สวัสดีค่ะ หลังจากที่แต่ละโรงเรียนเพิ่งจะเปิดเทอมปีการศึกษา 2563 กันไป น้องๆ ม.6 หรือ #dek64 นอกจากจะต้องทำคะแนนในชั้นปีสุดท้ายกันแล้ว ก็ต้องเตรียมตัว และวางแผนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันด้วย ตอนนี้หลายคนก็คงจะเริ่มศึกษาหาข้อมูลกันบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีน้องๆ บางคนที่ยังสงสัย ไม่ถูกว่าจะต้องเตรียมตัว เตรียมความพร้อมยังไง หรือจะเริ่มต้นจากไหนดี
 

 
              สำหรับใครที่ยังกังวลในเรื่องของการเตรียมตัว ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้ว่าต้องเริ่มจากอะไร พี่แนนนี่บอกเลยว่าไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะวันนี้พี่มีตัวช่วยดีดีมาฝากน้องๆ #dek64 เป็นคู่มือการเริ่มต้นเตรียมตัว เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับ TCAS เลยก็ว่าได้
 
การเริ่มต้น
              ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย สิ่งแรกและสิ่งเดียวที่น้องๆ จะต้องรู้ นั่นก็คือ "สาขาวิชา" หรือ "คณะ" ที่สนใจจะเข้าศึกษา รวมถึงสถาบัน หรือมหาวิทยาลัยที่สนใจด้วย ซึ่งน้องๆ จะต้องทำความรู้จักเบื้องต้นเกี่ยวกับสาขาวิชา และสถาบันที่สนใจ ทั้งในเรื่องของหลักสูตรการเรียนการสอน สภาพแวดล้อม และที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่าย-ค่าเทอม ตรงนี้พี่แนนนี่อยากให้น้องๆ ศึกษาและตัดสินใจตั้งแต่แรก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจนไม่ได้เข้าเรียนที่นั้นๆ ในภายหลัง
              หลังจากที่น้องทุกๆ คนตัดสินใจเรื่องสาขาวิชา คณะ และมหาวิทยาลัยได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็น 5 สิ่งที่น้องๆ จะต้องเช็ก หรือตรวจสอบจากระเบียบการรับสมัครของปีการศึกษาก่อนๆ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลสำหรับเตรียมตัว และวางแผนในการสอบวิชาต่างๆ และยื่นสมัครในแต่ละรอบ
              แต่ก่อนที่น้องๆ จะไปเช็กข้อมูลที่จำเป็น น้องๆ จะต้องทำความรู้จัก ระบบ TCAS กันก่อน ซึ่งโดยปกติแล้ว TCAS จะแบ่งออกเป็น 5 รอบ ได้แก่ Portfolio Quota Admission 1 Admission 2 และรับตรงอิสระ ซึ่งแต่ละรอบก็จะมีสาขาวิชาที่เปิดรับ และกำหนดเกณฑ์การรับสมัครที่แตกต่างกัน  (รู้จักระบบ TCAS เต็มๆ : คลิก) แต่สำหรับระบบ TCAS 64 จะเป็นอย่างไร จะมีการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ต้องรอติดตามรายละเอียดอีกครั้งนึง ตอนนี้ไปดู สิ่งที่น้องๆ จะต้องเช็กกันก่อนเลย
 
5 สิ่งที่จะต้องเช็กเมื่อเริ่มเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย
1) เช็กรอบที่เปิดรับ
              อย่างที่บอก TCAS มีหลายรอบ และไม่ใช่ว่าทุกสาขาวิชา ทุกคณะจะเปิดรับสมัครครบทุกรอบ บางคณะ อาจจะเปิดรับสมัครแค่บางสาขาวิชาในแต่ละรอบ หรือบางสาขาวิชาอาจจะเปิดรับแค่รอบเดียวเท่านั้น ตรงนี้เลยอยากให้น้องๆ เช็กจากระเบียบการรับสมัครทุกรอบ ของทุกมหาวิทยาลัยที่สนใจให้ดี ว่าสาขาวิชาที่สนใจจะสมัคร แต่ละมหาวิทยาลัยมีเปิดรับในรอบไหนบ้าง
 
2) เช็กคะแนนสอบที่ใช้ในแต่ละรอบ
              นอกจากรอบการรับสมัครที่น้องๆ จะต้องเช็กแล้ว เกณฑ์การรับสมัครต่างๆ ของแต่ละรอบก็ต้องศึกษาไว้เหมือนกัน แม้จะเป็นสาขาเดียวกัน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่แต่ละรอบจะใช้เกณฑ์การรับสมัครต่างกัน ซึ่งเกณฑ์การรับสมัครเหล่านี้ จะทำให้น้องๆ เห็นวิชาที่ต้องใช้คะแนนเพื่อยื่นสมัครทั้งหมด รวมไปถึงเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำ ทั้ง GPAX และ GPA รายวิชาด้วย ทีนี้น้องๆ ก็รู้แล้วว่าต้องเตรียมตัวสอบวิชาไหนบ้าง ต้องวางแผนอ่านหนังสือสอบยังไง ต้องเร่งทำเกรดเฉลี่ยอีกเท่าไหร่ถึงจะสมัครได้
              สำหรับวิชาที่สอบอาจจะไม่มีแค่การสอบของสทศ. อย่าง ONET GAT/PAT วิชาสามัญ หรือวิชาเฉพาะ กสพท เท่านั้น อาจจะมีวิชาเฉพาะของมหาวิทยาลัยที่จัดสอบเอง หรือคะแนนทดสอบภาษาต่างๆ ด้วย
 
