คุยกับ "พี่จี๋" บัณฑิต GSSE มธ. เด็กทุนฯ จากไทยไปเรียน School of Education ที่ Harvard University

มีน้องๆ คนไหนที่มีความฝันอยากเรียนต่อที่ต่างประเทศหลังจากเรียนจบปริญญาตรีบ้างไหมคะ เพราะหลายคนหลังจากได้เริ่มทำงานไปแล้วก็ได้ค้นพบความชอบในด้านใหม่ๆ ที่ตัวเองชื่นชอบ ประกอบกับมีโอกาสเข้ามาก็เป็นสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจเรียนต่อได้ง่ายมากขึ้น

เหมือนอย่าง "พี่จี๋ ชลิสา" ผู้ที่มีเรื่องราวและความคิดที่น่าสนใจมาก โดยหลังจากจบการปริญญาตรีหลักสูตร GSSE วิทยาลัยโลกคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ แล้ว ก็ได้ทำงานในสายการศึกษา จนเก็บมาเป็นความสนใจ และในที่สุดก็สามารถเข้าเรียน  Learning Design, Innovation and Technology ที่มหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง Harvard University ได้  และยังเป็นผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ประจำปี 2564 อีกด้วย โปรไฟล์ขนาดนี้ ไปทำความรู้จักกันเลยค่ะ

พี่จี๋ GSSE เด็กทุนฯ จากไทย ไปเรียน School of Education ที่ Harvard University
พี่จี๋ GSSE เด็กทุนฯ จากไทย ไปเรียน School of Education ที่ Harvard University

แนะนำตัวให้เพื่อนๆ น้องๆ ชาว Dek-D รู้จักหน่อยค่า

สวัสดีค่ะ จี๋ ชลิสา แก้วหล้า เป็นบัณฑิตจากวิทยาลัยโลกคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ค่ะ และได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ประจำปี 2564 ค่ะ

น้องจี๋เพิ่งได้รับทุน และกำลังจะไปเรียนต่อ ม.ระดับโลก อย่าง Harvard University ไปเรียนอะไรคะ

ตัวสาขาที่จี๋ไปเรียนจะชื่อ Program Learning Design, Innovation and Technology ค่ะ อยู่ภายใต้ Harvard Graduate school of education จะเกี่ยวกับการ design ออกแบบการเรียนรู้โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยและให้ระบบการศึกษาหรือการเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

ฟังดูน่าสนใจมาก แต่ในไทยยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับการออกแบบการเรียนรู้เท่าไหร่ น้องจี๋ไปรู้จักหรือสนใจด้านนี้ได้ยังไงคะ

ความสนใจด้านนี้ เพราะเราเห็นว่าระบบการศึกษาควรได้รับการปฏิรูปค่ะ จี๋เคยไปแลกเปลี่ยนที่อิตาลี แล้วพบว่ามันเป็นประสบการณ์เรียนรู้ที่มีความหมายมาก เพราะได้เห็นโลกกว้าง ทำให้เห็นว่าความเชื่อหรือความแตกต่างมันมีอยู่จริง ได้มองเห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ซึ่งมองย้อนกลับไปในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา มันทำให้เรารู้ว่าการศึกษาแทบไม่ได้สอนเราเลยว่าทุกวันนี้โลกของเราเป็นอย่างไร

 

ซึ่งตรงนั้นมันยิ่งทำให้เราสนใจและอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา ว่าจะทำอย่างไรให้การศึกษาสามารถช่วยให้คนมองเห็นและเข้าใจตัวเอง พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับโลกใบนี้ได้มากขึ้น

แต่น้องจี๋ไม่ได้จบด้านครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์มาโดยตรง แล้วคณะที่เรียนมา ช่วยปูทางให้น้องจี๋ได้ยังไงคะ

จริงๆ จี๋สนใจด้านการศึกษาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งตอนที่เราปักธงว่าสนใจเรื่องนี้จริงๆ คือตอนที่ไป VIA Program ที่ San Francisco มีกิจกรรมให้ทำ life map และเล่าเรื่องราวของตัวเอง ตอนนั้นเล่าเกี่ยวกับการไปแลกเปลี่ยนที่อิตาลี (ที่ได้เล่าไว้ด้านบน)  

ส่วนวิทยาลัยโลกคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ หลักสูตร GSSE ก็มีส่วนช่วยมากๆ เลย เพราะเป็นอีกที่หนึ่งที่ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ว่าโลกใบนี้เป็นอย่างไร สอนให้เราได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการลงมือทำจริง  

