9 Culture Shock! ที่เฟรชชี่น้องใหม่ต้องเจอในรั้วมหาวิทยาลัย

สวัสดีค่ะ อีกไม่กี่เดือนน้องๆ #dek65 ก็จะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยกันแล้ว จากเด็กนักเรียนวัยมัธยม กลายเป็นนักศึกษาเฟรชชี่น้องใหม่ สำหรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้แน่นอนว่าหลายคนคงจะตื่นเต้น และเป็นกังวลว่าเราจะต้องปรับตัวยังไง จะต้องเจอกับอะไรบ้าง วันนี้พี่แป้งรวมเอาเรื่องราวความแตกต่างระหว่างชีวิตมัธยมและมหาวิทยาลัยที่ชาวเฟรชชี่จะต้องเจอและปรับตัวในรั้วมหาวิทยาลัยมาฝากค่ะ จะมีอะไรบ้างไปดูกัน!

9 Culture Shock! ที่เฟรชชี่น้องใหม่ต้องเจอในรั้วมหาวิทยาลัย

1.รูปแบบการเรียน

สิ่งแรกเลยที่เปลี่ยนไปจากชีวิตมัธยมแน่ๆ คือ ตารางและเวลาเรียน ปกติตอนมัธยมแต่ละคาบจะเรียนไม่เกิน 1 ชั่วโมง หรือประมาณวันละ 6-8 วิชา แต่มหา’ลัยลัยคือ 1 วิชา เรียน 3-4 ชั่วโมงเลย ยาวนานมากๆ แถมบางทีตารางเรียนแต่ละวันก็เรียนไม่เหมือนกันด้วย บางวันเรียนเช้า บางวันเรียนบ่าย หรือเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ก็มีค่ะ และนอกจากนี้ก็ยังมีการนัดเรียนชดเชยในกรณีที่วิชานั้นเรียนตรงกับวันหยุด หรืออาจารย์ยกคลาส ซึ่งขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอนว่าจะนัดเป็นช่วงวันหรือเวลาไหน แต่ถ้าอาจารย์ใจดีหน่อยก็ไม่มีเรียนชดเชยนะคะ

2.สงครามการลงทะเบียนเรียน

น้องๆ อาจจะเคยได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากรุ่นพี่ว่าวันลงทะเบียนเรียนคือ ศึกแห่งการแย่งชิงที่นั่งของเหล่านักศึกษา  โดยการลงทะเบียนเรียนจะต้องลงผ่านเว็บไซต์ของมหา’ลัย ซึ่งเว็บไซต์ต้องรองรับนักศึกษาจำนวนมากที่มาลงทะเบียนพร้อมกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบล่มจนเกิดอาการหัวร้อนกันไปหมด แถมบางคนก็พลาดวิชาที่อยากเรียนเพราะที่เต็ม T-T ดังนั้นเราเองก็ต้องวางแผนสำรองเอาไว้ด้วย ถ้าเกิดลงวิชานี้ไม่ทันแล้วจะเรียนวิชาไหนแทน แต่บางวิชาอาจจะมีการเปิดรับเพิ่มซึ่งอันนี้เราก็ต้องติดตามข้อมูลเอาไว้ให้ดี

3. วิชาเอก วิชาโท วิชาเสรี

ตอนมัธยมเราต้องเรียนตามตารางที่โรงเรียนจัดมาให้ทั้งหมด ส่วนมหา’ลัยจะมีบางวิชาที่ทางคณะ/สาขากำหนดวันเรียนมาให้เราเหมือนกัน แต่ก็จะมีบางวิชาที่เราเป็นคนเลือกวิชาต่างๆ และจัดสรรตารางเรียนด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญในการเลือกวิชาเลยคือ ต้องเลือกให้หน่วยกิตครบตามหลักสูตรที่ทางคณะ/สาขากำหนดเอาไว้ด้วยนะคะ ซึ่งวิชาที่เปิดสอนแบ่งออกเป็น 3 หมวด ดังนี้

  • วิชาเอก เป็นวิชาเฉพาะในหลักสูตรบังคับที่จะต้องเรียนทุกวิชาตามที่คณะ/สาขากำหนด
  • วิชาโท เป็นวิชาเลือกในสาขา โดยจะมีวิชาในสาขาให้เราเลือกเรียน เพื่อเพิ่มเติมความรู้ในสาขาที่เรียนให้มากขึ้น
  • วิชาเสรี เป็นวิชาที่เราสามารถเลือกได้อย่างอิสระ จะเลือกจะเรียนวิชาไหนก็ได้ ที่เปิดสอนในมหา'ลัย ซึ่งเป็นวิชาที่นอกเหนือจากในสาขาของตัวเอง

4.ข้อสอบเขียนสุดโหด

ตอนมัธยมเรามักจะเจอข้อสอบที่เป็นปรนัยหรือกากบาท แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยข้อสอบส่วนใหญ่จะเป็นแบบข้อเขียน โดยส่วนใหญ่แล้วข้อสอบแบบข้อเขียนมักจะเป็นการวัดระดับความรู้ความเข้าใจของเรา เป็นคำถามปลายเปิดโจทย์ 2-3 บรรทัด แต่กระดาษคำตอบบางทีมาเป็นเล่ม! ซึ่งการตอบส่วนมากต้องใช้การวิเคราะห์ และสร้างสรรค์ รวมถึงการท่องจำ ใครที่เตรียมตัวมาดีความรู้แน่นรับรองได้ว่าเขียนตอบได้สบายบรื๋อแน่นอน แต่สำหรับคนที่เตรียมตัวไม่ทันก็อาจจะต้องแถกันจนแผลเต็มตัวเลย ดังนั้นการวางแผนอ่านหนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในช่วงสอบ  

5.เรียนรวมร้อยกว่าคน

ส่วนมากวิชาที่เรียนรวมจะเป็นวิชาพื้นฐานที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดให้นักศึกษาแต่ละคณะต้องเรียน ซึ่งมีวิชาที่หลากหลายมากๆ เช่น วิชาเกี่ยวกับทักษะกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ ซึ่งแต่ละวิชาที่ได้เรียนนั้นจะมีประโยชน์ต่อตัวเราสำหรับการเรียนและทำงานในอนาคต การเรียนรวมจะได้พบเพื่อน พี่ น้อง จากทุกคณะทุกสาขา ซึ่งจะเรียนในห้องเรียนแบบบรรยายที่สามารถจุคนได้จำนวนมาก (แอบงีบได้เนียนๆ เลย) ข้อดีของการเรียนรวมคือเราจะได้รู้จักเพื่อนต่างคณะ ทำให้ฝึกการเข้าสังคม และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ค่ะ

6.เก็บชั่วโมงกิจกรรมให้ครบก่อนเรียนจบ

ทางมหาวิทยาลัยจะมีกิจกรรมที่ให้นักศึกษาเข้าร่วมอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะน้องปี 1 ที่บอกเลยว่ามีกิจกรรมให้เราได้เก็บชั่วโมงเยอะมากกกกก ซึ่งบางกิจกรรมก็จัดขึ้นแบบอิสระ ไม่ได้บังคับ ใครจะเข้าก็ได้ แต่! ถ้าเป็นกิจกรรมที่กำหนดว่าต้องเข้าร่วม แสดงว่าน้องๆ ต้องเข้านะคะ เพราะบางกิจกรรมอาจจะมีผลต่อการเรียนจบของเรา เช่น กิจกรรมปัจฉิมนิเทศ ซึ่งบางมหาวิทยาลัยก็มีกำหนดไว้ให้นักศึกษาต้องเก็บชั่วโมงกิจกรรมให้ครบ 100 ชม. ก่อนเรียนจบ ถ้าใครเก็บไม่ครบก็อาจจะต้องทำเรื่องขอจบยุ่งยากหน่อยนะคะ

7.ไม่ต้องแบกหนังสือให้ปวดหลังอีกต่อไป

ช่วงมัธยมไปโรงเรียนแต่ละวันต้องแบกหนังสือหนักมาก วันนึงเรียน 6-8 วิชาก็ต้องขนไปให้หมด นอกจากนี้ก็ยังมี สมุด ชีท แฟ้ม ยังไม่รวมอุปกรณ์เครื่องเขียนที่ต้องเอามาอีกด้วย แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยส่วนมากจะใช้ชีทในการเรียน ซึ่งบางวิชาอาจารย์จะแจกสไลด์ให้กับนักศึกษา เพื่อนำมาจดเลคเชอร์ระหว่างเรียน หรือบางวิชาอาจจะมีการใช้หนังสือควบคู่ไปด้วย แต่สมัยนี้เรามีอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกในการเรียนแล้ว เช่น ไอแพด น้องๆ อาจจะไม่ต้องแบกหนังสือหรือชีทให้ปวดหลังกันอีก แต่ก็อาจจะปวดหลังเพราะนั่งเรียนเป็นเวลานานแทนค่ะ T^T

8.ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

ตอนอยู่โรงเรียนเวลาที่เรายังไม่ส่งงานคุณครูจะคอยบอกคอยตามเราให้ส่งอยู่เสมอ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยจะไม่มีคนมาคอยนั่งตามน้องๆ ให้ต้องส่งงานแล้วค่ะ  เราต้องทำเอง ตามเอง พึ่งพาตัวเองของแท้แบบ 100% วางแผนการใช้ชีวิตและเรียนรู้ด้วยตัวเราเอง แต่ไม่ใช่ว่าต้องใช้ชีวิตคนเดียวโดยไม่พึ่งคนอื่นเลยนะคะ มนุษย์เราทุกคนเป็นสัตว์สังคม ถ้าหากมีปัญหาอะไรที่รู้สึกต้องการความช่วยเหลือก็ลองพูดคุยและปรึกษาจากเพื่อนๆ รุ่นพี่ หรืออาจารย์ เพื่อหาทางออก และหาวิธีการรับมือกับปัญหาดีกว่า

9.ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต

เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยแน่นอนว่า ชีวิตประจำวัน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ของเรานั้นมีการเปลี่ยนไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราเริ่มเติบโตขึ้น มีอิสระมากขึ้น บางคนต้องมาอยู่หอใช้ชีวิตต่างบ้านต่างถิ่น สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ ความรับผิดชอบต่อตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการเรียน การดูแลตัวเอง การบริหารเวลา ฯลฯ ดังนั้นการวางแผนจัดระเบียบชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพราะว่าไม่มีคนมาคอยบอก คอยตักเตือน ระยะเวลา 4 ปี ในรั้วมหาวิทยาลัยผ่านไปเร็วมากๆ ซึ่งบางทีอาจทำให้เราเผลอใช้ชีวิตจนหลงลืมสิ่งสำคัญที่ควรโฟกัสไป นั่นก็คือ 'อนาคต' ของเราเอง

 

สำหรับ 9 Culture Shock ความแตกต่างระหว่างมัธยมและมหาวิทยาลัยที่พี่แป้งนำมาฝากน้องๆ ในบทความนี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นค่ะ ยังคงมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่รอให้น้องๆ ได้พบเจอ และปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นเราควรเรียนรู้ ใช้ชีวิตให้เต็มที่ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยให้เยอะๆ ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วัยทำงานในอนาคตค่ะ ^^

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น