3) เช็กเรื่องเอกสารในการสมัคร
              อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ เอกสารประกอบการสมัครทั้งหมด ปกติแล้วเอกสารหลักๆ ที่ะต้องใช้ เช่น บัตรประชาชน, ทะเบียนบ้าน, ใบ ปพ. ทั้งหลาย โดยเฉพาะใบปพ.1 หรือทรานสคริป, ใบแสดงผลการทดสอบต่างๆ , เกียรติบัตร หรือประกาศนียบัตร, แฟ้มสะสมผลงาน เป็นต้น ซึ่งน้องๆ ต้องเช็กดูว่าแต่ละสาขาวิชาที่เราสนใจ มีกำหนดให้ใช้เอกสารอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ดำเนินการขอเอกสารกับทางโรงเรียน หรือเตรียมรวบรวมเอกสารสำหรับสมัครให้ได้ทันเวลา
ปล. สำหรับใครที่สนใจรอบ Portfolio ต้องเช็กข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนว่าสาขาวิชาที่สนใจกำหนดรูปแบบของ Porfolio หรือมีโจทย์ในการทำแฟ้มสะสมผลงานหรือไม่
 
4) เช็กวันที่
              สิ่งสำคัญกว่าใดๆ ทั้งปวง คือ วันที่ต่างๆ จดไว้ให้ดี แจ้งเตือนไว้ให้ชัด เพราะถ้าพลาดขึ้นมาจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย ไม่ว่าจะเป็นวันที่รับสมัครสอบของแต่ละวิชา วันที่ต้องไปสอบ วันที่เปิด-ปิดรับสมัครของแต่ละรอบ โดยเฉพาะรอบ Porfolio รอบ Quota และรอบรับตรงอิสระ ที่วันเปิดรับสมัครอาจจะไม่ตรงกัน วันที่ต้องส่งเอกสาร วันสอบสัมภาษณ์ วันที่ต้องยืนยันสิทธิ์ หรือวันที่รายงานตัวก็ตาม ต้องจดจำให้แม่นๆ รวมไปถึงเรื่องของเวลาต่างๆ เพราะไม่ใช่ทุกอย่างจะเริ่มต้น และสิ้นสุดที่เวลาเที่ยงคืน
              นอกจากนี้อยากให้น้องๆ ระมัดระวังเรื่องวันและเวลาที่ทับซ้อนกัน เช่น วันสอบสัมภาษณ์ของ 2 มหาวิทยาลัยในรอบ Portfolio อาจจะเป็นวันเดียวกัน หรือวันสอบวิชาเฉพาะ กสพท กับวิชาสอบวิชาเฉพาะ ของมหาวิทยาลัยเป็นวันเดียวกัน
 
5) เช็กข่าว ติดตามข่าว
              ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอด ดังนั้นน้องๆ จะต้องติดตามข่าวสารทุกอย่างที่เกี่ยวกับ TCAS 64 อย่างใกล้ชิด ซึ่งวันนี้พี่แนนนี่ก็มีแหล่งข่าวชั้นดี ที่จะช่วยให้น้องๆ ไม่พลาดข่าวสารเกี่ยวกับการสมัครแน่นอน
  • App "เด็กดี TCAS" ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับระบบ TCAS ที่แน่น และแม่นยำ แถมมีฟีเจอร์พิเศษ TCAS Alert!  คอยแจ้งเตือนข่าวด่วนต่างๆ ด้วย (iOS - คลิก, Android - คลิก)
  • กลุ่ม Facebook "ห้องข่าว TCAS 64" ติดตามข่าวสารแบบใกล้ชิด พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ #dek64 (คลิก)
  • เว็บไซต์ MyTCAS ของทปอ. ผู้ดูแลระบบ TCAS (คลิก)
  • เว็บไซต์ สทศ. หน่วยงานที่จัดสอบต่างๆ (คลิก)
  • เว็บไซต์ของแต่ละมหาวิทยาลัย
     
              การศึกษาข้อมูลต่างๆ จากระเบียบการรับสมัครปีก่อนๆ ก็เป็นแค่แนวทาง หรือตัวช่วยในการวางแผน และเตรียมตัวเท่านั้น ยังไงแล้วน้องๆ ก็ยังคงต้องติดตามข่าวสาร กำหนดการ และระเบียบการต่างๆ ของปีนี้อีกครั้งนึง ซึ่งบอกได้เลยว่า อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขข้อมูลบางอย่างแน่นอน ส่วนน้องๆ คนไหนที่มีคำถามเพิ่มเติม สามารถคอมเมนต์ไว้ด้างล่างได้เลยนะคะ
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด