มาคุยกับ "พี่หลุน-บวรทัต" นิสิตจากโครงการจุฬา-ชนบท ถึงเคล็ดลับยื่นสมัครแบบไหนให้ผ่านคัดเลือก

สวัสดีค่ะน้องๆ เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา พี่แนนนี่ได้พาน้องๆ ไปเปิดใบสมัครโครงการชื่อดังจากรั้วจามจุรี อย่างโครงการจุฬาฯ - ชนบท กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่าขอข้อมูลค่อนข้างละเอียด มีขั้นตอนการคัดเลือกหลายรอบ แต่ก็ยังถือว่าเป็นโครงการที่ใครหลายๆ คนให้ความสนใจ และอยากผ่านการคัดเลือกจากโครงการนี้อยู่ดี ซึ่งการพิจารณาคัดเลือกของโครงการนี้ก็ไม่เบา เริ่มดูกันตั้งแต่การกรอกใบสมัครกันเลย

วันนี้พี่แนนนี่ก็เลยพา "พี่หลุน-บวรทัต เป็งสุข" นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รุ่นพี่ที่ผ่านเข้าไปเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยโครงการจุฬาฯ-ชนบท  มาเล่าประสบการณ์การยื่นสมัคร การคัดเลือก และการสอบสัมภาษณ์ต่างๆ  ให้น้องๆ ได้นำไปเตรียมตัวกัน

หลุน-บวรทัต เป็งสุข
หลุน-บวรทัต เป็งสุข

มาคุยกับ "พี่หลุน-บวรทัต" นิสิตจากโครงการจุฬา-ชนบท ถึงเคล็ดลับยื่นสมัครแบบไหนให้ผ่านคัดเลือก

มาเริ่มแนะนำตัวให้น้องๆ รู้จัก

สวัสดีครับ พี่ชื่อ หลุน-บวรทัต เป็งสุข อยู่ปี 4   คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย....จบมัธยมฯ ปลาย จากโรงเรียนสมเด็จพิทยาคม อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ เป็นโรงเรียนที่ค่อนข้างใหญ่ครับ

รู้จักโครงการจุฬาฯ-ชนบทได้ยังไง

อาจารย์แนะแนวที่โรงเรียนจะมาประชาสัมพันธ์ว่ามีโครงการอะไรบ้าง ก็มีหลายโครงการ แต่จุฬาฯ - ชนบท เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับความนิยมมากในโรงเรียนผม มีหลายคนสนใจ แต่ตอนนั้นทางโครงการจะจำกัดว่าโรงเรียนละประมาณ 12 - 13 คน

เล่าขั้นตอนการยื่นสมัครให้ฟังหน่อย

เริ่มแรกเตรียมเอกสารการสมัครต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต้องกรอกเอกสารให้ครบตามความเป็นจริง ตัวเอกสารจะต้องกรอกละเอียดมาก เช่น บ้านคุณยาวเท่าไหร่ กี่ตารางวา หมูเห็ดเป็ดไก่กี่ตัว ไร่นาเท่าไหร่ พ่อแม่ได้เงินเท่าไหร่ รายได้ต่อปีเท่าไหร่ ไปโรงเรียนยังไง ได้เงินไปโรงเรียนวันละเท่าไหร่ มีพี่น้องกี่คน คือยิบย่อยมาก จนจำทั้งหมดไม่ได้ แล้วก็ต้องเขียนแผนที่ไปด้วย ตอนนั้นต้องขับรถไปดูเลยว่าถนนกี่กิโลเมตร แล้วเอามาวัดสเกลเขียนลงกระดาษ รวมถึงรูปถ่ายที่ค่อนข้างละเอียดเหมือนกัน โครงการจะบอกเลยว่าถ่ายหน้าบ้าน หลังบ้าน ในบ้าน และครัว พอเตรียมเรียบร้อยแล้วผมส่งเอกสารให้โรงเรียนก่อนเป็นด่านแรก โรงเรียนกรองเอกสารให้ (เหมือนยื่นกยศ.) ว่าเอกสารถูกต้องไหม ลืมกรอกตรงนี้หรือเปล่า ถ้าโอเคแล้วโรงเรียนจะนำส่งให้ทางจุฬาฯ-ชนบทอีกที