โดยในส่วนแรกที่ได้เรียนคือพาร์ท Global Studies ซึ่งให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับบริบทโลก และประเด็นปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ตัวมนุษย์ ชุมชน และ ประเทศ ไปจนถึงระดับโลก เป็นการศึกษาเชิงลึกจากปัญหาในระดับท้องถิ่นจนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างระดับนานาชาติไปด้วยกัน ส่วนที่สองคือ Social Entrepreneurship หรือส่วนของธุรกิจเพื่อสังคม เราจะศึกษาตั้งแต่การจัดการ การบริหาร การตลาด ไปจนถึง Social Innovation เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลกด้วยนวัตกรรมและเครื่องมือทางธุรกิจเพื่อสังคม

รวมทั้งตอนเรียนจบจี๋ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอยู่บ้าง เช่น เป็น freelance ทำงานกับองค์กร VIA ที่ซานฟรานซิสโก จากนั้นทำงานประจำที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. และ เป็น Consultant through learning designer กับ กองทุนเสมอภาคทางการศึกษาค่ะ ซึ่งประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้คน ซึ่งเรารู้สึกดีมากที่ได้เห็นกระบวนการเรียนรู้ที่มันเกิดขึ้นจากสิ่งที่เราลงมือทำ

แสดงว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เราสนุกกับการมองโลกมุมกว้างก็มาจากคณะนี้

ใช่เลยค่ะ พอกลับมาจาก VIA Program ขึ้นปี 4 พอดี ที่ GSSE จะมี วิชา Capstone ที่ให้นักศึกษา ได้ออกแบบว่าตัวเองจะทำอะไรทั้ง Course ตอนนั้นเลยได้ทำเรื่องนี้ต่อค่ะ คือ 6 หน่วยกิตนี้เราสามารถ design เองได้หมด แล้วทำได้ 2 เทอมเลย เป็นระยะเวลาที่นานพอที่จะบ่มเพาะอะไรสักอย่างออกมาได้ค่ะ

และที่สำคัญก็คือ อาจารย์และบรรยากาศในชั้นเรียนหล่อหลอมให้เรามีความกล้าและสนใจโลกใบนี้ อาจารย์ที่สอนก็มาจากหลายประเทศ จบการศึกษาจากสถาบันชั้นนำระดับโลก พอเราได้เรียนกับอาจารย์ได้มองเห็นประสบการณ์ต่างๆ ผ่านอาจารย์ผู้สอน เรารู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ world-class ซึ่งได้สร้างแรงบันดาลใจให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงของตัวเองสู่ระดับสากลได้ อย่างตอนที่ทำ Journey อาจารย์เป็นคนผลักดันให้เรากล้าออกจาก comfort zone และให้คำแนะนำที่มีประโยชน์มากๆ

พวกทักษะ Soft Skill ต่างๆ ก็ได้จากที่นี่ด้วย เพราะ GSSE เน้นการทำงานกลุ่ม เพราะฉะนั้นทักษะที่ต้องทำงานกับคนหมู่มาก เช่น การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ ภาวะผู้นำ เราได้ติดตัวมาจากที่นี่ทั้งหมด รวมถึงวิชาเรียนที่หลากหลาย เช่น ได้เรียนด้าน Finance, Marketing คือทุกวิชาพอเอามารวมกันแล้ว ทำให้เรามีความรู้ที่พร้อมเอามาทำงานจริงได้เลย

และถ้าใครได้มาเรียนที่นี่ก็น่าจะชอบบรรยากาศในการเรียนด้วย เพราะไม่ใช่แค่นั่งเลคเชอร์ ที่นี่มีรูปแบบการเรียนหลายแบบ สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ได้อย่างดีเลยค่ะ

ชอบวิชาไหนมากที่สุดคะ

คลาสที่ชอบที่สุด ชอบวิชา Case Study :  Globalization  เป็นคลาสที่ได้เรียนรู้เยอะและหนักมาก แต่สนุกมากเช่นกัน เพราะอาจารย์จะโยน Case ให้ แล้ว 1 อาทิตย์ต่อมาจะกลับมา discuss กันในห้อง อาจารย์จะโยนคำถาม บางทีจะให้ role play แล้วแต่สถานการณ์ แล้วให้ใช้ความคิดในการวิพากษ์ในการถกเถียง รู้สึกประทับใจมากๆ เพราะเป็นประสบการณ์เรียนรู้ที่ดีมากเลยค่ะ

