Gap Year คืออะไร? ถ้าเด็กไทยแก๊ปเยียร์บ้าง ทำอะไรดีในหนึ่งปีก่อนเข้ามหาวิทยาลัย

สวัสดีน้องๆ DEK64 และชาวเด็กดีทุกคนนะคะ หลังประกาศผล TCAS64 รอบ 3 Admission ไปแล้ว น้องๆ เป็นอย่างไรกันบ้าง ? พี่หลิงขอแสดงความยินดีกับน้องที่สอบติดคณะที่หวัง และเป็นกำลังใจให้น้องที่เลือกสู้ต่อในรอบ 4 หรือรอบรับตรงอิสระด้วยนะคะ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร พี่หลิงเชื่อว่าเราทำดีที่สุดแล้ว น้องๆ เก่งมากที่ฝ่าฟันนานาอุปสรรคมาได้ แม้จะมีทั้งโควิด-19 การเรียนออนไลน์ หรือตารางสอบที่กระชั้นชิด เราก็ยังรอดมาถึงวันนี้ ว่าแล้วก็ปรบมือให้ตัวเองหน่อยเร็ว!

อย่างไรก็ตาม อาจมีน้อง ๆ บางคนไม่อยากเริ่มต้นชีวิตมหาลัยฯในภาวะโรคระบาด, ยังอยากสู้เพื่อคณะที่ฝันในปีหน้าอย่างเต็มที่ หรือแม้แต่ยังหาตัวเองไม่เจอ ยังไม่รู้เลยจริงๆ ว่าชอบอะไรกันแน่ วันนี้พี่หลิงเลยจะมาแนะนำอีกทางเลือกสำหรับคนที่อยากพักก่อน อย่างการ ‘Take Gap Year’ นั่นเองค่ะ

ว่าแต่เจ้า Gap Year มันคืออะไรกันแน่นะ? แล้วเราจะใช้ช่วงเวลานี้ทำอะไรก่อนเข้ามหาวิทยาลัยดี? เราตามไปอ่านกันเลยดีกว่าค่ะ

Gap Year คืออะไร  ? หนึ่งปีที่พักไปหาอะไรทำดี ?
Gap Year คืออะไร  ? หนึ่งปีที่พักไปหาอะไรทำดี ?

Gap Year คืออะไร ?

ลองมาแปลตามความหมายตรงๆ กันก่อน ‘Gap’ แปลว่าช่องว่างหรือการหยุดพัก ส่วน ‘Year’ ก็คือปี เมื่อนำมารวมกัน ก็จะมีความหมายว่า ‘ปีแห่งการหยุดพัก’ แต่จริงๆ แล้ว Gap Year นั้นไม่จำเป็นต้องกินเวลานานถึง 1 ปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะจัดสรรเวลาอย่างไร โดยส่วนมากในต่างประเทศจะนิยม Take Gap Year อยู่สองช่วง นั่นคือหลังเรียนจบ High School หรือหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย เพื่อใช้เวลานี้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ลองทำในสิ่งที่อยากให้เต็มที่ ก่อนก้าวเข้าสู่การเรียนในระดับอุดมศึกษา หรือโลกการทำงานนั่นเองค่ะ

ในบทความนี้ เราจะโฟกัสไปที่ Gap Year ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยกัน หรือที่น้องๆ หลายคนอาจเรียกอีกชื่อว่า ‘ซิ่วอยู่บ้าน’ แต่แหม ถ้าเอาแต่นั่งเครียดอ่านหนังสืออย่างเดียวก็น่าเสียดายแย่ พี่หลิงว่าเรามาลองหาอะไรทำให้หลากหลาย ใช้เวลาราวหนึ่งปีนี้คุ้มค่ากันดีกว่า ถ้ายังคิดกิจกรรมอื่นไม่ออก ไม่เป็นไรค่ะ พี่หลิงรวบรวมมาให้แล้ว มาส่องดูได้เลย!

5 กิจกรรม ชวนทำระหว่าง Gap Year

1. ออกเดินทางท่องเที่ยว 

การออกเดินทางที่ว่าไม่ใช่แค่การเปลี่ยนจากบ้านมานอนโรงแรม แล้วยังคิดไม่ตกเรื่องเรียนต่อเหมือนเดิมนะคะ พี่หลิงอยากให้น้องๆ ได้ปลดปล่อยตัวเองจากความเครียด ทำใจให้สบาย ปล่อยหัวให้โล่ง แล้วผ่อนคลายไปกับบรรยากาศใหม่ๆ ดูบ้าง เชื่อสิว่าพอร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ กายพร้อมใจพร้อมแล้วเนี่ย คราวนี้จะทำอะไรก็ปัง!

ที่สำคัญ การท่องเที่ยวยังช่วยเปิดโลกให้เราได้มุมมองใหม่ ๆ ในการใช้ชีวิตด้วยนะ ลองชื่นชมธรรมชาติรอบตัว ดื่มด่ำไปกับสังคมแปลกตา สังเกตวิถีชีวิตผู้คน (ถ้าเข้าไปชวนเขาคุยได้จะดีมาก) ทำตามนี้แล้วเผลอๆ จะได้ความรู้สุด Exclusive ที่หาไม่ได้ในห้องเรียนอีกต่างหาก เหมือนที่เขาว่ากันว่า ‘การเดินทางคือการเรียนรู้’ ยังไงล่ะคะ

มีแต่ได้กับได้แบบนี้ เห็นทีพอสถานการณ์โควิดดีขึ้น พี่หลิงคงต้องเตรียมแพ็คกระเป๋าออกไปเที่ยวบ้างแล้วล่ะค่ะ อิอิ

ออกเดินทางท่องเที่ยว เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตให้เต็มที่
ออกเดินทางท่องเที่ยว เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตให้เต็มที่

2. อ่านหนังสือ (ที่ไม่ใช่หนังสือเรียน)

ข้อแรกอาจทำได้ยากในช่วงนี้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเปิดโลกหรือหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ไม่ได้เลย พี่หลิงคิดว่าหนังสือเป็นอีกทางเลือกที่ดีทีเดียวค่ะ เพราะหนังสือเนี่ยมีให้อ่านหลากหลายมากๆ สมมติเราอยากไปเที่ยว เลยสนใจหมวดบันทึกการเดินทาง เราก็เลือกได้อีกว่าอยากไปประเทศแถบไหน เดินทางแบบไหน (แบ็คแพ็ค, ลุยเดี่ยว, ไปกับเพื่อน มีให้เลือกหมด) แถมเลือกสไตล์การเล่าของคนเขียนได้อีก ถ้าอยากชิลก็อ่านแนวเล่าสนุกๆ หรือถ้าอยากได้ความรู้ปึ้กๆ ก็จัดแนวท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ไปเลย ปังไหมล่ะ

ส่วนตัวพี่หลิงว่าหนังสือมีเสน่ห์ที่หาจากสื่ออื่นไม่ได้ เพราะการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรจะไม่จำกัดความคิดคนอ่าน เราสามารถจินตนาการภาพ เสียง หรือแม้แต่กลิ่น รสชาติ และสัมผัสได้อย่างอิสระ ต่างจากสื่ออื่นๆ ที่มักกำหนดภาพและเสียงไว้แล้ว คุณสมบัตินี้แหละที่ทำให้เราเหมือนได้ไปอยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ แถมยังรู้สึกอินตามไปกับตัวละครได้ง่ายด้วยล่ะค่ะ

ลองอ่านสักเล่มดูสิ แล้วจะรู้ว่าหนังสือพาเราไปได้ไกลกว่าที่คิดจริงๆ 

แค่เปิดหน้าหนังสือ ก็เหมือนได้เปิดโลกใบใหม่แล้ว
แค่เปิดหน้าหนังสือ ก็เหมือนได้เปิดโลกใบใหม่แล้ว

3. ท้าทายตัวเองด้วยการ ‘ลอง’

สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าลงมือทำ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเอาตัวเองไปอยู่สถานการณ์นั้นจริงๆ อย่างอยากลองเป็นนักแสดง แต่มัวนั่งดูคนอื่นอย่างเดียว ไม่เคยลองเข้าบทสักครั้ง เราก็คงไม่มีทางรู้ว่าสรุปเราชอบมันจริงรึเปล่า ทางเดียวที่จะพิสูจน์ได้คือต้องลองทำ ถ้าชอบก็ลุยต่อ ไม่ชอบก็ได้รู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่  

ช่วงเบรกนี้เป็นโอกาสดีสำหรับการลองผิดลองถูก อยากลองอะไรก็จัดไป ทำพาร์ตไทม์ก็ดี ฝึกงานในสายที่สนใจก็เริด (มีบางบริษัทรับนักเรียนด้วยนะ) หรือลองเข้าเวิร์คช็อป เล่นเซิร์ฟสเก็ต เต้นโคฟเวอร์ ดำน้ำดูปะการัง ทำจิตอาสา กิจกรรมไหนก็ดีไปหมด เพราะการลองหลายๆ สิ่ง จะทำให้เราได้ทักษะที่สามารถปรับใช้กับการเรียนมหาลัยได้ไม่มากก็น้อย ลองไปไม่สูญเปล่าแน่ รู้แบบนี้แล้วจะรออะไรอยู่ จริงไหมคะ ?

4. ใช้เวลากับตัวเอง

เชื่อไหมว่าการใช้เวลากับตัวเราคนเดียวเนี่ย มันช่วยฮีลใจได้มากจริงๆ ทุกวันนี้เราอาจไม่ค่อยใส่ใจสิ่งนี้เท่าไร จากสภาพสังคมที่เร่งรีบและแข่งขันกัน แต่ในเมื่อเลือกจะพักทั้งที ก็ไม่ควรมองข้ามคนที่ควรดูแลที่สุดอย่างตัวเราเองไปนะคะ เราไม่จำเป็นต้องทำตัว Productive ตลอดเวลาหรอก พักบ้างก็ได้ ใจดีกับตัวเองหน่อย เพราะแค่นี้โลกก็ใจร้ายกับเรามากแล้ว

วิธีใช้เวลากับตัวเองที่พี่หลิงแนะนำมากๆ คือการคุยกับตัวเองค่ะ จะเป็นคำถามง่ายๆ หรือลึกซึ้งหน่อยก็ดีทั้งนั้น พี่หลิงเองก็ทำอยู่เป็นประจำ ขอบอกว่านอกจากจะทำให้เรามีสติ รู้เท่าทันความรู้สึกแล้ว วิธีนี้ยังช่วยให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นด้วยล่ะ ถ้าใครยังไม่รู้ว่าชอบอะไร ลองคุยกับตัวเองดูค่ะ ตัวตนของเราจะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นจากคำตอบของน้องนั่นแหละ สู้ๆ นะ !

5. เตรียมรับมือการสอบครั้งต่อไป

อ๊ะๆ ไม่ได้จะไล่น้องๆ ไปอ่านหนังสือสอบนะคะ กลับมาก๊อนนน เตรียมรับมือในที่นี้ไม่ใช่ท่องตำราอย่างเดียวนะ พี่หลิงหมายความว่าอยากให้น้องๆ เตรียมตัวเองให้อยู่ในสภาพที่พร้อมที่สุดก่อนจะเข้าห้องสอบ ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับการสอบให้เรียบร้อย ลองเอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์เสมือนจริง (อย่างทำข้อสอบแบบจับเวลา มีคนมานั่งสอบด้วย ใช้ดินสอ 2B ฝนตัวอย่างกระดาษคำตอบ) และอย่าลืมศึกษาคณะและสาขาในดวงใจให้ดี เช็กให้ชัวร์ว่าใช้คะแนนอะไรบ้าง มีเกณฑ์บังคับอะไรไหม จะได้ไม่พลาดเป้าหมายที่ตั้งใจไว้เนอะ

ทั้งนี้ทั้งนั้น พี่หลิงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทบทวนบทเรียนจำเป็นมากๆ แต่ความกดดันเกินไปก็ไม่ดีเหมือนกัน เอาเป็นว่าพี่อยากให้น้องๆ ทุกคนแบ่งเวลาอย่างเหมาะสม กะน้ำหนักการอ่านแต่ละวิชาให้ดี (จะเน้นตามสัดส่วนคะแนนที่คณะกำหนดก็ได้นะ) ระหว่างนี้ก็อย่าลืมรักษาสุขภาพกายใจด้วย ถ้าทำได้ทั้งหมดนี้ รับรองว่าความพร้อมเราเต็มร้อยแน่นอน

ลองทำข้อสอบเสมือนจริง แล้วทบทวนอีกครั้งจากเฉลยที่ละเอียด ช่วยได้มากเลยล่ะ
ลองทำข้อสอบเสมือนจริง แล้วทบทวนอีกครั้งจากเฉลยที่ละเอียด ช่วยได้มากเลยล่ะ

ก่อนจะจากกันไป พี่หลิงอยากบอกอะไรกับน้อง ๆ ที่เลือก Take Gap Year สักนิด เราไม่ต้องรู้สึกแย่เลยนะคะ จังหวะชีวิตของคนเราไม่เท่ากันเป็นเรื่องปกติ เราอาจเข้ามหาวิทยาลัยช้ากว่าเพื่อน แต่นั่นไม่ได้แปลว่าพวกน้องไม่เก่งเลย สำหรับพี่หลิง คนที่ยืนหยัดในทางเลือกของตัวเองแม้สังคมจะไม่เห็นด้วย กล้าฮึดสู้และไม่ยอมแพ้เนี่ยเก่งที่สุดแล้วรู้ไหม :)

ไปช้าๆ ค่อยๆ ก็ได้ ถ้าไม่หยุดพยายามสักอย่าง ความสำเร็จก็ไม่ไกลเกินเอื้อม สำหรับวันนี้พี่หลิงต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่บทความหน้า สวัสดีค่า 

พี่หลิง
พี่หลิง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดการเชื่อมโยงลิงก์ไปยังเว็บไซต์อื่น

กำลังโหลด
กำลังโหลด