แนะนำอาชีพ นักวิจัยอาหาร จากซีรีส์ Business Proposal พร้อมไขข้อสงสัย "ฟู้ดไซน์" ต่างกับ "คหกรรม" ยังไง?

สวัสดีค่ะน้องๆ ทุกคน ช่วงนี้พี่แป้งติดซีรีส์อยู่เรื่องนึงเป็นซีรีส์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ที่มีเนื้อหาเบาสมอง ดูแล้วคลายเครียดมากๆ เลยค่ะ ชื่อเรื่องว่า “Business Proposal (นัดบอดวุ่น ลุ้นรักท่านประธาน)” หลายคนคงจะเคยเห็นผ่านตาอยู่บ้าง เพราะเป็นซีรีส์อีกเรื่องที่ช่วงนี้ติดท็อป 10 ใน Netflix ของไทยเหมือนกันค่ะ

แนะนำอาชีพ นักวิจัยอาหาร จากซีรีส์ Business Proposal 
พร้อมไขข้อสงสัย "ฟู้ดไซน์" กับ "คหกรรม" ต่างกันยังไง?

ซีรีส์เรื่องนี้มีการนำนิยายยอดฮิตในเว็บตูนของเกาหลีมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ซึ่งมีความยาวทั้งหมด 12 ตอน เป็นเรื่องราวของ "ชินฮารี (รับบทโดย คิมเซจอง)" นักวิจัยอาหารประจำบริษัท จีโอฟู้ด (goFOOD) ที่ถูกเพื่อนสนิทอ้อนวอนให้ไปนัดบอดแทน  แต่กลับมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อชายหนุ่มที่นัดบอดด้วยดันเป็น "คังแทมู (รับบทโดย อันฮโยซอบ)" ประธานบริษัทของเธอเอง  

นอกจากจะเป็นซีรีส์ที่กระตุกต่อมฟิน ชวนหัวเราะแล้ว ยังมีเรื่องราวการทำงานของพระนางที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันเลยค่ะ บริษัทของพระเอกมีการผลิตอาหารสำเร็จรูปจำหน่ายทั้งในประเทศและนอกประเทศ ซึ่งนางเอกเป็นนักวิจัยด้านอาหารที่ทำการทดลองและคิดค้นสูตรอาหารใหม่ๆ ให้กับบริษัท เพื่อให้สินค้าสอดคล้องกับธุรกิจ มีความน่าสนใจ และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น  

คังแทมู (รับบทโดย อันฮโยซอบ)  และ ชินฮารี (รับบทโดย คิมเซจอง)
คังแทมู (รับบทโดย อันฮโยซอบ)  และ ชินฮารี (รับบทโดย คิมเซจอง)
นักแสดงหลักจากซีรีส์  Business Proposal

เชื่อว่ามีน้องๆ หลายคนเลยที่มีความชื่นชอบอาหาร ชอบทดลองสิ่งใหม่ๆ และสนใจอยากจะเรียนต่อในด้านนี้ ดังนั้นบทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอาชีพ นักวิจัยอาหาร พร้อมไขข้อสงสัยความแตกต่างระหว่างฟู้ดไซน์กับคหกรรม ปิดท้ายด้วยคำบอกเล่าประสบการณ์สนุกๆ จากรุ่นพี่ที่เรียนสาขาฟู้ดไซน์ตัวจริงกันค่ะ

อาชีพ นักวิจัยอาหาร ทำงานอะไรบ้าง?