หลังจากส่งเอกสารเสร็จ เราก็รอผลคะแนนพวก GAT/PAT วิชาสามัญออก  จากนั้นโครงการจะดูว่าเราผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำไหม แต่ละคณะก็มีเกณฑ์ของตัวเอง อย่างคณะผม (รัฐศาสตร์) ใช้วิชา GAT 100% เกณฑ์ขั้นต่ำต้องผ่าน  105 คะแนน หรือ 35% ซึ่งถ้าผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำได้ ก็มีสิทธิ์เข้าสู่รอบต่อไป โดยทางโครงการฯ จะประกาศรายชื่อออกมาว่าใครผ่านการคัดเลือก มีสิทธิ์ได้รับการเยี่ยมบ้าน และถ้าเราผ่านคัดเลือกจากการเยี่ยมบ้านแล้ว จะมีการสอบสัมภาษณ์อีกครั้งนึง

การไปเยี่ยมบ้านเป็นอย่างไรบ้าง

ทางจุฬาฯ-ชนบท จะแจ้งล่วงหน้าไม่กี่ชั่วโมงว่าจะเข้ามาเยี่ยมบ้าน  แล้ววันนั้นอาจารย์-เจ้าหน้าที่ก็นั่งรถตู้มา มาดูว่าความเป็นอยู่ยังไง บ้านที่อยู่จริงๆ ตรงตามที่กรอกในใบสมัครไหม คุณสมบัติเราแบบจนจริงไหม เพราะว่าโครงการนี้เขาเอื้อเฟื้อให้คนที่เรียนดี แต่ว่าฐานะยากจนจริงๆ ที่จะเข้าไปเรียนในจุฬาฯ แล้วเขาไม่ได้ดูแค่บ้านเรา จะไปถามคนข้างบ้านด้วยว่ารู้จักน้องคนนี้ไหม เป็นยังไงบ้าง กตัญญูไหม หรือว่าเรียนดีไหม เกเรไหม ทำนู่นทำนี่ไหม อาจจะมีไปคุยกับผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนันด้วย (แบบนี้ต้องแอบไปผูกมิตรกับคนข้างบ้างคนในชุมชนไว้ด้วยใช่ไหม?) ก็ใช่ครับ แต่ก็เป็นสังคมชนบทเนอะ ในหมู่บ้านก็รู้ๆ กันหมดอยู่แล้วครับ

อย่างวันที่เขามาเยี่ยมบ้านผม ผมจะไม่อยู่บ้าน มีไปทำธุระต่างอำเภอ ตอนแรกผมก็กระวนกระวายกลัวว่าจะโดนตัดสิทธิ์ แต่เขาบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวไปคุยกับคนที่บ้าน ครอบครัวเรา และไปดูสภาพการเป็นอยู่จริงๆ ว่าตรงตามที่เขียนไปไหม คุณสมบัติตรงตามที่ต้องการไหม

เห็นว่าจะต้องมีสอบสัมภาษณ์อีกเป็นอย่างไรบ้าง

การเยี่ยมบ้าน ไม่ได้หมายความว่าจะผ่านเลยนะ หลังจากที่ทางจุฬาฯ-ชนบทไปเยี่ยมบ้านแล้ว ก็จะมีประกาศผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์อีกที อย่างเพื่อนผมที่โรงเรียน สมัครมาด้วยกัน คณะเดียวกัน ก็ได้ไปเยี่ยมบ้านเหมือนกัน แต่ไม่ได้ไปสอบสัมภาษณ์ ก็ตกใจเหมือนกัน  วันที่เขามาตรวจบ้านยังคุยกันว่า ดีนะครับ เพื่อนก็บอกทุกอย่างราบรื่นดี คุยดี อะไรดี ไม่มีตงิดใจเลย

