7 สิ่งเหล่านี้ที่ Freshy ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเปิดเทอมวันแรก

สวัสดีค่ะทุกคน ในที่สุด Dek65 ก็กำลังจะกลายเป็นเฟรชชี่ที่ก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัยกันเต็มตัวแล้ว พี่โบว์รับรองเลยว่าน้องๆ จะต้องตื่นตาใจตื่นใจกับบรรยากาศใหม่ๆ ของการเรียนแน่นอนค่ะ แต่ก่อนหน้านั้นเราต้องรู้ก่อนว่า “เปิดเทอมวันแรกต้องเตรียมอะไรบ้างนะ?” หลังจากชุลมุนช่วงสอบก็ต้องมาชุลมุนช่วงก่อนจะเรียนอีก ยิ่งด้วยสถานการณ์แบบนี้ก็ไม่รู้ว่ามอไหนจะเรียนออนไซต์หรือออนไลน์กัน แต่ไม่ว่าสถานการณ์ไหนนะคะ เราต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอค่ะ ก่อนเปิดเทอมวันแรกต้องเตรียมอะไรบ้างมาดูกันค่า!

ก่อนเปิดเทอมมหาวิทยาลัยวันแรก เฟรชชี่ต้องเตรียมอะไรบ้างนะ!
ก่อนเปิดเทอมมหาวิทยาลัยวันแรก เฟรชชี่ต้องเตรียมอะไรบ้างนะ!

เพราะวันแรกสำคัญที่สุด ก่อนเปิดเทอมครั้งแรกต้องเตรียมอะไรบ้างมาดูกัน!

ทำไมเปิดเทอมวันแรกถึงสำคัญ?

  • คาบแรก ที่จะทำให้เราได้รู้ข้อมูลในรายวิชานั้นๆ ว่าเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง เช่น เกณฑ์การประเมินผลการเรียน เนื้อหาที่จะเรียนโดยภาพรวม และตารางกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ซึ่งในกรณีที่รายวิชาดังกล่าวไม่ใช่วิชาบังคับและเลือกวิชาอื่นเพื่อทดแทนได้ เราก็สามารถที่จะถอนรายวิชานั้นแล้วเปลี่ยนเป็นรายวิชาอื่นในเทอมนี้หรือเทอมถัดๆ ไปได้ค่ะ ทั้งนี้ควรศึกษาข้อกำหนดของหลักสูตรและกำหนดการลงทะเบียนให้ดีก่อนนะคะ
  • ความประทับใจแรก ในที่นี้หมายถึงทั้งการเรียนการสอน เพื่อน อาจารย์ การเดินทาง และสิ่งแวดล้อมรอบข้างอย่างสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกค่ะว่าเรารู้สึกพึงพอใจกับสิ่งนั้นหรือเปล่า ถ้าเรารู้สึกไม่พึงพอใจในส่วนที่กล่าวไว้ข้างต้นตั้งแต่วันแรก นี่ก็เป็นตัวช่วยที่ดีในการตัดสินใจค่ะว่าจะทำยังไงต่อไปกับชีวิตมหาวิทยาลัย แต่ยังไงก็ต้องลองเรียนดูก่อนนะคะ อุตส่าห์ตัดสินใจเข้ามาเรียนแล้วทั้งที เผื่อว่าวันนั้นจะเป็นแค่วันที่ไม่ใช่วันของเราเฉยๆ บางทีเรียนไปเรียนมาอาจจะรู้สึกว่าชอบหรือใช่เลยก็ได้ค่ะ
7 สิ่งที่เฟรชชี่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเปิดเทอม
7 สิ่งที่เฟรชชี่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเปิดเทอม

7 สิ่งที่เหล่า Freshy ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเปิดเทอม 

1. เตรียมข้อมูล

ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์นะคะ เราต้องเตรียมข้อมูลเป็นขั้นแรกเลยค่ะ เพราะถ้าเตรียมข้อมูลมาอย่างดีจะช่วยให้ “การเตรียมตัว” ในข้อต่อๆ ไปที่พี่จะกล่าวถึงเป็นระบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศึกษากำหนดการต่างๆ เช่น วันที่จะได้รับบัตรนิสิต/นักศึกษา วันลงทะเบียน วันเปิดเทอม วันดำเนินการขอทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยหรือกู้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รวมถึงขั้นตอนและวิธีการดำเนินการต่างๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยมักจะชี้แจงผ่านเพจอยู่แล้ว นอกจากนี้ที่ควรศึกษาไว้ในเบื้องต้นคือหลักสูตรของสาขาวิชา ไม่ก็หารีวิวจากเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งคาดว่าน้องๆ หลายคนน่าจะศึกษาหรือหาข้อมูลมาตั้งแต่ก่อนสมัครเข้าที่แห่งนั้นแล้วค่ะ

2. เตรียมเอกสาร

หลังจากศึกษาข้อมูลมาอย่างดีแล้วก็ถึงขั้นที่ต้องดำเนินการเตรียมเอกสารตามที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดค่ะ โดยบางเอกสารอาจจะต้องดำเนินการที่มหาวิทยาลัย แต่บางเอกสารก็อาจได้ส่งผ่านออนไลน์ซึ่งส่วนใหญ่จะได้กรอกข้อมูลและสแกนเอกสารส่งผ่าน Google Forms กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของสังคมและภายในมหาวิทยาลัยด้วย การเตรียมเอกสารน้องๆ จะต้องตรวจสอบเอกสารและข้อมูลที่กรอกให้ดีว่ามีความถูกต้องและครบถ้วนตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้หรือเปล่า มิฉะนั้นการดำเนินการก็อาจจะเกิดความล่าช้าได้นะคะ

3. เตรียมอุปกรณ์การเรียน

ออนไซต์ การเรียนในมหาวิทยาลัยโดยปกติแล้วจะเรียนผ่านชีตค่ะ (ซื้อได้ตามร้านถ่ายเอกสาร) อาจมีบ้างที่เรียนผ่านหนังสือ (สั่งซื้อผ่านออนไลน์ได้) หรือไม่ถ้าใครมีไอแพดก็จะใช้ไอแพดกัน (ข้อดี: พกพาสะดวก ไม่ต้องพกชีตเยอะ ข้อเสีย: ราคาค่อนข้างสูง ต้องดูแลดีๆ ) แล้วก็พกปากกาหรือว่าสมุดโน้ตอะไรก็ได้ตามสไตล์การเรียนของเราเลย ส่วนเรื่องกระเป๋าส่วนใหญ่จะใช้กระเป๋าผ้า ไม่ก็กระเป๋าสะพายข้าง แต่ถ้าอยากใช้กระเป๋ารูปแบบอื่น เช่น กระเป๋าเป้ ก็ได้ค่ะตามความชอบหรือความสะดวกของเราเลย แค่เน้นให้ขนาดพอดีๆ กับของที่ใส่ก็พอ เช่น ชีต หนังสือ ไอแพด และบางคณะบางสาขาอาจมีอุปกรณ์เพิ่มเติมไปอีก หรือแม้แต่ถ้าเราลงบางรายวิชา เช่น วิชาเกี่ยวกับการถ่ายภาพ ก็อาจจะต้องมีกล้องเป็นของตัวเองค่ะ 

