CHULA MOOC แหล่งรวมคอร์สฟรี "เรียนแล้วต้องใช้ได้จริง" จากจุฬาฯ ที่ใครๆ ก็เรียนได้



                    หลายเดือนที่ผ่านมา น้องๆ คงได้เห็นการพูดถึงคอร์สออนไลน์เรียนฟรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CHULA MOOC ที่ไม่ว่าจะออกมากี่คอร์ส คอร์สละหลายพันที่นั่งก็เต็มภายในไม่ถึงวัน และล่าสุดสำหรับเดือนกรกฎาคม  ก็มีคอร์สน่าสนใจไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษ, การสร้าง Infographic และมหากาพย์สังคมศึกษาน่ารู้
                      วันนี้พี่มิ้นท์ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงจุดเริ่มต้นของ CHULA MOOC ที่เปิดให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปมา 3 ปีแล้ว และผลตอบรับการเรียนจากผลกระทบ COVID-19 ที่ทำให้มีคนสนใจเรียนออนไลน์มากขึ้น และยังเป็นที่สนใจมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน


ANYONE CAN LEARN
                       CHULA MOOC เป็นคอร์สเรียนออนไลน์ฟรีที่จุฬาลงกรณ์เปิดสอน ด้วยความเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิ์เรียนรู้ และควรเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เป็นช่วงที่จุฬาฯ ครบรอบ 100 ปี และหนึ่งในกระแสตอนนั้น คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงได้มองว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นทำอะไรได้บ้าง ประกอบกับเทคโนโลยีด้านออนไลน์ก็เริ่มมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งองค์ความรู้ในจุฬาฯ ก็มีอยู่หลากหลาย ได้มองต่อว่าความรู้ด้านไหนที่เผยแพร่แล้วมีประโยชน์ต่อสังคมไทย จึงตั้งวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนไทย โดยใช้องค์ความรู้จากภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความรู้ที่ไม่ใช่แค่ตำราในห้องเรียน
                       คอร์สเรียนฟรีต่างๆ ที่อยู่ใน CHULA MOOC จะไม่ใช่ความรู้วิชาการเหมือนวิชาเรียนที่อยู่ในระบบมหาวิทยาลัย เพราะในส่วนนั้นจะต้องมีรายละเอียดเรื่องหลักสูตร จำนวนชั่วโมง หน่วยกิต แต่ Life Long Learning ในคอร์สเรียนนี้ จะเป็นการเรียนรู้และนำไปใช้จริง ปัจจุบันจะมีอยู่ 5 หมวด คือ ภาษา เทคโนโลยี การจัดการ ศิลปะและการพัฒนาตนเอง และสุขภาพ โดยในทุกๆ เดือน จะมีคอร์สต่างๆ ออกมาเปิดรับสมัคร โดยบุคคลทั่วไปสามารถมาลงทะเบียนเรียนได้ หากเรียนจบภายในเวลาที่กำหนดและสอบผ่าน Posttest จะได้รับใบ Certificate เพื่อรับรองว่าได้เรียนวิชาใน CHULA MOOC จบแล้ว

เพิ่มจำนวนที่นั่งทุกปี
                       CHULA MOOC เปิดสอนเข้าปีที่ 3 แล้ว ในช่วงแรกตั้งเป้าที่รายวิชาละ 500 ที่นั่ง แต่มีการแชร์ในสื่อออนไลน์ ทำให้เต็ม 500 ที่นั่งภายในเวลาไม่นาน เลยมองว่ามีความต้องการของผู้เรียน จึงค่อยๆ ขยายจำนวนรับเป็น 2,000 คน/รายวิชา เมื่อเข้าปีที่ 2 ได้ขยับมาเป็นวิชาละ 4,000 ที่นั่ง และตอนนี้ในปีที่ 3 อยู่ที่วิชาละ 5,000 ที่นั่ง ยกเว้นวิชาที่เป็นที่ต้องการ ก็จะรับสูงถึง 10,000 ที่นั่ง โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วันหรือในบางรายวิชา ก็เต็มภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเปิดรับสมัคร
                        โดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤติโควิด โรงเรียนปิด พนักงานบริษัททำงานที่บ้าน ทำให้คนมีเวลาเพิ่มมากขึ้น ทางจุฬาฯ เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่คนส่วนใหญ่หันมาใช้เวลาในในการพัฒนาตนเองมากขึ้น เมื่อช่วงเดือนเมษายนจึงเปิดเพิ่ม จากเดิมที่เปิดเดือนละ 5 วิชา เป็นเปิดสอนสัปดาห์ละ 5 วิชา และมีคนเข้าเรียนเต็มตลอดทุกสัปดาห์

กว่าจะมาเป็น 1 คอร์ส มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
                       ขั้นตอนแรก คือต้องดูว่าผู้เรียนมีความสนใจเรียนอะไรและมองทิศทางของสังคม สิ่งที่เราจะทำต้องให้ความรู้ต่อสังคม โดยไม่ได้โฟกัสด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ เพราะจุฬาฯ มีความหลากหลายทางวิชา จาก 19 คณะและสำนักวิชาอื่นๆ เรามองว่าทุกด้านมีความสำคัญไม่ว่าจะเป็นความรู้หรือการพัฒนาจิตใจ เช่น ความรู้ด้านภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ ผู้เรียนสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยตรง หรือ ความรู้ด้านโขน ลิเก ก็เป็นความรู้ที่คนรู้จักน้อยลง เมื่อได้เปิดสอนเป็นวิชาก็เป็นทางช่วยให้เก็บรักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมได้ ดังนั้นวิชาใน CHULA MOOC จะเวียนกันมาเปิดสอนในความรู้หลากหลายศาสตร์
                        ขั้นตอนที่สอง เมื่อได้วิชามาแล้ว จะหาอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นจริงๆ มาสอนในรายวิชานั้นๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และผลิตเป็นบทเรียน
                        ขั้นตอนที่สาม เปิดรับสมัครใน CHULA MOOC ให้บุคคลที่สนใจเข้ามาลงทะเบียนเรียน
                   
                         ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติ ได้กล่าวทิ้งท้าย "โลกตอนนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก ถ้าเราใช้แค่ความรู้และประสบการณ์ที่เรามี เราอาจจะตามไม่ทัน ซึ่งปัจจุบันการเรียนรู้ออนไลน์มีหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการจะไปตอบโจทย์ตรงไหน ทุกคนจะเรียนอะไรก็ได้ แต่อย่าหยุดพัฒนาตนเอง ในเรื่องของการเรียนรู้ออนไลน์ จุฬาฯ มีความภูมิใจและมั่นใจว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาสังคมไทยได้"

                         น้องๆ ที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว อยากหาความรู้เพิ่มเติมในด้านต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่ความรู้ในห้องเรียน แนะนำให้ลองเข้าเว็บ CHULA MOOC เพื่อลองดูหลักสูตรต่างๆ ได้ค่ะ และที่นี่จะมีหลักสูตรใหม่ๆ มาทุกต้นเดือนด้วย แต่ขอบอกไว้ก่อนว่า เปิดรับสมัครเมื่อไหร่ให้รีบสมัครก่อนเต็มนะคะ^^

 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น