สวัสดีค่ะน้องๆ ถ้าพูดถึงการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยผ่านระบบ TCAS รอบที่ใครๆ หมายตาไว้มากที่สุดก็คงจะเป็นรอบ Portfolio เพราะเป็นรอบที่สามารถเลือกสมัครได้หลายมหาวิทยาลัย ใช้ผลงาน ใช้ Portfolio มากกว่าใช้คะแนนสอบ
หนึ่งในคณะที่หลายๆ คนสนใจในการสอบในรอบ Portfolio นี้ ก็คือ คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งมักจะสงสัยกันว่าจะเปิดรับ Portfolio แบบไหน ผลงานลักษณะไหนยื่นได้บ้าง แล้วต้องใช้คะแนนทดสอบอะไรบ้าง วันนี้พี่แนนนี่ชวน #dek64 ที่ผ่านการคัดเลือกในคณะแพทยศาสตร์ รอบ Portfolio ถึง 3 มหาวิทยาลัย มาแชร์ประสบการณ์ ทั้งการเตรียม Portfolio และการสอบสัมภาษณ์กัน
"บีบี-ปวริศ" แชร์ประสบการณ์สอบคณะแพทยศาสตร์ รอบ Portfolio 64 (ยื่น 7 ติด 3) แถมเทคนิคค้นหาตัวเอง
แนะนำตัวกันหน่อย
บีบี-ปวริศ พงษ์ชัยไกรกิติ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลักสูตร English Program โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี (English Program) ปัจจุบันผ่านการคัดเลือก และยืนยันสิทธิ์รอบ Portfolio64 ใน "โครงการร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กับ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม สหราชอาณาจักร"
เมื่อการยื่นสมัครรอบ Portfolio ไม่ได้กำหนดจำนวนมหาวิทยาลัยในการยื่นสมัคร บีบี จึงได้ยื่นสมัครไปทั้งหมด 7 โครงการ 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล (รามาฯ), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (วชิรฯ), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แพทย์ นานาชาติจุฬาภรณ์), โครงการร่วมมือระหว่างมศว กับ ม.นอตติงแฮม และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมีรายชื่อเพื่อเข้าสอบสัมภาษณ์ 4 มหาวิทยาลัย และผ่านการคัดเลือก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (วชิรฯ), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แพทย์ นานาชาติจุฬาภรณ์) และ โครงการร่วมมือระหว่างมศว กับ ม.นอตติงแฮม
แรงบันดาลใจในการเป็นแพทย์
"ช่วงขึ้นม.ปลาย ก็เหมือนยังไม่แน่ใจว่าจะเรียนอะไรดี แต่ตั้งแต่เด็กก็ถือว่าคลุกคลีกับวงการแพทย์มาพอสมควร เพราะคุณแม่ทำงานด้านประชาสัมพันธ์อยู่ในโรงพยาบาลศิริราช ทำให้เจอกับแพทย์บ่อยๆ รวมไปถึงตัวผมเอง และคนในครอบครัวก็ป่วยบ่อย เลยยิ่งคุ้นชินกับอาชีพนี้มากขึ้น บวกกับส่วนตัวเป็นคนชอบช่วยเหลือเพื่อนๆ ช่วยเหลือคนอื่น เหมือนอาชีพหมอก็เลยเหมือนเป็น passion ลึกๆ ข้างใน"
"พอช่วงที่ไปแลกเปลี่ยน (ม.4) เหมือนได้เปิดโลก วันนึงมีซีสต์ขึ้นที่เท้า ทำให้ได้ไปโรงพยาบาลที่นู้น เลยได้เห็นว่าโรงพยาบาลที่นี่ทำงานเป็นระบบ ไม่เหมือนโรงพยาบาลรัฐในประเทศไทย ที่คนไข้ไปกระจุกกันอยู่ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทำให้ต้องรอคิวนาน ต้องไปรอตั้งแต่ตี 5 แต่ได้ตรวจบ่าย 2 ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็ราคาค่อนข้างสูง ซึ่งมองว่าตรงนี้เป็นความเหลื่อมล้ำที่รู้สึกอยากจะเปลี่ยนแปลง จึงอยากเป็นหมอเพื่อให้รู้ระบบของวงการการแพทย์ไทย"
"หลังจากกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง ก็เหมือนยังไม่แน่ใจว่าอยากเป็นหมอจริงๆ ไหม ยังมีไปลงสอบเพื่อเตรียมเข้าบริหารเก็บไว้ แต่คุณแม่บอกว่าให้ลองไปค่ายหมอของศิริราชดู ซึ่งพอไปแล้วกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้จริงจังในการเข้าคณะแพทยฯ ระหว่างที่อยู่ในตอนนั้นรู้สึกว่าอาชีพแพทย์สนุก ได้เรียนรู้ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันยังได้ลงมือทำจริงๆ ได้เจอคนไข้จริงๆ ได้ช่วยเหลือคนอีก แถมยังได้เรียนรู้ชีวิตนักศึกษาแพทย์ ชีวิตของแพทย์เวลาทำงานเป็นยังไง ซึ่งทำให้เราเข้าใจในอาชีพมากขึ้น และตัดสินใจเตรียมตัวเพื่อยื่นสมัครเข้าคณะแพทย์"
ภาพรวมในการยื่นคณะแพทยศาสตร์ รอบ Portfolio
บีบี สรุปให้ฟังว่า หลักๆ จะต้องเตรียมกิจกรรมต่างๆ (สำหรับยื่น Portfolio), ผลการทดสอบ BMAT และคะแนนทดสอบภาษาอังกฤษ อย่าง IELTS ไว้ เพราะส่วนใหญ่ในการยื่น Portfolio คณะแพทยศาสตร์ จะมีกำหนดคุณสมบัติคล้ายๆ กันประมาณนี้
- GPAX ขั้นต่ำ 2.5 - 3.5
- บางมหาวิทยาลัยกำหนด GPA กลุ่มสาระรายวิชาต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา)
- คะแนน IELTS เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ 5.0 - 7.0 (ยกเว้น คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล)
- คะแนน BMAT (ยกเว้น คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล)
- Portfolio ตามที่กำหนด
- เขียน SOP หรือ Essay แนะนำตัว (บางโครงการ)
- คะแนนทดสอบอื่นๆ เช่น SAT subject II; Physics, Chemistry, Biology, Math II) (บางโครงการ)
การยื่น Portfolio คณะแพทยศาสตร์
"จากที่ยื่นสมัครหลายที่ ผมคิดว่าผลงานที่จะสามารถยื่นสมัครในรอบ Portfolio นี้ จะแบ่งออกได้ 4 ด้านหลักๆ คือ
- ผลงานด้านวิชาการ เช่น แข่งวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์
- ผลงานด้านการวิจัย เป็นวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรือวิจัยข้อมูล และได้ตีพิมพ์ระดับนานาชาติ หรือระดับโรงเรียนก็ได้
- ผลงานด้านจิตอาสา (คิดว่าเป็นด้านที่เน้นมากที่สุด) เช่น ฝึกงานในโรงพยาบาล เป็นจิตอาสาของรพ. แบบช่วยเหลือผู้ป่วย หรือเข็นผู้ป่วย บริจาคของให้เด็ก เป็นต้น
- ผลงานส่วนตัว ที่บ่งบอกถึงความสามารถพิเศษ หรือ character เฉพาะตัว เช่น ดนตรี กีฬา ไปแลกเปลี่ยน ไปค่ายต่างๆ (ค่ายหมอ)"
ส่วนตัวบีบีเอง "เริ่มเตรียม Portfolio หรือเก็บกิจกรรมตอน ม.5 เทอม 2 พยายามเก็บเท่าที่ทำได้ ส่วนเรื่องความสวยงาม ไม่ค่อยเน้นเลย เน้นเนื้อหามากกว่า เช่น มีเพื่อนทำ Portfolio แบบไม่มีอะไรเลย รูปภาพไม่มีสี ใช้ font angsana new 16 คล้ายๆ พิมพ์รายงานส่งครู ก็ติดจุฬาฯ แต่เพื่อนๆ หลายคนก็เริ่มเก็บ เริ่มเตรียมกิจกรรมกันตั้งแต่ ม.4 แต่พอใกล้ๆ ยื่นสมัคร ประมาณ 1 - 2 เดือน ค่อยมารวบรวมผลงาน เป็นรูปเล่ม เขียนคำบรรยาย อธิบายว่า แต่ละกิจกรรมคืออะไร ทำที่ไหนอย่างไร และได้รับอะไรกลับมาบ้าง หรือจะช่วยในการเป็นหมอได้อย่างไร"
รีวิวการสอบสัมภาษณ์
"การสอบสัมภาษณ์ ส่วนใหญ่จะเป็นการสอบแบบ MMI : Multiple Mini Inteview จะเป็นการสัมภาษณ์ที่แบ่งเป็นฐานๆ และจะทดสอบด้านจริยธรรมการแพทย์ การให้เหตุผล การตัดสินใจ การแนะนำตัว character ดูความรู้รอบตัว ติดตามข่าว โดยรวมแล้วจะวัดว่าตัวเรา เหมาะที่จะเป็นนักศึกษาแพทย์หรือไม่ ซึ่งในปีนี้แต่ละมหาวิทยาลัยก็ปรับเป็นรูปแบบออนไลน์ แต่ก็ยังเป็นแบบ MMI อยู่ ซึ่งการสอบสัมภาษณ์ของหมอรอบนี้จะยาก และสำคัญมากๆ อย่างคนที่ Portfolio ดีมากๆ แต่สัมภาษณ์ไม่ผ่านก็มีเยอะ"
"ส่วนตัวผมเอง มีได้เตรียมตัวก่อนไปสัมภาษณ์ค่อนข้างเยอะ มีไปเรียนตามกวดวิชา แล้วก็อ่านหนังสือการสอบเข้าแพทย์ (Medical School Interview) คือจะมีทั้งความรู้เรื่องหมอ แล้วก็มีคำถามกับ Model answer ให้ แบบควรตอบแบบไหนจะโดนใจกรรมการมากที่สุด ซึ่งตรงนี้ผมก็เอามาปรับ ประยุกต์ให้เข้ากับตัวตนเรามากที่สุด แล้วจดพวกคีย์เวิร์ดต่างๆ ไว้ หัดตอบคำถามหน้ากระจก หัดพูดกับพ่อแม่ คุยกับเพื่อนๆ เพื่อให้ชินปาก เผื่อเจอแนวๆ นี้จะได้ไม่ตื่นเต้น แต่ไม่ควรท่องจำ เพราะจะขาดความเป็นตัวเอง"
การสอบสัมภาษณ์ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"ตอนนั้นไปสัมภาษณ์ที่นี่เป็นที่แรก ทำให้ตื่นเต้นมาก ถึงผมจะเตรียมตัวมาแล้วก็ตาม ที่นี่สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ผ่านช่องทางออนไลน์เหมือนกัน โดยจะแบ่งเป็น 3 ห้อง เพราะน่าจะรีบ มีเรียกมาสัมภาษณ์ตั้ง 240 กว่าคน"
"ห้องแรก ก็จะให้แนะนำตัว พูดคุยเล่นๆ ค่อนข้างสบายๆ ส่วนอีกห้องจะมีคำถามเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคเอดส์ (HIV) เป็นหมอเราจะทำยังไง ถามถึงความรู้เรื่องวัคซีนโควิดในประเทศไทย ถ้าคุณเป็นหมอ คุณจะฉีดให้ใคร เพราะอะไร โดยเขาจะมีตัวเลือกมาให้ คำถามส่วนใหญ่เหมือนทดสอบจริยธรรมแพทย์ของเรา เช่น ความลับผู้ป่วยเราจะต้องเก็บไว้ให้มิด"
"ก่อนหน้าการสอบสัมภาษณ์ 1 วัน จะมีการสอบข้อเขียน ผ่าน microsoft team ด้วย แบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ อาจารย์จะส่งรูปภาพทางแวนโก๊ะมาให้ แล้วถามว่าเป็นรูปเกี่ยวกับอะไร ให้เขียนอธิบาย แล้วก็มีให้บทความเกี่ยวกับโควิดมา แล้วให้สร้าง mind map ให้เขียน แล้วถ่ายรูปส่งภายในเวลาประมาณ 5 นาที"
การสอบสัมภาษณ์ที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล (ภาคภาษาไทย)
"มหาวิทยาลัยนี้เปิดรับสมัครทั้งหมด 30 คน โดยกำหนด GPAX ขั้นต่ำไว้ 3.00 และให้ยื่น Portfolio ที่แสดงทัศนคติต่อสาขาวิชา, เหตุผลที่คิดว่าสมควรได้รับคัดเลือกเข้าศึกษา และกิจกรรมที่เข้าร่วม ก่อนจะมีประกาศรายชื่อสอบสัมภาษณ์ เป็นที่เดียวในรอบนี้ที่ไม่ใช้คะแนน BMAT"
"การสัมภาษณ์ภาษาไทย เป็นแบบออนไลน์ (ผ่าน zoom) เพราะ COVID-19 ก็จะมี 5 ห้องสอบ 5 ห้องพัก ห้องละ 10 นาที (10 นาทีพัก 10 พูด) คืออาจารย์จะ sharescreen โจทย์เข้ามา แล้วให้เวลา 1-2 นาที เพื่ออ่านและเตรียมคำตอบ เราจะต้องจัดการเวลาดีดี แล้วถ้าหมดเวลาก็จะถูกตัดจบไปเลย ถึงแม้ว่าจะยังพูดไม่จบก็ตาม เพราะฉะนั้นต้องรีบอ่านโจทย์ รีบแปล หาคำตอบ วางแผนในสิ่งที่จะพูดให้ดี หรือถ้ารีบพูดเร็วเกินก็จะเหลือเวลา อาจจะ blank ยาวๆ อย่างผมเองก็มีห้องนึงที่เหลือเวลา อ.ก็ถามว่าอยากพูดอะไรไหม ก็เลยนำเสนอตัวเองไป"
"ส่วนคำถามแต่ละห้อง เท่าที่จำได้ก็จะมี ห้องนึงเป็นการแสดง role play อาจารย์ก็จะให้โจทย์ แล้วก็มีพี่เจ้าหน้าที่มาเล่นกับเรา ถ้าคนนี้มีอาการแบบนี้ คุณจะต้องทำแบบนี้ ผมได้ถ้าเพื่อนไม่ทำการบ้าน จะโน้มน้าวยังไง อีกห้องมีคำถามเกี่ยวกับการแพทย์ อาหารติดคอควรทำยังไง และก็ถามถึงข่าวโควิด การป้องกันตัวจากโควิดยังไง แล้วอีกห้องก็มีแบบทดสอบภาษาอังกฤษให้อ่าน คล้าย IELTS Reading นิดหน่อยด้วย"
การสอบสัมภาษณ์ที่โครงการร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มศว กับ ม.นอตติงแฮม
"ก่อนการสอบสัมภาษณ์ 1 วัน จะมีการบรีฟก่อน ว่าจะมีทำอะไรกันบ้าง แล้วก็จะเริ่มสัมภาษณ์จากอาจารย์คนไทยก่อน ระหว่างรอการสัมภาษณ์ก็จะมีข้อเขียนภาษาไทยเป็นอัตนัยก่อน ซึ่งค่อนข้างเยอะ เกี่ยวกับจริยธรรม แนะนำข้อดีข้อเสียตัวเอง เพื่อวัดความสามารถภาษาไทย เพราะสุดท้ายถึงจะไปเรียนที่อังกฤษ ก็จะต้องกลับมาทำงานในประเทศไทย โดยให้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง - 1 ชั่วโมงครึ่ง ผ่าน microsoft team"
"ต่อมาการสอบสัมภาษณ์จะเป็นภาษาอังกฤษ กับอาจารย์คนไทย แบ่งออกเป็น 3 ห้อง มีคำถามเกี่ยวกับผู้ป่วยมะเร็ง หรือการแพทย์ทางเลือก มีให้อ่านกราฟทางการแพทย์ (ผลการตรวจ) ก็จะเจอศัพท์ทางการแพทย์ที่ยังยากสำหรับนักศึกษาแพทย์ปี 4-5 ซึ่งตรงนี้จะวัดการใช้เหตุผล การอ้างอิงหลักฐานมากกว่า ไม่มีถูก ไม่มีผิด แต่ความยากคือ โจทย์มีหลายหน้า แล้วเป็นแบบ sharescreen เลยต้องให้จนท.เปลี่ยนหน้าไปมาบ่อยๆ"
"สำหรับห้องสุดท้ายจะเกี่ยวกับ dilemma คือ การตัดสินในสถานการณ์ที่ค่อนข้างยาก เช่น สึนามิกำลังมา แล้วเราจะขนผู้ป่วยในโรงพยาบาลยังไง ในขณะเดียวกันที่บ้านเรามีคนแก่กับเด็กเล็กที่รอความช่วยเหลืออยู่เหมือนกัน โดยผมคิดว่าคำถามแบบนี้จะดูว่าเราสามารถมองหาวิธีการแก้ปัญหา โดยคำนึงถึงตัวแปรต่างๆ ได้รอบด้านไหม และเราสามารถนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาออกมาได้อย่างไร แล้วถ้าผ่านการสัมภาษณ์ ถึงจะไปสัมภาษณ์กับอาจารย์ต่างชาติอีกครั้งนึง"
การเตรียมตัวสอบ
สอบ IELTS ; ประมาณ 6,900 บาท
"ด้วยความที่เรียน English Program ด้วย ก็เลยเหมือนได้ฝึกฝนการทำข้อสอบ IELTS มาตลอด โดยเฉพาะข้อสอบ part 1 - 2 (Listening-Writing) ที่เหมือนใช้ความรู้ที่สะสมมามากกว่า ให้เตรียมตัวทันทีค่อนข้างยาก ส่วนตัวผมคิดว่าการฝึก IELTS ที่ดีที่สุดคือการ immerse ตัวเองเข้าไปในภาษาอังกฤษ เช่นการดูหนังดูซีรี่เป็น ซับภาษาอังกฤษก็จะช่วยได้เยอะ"
สอบ BMAT ; ประมาณ 7,000 บาท
"ตัวเนื้อหาจะแนวๆ ข้อสอบของหลักสูตร Cambridge Grade 10 - 11 คือไม่ได้ยากมาก แต่เน้นไหวพริบ ความเร็ว และการตอบให้ตรงโจทย์ และความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ แต่จะมี Part 1 Critical Thinking และ Problem Solving เป็นการอ่านภาษาอังกฤษ และต้องคิดวิเคราะห์ ก็จะยากหน่อย คือจะมี agrument statement มา แล้วให้เราหาว่า บทความนี้/ประโยคนี้มีข้อผิดพลาดอะไร มีบทสรุปยังไง ต้องแก้ปัญหาแบบไหน จะออกแนวๆ เชาว์ปัญญา และการคำนวณ แบบไม่มีเครื่องคิดเลขด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะทำกันไม่ทันเวลา และผมก็ด้วยเช่นกัน"
