เทคนิคทำ 'PORTFOLIO' ในยุคโควิดให้ปัง กับ "พี่แท็ค" Tiktoker สายการศึกษา

เมื่อพูดถึงคลิปใน TikTok หรือใน YouTube เรียกได้ว่า เป็นเทรนด์สำหรับพวกเราจริงๆ ค่ะ เพราะนอกจากความสนุกที่ได้รับ ยังมีทั้งเรื่องราวที่ให้ความรู้กับเราอีกมาก เช่น เรื่องเรียน ซึ่งพี่นุกนิกได้มีโอกาส พูดคุยกับ “พี่แท็ค” จากบัญชีผู้ใช้ TikTok ชื่อว่า @xtoktak ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 1 แสน ที่บอกเล่าเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับเรื่องเรียน

ในวันนี้จึงเป็นอีกวันที่พิเศษเช่นเคย เพราะเราจะได้ทำความรู้จักกับ “พี่แท็ค”  ในแง่มุมการเรียนที่มากขึ้น รวมไปถึงแรงบันดาลใจในการเลือกคณะหรือการค้นหาตัวเอง และที่พิเศษไปกว่านั้น คือ พี่แท็คยังไม่พลาดในการแชร์เทคนิคทำพอร์ตในยุคโควิดสุดปัง ที่ใครทำก็รอด  ถ้าพร้อมแล้ว เราไปเริ่มกันดีกว่า เย้!!

เทคนิคทำ 'Portfolio ในยุคโควิดให้ปัง' กับ "พี่แท็ค" Tiktoker สายการศึกษา
เทคนิคทำ 'Portfolio ในยุคโควิดให้ปัง' กับ "พี่แท็ค" Tiktoker สายการศึกษา

เทคนิคทำ 'Portfolio ในยุคโควิดให้ปัง' กับ "พี่แท็ค" Tiktoker สายการศึกษา


แนะนำตัวให้เพื่อน ๆ ชาว Dek-D ของเรารู้จักกันหน่อย

พี่แท็คได้กล่าวทักทายก่อนเริ่มสัมภาษณ์กับเราด้วยน้ำเสียงที่สดใส ว่า “สวัสดีครับ น้องๆ ชาว Dek-D ทุกคน ชื่อ แท็ค ธนกร อังศรีสุรพร กำลังเรียนอยู่ที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ครับ” 

เหตุผลที่เลือกเรียนคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ คือการมองภาพตัวเองในอนาคต

ในเรื่องของการตัดสินใจเลือกเรียนในคณะนี้ พี่แท็คเล่าให้เราฟังว่า “ตอน ม.6 แท็คเองเป็นคนที่ไม่รู้ตัวเองเลยว่าอยากเรียนอะไร เหมือนกับว่าเรายังค้นหาตัวเองไม่เจอว่าชอบอะไรกันแน่ แต่ได้มีโอกาสไปคุยกับครูแนะแนวที่โรงเรียน คุยไปคุยมาก็รู้สึกว่าตัวเองสนใจเกี่ยวกับทางด้านการศึกษา ตอนแรกก็เล็งคณะครุศาสตร์กับศึกษาศาสตร์ไว้ก่อน เพราะเหมือนกับตอนนั้นรู้สึกอยากเป็นครู แต่พอมานั่งคิดกับตัวเอง สมมติว่า ถ้าเราเรียนจบไป แล้วในอนาคตเรายังอยากจะใช้ชีวิตในแบบที่ครูเขาเป็นกันจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งพอคิดไปคิดมาก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ ตัวเราเท่าไหร่และอาจจะไม่ตรงกับ life style ของตัวเองด้วย บวกกับครูแนะแนวแนะนำคณะนี้มา เราเลยไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และพอเราได้รู้จักคณะนี้มากขึ้น เราก็รู้สึกว่า มันค่อนข้างตอบโจทย์ เพราะว่ามันเกี่ยวกับด้านการศึกษาตามที่เราสนใจ และไม่ได้จบเพื่อเป็นครูโดยตรง ทางคณะเน้นให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการศึกษาในหลายมิติ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ตรงกับความสนใจและสอดคล้องกับ life style ของเรา”

บรรยากาศการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยของพี่แท็ค
บรรยากาศการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยของพี่แท็ค