ออนไลน์ การเรียนแบบออนไลน์แน่นอนว่าที่ต้องเตรียมก็จะเป็นพวกอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างคอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป  โน้ตบุ๊ก ไอแพด แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือค่ะ โปรแกรมที่ใช้เรียนจะเป็น Zoom, Google Meet, Webex หรือเรียนผ่านคลิปที่อาจารย์อัดไว้ ส่วนเอกสารและลิงก์เรียนจะได้ผ่าน Google Classroom หรือกลุ่มไลน์เป็นหลักค่ะ (โปรแกรมที่อาจารย์ใช้สอนและใช้ติดต่อในคาบเรียนอาจจะมีเพิ่มเติมไปได้อีก) โดยไฟล์ชีตเรียนมักได้มาพร้อมกับสไลด์ที่เรียนเลย แต่ส่วนใหญ่จะได้มาแค่สไลด์ค่ะ แล้วส่งงานผ่านช่องทางตามที่อาจารย์กำหนดไว้ เช่น Google Classroom, Email

ออนไลน์ VS ออนไซต์
ออนไลน์ VS ออนไซต์

4. เตรียมเครื่องแบบ

ออนไซต์ เครื่องแบบหลักๆ มีอยู่ 2 ชุดค่ะ ได้แก่ ชุดนิสิต/นักศึกษาและชุดพิธีการ โดยอาจซื้อผ่านร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งหมดเลย (สั่งซื้อผ่านออนไลน์ได้) หรือซื้อเฉพาะพวกเน็กไท เข็มกลัด และกระดุมที่มีตรามหาวิทยาลัย จากนั้นไปซื้ออย่างอื่นบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยหรือร้านค้าใกล้บ้านก็ได้ (เอาให้ตรงตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด) นอกจากนี้บางมหาวิทยาลัยอาจมีชุดที่ต้องซื้อเพิ่มเติม เช่น ชุดพละ แต่ถ้าเราไม่ได้ลงวิชาที่ต้องใส่ชุดนั้นก็ไม่ต้องซื้อก็ได้ค่ะ (วิชาพละบางตัวใส่ชุดนิสิต/นักศึกษาได้เลย) ในกรณีที่มหาวิทยาลัยไม่บังคับเรื่องเครื่องแบบก็ฟรีสไตล์ได้เลยตามความเหมาะสม

ออนไลน์ โดยปกติจะใส่ชุดธรรมดาเรียนกัน (ควรซื้อเครื่องแบบเตรียมไว้ด้วยนะ! เผื่อมีกิจกรรมหรือต้องดำเนินการอะไรที่มหาวิทยาลัย) แต่ในวันแรกของการเรียนเตรียมเสื้อผ้าหน้าผมให้ดูเรียบร้อยหน่อยก็ดีค่ะ โดยเฉพาะถ้าเป็นเซคเล็กๆ  บางทีอาจารย์อาจจะให้เปิดกล้องมาทักทายกันสักนิดนึง

5. เตรียมค่าธรรมเนียมการศึกษา

ก่อนที่จะได้ลงทะเบียนเรียนกันเนี่ย ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องเตรียมซึ่งสำคัญมากที่สุด มิฉะนั้นเราจะไม่ได้เรียนกันนะคะ นั่นก็คือค่าเทอมค่ะ! แบ่งออกเป็นแบบเหมาจ่ายและแบบจ่ายตามหน่วยกิตตามที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด โดยเราสามารถจ่ายแบบเต็มจำนวนหรือขอผ่อนผันก็ได้ ส่วนน้องๆ คนไหนที่ตั้งใจว่าจะกู้ กยศ. ขอให้ติดตามข้อมูลและการเตรียมเอกสารจากเพจ Facebook กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้นไว้ให้ดีนะคะ ><

6. เตรียมลงทะเบียน

ไม่ว่าจะออนไซต์หรือออนไลน์ การลงทะเบียนเรียนส่วนใหญ่ดำเนินการผ่านออนไลน์ทั้งหมดเลยค่ะ สิ่งที่ต้องเช็กคือวันเวลาที่เปิดให้ลงทะเบียนและรายวิชาที่เปิดสอนในเทอมนั้น โดยอาจนำมาจัดตารางดูค่ะว่าวิชาที่จะลงมีวิชาไหนที่เวลาทับกันไหม ซึ่งอีกสิ่งที่ต้องเช็กคือสัญญาณอินเทอร์เน็ตค่ะ ถึงอย่างนั้นหลายๆ มหาวิทยาลัยมักลงวิชาที่ต้องเรียนเทอมแรกไว้ให้ปี 1 แล้ว พอเข้าไปในระบบก็แค่กดยืนยันได้เลยค่ะ

