มาฝึก จำแม่น จำนาน ด้วยเคล็ด(ไม่)ลับ จาก "The Memory Process" เรียนรู้การทำงานของความจำ

มีใครเคยเป็นแบบนี้กันบ้างไหมเอ่ย อ่านหนังสือสอบทีไรก็จำไม่ค่อยได้ หรือถ้าจะจำบทเรียนยาวๆ ก็จำได้ไม่นาน รวมไปถึงการจำเรื่องอื่นๆ ด้วย จนหลายคนเริ่มกังวล ว่า เอ๊ะ! เรานั้นความจำไม่ดีแน่เลย หรือพอถึงช่วงใกล้สอบจะเริ่มกังวลว่า จะจำเนื้อหาที่อ่านมาได้ไหมเนี่ย พูดแบบนี้แล้ว มีน้องๆ คนไหนแอบเศร้ากันบ้างไหมคะ ที่ความจำเราบางทีก็ไม่ดีเอาเสียเลย  TT

แต่ช้าก่อนค่ะ เพราะทุกปัญหามีทางออก ดังนั้นความจำของเราก็มีวิธีแก้เช่นกันค่ะ ในวันนี้พี่นุกนิกจึงมีเทคนิคมาช่วยน้องๆ ให้จำได้นาน กับ The Memory Process เพื่อให้น้องๆ เข้าใจถึงกระบวนการทำงานของความจำมากยิ่งขึ้นค่ะ 

จำได้นาน ด้วยเคล็ด(ไม่)ลับ จาก "The Memory Process" ความรู้การทำงานของความจำ
จำได้นาน ด้วยเคล็ด(ไม่)ลับ จาก "The Memory Process" ความรู้การทำงานของความจำ 

จำได้นาน ด้วยเคล็ด(ไม่)ลับ จาก "The Memory Process" 
เรียนรู้การทำงานของความจำ 

 

"ความจำ" เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อทุกๆ คน เพราะมีผลต่อการใช้ชีวิต การเรียน และการทำงาน ทำให้หลายคนหันมาสนใจในเรื่องความจำมากขึ้น เช่น ทำยังไงให้จำได้นานยิ่งขึ้น  หนึ่งในความรู้ที่น่าสนใจคือ The Memory Process ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับการทำงานของสมองในการจดจำสิ่งต่างๆ ทุกรูปแบบในชีวิตของเรา  

The Memory Process คืออะไร

The Memory Process คือ กระบวนการหรือขั้นตอนการทำงานของความทรงจำ ที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการภายในที่เกิดขึ้นระหว่างเราได้รับความจำหรือเริ่มจดจำบางสิ่งบางอย่าง  

โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 

1. Encoding (การเข้าสู่รหัส) 

ขั้นตอนแรกของการทำงานเกี่ยวกับความทรงจำ คือ การรับข้อมูลจากภายนอกในรูปแบบของสิ่งเร้าทางเคมีและกายภาพ ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำการรับ ประมวลผล รวมข้อมูล และการเข้ารหัสเพื่อให้ความจำสามารถเข้าไปสู่กระบวนการจัดเก็บความทรงจำได้ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะเปลี่ยนรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ระบบสามารถจัดเก็บได้ 

เปรียบเทียบง่ายๆ คล้ายกับการกินอาหารเลยค่ะ เพราะก่อนที่เราจะนำสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย เราต้องผ่านการเคี้ยวอาหารให้เป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนั่นเองค่ะ

2. Storage (การกักเก็บความทรงจำ)

ขั้นตอนนี้เกี่ยวกับการจัดเก็บความทรงจำต่อจากขั้นตอน encoding อีกที ซึ่งเหมือนเป็นหน่วยความจำที่สอง ที่เก็บรักษาข้อมูลในช่วงเวลาหนึ่งของเราเอาไว้ สิ่งนี้จะเกี่ยวกับธรรมชาติของการเก็บหน่วยความจำ เช่น ตำแหน่งที่จัดเก็บข้อมูล หน่วยความจำจะอยู่นานเท่าไหร่ จำนวนความจุที่สามารถเก็บได้ตลอดเวลา และข้อมูลประเภทไหนที่สามารถเก็บไว้ เป็นต้น  

3. Retrieval (การเรียกคืน)

ขั้นตอนที่เรียกคืนหรือดึงข้อมูลที่เราได้เก็บไว้ออกมา เพื่อใช้ในการตอบสนองสัญญาณบางอย่างหรือเพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง เรียกง่าย ๆ คือ ขั้นตอนที่เราต้องดึงความจำเรามาใช้ประโยชน์นั่นเอง