เทคนิคในการค้นหาคณะที่ใช่สำหรับตัวเรา

สำหรับเทคนิคการค้นหาคณะที่ใช่สำหรับพี่แท็คคือ การมองไปไกลๆ ว่า ในอนาคตเราอยากจะใช้ชีวิตแบบไหนกันแน่ หรือว่าเราอยากจะเป็นอะไรในอนาคต พอเรามองเห็นภาพนั้นแล้ว เราก็มาเลือกว่า คณะไหนตรงกับความสนใจเรา และจะพาเราไปถึงสิ่งที่เราอยากจะเป็นได้ ดังนั้นจำเป็นมากๆ ที่น้องๆ จะต้องไปดูหลักสูตรของแต่ละคณะให้ละเอียด ว่าเขาสอนอะไร มุ่งเน้นอะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดขึ้นเลยว่า คณะนี้ใช่เราไหม

การเตรียมตัวรอบพอร์ต

ส่วนตัวของพี่แท็คเองเริ่มมาจากการที่ครูแนะแนว แนะนำว่า ผลงานที่ผ่านมาของพี่แท็คมีความน่าสนใจ เพราะทำกิจกรรมมาตลอด เลยมีความคิดว่า ควรจะใช้มันให้เกิดประโยชน์ ให้มันสามารถพาเราไปถึงสู่จุดที่เราสามารถมีที่เรียนได้ และพี่แท็คยังบอกอีกว่า “อย่าให้ใครมาบอกว่ากิจกรรมจะทำให้เราเสียการเรียน”

 สำหรับการเตรียมตัวก่อนยื่นรอบพอร์ต พี่แท็คเล่าว่า “ช่วงนั้นตอนช่วงยื่นรอบพอร์ต จริงๆ มีเวลาน้อยมาก เหมือนกว่าจะค้นหาเจอว่า อันนี้คือเป้าหมายของเรา ประมาณไม่ถึงเดือนด้วยซ้ำ ตอนนั้นก็เลยค่อนข้างเข้มข้นนิดหนึ่ง ซึ่งเราจะเน้นการรวบรวมผลงานให้มันเป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะกำหนดทั้งหมด พยายามไม่ต้องฟุ้ง ต้องโฟกัสมากๆ เพราะเรามีโอกาสแค่ครั้งเดียว นอกจากนั้นเรายังพยายามทำให้มันตรงตามเกณฑ์ให้ได้มากที่สุดด้วย และพยายามปรึกษาอาจารย์หรือหาข้อมูลเพิ่ม แต่จริงๆ เราโชคดีด้วยแหละที่ก่อนหน้านี้เราทำพอร์ตมาอยู่แล้ว เพราะอาจารย์ที่โรงเรียนสั่งให้ทำส่ง เลยไม่ต้องเสียเวลาในการรวบรวมใหม่ แล้วที่สำคัญคือ สู้อย่างเดียวด้วย!!”

 

สำหรับน้องๆ คนไหนอยากรู้อะไรเพิ่มเติมไปที่ @xtoktak ได้เลย
สำหรับน้องๆ คนไหนอยากรู้อะไรเพิ่มเติมไปที่ @xtoktak ได้เลย

จุดเริ่มต้นของการทำ TikTok และ YouTube 

ในเรื่องของจุดเริ่มต้นของการทำคลิปลง TikTokและ YouTube พี่แท็คเล่าให้ฟังว่า “เริ่มจากการที่เราติดรอบพอร์ต แล้วเราลงไอจีสตอรี่ส่วนตัว ทำให้มีคน DM มาเยอะมาก ซึ่งน้องๆ ที่รร ก็ทักมาอยากให้เรารีวิวให้หน่อยว่า พอร์ตทำยังไงถึงติด เราเลยตัดสินใจทำแล้วกัน เพราะตัวเราเองก็คิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์มากๆสำหรับใครที่มาดูในปีต่อๆ ไป ส่วน TikTok ก็คล้ายกันเลย เรามองว่า platform นี้น่าสนใจ มันใกล้ชิดกับคนดู สามารถถาม-ตอบกันได้ง่าย เราก็เลยตัดสินใจทำอีกช่องหนึ่งด้วย 

ส่วนผลตอบรับ คือ ตอนแรกตกใจมากตอนที่รู้ว่ายอดวิวมันเยอะมากเลย ไม่ใช่แค่ยอดวิวอย่างเดียว คอมเมนต์ก็มีมากเช่นกัน แต่มันไม่ใช่คอมเมนต์ที่บอกว่า เก่งจังเลย! มันคือคอมเมนต์ที่ถามต่อยอดไปเรื่อยๆ คล้ายๆ กับการถามว่าตรงนี้จะทำยังไงต่อดี หรือจะต้องใส่อะไรเพิ่มบ้าง โดยมีคำถามเข้ามาเพิ่มเยอะมาก มันก็เลยทำให้เรารู้ว่า อ๋อ ยังมีคนที่ยังไม่รู้และข้อมูลบางอย่างยังมีน้อยมากๆ เราก็เลยตัดสินใจทำต่อไปเรื่อย ๆ เพราะยังมีคนต้องการข้อมูลส่วนนี้อยู่นั่นเอง”