นักวิจัยอาหาร เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ถือว่ามีความสำคัญต่อสังคม เพราะอาหารคือปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของเราทุกคน ซึ่งการทำงานของนักวิจัยอาหารจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารด้านการผลิต การประกันคุณภาพ หรือการควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัยของอาหาร โดยมีลักษณะดังนี้

  • ศึกษา ค้นคว้า และวิเคราะห์วัตถุดิบต่างๆ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการพัฒนาอาหาร หรือคิดค้นสูตรอาหารใหม่ๆ
  • ควบคุมคุณภาพ และปริมาณของผลิตภัณฑ์อาหาร ให้มีคุณค่าได้มาตรฐานทางโภชนาการ
  • บริหารและวางแผนกระบวนการแปรรูปอาหาร หรือถนอมอาหาร
  • ควบคุมกระบวนการผลิต การแปรรูปอาหาร ให้ได้ประสิทธิภาพและถูกต้องตามขั้นตอน พร้อมทั้งให้คำแนะนำ ดูแล และควบคุมบุคลากรในสายงานการผลิต

ตัวอย่างของมหาวิทยาลัยและคณะที่เกี่ยวข้อง

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะอุตสาหกรรมเกษตร สาขาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
  • มหาวิทยาลัยพะเยา คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
  • มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  คณะเกษตรศาสตร์  สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร
ภาพการทำงานของนักวิจัยอาหาร จากซีรีส์ Business  Proposal
ภาพการทำงานของนักวิจัยอาหาร จากซีรีส์ Business  Proposal

ไขข้อสงสัยฟู้ดไซน์กับคหกรรมต่างกันยังไง?

Food Science หรือวิทยาศาสตร์อาหาร เป็นสาขาวิชาที่จะเน้นเรียนการแปรรูป และการผลิตอาหารในเชิงอุตสาหกรรม ใครที่ทำอาหารไม่เป็นก็สามารถเรียนได้ เพราะส่วนมากจะเน้นการเรียนที่เกี่ยวกับโครงสร้างทางเคมีของอาหารแต่ละชนิด และปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอาหาร มีการเข้าห้องแล็บเพื่อหาเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในอาหาร รวมไปถึงมาตรฐานการผลิตและกฎหมายอาหาร ใครที่ชื่นชอบวิชาชีวะหรือเคมีก็สามารถเรียนฟู้ดไซน์ได้แน่นอน

ส่วนคหกรรมก็มีหลากหลายแขนงมาก ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอ งานฝีมือต่างๆ แต่ถ้าพูดถึงด้านอาหาร หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเน้นทำอาหารเป็นหลัก เรียนจบไปทำงานเป็นเชฟ แต่ในปัจจุบันบางหลักสูตรมีวิชาเรียนที่คล้ายกับฟู้ดไซน์ เพื่อให้ตอบโจทย์กับสังคมในปัจจุบันมากขึ้น เนื้อหาบางวิชาอาจจะไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับเทคโนโลยีอาหาร หรืออุตสาหกรรมอาหารมากนัก แต่โดยพื้นฐานเหมือนกัน  

ถ้าลองเปรียบเทียบกันให้เห็นภาพ คือ คหกรรมจะเป็นการทำอาหารหนึ่งจาน มีการจัดแต่งความสวยงาม ควบคุมปริมาณ และคุณค่าทางโภชนการของอาหารแต่ละจาน แต่ฟู้ดไซน์จะเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อาหาร ทำอาหารทั้งโรงงานในเชิงอุตสาหกรรม เน้นคุณภาพและปริมาณจำนวนมาก ขอบเขตการทำงานจะค่อนข้างใหญ่กว่าสาขาคหกรรมนั่นเองค่ะ

