความสำคัญกับการเรียน จนปัจจุบันสอบติดคณะรัฐศาสตร์ได้ตั้งแต่รอบที่ 3 เรื่องราวจะเป็นมายังไง ลองไปทำความรู้จักกันเลยค่ะ
 

 
ผิดพลาดช่วง ม.ต้น เริ่มต้นใหม่ ม.ปลาย
                ธัชพล ขัดชุมแสง หรือ พี่อู๋ จบการศึกษา ม.6 จากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ปัจจุบันสอบติดคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (TCAS รอบ 3) แต่จริงๆ แล้ว พี่อู๋เป็น #dek62 ที่เคยสอบติดหลายคณะ แต่คิดว่ายังไม่เจอคณะที่ใช่ จึงหันไปเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน
                 การค้นหาตัวเองของพี่อู๋ เริ่มมาตั้งแต่สมัยมัธยมต้น เรียกว่าเป็นเด็กเกเร ไม่ค่อยสนใจการเรียนเพราะมีคำถามกับตัวเองเยอะว่าเราจะเรียนไปทำไม ชีวิต ม.ต้น ก็จะติด 0 ติด ร เป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งช่วง ม.2-3 ได้หยุดเรียน 1 ปี ทำงานพาร์ทไทม์และเรียน กศน. ไปด้วย เรียนจนได้วุฒิ ม.3 มา และจะไปสอบเข้า ม.4 ตอนนั้นตั้งใจว่าจะเรียนสายวิทย์-คณิต แต่ไม่มีคะแนน O-NET ทางโรงเรียนจึงไม่รับเข้าสายวิทย์ ตอนนั้นไม่มีทางเลือกจึงต้องเรียนสายศิลป์แทน และตัดสินใจเลือกเรียนภาษาญี่ปุ่นเพราะคิดว่าตัวเองน่าจะเรียนได้
                 พอเข้ามาเรียน ม.ปลาย ได้แล้ว ก็ตัดสินใจกับชีวิตตัวเองว่า จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะเราลองใช้ชีวิตเองแล้ว ได้รู้ว่า ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราไม่มีความรู้ การใช้ชีวิตของเราก็จะมีกรอบจำกัด

สอบปีแรก ผิดแผนจนต้องหันไปเรียนเอกชน
                พี่อู๋เป็นเด็ก 62 ที่เข้าสอบในระบบ TCAS  ซึ่งในปีนั้นก็สอบติดทั้งรอบ 1 รอบ 3 และรอบที่ 5 โดยรอบที่ 1 สอบติดมนุษยศาสตร์ ภาษาญี่ปุ่น ม.ขอนแก่น, รอบที่ 3 สอบติดมนุษยศาสตร์ ภาษาญี่ปุ่น มศว และรอบ 5 สอบติด มนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ แม้ว่าพี่อู๋จะสอบติดถึง 3 แห่งใน 3 รอบ แต่ยังรู้สึกว่าไม่ใช่คณะที่ต้องการ ก็ตัดสินใจไม่ยืนยันสิทธิ์เข้าเรียน และไปเรียน นิเทศศาสตร์ ม.เอกชน แทน
                 หลังจากเรียนไปได้ 2-3 เดือน เลยคิดใหม่ว่า จะลองใหม่อีกสักตั้ง จะทำให้เต็มที่ ถ้ายังไม่ได้อย่างที่ตั้งใจก็คงจะแบบเรียนที่ไหนก็ได้ เพราะทำเต็มที่แล้วจริงๆ และมาทำสำเร็จในปีนี้

อยากเรียนรัฐศาสตร์ เพราะอยากทำงานด้านการต่างประเทศ
                ตลอด 1 ปีที่กลับมาเตรียมตัวสอบใหม่อีกครั้ง พี่อู๋เลือกที่จะทำเป้าหมายใหม่คือ คณะรัฐศาสตร์ เหตุผลสำคัญคือ อยากทำงานในสายงานด้านการต่างประเทศ อยากทำงานที่ต่างประเทศ และเรียนภาษาที่สามมาด้วย คณะและสาขานี้ก็มาอยู่ในหัวอันดับต้นๆ เลย โดยตัดสินใจไว้ 2 สาขาคือ รัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสาขาวิชาการปกครอง เพราะสอบถามรุ่นพี่มาแล้ว บอกว่าสาขาในรัฐศาสตร์ สามารถเลือกวิชาโทข้ามสาขาได้ คือถ้าหากสอบติดการปกครองก็สามารถเรียนวิชาโทของสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เหมือนกัน
                 ช่วงที่กลับมาเตรียมตัวใหม่ พี่อู๋เน้นทำข้อสอบเก่า เก็บบทเรียนเก่าที่เราพลาด GAT เชื่อมโยง พอผิดนิดเดียวก็กลายเป็นโดมิโน ก็ซุ่มซ้อมวิชานี้และลงเรียนพิเศษเพิ่มเติม ที่เหลือจะทำข้อสอบเก่าวิชาภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น คือเราดูมาแล้วว่าสาขาที่เราเข้าเน้น 3 วิชาหลักนี้ หลังสอบออกมาคะแนนเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็เผื่อใจไว้ประมาณนึง ไม่อยากคาดหวังมาก เพราะกลัวจะเสียใจทีหลัง