หลังจากที่ประกาศรายชื่อแล้ว ผมก็ต้องไปสอบสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัย ที่จุฬาฯ เลย ทุกคนอยู่ต่างจังหวัด ผมอยู่กาฬสินธุ์ ก็ต้องเข้าไปในกรุงเทพฯ  การสัมภาษณ์ก็แล้วแต่คณะอีกว่าจะเป็นยังไง ของผม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ใจดี หลักๆ ถามผมว่า เรียนม.ปลายมาเหนื่อยไหม เป็นยังไงบ้าง เดินทางมาสอบยังไง ชีวิตเป็นยังไง อาศัยอยู่กับใคร ทำไมมาเรียนจุฬาฯ ทำไมเลือกเรียนรัฐศาสตร์ สาขานี้ล่ะ อารมณ์เหมือนถามไถ่ทั่วไป สบายๆ ต้อนรับเรา  คือไม่ได้มาแนววิชาการ ทฤษฎีของคนนี้คืออะไร เราก็เตรียมตัว อ่านประวัติศาสตร์ เตรียมความรู้ เตรียมทฤษฎีไปแน่น พอเข้าไปกลายเป็นคำถามที่ไม่คาดคิด  ผมก็ตกใจเลยครับ เทียบกับตอนไปสอบรอบ Portfolio มหาวิทยาลัยอื่นเข้มมาก อันนี้สบายๆ เลย

พอประกาศผลสัมภาษณ์ออกมาแล้วว่าเราติดจุฬาฯ ก็จะมีให้เข้าค่ายปรับระดับก่อน ประมาณ 11 วัน (อันนี้คือก่อนที่จะมีโควิดนะครับ) ก็เข้ากรุงเทพฯ ไปอยู่ที่จุฬาฯ เลย ได้เข้าหอก่อนเพื่อนๆ มีทั้งเรียนภาษาอังกฤษ เรียนนู่นนี่นั่น เหมือนได้ลองเรียนก่อนเปิดเทอมจริง ตรงนี้เด็กจุฬาฯ-ชนบทจะได้เปรียบ เพราะปรับตัวก่อนเรียนมหาวิทยาลัยจริง ได้เจอมาเพื่อนๆ ก่อน

โครงการฯ มีทุน 2 แบบ แล้วคัดเลือกยังไง?

จะมีทุน ก. ที่ได้ทั้งค่าเทอม ค่าหอพัก ค่าอุปกรณ์ต่างๆ และค่ารายเดือน และทุน ข. ที่ได้ทุกอย่างเหมือนกัน ยกเว้นค่ารายเดือน เหมือนจะดูฐานะทางบ้านด้วย ถ้าพ่อแม่ใครยังพอสนับสนุนไหว ก็จะได้เป็นทุน ข. แต่ถ้าบ้านใครไม่สามารถช่วยเหลือได้เลย ก็จะเป็นทุน ก. ส่วนการคัดเลือกไม่แน่ใจเหมือนกันครับ ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเลือกตั้งแต่ตอนแรก ตอนสมัครเลย เลือกไปเลยว่าอยากได้ทุนไหน ทุน ก. หรือทุน ข.

ผ่านโครงการนี้เข้าไป เป็นอย่างไรบ้าง คือมีหลายคนกังวลเรื่องสังคมในมหา’ลัย

คนที่เข้ามาด้วยจุฬาฯ-ชนบท ไม่ได้เป็นจุดเด่นขนาดนั้น เพราะคนที่เข้ามาในคณะ มาจากหลากหลายโครงการมาก การเรียนทุกอย่างเหมือนกันหมด ทุกคนเรียนเริ่มนับหนึ่งพร้อมกัน คือไม่มีอะไรที่รู้สึกว่าแตกต่าง หรือเป็นแกะดำเลย รู้สึกกลมกลืนไปหมดเลย  ส่วนเรื่องเพื่อน ใครจะไปจับกลุ่มกับใครก็แล้วแต่ไลฟสไตล์แต่ละคน

