รุ่นพี่ชี้แนะ! รีวิว คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล เรียนอะไร เกี่ยวข้องยังไงกับสหเวชศาสตร์?

อยากเป็น “นักเทคนิคการแพทย์” หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “หมอแล็บ” แต่ไม่ได้ทำงานเป็น “หมอ” ต้องเรียนอะไรบ้างนะ? วันนี้พี่โบว์ก็ได้พารุ่นพี่จาก “คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล” ที่คิวงานช่วงนี้ค่อนข้างแน่นสุดๆ มาเล่าประสบการณ์การใช้ชีวิตและการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยกัน หลักสูตรของที่นี่มีความน่าสนใจยังไงบ้างไปติดตามกันค่ะ!

"คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล" เกี่ยวข้องยังไงกับสหเวชศาสตร์
"คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล" เกี่ยวข้องยังไงกับสหเวชศาสตร์

รุ่นพี่ชี้แนะ! รีวิว คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล เรียนอะไร เกี่ยวข้องยังไงกับสหเวชศาสตร์?

ก่อนที่จะไปถึงช่วงรีวิว เรามาทำความรู้จักคณะนี้กันก่อนว่ามีความเป็นมายังไง เปิดสอนกี่สาขาและมีค่าธรรมเนียมการศึกษาเป็นยังไงบ้าง ซึ่งพี่ได้แปะลิงก์หลักสูตรทั้ง 2 สาขาไว้ให้น้องๆ แล้ว สามารถคลิกเข้าไปอ่านรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้เลย จากนั้นไปต่อกันที่บทความรีวิว ซึ่งมาจากประสบการณ์ส่วนบุคคลจากช่วงเวลาหนึ่งในอดีต และเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจของน้องๆ ค่ะ 

คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ความเป็นมาของ “คณะเทคนิคการแพทย์” แห่งแรกในประเทศไทย

เมื่อปี พ.ศ. 2500 “คณะเทคนิคการแพทย์” ได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการใน “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” หรือ “มหาวิทยาลัยมหิดล” โดยก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2499 เป็น “โรงเรียนเทคนิคการแพทย์” ที่ใช้พื้นที่ในโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งแรกเริ่มวางแผนจะก่อสร้างขึ้นเพราะขาดแคลนบุคลากรที่จะทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีแผนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 แต่โครงการต้องระงับไปช่วงหนึ่ง เพราะอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้ขาดแคลนงบประมาณ สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก 

หลักสูตรที่เปิดสอน/อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาระดับปริญญาตรีต่อภาคการศึกษา

  • หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ (ภาคปกติ)
    • อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา : 25,000 บาท
    • ดูหลักสูตร (Update 2560) คลิก
  • หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค (ภาคปกติ)
    • อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา : 25,000 บาท
    • ดูหลักสูตร (Update 2560)  คลิก
  • ดูอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาเพิ่มเติม คลิก
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รีวิวจาก พี่เกล้า นักศึกษาคณะเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หลักสูตรที่เรียนเป็นยังไงบ้าง และทำไมถึงเลือกเรียนคณะนี้ที่นี่?

พี่เรียนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ เป็นหลักสูตรที่จบภายใน 4 ปี เพราะความตั้งใจแรกคืออยากจะทำงานในโรงพยาบาล ทำงานในสายสุขภาพ และวินิจฉัยโรคเป็น ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นหมอ แต่พี่ก็ยังอยากหาสายสุขภาพอย่างอื่นที่ช่วยวินิจฉัยโรคให้คนไข้ได้ด้วย พี่เสิร์ชตามอินเทอร์เน็ตก็เจอพวกเทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัช กายภาพ และรังสีเทคนิค แต่ส่วนตัวรู้สึกสนใจเทคนิคการแพทย์เพราะเป็นคนที่ชอบและรู้สึกสนุกกับการทำแล็บ แล้วจากที่ไปหาอ่านตามเว็บพี่ค่อนข้างชอบสภาพแวดล้อมและสังคมของมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่แล้ว แต่จริงๆ ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยควรศึกษาโครงสร้างหลักสูตรของแต่ละคณะด้วย

พูดถึงความคาดหวังในการเรียนตอนนั้นหน่อยค่ะ

ตอนแรกที่เข้ามาก็มีความรู้สึกว่าอยากเรียนให้ได้คะแนนสูงๆ แต่พอได้เข้ามา คะแนนพี่ก็ค่อนข้างที่จะกลางๆ ไม่ได้สูงมากขนาดนั้น พี่เลยมามองว่าจริงๆ การเรียนของเราต้องควบคู่ไปกับความสุขของตัวเองด้วย เลยลดความคาดหวังของตัวเองลงและตั้งใจเรียนเพื่อให้มีความรู้และทำงานในห้องแล็บได้ รวมถึงสบายใจได้ว่าผลแล็บของเราสามารถช่วยแพทย์วินิจฉัยคนไข้ได้จริงๆ 

เทคนิคการแพทย์ VS สหเวชศาสตร์ แตกต่างหรือเหมือนกันยังไง?

อย่างมหิดลจะตั้งชื่อว่าคณะเทคนิคการแพทย์แล้วแยกสาขาเป็นสาขาเทคนิคการแพทย์และสาขารังสีเทคนิค แต่บางมหา’ลัยก็จะเห็นว่าเป็นคณะสหเวชศาสตร์แทน แล้วมีสาขาเทคนิคการแพทย์ สาขารังสีเทคนิค สาขากายภาพบำบัด และอื่นๆ ซึ่งพี่รู้สึกว่าสหเวชศาสตร์อย่างเดียวคือการเรียกรวมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งหมดเลย ยกเว้นพวกแพทย์ ทันตะ เภสัช เช่น กายภาพบำบัด รังสีเทคนิค เทคนิคการแพทย์ และนักโภชนาการต่างๆ ซึ่งเทคนิคการแพทย์ก็ถือเป็นอีกสายงานหนึ่งของสหเวช

สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ VS สาขาวิชารังสีเทคนิค แตกต่างกันยังไง?