 

เทคนิคการเรียนภาษาญี่ปุ่น ฉบับคนที่เริ่มจากศูนย์
                พี่อู๋ทำคะแนน PAT ภาษาญี่ปุ่นได้ 261 คะแนน! จุดเริ่มต้นที่เรียนภาษาญี่ปุ่น นอกจากเหตุผลที่บอกไปตอนต้นที่ไม่สามารถเข้าสายวิทย์ได้ อีกเหตุผลนึงก็คือ อยากเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ให้ได้ พอดูข้อมูลว่าคณะที่ตัวเองอยากเข้าใช้ PAT ญี่ปุ่นด้วย ก็เลยตั้งใจเรียนภาษาญี่ปุ่นมาตลอด ซึ่งจุดเปลี่ยนนี้ก็มาจากตอนที่เรากลับไปคิดถึงช่วงที่เราไม่เรียนแล้ว ถ้าเรามีความรู้แค่นั้น เราจะใช้ชีวิตได้ประมาณไหน ทำให้เรามีแรงฮึดเพราะไม่อยากกลับไปอยู่ในจุดที่ตัวเองเคยผ่านมา
                 และยังมีแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ในโรงเรียน ที่เราเห็นเขาแข่งขันทักษะภาษาญี่ปุ่นได้ทุนฟรีไปประเทศญี่ปุ่นเมื่อชนะระดับประเทศ เราอยากลองทำได้บ้าง ก็เลยฝึกซ้อมแข่งทักษะญี่ปุ่นมาเรื่อยๆ ซึ่งการฝึกซ้อมตรงนี้ทำให้เราได้ความรู้ภาษาญี่ปุ่นมาเยอะพอสมควร ตอนนั้นก็ทำให้เราชนะและได้ทุนไปประเทศญี่ปุ่นเหมือนกัน
                 หลายคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่น อาจจะรู้สึกท้อ เพราะก็มีจุดที่ยากอยู่ อุปสรรคอย่างหนึ่งที่เชื่อว่าทุกคนมีก็คือ คันจิ ที่ต้องจำเยอะมากจนไม่เข้าใจว่าต้องจำไปทำไม แต่ตอนนั้นแค่รู้สึกว่าเราต้องใช้ ต้องพยายามบังคับตัวเองเพราะใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะหาทางวิธีทำให้เราจำได้ เช่น ทำข้อสอบบ่อยๆ พวกคันจิก็จะเขียนใส่กระดาษแผ่นเล็กๆ แล้วเล่นเกมเหมือนจับสลาก จับได้คำไหนต้องอ่านให้ถูก ถ้าถูกก็ผ่านไป ถ้าผิดต้องจดลงสมุดใหม่ เพื่อให้เราจำอีกรอบนึง ทบทวนซ้ำบ่อยๆ ที่สำคัญคือต้องเน้นความสม่ำเสมอ

ภาษาญี่ปุ่นเน้นมากๆ เรื่องความแม่นยำของไวยากรณ์
                เราเป็นเด็กซิ่ว ได้สอบ PAT ภาษาญี่ปุ่นมาทั้ง 2 ปี รู้สึกได้ว่าเป็นข้อสอบที่เน้นเรื่องความแม่นยำของไวยากรณ์ ดังนั้นเราต้องตอบให้ถูกต้องตรงตามไวยากรณ์เท่านั้น อีกพาร์ทที่อยากให้เตรียมตัวคือ ความรู้ทั่วไปหรือวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น ตรงนี้เราไม่รู้ว่าขอบเขตมันประมาณไหน แต่เนื้อหาจะเฉลี่ยความยากง่ายไป ถ้าคนที่รู้ก็จะง่ายเลย แต่ถ้าไม่ค่อยได้ติดตามเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น ก็อาจจะมองว่ายากได้เหมือนกัน
                 ยกตัวอย่างเช่น ถามว่าอะไรห้ามทำบนโต๊ะอาหาร หรือ มีแผนที่ประเทศญี่ปุ่นมา โดยมีตัวเลือกเป็นเมืองต่างๆ แล้วถามว่า จุดไหนที่ดอกซากุระจะบานก่อน ซึ่งถ้าเรารู้ว่าดอกซากุระบานจากภาคใต้ไปภาคเหนือ เราก็จะตอบได้