อีกส่วนที่ชอบก็ตอนปี 4 วิชา PDP (Professional Development Portfolio) มีการทำ Group - coaching ว่าอนาคตอยากทำงานสายอาชีพใด ตรงนั้นก็จะมีอาจารย์คอยไกด์ไปอย่างที่อยากเป็นเลยค่ะ

แล้วไปยังไงมายังไง ถึงได้ไปเรียนที่ Harvard คะ

ขอขอบคุณวิทยาลัยโลกคดีศึกษาที่ซัพพอร์ตเราจนมาถึงตรงนี้ จริงๆ  ที่จี๋เลือกอเมริกาก็เพราะความเปิดกว้างทางความคิด จี๋รู้สึกท้าทายและสนุกทุกครั้งที่ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก คนที่มีมุมมองหลากหลายและแตกต่างจากเราค่ะ

ส่วนตอนสมัครก็ลังเลมากๆ เพราะคิดว่าคงยาก แต่ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ และคิดไว้ตลอดว่าถ้าไม่ติดก็ไม่เป็นไรเลย ซึ่งตอนที่เลือกที่นี่เพราะมีวิชาที่ตรงกับความสนใจของเราค่อนข้างเยอะ อย่างวิชาที่ทำให้เราได้สำรวจจิตใจตัวเอง ‘Mindfulness for Inner Strengths and Social Challenges’  หรือวิชาที่สอนให้เราทดลองคิดในเชิงสร้างสรรค์อย่าง ‘Design Learning by Creating’    

แนะนำสำหรับน้องๆ หน่อยค่ะ ว่าการสมัครเข้าเรียนที่ Harvard ต้องทำอะไรบ้าง  

ถ้าน้องๆ อยากสมัครเข้าเรียนที่ Harvard จะมีองค์ประกอบหลักๆ 3 อย่างนะคะ คือ

  • คะแนนสอบ GRE/ภาษาอังกฤษ ในส่วนนี้เป็นการสอบ Standardized Test ค่ะ ซึ่งปีที่จี๋สมัครเป็นปี 2020 มีโรค Covid 19 ระบาด ทำให้เขาได้ทำให้การส่งคะแนนไม่บังคับ เป็น optional แทนค่ะ
  • SOP statement of purpose การแสดงเหตุผลว่าทำไมอยากไปเรียนที่นี่ มีภูมิหลังอะไรที่ทำให้สนใจ เรื่องที่จะไปเรียน ทำไมต้องเป็นที่นี่ มีอาจารย์หรือคอร์สไหนที่อยากเรียน มองว่าสิ่งที่ทำมาในอดีตจะได้รับการต่อยอดจากโปรแกรม ป.โท ได้อย่างไร คล้ายเรียงความที่เขียนขึ้นเพื่อให้คณะกรรมการเห็นถึงเรื่องราว ศักยภาพ ความตั้งใจและความสนใจต่อคณะและมหาวิทยาลัยที่เราสมัคร รวมถึงอธิบายตัวตนว่าทำไมเราถึงเหมาะกับที่นี่่และ จะนำสิ่งที่ได้เรียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไรค่ะ ตรงนี้จะต้องอาศัยการมองเข้าไปลึกๆ ในตัวเอง ทบทวนเรื่องราวต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น การตัดสินใจ เพื่อให้เราสามารถเข้าใจตัวเองในระดับที่ลึกซึ้งขึ้นได้ ซึ่งที่ GSSE จะมีหัวข้อที่เรียนเกี่ยวกับการเขียน Resume และ Portfolio ก็ได้เอามาใช้ตลอดค่ะ
  • Resume + Portfolio  
    • Resume 
      ทำ resume จำกัดอยู่ที่ 1 หน้ากระดาษ A4 เพราะฉะนั้นจะต้องมีเกณฑ์ในการเลือกงานที่จะใส่ลงมาอยู่พอสมควร จี๋เลือกงานที่  impactful และภูมิใจที่เราทำ แต่ละงานให้เขียน impact เป็นตัวเลขเพื่อที่คณะกรรมการจะได้เข้าใจถึงผลลัพธ์ของงานที่เราทำ 
       