 

ตัวอย่าง Portfolio ของพี่แท็ค
ตัวอย่าง Portfolio ของพี่แท็ค 

เทคนิคสำคัญ สำหรับการทำ Portfolio

สำหรับเทคนิคสำคัญในการทำพอร์ตที่พี่แท็คอยากบอกน้องๆ ก็คือ ผลงานที่อยู่ในพอร์ต ควรเป็นผลงานที่ตรงกับความต้องการของคณะนั้นๆ ซึ่งต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะกำหนดมา โดยพี่แท็คจะย้ำว่า อยากให้น้องๆ อ่านเกณฑ์ของคณะให้แตกฉาน นอกจากนั้น คือ ความน่าสนใจของพอร์ต 

“มันอาจจะอยู่ที่ตัวของเราเองว่า จะจัดเรียงผลงานยังไงให้โดดเด่นขึ้นมา มันไม่ได้จำเป็นเลยที่จะมีผลงานเยอะหรือว่าจะมีผลงานน้อย มันจำเป็นมากกว่า ว่า เราจะจัดยังไงให้กรรมการดูแล้วรู้สึกว่ามันน่าสนใจ หรือมีการเล่าเรื่องยังไง และเห็นภาพชัดเจนหรือเปล่า ที่สำคัญคือ อ่านยากไหม เพราะกรรมการต้องดูพอร์ตหลายเล่มมาก ถ้าเกิดพอร์ตเราจัดหน้าแล้วดูยาก มันอาจจะทำให้ความน่าสนใจลดลง ซึ่งแท็คเองจะบอกกับน้องๆ เสมอว่า พยายามจัดให้เป็นระเบียบและให้อ่านง่ายมากที่สุด

รูปแบบพอร์ตของคณะสายครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 

สำหรับแท็คเองมองว่า “ส่วนใหญ่คณะสายครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จะเน้นไปที่ทัศนคติที่เรามีต่อวิชาชีพ เหมือนว่าเรามีทัศนคติอย่างไรบ้างต่อวิชาชีพครู หรือมีแรงบันดาลใจยังไงบ้าง และเราจะเรียนคณะนี้ไปต่อยอดอย่างไรในอนาคต ซึ่งที่เราเคยเห็น จะเป็นรูปแบบเรียงความที่ให้แสดงทัศนคติทางด้านนี้ และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ยังมีความสามารถเฉพาะทางเกี่ยวกับสาขานั้น ๆ เช่น สาขา ภาษาอังกฤษ อาจจะต้องการความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษของเราด้วย”

 

พี่แท็คกับกิจกรรมจิตอาสา ที่แนะนำให้น้องๆ ไม่ควรพลาด!!
พี่แท็คกับกิจกรรมจิตอาสา ที่แนะนำให้น้องๆ ไม่ควรพลาด!!

5 แนวทางเสริมทัพพอร์ตให้คณะกรรมการสนใจ สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีผลงานเยอะ !!

พี่แท็คมี 5 แนวทางที่จะมาช่วยเสริมทัพพอร์ตของเราให้กรรมการสนใจแม้กิจกรรมจะน้อยก็ตาม ซึ่งเป็นแนวทางให้น้องๆ สามารถที่จะเก็บผลงานเพิ่มได้ ไม่รอช้า เราไปดูกันเลย ><

“1. ความสามารถ/งานอดิเรก ข้อนี้น้องๆ หลายคนอาจจะลืมกัน แต่แท็คว่าจริงๆ ความสามารถหรืองานอดิเรกของเราก็สามารถเอามาทำเป็นผลงานในพอร์ตได้เลยนะ อย่างน้องๆ บางคนที่อยากเข้าคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ อาจเคยเป็นครูสอนพิเศษ ก็สามารถเอามาทำเป็นผลงานได้เลย 

2. เรียนออนไลน์เสริมทักษะที่บ้าน ซึ่งวิธีเป็นวิธีที่เหมาะมากๆ สำหรับยุคโควิดแบบนี้ เพราะสามารถเรียนได้ง่ายที่บ้าน นอกจากนั้นยังได้เกียรติบัตรเมื่อเรียนจบคอร์สอีกด้วย