ส่วนกรณีที่ถ้าได้ลงทะเบียนเอง อยากเพิ่มหรือถอนรายวิชา หรือถ้าให้พูดถึงเทอมถัดๆ ไป ก็ต้องมารอลุ้นด้วยกันนะคะว่าเว็บจะล่มไหม หรืออาจจะไม่ล่มแต่ลงไม่ทันเพราะเต็มแล้ว โดยเฉพาะวิชาทั่วไปที่เรียนรวมกันเป็นเซคใหญ่ หรือเซคยอดนิยมที่ใครๆ ต่างก็แนะนำให้เรียนกับอาจารย์คนนี้ ซึ่งเราอาจจะลองติดต่อกับอาจารย์ผู้สอนก็ได้ค่ะว่าจะมีการเปิดรับในระบบเพิ่มไหมหรือว่ารับแอดหน้าเซคหรือเปล่า (เข้าเรียนก่อนแล้วลงทีหลังซึ่งต้องรอให้อาจารย์ผู้สอนอนุมัติ) หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือรออยู่หน้าจอวนไปค่ะว่าจะมีใครถอนหรือเปล่า ไม่ก็หาวิชาอื่นแทนหรือเสี่ยงดวงไปรอดูเทอมต่อไปว่าวิชานั้นจะเปิดไหม!

7. เตรียมพร้อมก่อนออกเดินทาง

ในข้อนี้จะขอพูดถึงเฉพาะกรณีที่เป็นออนไซต์นะคะ เราควรศึกษาเส้นทางและพาหนะในการเดินทางไปมหาวิทยาลัยและการเดินทางภายในมหาวิทยาลัยค่ะ โดยปกติแล้วนิสิต/นักศึกษาปี 1 ก็จะเดินทางไปแต่ละตึกเรียนด้วยรถโดยสารสวัสดิการของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป (บางทีมาไม่ตรงตามเวลาหรือไม่มีเวลาที่แน่นอน) วินมอเตอร์ไซค์ หรือใช้การเดินค่ะ ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะกว้างใหญ่ขนาดไหน และแม้ว่าตึกเรียนจะมีลิฟต์ให้ใช้ (ถ้าคนเยอะอาจจะรอนานหน่อย) แต่คนบางส่วนก็เลือกที่เดินค่ะ ทั้งเดินไปเรียนแต่ละตึกและเดินขึ้น-ลงบันได หรืออาจจะขึ้นแท็กซี่บ้างถ้ามากับกลุ่มเพื่อน แล้วก็มีบางส่วนที่ใช้รถส่วนตัวกัน นอกจากนี้ควรศึกษาพวกที่พักด้วยว่าภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมีหออะไรบ้าง แล้วตัดสินใจว่าเราจะอยู่หอหรือเปล่าค่ะ

น้อง ๆ เห็นความสำคัญของวันแรกแล้วใช่ไหมคะ ขอย้ำเลยว่าวันแรกของการเปิดเทอมเนี่ยสำคัญมากจริง ๆ และนี่คือ 7 สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเปิดเทอมวันแรกค่ะ จากนั้นขอให้ทุกคนเตรียมตัวเตรียมใจรับสิ่งใหม่ในวันเปิดเทอม แล้วแฮปปี้กับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยกันนะคะ ^^ 

ขอขอบคุณรูปภาพจากhttps://www.freepik.com/evening-taohttps://www.freepik.com/freepikhttps://www.flaticon.com/
พี่โบว์
พี่โบว์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น