ปิดท้ายด้วยคำบอกเล่าประสบการณ์จากรุ่นพี่

พี่เป้ จาก คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เล่าให้ฟังว่า สาขานี้ได้เรียนรู้แบบครอบคลุมในทุกด้านที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของอาหารเลย ตั้งแต่วิเคราะห์ปริมาณสารอาหาร การตรวจสอบเชื้อจุลินทรีย์หรือวัตถุเจือปนที่อยู่ภายในอาหาร หลักโภชนการ การแปรรูปอาหาร กระบวนการคิดค้นอาหารสูตรใหม่ การถนอมอาหารยังไงให้เก็บไว้ได้นานเป็นปี รวมไปถึงเรียนรู้การใช้เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการแปรรูป และผลิตอาหารในเชิงอุตสาหกรรมจริงๆ พี่เป้เล่าถึงบรรยากาศการเรียนสาขานี้ว่า ก่อนที่จะมีโควิดการทำแล็บในชั้นเรียนสนุกมาก ทุกคนจะได้ลงมือปฏิบัติและทดลองจริงๆ ซึ่งแต่ละวิชาก็จะได้ทำการทดลองที่แตกต่างกันออกไป อาจารย์ และเพื่อนร่วมชั้นก็น่ารักมากๆ คอยให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาอยู่เสมอ  

นอกจากนี้พี่เป้ยังแนะนำวิชาที่น่าสนใจมาอีกด้วย ชื่อวิชา หลักโภชนาการในสภาพปกติและพยาธิสภาพ เป็นวิชาที่ให้ความรู้สึกเหมือนเรียนหมอเลย แต่ไม่ได้มีเนื้อหาเชิงลึกเท่าหมอ ซึ่งจะได้เรียนเกี่ยวกับการจัดสรรอาหารให้เหมาะกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล เช่น อาหารของผู้สูงอายุ คนท้อง ทารก หรือผู้ป่วยโรคต่างๆ ส่วนความท้าทายในการเรียนสาขานี้คือ การท่องจำชื่อเชื้อจุลินทรีย์ที่ต้องใช้ในอาหาร การคำนวณปริมาณสารต่างๆ ในการทดลอง รวมทั้งการค้นหาและอ่านวิจัยที่เป็นภาษาอังกฤษจำนวนมาก เพื่อนำมาใช้อ้างอิงในการอภิปรายผลด้วย มาถึงความประทับใจที่ได้เรียนในสาขานี้ เป็นสาขาที่ได้ปฏิบัติเยอะมาก โดยส่วนตัวแล้วพี่เป้ชอบการเรียนปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี เวลาที่ได้เข้าแล็บก็จะรู้สึกเอ็นจอยกับการทดลองเป็นพิเศษ เพราะว่าได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ ได้เห็นปฏิกิริยาการทดลองที่เราเป็นคนลงมือทำเอง และได้นำความรู้ที่เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองและคนในครอบครัว  

ก่อนจากกันพี่เป้ฝากถึงน้องๆ ที่อยากจะเรียนในสาขานี้ว่า เมื่อเรามีความตั้งใจหรือมีจุดมุ่งหมายที่อยากจะทำอยู่แล้วให้ลุยเต็มที่ไปเลย ลองพยายามทำในสิ่งที่เราตั้งใจอยากจะทำ ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของเราทุกคน และไม่ต้องกลัวว่าเรียนสาขานี้จบมาจะไม่มีงานทำ ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารเริ่มบูม และคนเริ่มหันมาสนใจเรื่องการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้นยังไงก็สามารถหางานทำได้แน่นอนค่ะ

 

สำหรับน้องๆ  ที่ชื่นชอบและสนใจอยากจะศึกษาต่อในด้านการวิจัยอาหารก็สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมตามเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยได้เลยค่ะ แต่ละหลักสูตรแต่ละมหาวิทยาลัยอาจมีรายวิชาที่แตกต่างกันลองนำหลักสูตรของแต่ละที่มาเทียบกันดูว่าเราเหมาะกับหลักสูตรไหน  หรือสอบถามรุ่นพี่ที่เรียนอยู่ในสาขานั้นเพิ่มเติมก็ได้ค่ะ เพื่อให้เราได้คำตอบที่ชัดเจนและช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

 

ขอบคุณข้อมูลจากนักศึกษาคณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒhttps://shorturl.asia/wJkCZขอบคุณรูปภาพจากFB  :  SBS  DRAMAhttps://www.freepik.com

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น