    • Portfolio 
      ในส่วนนี้ จี๋ได้รวบรวมประสบการณ์การทำงานและกิจกรรมทั้งหมดที่เคยทำมา ที่รู้สึกว่าประทับใจกับผลลัพธ์ที่ได้สร้างขึ้นและแสดงถึงศักยภาพและความสนใจของเราชัดเจน และนำมาออกแบบเป็น portfolio ค่ะ สำหรับจี๋เองก็ได้กล่าวถึงงานที่ทำหลังเรียนจบและระหว่างเรียน ป.ตรี ด้วย จี๋ได้ทำงานในแวดวงการศึกษาเกี่ยวกับการบริหารองค์กรด้านการศึกษา  การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้ใหญ่ในองค์กร การเป็นผู้ร่วมก่อตั้งชุมชนเพื่อสังคม และโปรเจคที่ทำขึ้นมาเองเกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ด้วย ก็เลยนำประสบการณ์และชิ้นงานพวกนี้มาร้อยเรียงให้เห็นถึง accomplishment และ challenge ที่ได้ผ่านมาในแต่ละการทำงาน อีกอย่างที่แสดงให้เห็นตัวตนของเราคือการดีไซน์พอร์ตให้สวยงาม ท้ายที่สุดแล้วเราต้องมั่นใจว่าคนที่อ่าน portfolio ของเราจะต้องเข้าใจและเห็นถึงศักยภาพและประสบการณ์ในสายงานที่เรามี 
       
    • Letters of Recommendation 
      ส่วนนี้คือจดหมายแนะนำจากคนที่รู้จักเราเป็นอย่างดี หรือ เคยทำงานด้วยและมองเห็นศักยภาพและจุดแข็งของเรา เชื่อในตัวเรา ทุกๆ โปรแกรมปริญญาโทจะต้องการจดหมายแนะนำ โปรแกรมที่จี๋สมัครไปต้องการจดหมายจาก 3 คน จี๋เองได้เลือกให้อาจารย์ใน GSSE ที่รู้จักในฐานะที่ปรึกษา project เดี่ยวต่อปี 4 และอาจารย์ได้เห็นการเติบโตของจี๋มาตั้งแต่เรียนปี 1 จนเรียนจบและทำงานเต็มตัว ก็ขอให้อาจารย์ช่วยเขียนจดหมายแนะนำจี๋ให้กับ Harvard ตรงนี้อาจจะเป็นโชคดีอย่างหนึ่งด้วยที่อาจารย์ก็เป็นศิษย์เก่าของ Harvard Graduate School of Education ด้วย นอกจากนี้จี๋ก็ยังได้ขอให้หัวหน้าที่ทำงาน และพี่ที่เคารพที่เคยทำงานด้วยกันในการเขียนจดหมายแนะนำให้ด้วย (จดหมายจะต้องถูกส่งไปโดยผู้เขียน โดยที่จี๋เองจะไม่ได้อ่านก่อนเช่นกัน ฉะนั้นแล้วเราต้องเลือกคนที่เราไว้ใจ เข้าใจในศักยภาพเราและพร้อมจะสนับสนุนเราจริงๆ)

มีแผนในอนาคตหรือยังคะว่าอยากทำอะไรหลังเรียนจบ

       ในฐานะผู้ที่ได้รับทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เรามุ่งมั่นที่จะนำความรู้กลับมาตอบแทนประเทศอยู่แล้ว และเราหวังที่จะแบ่งปันประสบการณ์ในระบบการศึกษาไทยเพื่อที่จะเข้าใจความแตกต่างของระบบการศึกษาในทุกๆ มุมโลก ถ้าได้ไปถึงที่นั่นแล้วเราก็จะตั้งใจเรียนรู้โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะเราก็อยากคิดค้นนวัตกรรมด้านการศึกษาที่จะทำให้ทุกๆ คนได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ 

และที่สำคัญคือเราอยากจะทำให้การศึกษาเป็นมากกว่าเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างทักษะหรือการสร้างความรู้ แต่ว่ายังสามารถสร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลกใบนี้ได้ด้วยค่ะ

 

ว้าวว..น้องๆ อ่านแล้วเป็นเหมือนพี่มิ้นท์ไหมคะ ที่ตื่นเต้นเหมือนกับจะได้ไปเรียนเองเลย ซึ่งถ้าหากใครมีความฝันที่คล้ายกับพี่จี๋อย่าลืมทำตามความฝันให้สำเร็จ แต่ถ้าใครยังไม่รู้ว่าต่อไปจะชอบอะไร ก็อย่าลืมใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้คุ้มค่า เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้อะไรต่างๆ บนโลกใบนี้ เหมือนอย่างที่พี่จี๋เรียน GSSE วิทยาลัยโลกคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ และตั้งใจฝึกฝนและเก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ จากการเรียน การฝึกงาน การทำกิจกรรมต่างๆ จนสามารถพาตัวเองไปอยู่ในมหาวิทยาลัยระดับโลกได้สำเร็จ ^^

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น