6 อันดับเลือกคณะที่ชอบทั้งหมด วัดใจกันไปเลย
                หลังจากคะแนนออกทุกอย่าง รวมคะแนนแล้วได้ 26,555 คะแนน (ในรอบ 3) ซึ่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รอบ 3 ใช้เกณฑ์ GAT 70% + PAT 7 30% พอเรารู้คะแนนตัวเอง ใน 6 สาขาที่เลือกได้ ก็เลือกรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 4 สาขาเลย และมีคณะนิเทศศาสตร์ กับคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ของ ม.เกษตรศาสตร์ ด้วย
                ตอนตัดสินใจจัดอันดับก็มีหนักใจ คนภายนอกอาจเห็นว่าคะแนนเราเยอะ แต่สำหรับในรอบ 3 เป็นคะแนนสอบล้วนๆ คะแนนที่เห็นอาจจะไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับคะแนนของคนอื่น ซึ่งผลที่ออกมา ก็ทำให้เราติดสาขาวิชาการปกครอง ในอันดับที่ 2 ตอนนั้นก็ดีใจมากๆ


เทคนิคการจัด 6 อันดับในรอบ 3
                การจัดอันดับในรอบ 3 เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากมากๆ เพราะจะมีแค่บางมหาวิทยาลัยที่มีคะแนนย้อนหลังให้เราเทียบดู โชคดีที่จุฬาฯ มีคะแนนย้อนหลัง ก็สามารถเทียบคะแนนปีนี้กับปีที่แล้วได้ ตอนจัดอันดับ ก็จะคิดไว้แบบนี้
                 อันดับ 1-2 จะเลือกคณะในฝันมาก่อน ต้องอยากเรียนที่สุด ตรงนี้ไม่ได้สนใจคะแนนเลย
  
              อันดับ 3-4 เราก็จะเริ่มดูคะแนนสูงสุด-ต่ำสุดของปีก่อนๆ เทียบกับคะแนนเราให้พอสูสี
                 อันดับ 5-6 เทียบกับคะแนนย้อนหลังแล้ว คะแนนเราต้องมากกว่า ต้องค่อนข้างชัวร์ระดับนึงว่าจะไม่หลุด

ขอเคล็ดลับสามข้อที่ทำให้สอบติดในรอบที่ 3
                1. สม่ำเสมอ โฟกัสอยู่กับปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่านหรือไม่คิดไปเรื่อยตอนที่กำลังอ่านหนังสือ ว่าคะแนนตัวเองจะเป็นยังไงในวันสอบ ทำทุกๆ วัน ให้เรารู้สึกว่าวันนี้เราทำได้เต็มที่แล้ว
                 2. ตั้งเป้าหมายให้ได้ ในที่นี้คือ เป้าหมายรายปี รายเดือน รายสัปดาห์ รายวัน อย่างเช่น ถ้าเราตั้งใจว่าปีนี้เราจะต้องสอบเข้าคณะนี้ให้ได้ เดือนนึงเราจะประมาณว่าควรอ่านวิชาอะไรบ้าง ควรทำข้อสอบสัปดาห์ละกี่ชุด วันนึงต้องจัดการเวลายังไงกับชีวิตบ้าง เพื่อที่จะไปถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้ ถ้าเราตั้งเป้าหมายไว้ได้แล้ว ก็ย้อนกลับไปอ่านข้อแรกเลยครับ
                 3. หาความสุขให้ตัวเองในทุกๆ วัน อย่าเครียดจนเกินไป จะทำให้เราเรียนรู้ได้ดีขึ้นมาก ในอาทิตย์นึง เราอาจจะเครียดกับเรื่องเรียนมาตลอด ลองพักสักวัน หาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ โดยที่ไม่ต้องซีเรียสกับการอ่านหนังสือสักวัน กินข้าวกับเพื่อน ดูหนังกับแฟน (ถ้ามี555) พักผ่อนสักหน่อย การพักก็จะทำให้เรามีแรงกลับมาทำตามเป้าหมายอีกครั้ง

ให้กำลังใจถึงน้องๆ #dek64
             คนเก่งคือคนที่สม่ำเสมอ และมีวินัยในตัวเอง อย่างเราตั้งเป้าหมายให้อ่านหนังสือ 2 ชั่วโมง คนที่เก่งคือคนที่บังคับตัวเองให้มานั่งอ่านหนังสืออยู่ได้ 2 ชั่วโมงต่อวัน และมันก็จะมีช่วงท้อแท้ที่คะแนนนไม่ถึงตามเป้า ตอนที่ทำข้อสอบเก่าๆ อยากให้เราอยู่กับปัจจุบันมากกว่า ว่าตรงนี้เรายังไม่ได้ก็พยายามทำความเข้าใจกับมัน อู๋เคยเป็นคือพอเราทำไม่ได้ก็ฟุ้งซ่านปล่อยให้เวลามันเลยผ่านไป ถ้าเราเอาเวลาที่ฟุ้งซ่านไปเรื่อย กลับมาอยู่กับปัจจุบัน และทำในสิ่งที่มันควรทำ มันก้น่าจะเป็นผลดีกับตัวคนที่จะสอบเองด้วย
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด