สวัสดีค่ะ ใกล้ถึงฤดูกาลสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว เชื่อว่า Dek64 เกินครึ่งยังจัดระเบียบชีวิตตัวเองไม่ถูก กลัวการสอบมาก กดดันตัวเองมาก เหมือนมีหลายอย่างที่ต้องทำพร้อมๆ กัน ทั้งเรื่องเรียน เรื่องสอบ การบ้าน วิ่งเก็บสะสมผลงาน และอื่นๆ อีกมากมายจนกลัวว่าจะลืมอะไรบางอย่างไป 


 
                      แต่ถ้าเรามีตัวช่วยที่ดีอย่างการจัดระเบียบตารางสำคัญต่างๆ รับรองว่าน้องๆ จะเห็นภาพรวมของสิ่งที่ต้องทำทั้งหมดก่อนลงสนามสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยผ่านระบบ TCAS64 นี้ค่ะ ถ้าพร้อมแล้วตามมาเช็กไปด้วยกันว่าเรามีตารางสำคัญเหล่านี้แล้วหรือยัง 

1. ตารางเป้าหมายคณะที่อยากเข้า
                      การมีคณะในใจเพียงคณะเดียวด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีนะคะ เราจะได้หาข้อมูลการสอบ เก็บสะสมผลงาน มุ่งอ่านหนังสือทางด้านนั้นไปเลยโดยตรง แต่ที่ผ่านมาบทเรียนจากรุ่นพี่ก็สอนให้รู้ว่า น้องๆ ควรลิสต์คณะสำรอง หาข้อมูลการสอบ และลงสอบเผื่อไว้ด้วย (กรณีที่คณะใช้เกณฑ์คะแนนสอบต่างกัน) โดยสร้างเป็นแผน A B C ค่ะ ส่วนใหญ่คณะรองนี้ก็จะเป็นคณะที่เราชอบหรือสนใจรองลงมาจากคณะหลัก อย่างน้อยถ้าพลาดจากคณะหลักเรายังมีคะแนนให้ใช้ยื่นแน่ๆ ไม่เคว้งคว้าง และรู้ว่าต้องไปทางไหนต่อค่ะ   

                      กรณีสมมติ น้องเตตั้งใจจะสมัครรอบ Admission 2 เลือก “วิศวกรรมศาสตร์” มาเป็นคณะหลักเลย ใช้คะแนนสอบ GAT PAT 2 PAT 3 ที่มีอยู่ นั่นแปลว่าถ้าลองคำนวณคะแนนแล้ววิศวะฯ ไปไม่ไหวจริงๆ น้องเตจะหลุดยกแผง แต่ถ้าน้องเตวางแผนคณะสำรองไว้เผื่อคือ A เทคโนโลยีสารสนเทศ B วิทยาศาสตร์ C สัตวแพทยศาสตร์ น้องเตจะลงสอบ PAT 1 เผื่อไว้และมีคะแนนไปใช้ยื่นเข้าคณะเหล่านี้ได้ เป็นต้น   

2. ตารางระบบ TCAS แต่ละรอบ
                      ตารางที่ว่าเข้าใจง่ายกว่านี้ก็คือ “ปฏิทิน TCAS” ที่จะบอกรายละเอียดการรับสมัคร TCAS แต่ละรอบ วันประกาศผล วันยืนยันสิทธิ์-สละสิทธิ์ วันสัมภาษณ์ค่ะ ซึ่งตอนนี้เรายังรู้เพียงข้อมูลคร่าวๆ ว่า TCAS 64 จะแบ่งเป็นรอบ Portfolio ,  Quota ,  Combined Admission (ยุบรวม Admission 1 + Admission 2 ของรุ่น TCAS 63) และ Direct Admission ส่วนปฏิทิน TCAS นี้ที่จะได้จาก ทปอ. ก็ต้องอดใจรอกันอีกนิดหนึ่ง ถ้าได้มาแล้วก็ปริ้นท์แปะติดข้างฝาเลยนะคะ เพราะทุกวันที่ถูกกำหนดไว้ในปฏิทินมันสำคัญต่ออนาคตเราค่ะ ลืมยืนยันสิทธิ์ ชีวิตเปลี่ยน

3. ตารางเอกสารที่ต้องใช้
                      การสอบ TCAS อาจต้องรวบรวมเอกสารเยอะมาก ถ้าน้องๆ ทำตารางเช็กลิสต์เวลาเตรียมเอกสาร รับรองว่าจะไม่มีตกหล่นค่ะ เอกสารที่ต้องใช้ในการสมัครสอบหลักๆ ก็จะมีรูปถ่ายนักเรียน (ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน) , สำเนาบัตรประชาชน , สำเนาทะเบียนบ้าน , ใบ ปพ. 1 , ใบ ปพ. 2 , ใบ ปพ. 7 , เอกสารผลคะแนนสอบ , สำเนาประกาศนียบัตร ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการใช้เอกสารการสมัครที่แตกต่างกันไปตามโครงการที่เปิดรับในแต่ละรอบ เช่น 

                      TCAS รอบ Portfolio โครงการเด็กดีมีที่เรียน ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ใช้เอกสารหนังสือรับรองจากทางโรงเรียนและคุณครูที่ปรึกษา 
                      TCAS รอบ Quota โครงการเมล็ดพันธุ์สู่ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ม.เกษตรศาสตร์ ใช้เอกสารหนังสือรับรองบุตรเกษตรกร ซึ่งออกโดยสำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัด เป็นต้น 


 
                      เอกสารต่างๆ มีระยะเวลาดำเนินการ ดังนั้น น้องๆ ควรเตรียมขอเอกสารตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้บางเอกสารอาจมีเงื่อนไขพิเศษอย่างการกำหนดอายุการใช้งาน เช่น เอกสารรับรองการเป็นนักเรียน ปพ.7 ใช้งานได้ภายใน 60 หรือ 120 วันเท่านั้นขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียน ถ้าเอกสารหมดอายุ ต้องขอใหม่ค่ะ 
 
4. ตารางสมัครสอบ/ตารางสอบ
                      แค่เตรียมตัวสอบน้องๆ ก็หัวหมุนกันอยู่แล้ว ยังต้องตามข่าวการรับสมัครสอบกับวันสอบอีก ขอแนะนำว่าให้ลิสต์รายชื่อคณะ/มหา’ลัย , รอบที่สอบ TCAS , คะแนนสอบที่ต้องใช้ออกมาก่อน เช่น   ปักหมุดสนใจ ”คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. รอบโควตา” ใช้คะแนน GAT PAT 4 วิชาสามัญ (ไทย สังคม อังกฤษ คณิต 1 ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) พอ สทศ. ประกาศกำหนดการสอบออกมาทั้งวันรับสมัครสอบ วันสอบ วันประกาศผลสอบ ก็บันทึกลงตารางให้เรียบร้อยเลยค่ะ  ถ้ามีคะแนนอื่นๆ ที่ต้องใช้ยื่นเพิ่มเติมอีก เช่น คะแนนทดสอบความสามารถพิเศษทางภาษาอังกฤษ CU-TEP , TU-GET , IELTS , TOEFL , TOEIC ก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ได้เลย  

                      ไม่เพียงแต่ตารางสมัครสอบ/ตารางสอบใน TCAS เท่านั้นนะคะ การสอบที่โรงเรียนหรือการสอบสนามจำลองก่อนลุยสนามจริงอย่าง Dek-D’s Pre-Admission ก็สามารถจดลงตารางได้เช่นเดียวกัน อาจจะแยกสีปากกาให้เห็นความแตกต่างจะได้ไม่สับสนด้วยค่ะ      ขอย้ำว่าตารางวันสมัครสอบนี่สำคัญมากนะคะน้องๆ อย่างวันรับสมัครสอบ GAT PAT 9 วิชาสามัญ เปิดรับเพียง 15 วันเท่านั้น หรือโครงการรับตรงต่าง ๆ เปิดรับสมัครเพียง 7 วันก็มี ถ้ารู้รายละเอียดการสมัครสอบ/วันสอบมาแล้วรีบบุ๊กวันลงตารางเลยค่ะ   

5. ตารางบันทึกค่าใช้จ่าย 
                      ค่าใช้จ่ายสำหรับการสอบ TCAS ถ้าสรุปโดยรวมก็จะมีค่าธรรมเนียมสมัครสอบ ค่าสอบวิชาเฉพาะ ค่าสอบวัดความถนัด/ความสามารถพิเศษตามสาขา ค่าข้อสอบกลาง TCAS ซึ่งเมื่อเทียบกันทั้ง 5 รอบ ในแต่ละรอบก็จะมีความต่างกันอยู่ค่ะ ดังนี้

                      1. ค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ รอบ 1,2 และ 5 จะเป็นค่าธรรมเนียมการสมัครที่กำหนดโดยมหาวิทยาลัย ค่าใช้จ่ายต่ำสุดโดยเฉลี่ยมักอยู่ที่ 200 บาท/โครงการ ถ้ามากสุดก็ขึ้นไป 700 - 1,000 บาท/โครงการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะ/มหาวิทยาลัยที่น้องๆ สมัครด้วยค่ะ 
                      ส่วนรอบ 3 และ 4 จะเป็นค่าธรรมเนียมการสมัครสอบจาก ทปอ. โดยปีที่ผ่านมารอบ Admission 1 เลือกได้สูงสุด 6 อันดับ มีค่าจัดอันดับละ 100 บาท ค่าดำเนินการ 50 บาท รวมค่าใช้จ่ายสูงสุด 650 บาท และรอบ Admission 2 เลือกได้สูงสุด 4 อันดับ มีค่าใช้จ่ายอันดับแรก 150 บาท และอันดับต่อไป 50 บาท รวมค่าใช้จ่ายสูงสุด 300 บาท 
                      สำหรับ TCAS 64 ที่รวมรอบ 3 และ 4 ไว้ด้วยกันเรียกว่า Combined Admission เป็นการรวบสมัครพร้อมกันคาดว่าค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบอาจลดลง ยังไงต้องรอฟังข่าวดีจาก ทปอ. อีกครั้งนะคะ    
                      2. ค่าสอบวัดความถนัด/ความสามารถพิเศษตามกลุ่มคณะ ใช้ในรอบที่ 1 Portfolio เช่น คะแนนสอบวัดความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ IELTS 6,900 บาท ,    คะแนนสอบเฉพาะทางสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนต่อสาขาการแพทย์ BMAT ค่าสมัครสอบในแต่ละรอบต่างกัน ปีล่าสุด รอบสิงหาคม/กันยายน 4,700 บาท รอบตุลาคม/พฤศจิกายน 3,200 บาท , คะแนนสอบว้ดความถนัดทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ CU-ATS 1,000 บาท เป็นต้น  
                      3. ค่าสอบวิชาเฉพาะที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการเอง ใช้ในรอบ 2 และ 5 ส่วนใหญ่มีค่าธรรมเนียมการสมัครสอบอยู่ที่ 200-600 บาท ขึ้นอยู่กับคณะ/มหาวิทยาลัยที่น้องๆ สมัครเช่นเดียวกันค่ะ ยกตัวอย่างเช่น PSAT เภสัชศาสตร์ ม.ศิลปากร 300 บาท เป็นต้น
                      4. ค่าข้อสอบกลาง TCAS ใช้ในรอบ 2-5 GAT PAT วิชาละ 140 บาท 9 วิชาสามัญ วิชาละ 100 บาท วิชาเฉพาะแพทย์ กสพท 800 บาท 

                      น้องๆ ลองตั้งงบประมาณแล้วทำตารางบันทึกค่าใช้จ่ายออกมาดูค่ะว่า ในการสอบแต่ละรอบเราคาดว่าจะสูญเสียไปเท่าไหร่ ย้ำคำเดิมว่าเราไม่จำเป็นต้องสมัครสอบแบบกวาดทุกสนามนะคะ อย่างการสอบแพทย์ถ้าน้องๆ อยากประหยัดค่าใช้จ่ายลงมานิดนึง ในรอบ Portfolio อาจเลือกเป็นโครงการที่ไม่ใช้ BMAT เช่น โครงการโอลิมปิกวิชาการของ ม.มหิดล ที่ใช้ สอวน. แทน มีค่าสอบสัมภาษณ์ MMI 1,650 บาท หรือเลือกสอบแบบใช้ข้อสอบกลาง วิชาเฉพาะแพทย์ กสพท 800 บาท + วิชาสามัญ 700 บาท รวม 1,500 บาทค่ะ 


  
6. ตารางอ่านหนังสือตามรอบที่เปิดรับ 
                      ตารางอ่านหนังสือสอบเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเด็กเตรียมสอบนะคะ ถ้าน้องๆ ได้ลองกางปฏิทินการสอบออกมาแล้วละก็จะรู้ว่าวันสอบนั้นติดกันแบบว่าอาทิตย์นี้สอบ GAT PAT เสร็จ อาทิตย์ต่อมามี O-NET มารอ ต่อด้วยวิชาเฉพาะแพทย์ และ 9 วิชาสามัญประมาณนั้นเลยค่ะ เท่ากับว่าการอ่านหนังสือสอบของน้องๆ จะกระชั้นชิดมากๆ นี่ยังไม่นับรวมสนามแทรกอื่นๆ อีกนะคะ 

                      แนะนำว่าช่วง 6 เดือนแรกก่อนสอบให้น้องๆ จัดตารางอ่านหนังสือสอบรายสัปดาห์ วันละกี่ชั่วโมงก็ว่ากันไปตามความสามารถและความสะดวกของแต่ละคน แล้วรีบสตาร์ทเครื่องเลยค่ะ อาจจะเริ่มจากการรู้สิ่งที่ต้องสอบ เนื้อหาที่ออกสอบ ทบทวนความรู้พื้นฐานที่มี และอ่านหนังสือไปตามแพลนที่ตั้งไว้ รับรองว่าเจ้าสิ่งนี้จะช่วยให้น้องๆ มองเห็นภาพรวมของเนื้อหาวิชาที่อ่านสอบและเก็บประเด็นสำคัญได้ถูกจุดขึ้นเยอะ ดีกว่าอ่านไปแบบไม่รู้ทิศรู้ทางค่ะ

7. ตารางซ้อมข้อสอบ
                      นี่คืออีกตารางสำคัญที่จะช่วยให้น้องๆ มีจุดมุ่งหมายในการทำข้อสอบ! ก็คือ “ตารางการฝึกซ้อมข้อสอบเก่า” นั่นเองค่ะ หัวตารางให้เขียนเป้าคะแนนที่ต้องการไว้ตัวโตๆ เลย จากนั้นให้น้องจับเวลาฝึกทำข้อสอบตามสนามจริง แล้วจดคะแนนในแต่ละครั้งที่ทำได้ลงไปค่ะ เช่น 

                      ครั้งที่ 1 : วันที่ 27 มิ.ย.  = GAT 11 คะแนน 
                      ครั้งที่ 2 : วันที่ 6 ก.ค. = GAT 66 คะแนน
                      ครั้งที่ 3 : วันที่ 11 ก.ค. = GAT 120 คะแนน

                      เราจะเริ่มเห็นความคืบหน้าของตัวเองค่ะว่า ตอนนี้พร้อมลงสนามแล้วรึยัง เก็บสถิติอย่างจริงจังจนกว่าคะแนนตัวเองจะนิ่งและดีที่สุดนะคะ ขอบอกว่ารุ่นพี่ที่คะแนนท็อปประเทศก็ผ่านการใช้ตารางนี้ซ้อมมือกันทั้งนั้นค่ะ

8. ตารางวันปล่อยผี
                      ช่วงสอบเข้ามหา’ลัยส่งผลลบต่อผู้เตรียมสอบมากที่สุด ตรงที่ทุกคนต้องเร่งเรียน แพนิคกับการอ่านหนังสือ และแข่งขันกันทำเกรด+คะแนนสอบอย่างเอาเป็นเอาตาย ถ้าเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน ทุกวันจะต้องนั่งหน้าดำคร่ำเคร่งแบกรับความกดดันตลอด พี่เมก้าต้องเป็นบ้าแน่เลยค่ะ เราไม่ต้องตึงขนาดนั้นก็ได้ ปลดปล่อยความเครียดบ้าง สนุกสนานกับการทำสิ่งที่ชอบบ้าง เป็นการเพิ่มกำลังใจและเติมพลังให้กับตัวเอง ใน 1 สัปดาห์อย่าลืมกำหนดวันว่างๆ สักวันเป็นวันปล่อยผีนะคะ หรือถ้าน้องๆ อดใจไม่ไหวกำหนดให้แต่ละวันมีชั่วโมงปล่อยผี พักจากการอ่านหนังสือมาทำสิ่งที่เจริญตาเจริญใจกันสัก 1 ชั่วโมงก็ดีเหมือนกันค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูสถานการณ์ด้วยนะคะ เกิดใกล้วันสอบแล้วยังอ่านไม่ครบจะมัวแต่ลั้นลาอยู่ไม่ได้น้า 

                      ทั้งหมดนี้ก็เป็นตารางสำคัญที่เด็กเตรียมสอบควรพกติดตัวไว้นะคะ อาจจะไม่ต้องทำทั้งหมดทุกตารางนี้ก็ได้ เลือกมาเฉพาะส่วนที่น้องๆ เห็นว่าจำเป็นกับตัวเอง เราพอทำได้ และสามารถช่วยเราได้จริงๆ ค่ะ ขอให้ทุกคนผ่านพ้นการสอบ TCAS 64 ไปได้ด้วยดี คิดหวังคณะ/มหาวิทยาลัยอะไรก็ขอให้ติดสมใจนะคะ
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น