3 ขั้นตอนจาก The Memory Process
3 ขั้นตอนจาก The Memory Process

แล้วต้องทำยังไงถึงจะจำได้นาน  

ในวันนี้ พี่นุกนิกมีเทคนิคการจำให้นาน ด้วยการทำความเข้าใจผ่าน The Memory Process จากการหาข้อมูลเพิ่มเติมมาฝากกันค่ะ  เพราะการทำความเข้าใจในขั้นตอนของการทำงานของความจำของเรา ทำให้เราเข้าใจใน concept การจดจำมากขึ้น และมีประโยชน์ในการทำให้เราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมกับเรา ให้เข้ากับกระบวนการทำงานได้ค่ะ ถ้าพร้อมแล้วไปกันเลยค่ะ

1. ใช้สมาธิจดจ่อในการจดจำ

 สำหรับเทคนิคแรกนั่นก็คือ การใช้สมาธิจดจ่อในการจดจำ เพราะสมาธิถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อการจดจำ ถ้าขั้นตอน Encoding ที่เราจะรับข้อมูลภายนอกเข้ามาเพื่อประมวลผล ขาดการจดจ่อหรือไม่โฟกัสกับความทรงจำนั้นๆ ตั้งแต่แรก อาจทำให้เราประมวลผลผิดพลาด ทำให้ข้อมูลที่ได้รับมีความคลาดเคลื่อน หรือมากไปกว่านั้นคือ เราไม่สามารถจดจำเรื่องราวนั้นก็เป็นไปได้ค่ะ  

การโฟกัสสิ่งที่กำลังทำ ช่วยเราจดจำได้!
การโฟกัสสิ่งที่กำลังทำ ช่วยเราจดจำได้!

2. จำเป็นภาพหรือเรื่องราวเป็นฉากๆ ดีกว่าตัวหนังสือ

 เทคนิคที่จะทำให้เราจำได้ขึ้นใจ คงหนีไม่พ้นกับการจำเป็นภาพ เพราะโดยทั่วไป คนเราสามารถจำสิ่งที่เห็นได้ดีกว่าสิ่งที่ได้ยิน และเราจะมีหน่วยความจำภาพถ่ายประเภทหนึ่ง ซึ่งหน่วยความจำนี้มีวัสดุที่ดีกว่าและมีรายละเอียดมากกว่าการเรียกคืนวัสดุประเภทอื่นๆ ในขั้นตอน Retrieval เช่น เราสามารถจำใบหน้าได้ง่ายกว่าชื่อที่เกี่ยวข้องกับใบหน้านั้น เวลาที่เราจะนึกถึงใครสักคน เราก็จะสามารถนึกใบหน้าของเราได้ก่อนชื่อของเขานั่นเองค่ะ ดังนั้นถ้าเราอยากที่จะจำได้นาน ต้องฝึกจำเป็นภาพบ่อย ๆ คล้ายกับการจำเป็นฉากละครแทนการจำเป็นตัวหนังสือกันนะคะ  

 สำหรับใครที่อยากอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจำเป็นภาพ ไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ คลิก 

3. จำไม่หมด การจดช่วยได้

 เทคนิคต่อมาคือ การจด ถึงแม้สมองของเรามีขั้นตอนการทำงานเกี่ยวกับการจำถึง 3 ขั้นตอน แต่ไม่ได้หมายความว่าสมองของเราจะสามารถจดจำทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้นะคะ เพราะในแต่ละวัน ขั้นตอน Encoding มีการรับข้อมูลภายนอกเข้ามาในหน่วยความจำเป็นจำนวนมาก อีกทั้งขั้นตอน Storage ก็มีพื้นที่ในการเก็บข้อมูลอื่น ๆ ไว้ด้วยเช่นกัน  ทำให้บางครั้งความทรงจำเหล่านั้นอาจถูกลืมได้ 

ดังนั้น ถ้าน้องๆ อยากจำได้นานอย่างมีประสิทธิภาพ การจดก็มีส่วนช่วยให้เราสามารถจดจำบางอย่างได้นานยิ่งขึ้นค่ะ เพราะการจดหรือเขียนด้วยปากกาและกระดาษ จะช่วยปลูกฝังความทรงจำในสมอง และง่ายต่อการเรียกคืนข้อมูลในขั้นตอน Retrieval เพราะเพียงแค่เราย้อนกลับมาอ่านสิ่งที่เราเคยจดไว้ เราอาจจะรู้สึก ว่าอันนี้เคยผ่านตามาแล้วบ้างนั่นเอง

เพียงแค่จด ก็ช่วยจำได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน
เพียงแค่จด ก็ช่วยจำได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน 

4. หมั่นทบทวน/ทำซ้ำๆ เรื่อยๆ จนขึ้นใจ

 เทคนิคข้อนี้ คือ เราต้องหมั่นทบทวน ทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะทำให้สมองของเราจดจำและกักเก็บข้อมูลไว้ในขั้นตอน Storage ได้อย่างไม่ลืมเลือน เพราะสมองของเราจะเข้าใจว่าข้อมูลส่วนนี้สำคัญจากการที่เราทบทวนบ่อยๆ 