3. งานจิตอาสา ซึ่งผลงานนี้ เป็นผลงานที่หลายคณะมากกว่า 80% เลยที่ใช้รับสมัคร แต่ในสถานการณ์แบบนี้เราอาจจะเลือกทำจิตอาสาออนไลน์ที่สามารถทำได้จากที่บ้าน เช่น อ่านหนังสือให้ผู้พิการทางสายตา หรืออาจเลือกทำกิจกรรมอาสาจากความสามารถของเรา ซึ่งถ้าเกิดทำกิจกรรมแบบออฟไลน์ได้ ก็ควรไปนะ แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ทำออนไลน์กันไปก่อนแล้วกันครับ 

4. เกรดหรือคะแนนสอบภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถช่วยน้องๆ ได้มากเลย เพราะว่าหลายๆ คณะใช้เกรด/คะแนนสอบภาษาอังกฤษยื่นเข้าไปได้ ซึ่งอาจจะใช้แค่เกรด/คะแนนสอบภาษาอังกฤษอย่างเดียวเลยก็มี หรืออาจจะใช้ร่วมกับส่วนประกอบอื่นๆ เช่น การเขียนเรียงความ ก็มีเช่นกันครับ

5. ใบรับรองความประพฤติจากโรงเรียนและครู ถึงเราไม่มีเกียรติบัตรเลย แต่บางคณะ/สาขาในรอบพอร์ตก็สามารถใช้ใบรับรองความประพฤติจากครูประจำชั้นเป็นส่วนหนึ่งในการสมัครได้”

ฝากถึงเพื่อน ๆ ชาว Dek-D ของเราในการเตรียมตัวสมัครรอบ Portfolio

ก่อนจากกันไปในวันนี้ พี่แท็คก็มีสิ่งที่อยากจะฝากถึงเพื่อนๆ ชาว Dek-D ด้วย “ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคน เพราะช่วงนี้ด้วยสถานการณ์อะไรหลายๆ อย่าง ทำให้โอกาสในการเก็บผลงานน้อยลง แต่อยากให้เก็บผลงานไปเรื่อยๆ เท่าที่สามารถทำได้ เช่น เก็บออนไลน์ไปก่อน เชื่อว่าอาจารย์ที่ออกเกณฑ์ในรอบพอร์ตแต่ละมหาวิทยาลัย เขาก็น่าจะเข้าใจเราประมาณหนึ่งว่าช่วงนี้อาจจะเก็บผลงานได้ยาก แล้วก็อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะฝากคือ ในการสมัครรอบพอร์ต สำคัญมากๆ คือการอ่านเกณฑ์ เพราะรอบพอร์ตกับเกณฑ์รับสมัครเป็นของคู่กัน ถ้าเกิดเราไม่อ่านเกณฑ์ และทำไม่ครบถ้วน บางทีก็อาจจะถูกปัดตกตั้งแต่ยังไม่ได้ทำอะไรเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นเราต้องดูให้ดีว่า เขาต้องการให้เราใส่ข้อมูลอะไรบ้าง ใช้เอกสารอะไรบ้าง และในส่วนของเล่ม Portfolio อาจจะให้คนใกล้ตัวช่วยดูว่า เรามีพิมพ์ผิดสลับหน้าหรือตกหล่นอะไรไหมประมาณนั้นครับ เพราะถ้าหากขาดตกบกพร่องตรงส่วนไหนเราจะได้แก้ทัน สู้ๆ นะครับ เป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคน”

 

สำหรับน้องๆ คนไหนมีคำถามเพิ่มเติม  สามารถถามพี่แท็คได้ที่ IG @xtoktak กันได้นะคะ
สำหรับน้องๆ คนไหนมีคำถามเพิ่มเติม  สามารถถามพี่แท็คได้ที่ IG @xtoktak กันได้นะคะ

พี่แท็คก็เป็นอีกหนึ่งรุ่นพี่คนเก่งของเราที่คอยเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาให้น้องๆ หลายคนฟัง เช่น ประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องการเรียนของพี่แท็คเอง สำหรับน้องๆ คนไหนที่อยากรู้อะไรเพิ่มเติมหรือมีคำถามอะไรที่ยังสงสัยอยู่ สามารถถามพี่แท็คได้ที่ @xtoktak ทั้งใน IG และ TikTok ได้เลยนะคะ ><

 

สำหรับน้องๆ ที่สนใจอยากจะเข้ารอบพอร์ตในคณะสายครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์หรือคณะอื่นๆ สามารถนำเทคนิคจากพี่แท็คไปลองปรับใช้ดูกันได้นะคะ หรือถ้าเพื่อนๆ คนไหนมีไอเดียดีๆ มาแชร์กันได้นะคะ พี่นุกนิกขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนค่ะ !!

พี่นุกนิก
พี่นุกนิก - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น