"ส่วน Part 2 จะเป็นพาร์ทวิทยาศาสตร์ ก็จะรวมเนื้อหาประมาณ ม.4-5 วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา แล้วคณิตศาสตร์ เนื้อหาจะไม่ลึกมากแต่โจทย์จะชอบหลอก แล้วให้เวลาประมาณ 30 นาที กับ 27 ข้อ ก็คือทำไม่ทัน แล้วปีนี้ออกแหวกแนว ไม่เหมือนข้อสอบเก่าๆ ที่ทำมา ยิ่งทำไม่ทันใหญ่ สุดท้าย Part 3 เป็น Writing ให้เขียนอภิปรายด้านดี-ด้านเสียตามหัวข้อที่กำหนดมา อาจจะเกี่ยวกับการแพทย์ หรือปรัชญา มีเวลาให้ 30 นาที กับการเขียน 1 หน้ากระดาษ"
เทคนิคโค้งสุดท้ายก่อนสอบ
"2 เดือนสุดท้าย เป็นช่วงที่ควรจะเก็บเนื้อหาทั้งหมดที่จะออกแล้ว และเน้นไปที่การทำข้อสอบเก่าๆ ซึ่งก็จะดูข้อสอบ IMAT หรือ TSA ของ Oxford ที่เป็นข้อสอบแนวๆ BMAT ก่อน เพราะเนื้อหาจะกว้างกว่า และอาจจะเจอใน BMAT ด้วย พอช่วงเดือนสุดท้ายค่อยทำข้อสอบเก่า BMAT หรือถ้าทำครบหมดแล้ว ก็ไปดูข้อสอบ IGCSE ที่เป็นของ Cambridge ก็ได้ เพราะแนวจะคล้ายๆ กัน"
ฝากถึงน้องๆ Dek-D
"อยากจะแนะนำทุกคนว่า ช่วงม.4 ก็ลองค้นหาตัวเองไว้ก่อนตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าหาตัวเองเจอเร็ว ก็จะมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ส่วนถ้าตอนนี้ใครยังหาตัวเองไม่เจอ หรือลังเลว่าจะเข้าคณะไหน ให้ลองไปค่ายต่างๆ หรือ Open House ที่แต่ละคณะ หรือมหาวิทยาลัยจัดขึ้น เพื่อจะได้เรียนรู้ชีวิตของนักศึกษาในอาชีพนั้นๆ หรือได้ลองลงมือทำก่อน เพราะก็มีเพื่อนบางคนที่ไปค่ายหมอด้วยกัน พอกลับมาก็เปลี่ยนใจ เลิกสนใจด้านนี้ไป เลยอยากให้ได้สัมผัสดูก่อน ดีกว่าเข้าไปแล้วไม่มีความสุขในการเรียน"
"ส่วนคนที่ตัดสินใจได้แล้วว่าอยากเป็นหมอและชอบทำกิจกรรม อยากให้มาลองสอบรอบ portfolio ดูก่อนเพราะมีอัตราการแข่งขันที่น้อยกว่ารอบ กสพท และถึงแม้ว่าเราจะยืนยันสิทธิ์ในรอบนี้ไปแล้ว เราสามารถไปสอบ กสพท แล้วสละสิทธิ์ทีหลังก็ได้ ถือว่ามีโอกาสสองรอบไปเลย"
"สุดท้ายนี้ก็ขอให้ทุกคนโชคดีกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เอาแน่เอานอนไม่ค่อยจะได้
เพราะฉะนั้นเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ดีที่สุด สู้ๆ ครับ"
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับน้องๆ คนไหนที่สนใจอยากสมัคร คณะแพทยศาสตร์ รอบ Portfolio สามารถเริ่มเตรียมตัว เตรียมความพร้อม หรือนำคำแนะนำของพี่บีบีไปประยุกต์ใช้กับน้องๆ ได้เลยนะคะ
0 ความคิดเห็น