อีกอย่างนึงคือจะมีศูนย์จุฬาฯ-ชนบท เป็นที่ที่รวมเด็กโครงการนี้ไว้ด้วยกัน คอยแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ คอยให้คำปรึกษา มีปัญหาอะไรไหม เรื่องเรียน เรื่องใช้ชีวิต แล้วก็จะมีรุ่นพี่จากหลายคณะมาช่วยซัพพอร์ตอยู่ด้วย สบายใจได้ เรามาจากต่างจังหวัด ต่างถิ่นเหมือนกัน พี่ๆ เขาผ่านจุดนี้มาแล้ว รู้ว่าเป็นยังไง จะผ่านจุดนี้ยังไง มีประสบการณ์อะไรก็จะมาแชร์ให้น้องๆ ฟัง

เงื่อนไขโครงการมีต้องทำจิตอาทำจิตอาสา หรือใช้ทุนคืนอะไรบ้างไหม

มีทางกลุ่มคณะวิทย์-สุขภาพที่ต้องใช้ทุนกันอยู่แล้วมากกว่า ส่วนจุฬาฯ-ชนบทคณะอื่นๆ เท่าที่ทราบมาไม่มีเลยครับ ไม่ได้ผูกมัดอะไร แต่อารมณ์เหมือนเป็นจิตสำนึกว่า ได้ทุนจากโครงการไปแล้ว เมื่อเรียบจบก็กลับไปพัฒนาชนบทที่ที่คุณจากมา ส่วนเรื่องการทำจิตอาสาก็ไม่มีบังคับครับ จะมีเป็นเหมือนค่ายมากกว่า เช่น ค่ายเพาะฝัน ที่ไปสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ ในชนบท, ค่ายสร้าง ไปสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สร้างอาคารอเนกประสงค์ ให้กับชนบทในแต่ละปี แต่ก็ไม่เชิงของเด็กจุฬาฯ-ชนบทนะครับ ไม่ได้จำกัดเลย ไปได้หมด แต่เด็กส่วนใหญ่ที่รู้จักค่ายนี้ ไปค่ายนี้ก็จะเป็นเด็กจุฬาฯ-ชนบทนี่แหละ

ฝากอะไรถึงน้องๆ ที่กำลังจะยื่นโครงการจุฬาฯ-ชนบท

ครั้งนึงในชีวิตม.ปลายเนอะ ถ้าสนใจโครงการนี้ก็ไปสมัครเลย เป็นโครงการที่ดีมากๆ ส่วนตัวคิดว่าเด็กบ้านนอกคนนึงที่จะไปเรียนในจุฬาฯ ได้ คือมันฟรีทุกอย่าง ค่าเทอม ค่าหอ ค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเสื้อผ้าเขาก็จะมีให้ครบทุกอย่าง เรื่องการเรียนที่นี่ เราสามารถปรับตัวได้ ไม่ต้องห่วง เพื่อนๆ ไม่มีเหยียดด้วย  คือถ้าเราไม่รู้อะไรก็ยิ่งจะช่วยให้เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเหลือกันอย่างเดียว สบายใจได้ ส่วนรุ่นพี่ในโครงการก็ดูแลดีมาก เหมือนเป็นครอบครัวอีกครอบครัวนึงเลยครับ

โอโห...หลังจากที่ได้ฟังพี่หลุนเล่าแล้วเนี่ย น้องๆ คนไหนที่สนใจยื่นสมัครโครงการจุฬาฯ-ชนบท รีบไปเตรียมเอกสารการสมัครเอาไว้ให้เรียบร้อยกันตั้งแต่ตอนนี้เลยนะคะ แล้วอย่าลืมนะคะว่าต้องกรอกตามความเป็นจริง!

พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น