10 คำศัพท์น่ารู้! เกี่ยวกับชีวิตในมหาวิทยาลัยที่เฟรชชี่ควรรู้เอาไว้

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D นับจากนี้อีกไม่กี่เดือน #dek65 หลายๆ คนก็จะกลายเป็นเฟรชชี่น้องใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยกันแล้ว แน่นอนว่าจะต้องมีเรื่องราวต่างๆ มากมายที่รอให้เราได้พบเจอและเรียนรู้ ซึ่งวันนี้พี่แป้งได้รวบรวมคำศัพท์ที่มักใช้ในมหาวิทยาลัยมาให้น้องๆทำความรู้จักกันก่อน ว่าแต่จะมีคำไหนบ้าง และแต่ละคำจะมีความหมายว่าอะไร มาดูไปพร้อมๆ กันเลย!

10 คำศัพท์น่ารู้! เกี่ยวกับชีวิตในมหาวิทยาลัยที่เฟรชชี่ควรรู้เอาไว้

ดรอป (Drop)

การพักการเรียนวิชาต่างๆ ที่ได้มีการลงทะเบียนเอาไว้ก่อนชั่วคราว รวมไปถึงพักการเรียนตลอดทั้งเทอมโดยที่ยังคงสถานะการเป็นนักศึกษาอยู่ และกลับมาเรียนใหม่เมื่อพร้อม ซึ่งบางมหาวิทยาลัยอาจจะต้องมีการเสียเงินค่ารักษาภาพความเป็นนักศึกษาด้วย สาเหตุของการดรอปเรียน ได้แก่ คะแนนสอบมิดเทอมออกมาไม่ดีเสี่ยงติด F, ปัญหาสุขภาพ, ปัญหาทางการเงิน หรือเตรียมตัวซิ่วไปเรียนคณะอื่น 

รีไทร์ (Retire)

การพ้นสถานภาพการเป็นนักศึกษา เนื่องจากเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ถึงตามเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดไว้ก็จะถูกเชิญออก ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีการกำหนดเกรดเฉลี่ยสะสมที่แตกต่างกัน น้องๆ จะต้องศึกษาข้อมูลเหล่านี้ด้วยเพื่อวางแผนการเรียนของตัวเอง รวมไปถึงหากใครที่มีความประพฤติในด้านการเรียนที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่เข้าเรียน หรือก่อเหตุรุนแรง ทางมหาวิทยาลัยจะทำการพิจารณาหากเห็นสมควรว่าไม่เหมาะสมก็จะถูกรีไทร์เช่นเดียวกัน

เกรด W

นอกจากเกรด A-F ในมหาวิทยาลัยยังมีเกรด W อีกหนึ่งตัวที่สามารถอยู่ในทรานสคริปต์ของเราได้เหมือนกัน โดย W มาจากคำว่า Withdraw ที่แปลว่า ถอน ซึ่งเกรด W ตัวนี้จะปรากฏอยู่ในทรานสคริปต์ก็ต่อเมื่อเราเปลี่ยนใจไม่อยากเรียนบางวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้ จึงทำการถอนรายวิชานั้นออก แต่มาทำหลังจากที่สิ้นสุดระยะเวลาการเพิ่ม-ถอนรายวิชาที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดไปแล้ว

แอดมือ 

โดยปกติแล้วนักศึกษาจะต้องลงทะเบียนเรียนผ่านเว็บไซต์ของทางมหาวิทยาลัยใช่มั้ยคะ แต่แอดมือเป็นการขอลงทะเบียนเรียนกับอาจารย์ประจำวิชาโดยตรงเลย ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการที่ลงทะเบียนเรียนไม่ทันตามเวลาที่กำหนด หรือจำนวนที่นั่งในรายวิชานั้นเต็มก่อนแต่เราต้องการที่จะเรียนวิชานั้น จึงทำให้ต้องมีการทำเอกสารยื่นเรื่องการลงทะเบียนเรียนกับอาจารย์ประจำวิชาโดยตรงนั่นเองค่ะ

เซค (Section)

การแบ่งวิชาเรียน 1 วิชา ออกเป็นกลุ่มย่อย เช่น วิชาภาษาอังกฤษอาจมีกลุ่มย่อยออกไปอีก 8 กลุ่ม ซึ่งในระบบลงทะเบียนเรียนจะมีการระบุชื่ออาจารย์ผู้สอน ห้องเรียน วันและเวลาที่เรียนเอาไว้ เพื่อให้นักศึกษาสามารถเลือกลงทะเบียนเรียนตามวันเวลาที่สะดวก และจัดตารางเรียนให้เหมาะสมกับตัวเอง 

A ช้วน

A ในที่นี้คือ เกรด A นั่นเองค่ะ ส่วนคำว่า ช้วน มาจากภาษาจีน 全 แปลว่า ทั้งหมดทั้งมวล, สมบูรณ์ ดังนั้น A ช้วน จึงมีความหมายว่า ได้เกรด A หมดทุกวิชา หรือเกรดเฉลี่ย 4.00 ซึ่งถือว่าเป็นเกรดเฉลี่ยที่ใครหลายๆ คนใฝ่ฝันอยากได้ เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งใจเรียนและขยันอ่านหนังสือเอช้วนไม่ไกลเกินเอือมแน่นอน! นอกจากนี้ก็ยังใช้เป็นประโยคอวยพรได้ด้วย เช่น "ขอให้ได้เอช้วนกันถ้วนหน้า" ลองเอาไปอวยพรเพื่อนๆ ดูนะคะ ^^

เมคอัพ (Make up class)

หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเมคอัพคลาสเป็นคลาสเรียนแต่งหน้าหรือเปล่า อีกความหมายของคำนี้เมื่อใช้ในการเรียนในมหาวิทยาลัย หมายถึง การนัดสอนเพิ่มนอกเวลา หรือการเรียนชดเชย ซึ่งมักจะใช้ในกรณีที่อาจารย์ยกคลาส หรือมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถมาสอนได้ ทำให้ต้องมีการนัดนักศึกษามาเรียนนอกเวลาเรียนปกตินั่นเองค่ะ

ยกคลาส

การที่คลาสเรียนถูกยกเลิกหรือไม่ได้มีการเรียนการสอนในวันเวลาที่กำหนด ถือว่าเป็นอีกหนึ่งคำที่พอนักศึกษาได้เห็นประกาศจากอาจารย์ก็ต้องพากันร้องเฮดีใจกันถ้วนหน้า แต่ถึงจะยกคลาสไปแล้วก็ใช่ว่าจะไม่ได้เรียนชดเชยนะคะ ;-; อาจารย์บางท่านจะนัดเรียนชดเชยอีกครั้ง โดยอาจจะนัดมาเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือตามวันเวลาที่อาจารย์กำหนด แต่ถ้าอาจารย์สอนครบตามแผนการสอนที่เตรียมไว้แล้วก็อาจจะไม่มีการเรียนชดเชยค่ะ

เลคเชอร์ (Lecture)

การเรียนการสอนในรูปแบบการบรรยายเป็นหลัก ซึ่งอาจารย์จะบรรยายจาก Power Point หรือสื่อการสอนอื่นๆ เน้นสอนเนื้อหาและทฤษฎีต่างๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานและการสอบได้ โดยการเรียนในรูปแบบนี้เราจะต้องตั้งใจฟังและคอยจดใจความสำคัญที่อาจารย์พูด เพราะว่าเนื้อหาบางส่วนที่อาจารย์สอนหรืออธิบายเพิ่มเติมอาจไม่มีอยู่ในสไลด์การสอน

ทำแล็บ-ลงช็อป

การเรียนการสอนอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากการเรียนเลคเชอร์ เป็นการเรียนที่ไม่เน้นการบรรยายหรือการให้ความรู้เชิงทฤษฎี แต่จะเน้นเรียนเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติ ซึ่งนักศึกษาทุกคนจะได้ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้นักศึกษารู้จักและสามารถใช้อุปกรณ์การทดลองได้ รวมไปถึงเข้าใจกระบวนการทำงานต่างๆ ที่อยู่ภายในห้องแล็บหรือห้องปฏิบัติการมากขึ้น เพื่อเป็นการปูพื้นฐานที่สำหรับการทำงานในอนาคต
 

นอกจากคำศัพท์ที่ใช้ในมหาวิทยาลัยที่พี่แป้งได้รวบรวมมาในบทความนี้แล้ว แต่ละมหาวิทยาลัยก็ยังมีคำศัพท์เฉพาะอื่นๆ อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ชื่อเรียกวิชาเรียนรวมของแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน เช่น 

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เรียกว่า GEN (เจน) >> GEN121 ทักษะการเรียนรู้และการแก้ปัญหา
  • มหาวิทยาลัยมหิดล เรียกว่า MUGE (มูเก้) >> MUGE101 การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรียกว่า SWU (สวู) >> SWU365 หลักการจัดการสมัยใหม่
     

สำหรับชีวิตการเป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ได้มีเพียงแค่คำศัพท์เหล่านี้เท่านั้นที่เราต้องรู้จัก แต่ยังคงมีสิ่งต่างๆ อีกมากมายที่เราจะต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ได้  อย่างไรก็ตามพี่แป้งขอให้น้องๆ  ทุกคนเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด  เพราะเวลา 4  ปีในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นผ่านไปไวมากเลยล่ะค่ะ  ^^

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น