แต่น้องๆ รู้ไหมคะว่าทำไมการฝึกทำซ้ำเรื่อยๆ ทำให้เราจดจำได้นาน เพราะมันไปเกี่ยวข้องกับการถูกเรียกคืนในขั้นตอน Retrieval นั่นเอง เช่น หากเราต้องการจำเนื้อหาคณิตศาสตร์ให้แม่นยำ ควรหมั่นแก้โจทย์ปัญหาอยู่ซ้ำๆ อยู่เสมอ เพราะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ ทำให้สมองของเราดึงข้อมูลเกี่ยวกับความจำนั้นมาใช้ตลอดๆ ทั้งเรื่องของวิธีแก้โจทย์ รวมไปถึงสูตรในการแก้ปัญหามาใช้ในการแก้โจทย์นั่นเองค่ะ 

5. การนอนช่วยได้  

 เทคนิคข้อสุดท้าย เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคที่สำคัญแต่หลายครั้งเรามักจะพลาดกันบ่อย เพราะถ้าใครสามารถนอนครบ 7-9 ชั่วโมงเรียกได้ว่าหายากจริงๆ ค่ะ TT แต่พี่นุกนิกก็อยากจะย้ำชัดๆ ว่า การนอนหลับพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญต่อความจำของเราจริงๆ ค่ะ โดยบทความจาก HARVARD HEALTH BLOG ระบุไว้ว่า "การนอนหลับช่วยให้เราสามารถรวบรวมความทรงจำที่ต้องการจะเก็บรักษา ถ่ายโอนจากความทรงจำที่เข้าถึงได้ชั่วคราวไปยังความทรงจำที่สามารถเรียกคืนได้ในอีกหลายปีต่อมา" เรียกได้ว่า การนอนหลับมีผลต่อทั้งขั้นตอน Storage และขั้นตอน Retrieval เลยก็ว่าได้ค่ะ 

การนอนช่วยเสริมสร้างความจำได้
การนอนช่วยเสริมสร้างความจำได้

ปิดท้ายด้วย เหตุผลบางอย่างที่ทำไมเราถึงลืมได้ง่าย?  

จากการที่เราหลายคนมักจะจำเนื้อหาที่เรียนไม่ได้เลย หรือจำไม่ได้นานนั้น สาเหตุหนึ่ง มาจากการที่ขณะเรากำลังอ่านหนังสืออยู่หรือเรียนในห้องเรียน เรามักจะมองภาพนั้น ๆ เป็นตัวหนังสือจำนวนมากเรียงกันอยู่มากกว่าที่จำเป็นภาพ หรือเราอาจจะไม่ได้ทบทวนเนื้อหาเรียนมากพอ เพราะบ่อยครั้ง พอเราเรียนเนื้อหาเรื่องนี้จบ เราก็มักจะทิ้งเนื้อหาไปโดยไม่ได้กลับมาทบทวนบ่อย ๆ หรือทำซ้ำๆ จนขึ้นใจ และไม่ได้ใช้เนื้อหานั้นไปใช้ประโยชน์จริงๆ ตามขั้นตอนของการทำงานของความจำ ซึ่งการที่เราไม่ได้ทำตามสิ่งเหล่านี้ จะทำให้สมองของเราลืมเรื่องนี้ไปง่ายๆ เพราะสมองของเราคิดว่าเรื่องพวกนี้ไม่สำคัญนั่นเอง

ดังนั้นถ้าหากน้องๆ อยากจำได้นาน ต้องมีสมาธิจดจ่อ จำเป็นเรื่องราว มองเป็นภาพ หมั่นทบทวน ทำซ้ำบ่อยๆ และนำความจำไปใช้ประโยชน์กันนะคะ  

 

จบลงไปแล้วนะคะ กับเทคนิคที่ช่วยให้เราจำได้นาน น้องๆ อย่าลืมนำไปปรับใช้ในเรื่องต่างๆ กันนะคะ หรือถ้าใครมีเทคนิคส่วนตัวที่ทำให้เราจำได้นานมาแชร์ให้เพื่อนๆ 

และพี่นุกนิกฟังกันได้นะคะ  ><

ขอบคุณข้อมูลจาก  McLeod, S. A. (2013, August 05). Stages of memory - encoding storage and retrieval. Simply Psychology. https://www.simplypsychology.org/memory.htmhttps://courses.lumenlearning.com/boundless-psychology/chapter/introduction-to-memory/https://www.health.harvard.edu/blog/want-to-improve-your-memory-get-a-good-nights-sleep-2021040222255https://www.newscientist.com/definition/photographic-memory/https://www.verywellmind.com/what-is-memory-2795006https://www.scientificamerican.com/article/i-developed-what-appears-to-be-a-ph/
พี่นุกนิก
พี่นุกนิก - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น