เทคนิคการแพทย์ จะเป็นงานด้านพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นการไปเก็บสารคัดหลั่งหรือสิ่งส่งตรวจในร่างกาย เช่น เลือด ปัสสาวะ และอุจจาระมาตรวจ เพื่อดูผลทางแล็บว่าในร่างกายมีอะไรที่ผิดปกติหรือเปล่า เช่น ค่าทางไต ค่าทางเลือด ซึ่งจะทำให้หมอรู้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไร

รังสีเทคนิค จะเป็นงานด้านรังสีวิทยา การดูภาพเอกซเรย์ หรือการใช้เครื่องมือต่างๆ ทางด้านรังสี และการใช้สารกัมมันตภาพรังสีในการตรวจวินิจฉัย ส่วนมากจะดูสรีรวิทยาทางกายภาพที่เห็นจากภาพเอกซเรย์ 

การเรียนที่นี่มีจุดเด่นที่แตกต่างหรือโดดเด่นจากที่อื่นยังไงบ้าง?

พี่รู้สึกว่าที่นี่เรียนทุกเรื่องและเรียนกันเยอะมาก ซึ่งเราปูพื้นฐานเพื่อไปเป็นได้ทั้งนักเทคนิคการแพทย์ นักวิชาการ นักวิจัย เซลล์ (จำหน่ายหรือจัดทำเครื่องมือทางเครื่องมือแพทย์) หรือการบริการสุขภาพในชุมชน รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการนำข้อมูลทางการแพทย์มาใช้ประโยชน์ในการบริการสุขภาพต่อไป และรู้สึกว่ามหิดลต้องการปูพื้นฐานให้นักศึกษาได้เป็นนักคิดวิเคราะห์และตั้งคำถามเป็น

พูดถึงการเดินทางไปเรียนและการเดินทางภายในมหา’ลัยหน่อยค่ะ

อย่างพี่อยู่หอใน การเดินทางส่วนใหญ่จะเป็นการเดิน เพื่อนๆ ก็มีขี่จักรยานและขับมอเตอร์ไซค์บ้าง ส่วนคนที่อยู่หอนอกก็จะเดินทางด้วยรถตู้ เพราะจะมีรถตู้ประจำหอนอก แล้วในมอก็จะมีรถรางด้วย ซึ่งมีแอปเอาไว้ให้ดูได้ว่ารถรางจะมาตอนไหน

  • ดูการเดินทางภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม คลิก
รถราง มหาวิทยาลัยมหิดล
รถราง มหาวิทยาลัยมหิดล

หอพักนักศึกษาเป็นยังไงบ้าง?

หอในรู้สึกว่ามีตัวเลือกเยอะ โดยจะแบ่งออกเป็นหอชายและหอหญิง ในแต่ละหอราคาก็จะต่างกัน อย่างหอ 11 ราคาประมาณ 8,000 บาท แต่หอ 10 ราคาประมาณ 6,000 บาท ด้วยราคาที่ต่างกันก็ทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างกันด้วย เช่น ห้องอาจจะใหม่กว่า ส่วนตัวรู้สึกว่าสภาพความเป็นอยู่โอเคและค่อนข้างถูก

ส่วนหอนอกราคาก็จะต่างกันไปตามระยะทางหรือสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ส่วนใหญ่เท่าที่เห็นห้องหนึ่งจะมีราคา 5,000 บาทขึ้นไป เช่น หอ Bundit Group ที่จะมีฟิตเนส สระว่ายน้ำ WiFi และรถรับ-ส่ง ม.มหิดล

  • ดูราคาหอพักนักศึกษา 1/2565 คลิก 

แล้วมีรับน้องอะไรบ้าง?

รับน้องมีการปรับเปลี่ยนไปในแต่ละปี เช่น ปีของพี่รุ่นก่อนๆ จะมีความ Strick มากกว่าในเรื่องของกฎระเบียบ ซึ่งมีพี่ระเบียบและค่อนข้างโหดกว่า แต่ในปีรุ่นพี่ของพี่กับปีพี่ค่อนข้างที่จะ Soft ลงมา และค่อนข้างจะฟรีให้น้องมากๆ อย่างปีพี่ยังมีการจัดรับน้องแบบออนไซต์อยู่ก็จะมีกิจกรรมต่างๆ และพิธีเทียน รุ่นพี่ค่อนข้างชวนเราทำกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา ทำให้เปิดใจและสนิทกับรุ่นพี่ตั้งแต่ปีหนึ่งเลย จำได้ว่าช่วงนั้นจัดกิจกรรมบ่อยมาก อย่างกิจกรรมรักน้องที่เป็นรับน้องของมหา'ลัย เราจะได้เจอเพื่อนคณะอื่นด้วย ซึ่งมีกิจกรรมให้เล่นอยู่เรื่อยๆ สนุกมาก ส่วนกิจกรรม First Meet MUMT ที่เป็นรับน้องคณะจะมี 2 สาขาร่วมกันทำกิจกรรม ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นน้องกับรุ่นพี่ได้มาก

แต่หลังจากโควิด พี่ถามรุ่นน้องก็กลายเป็นว่าต้องรับน้องผ่านออนไลน์แทน แต่จะมีกิจกรรมอย่างอื่นด้วย เช่น กิจกรรมพบปะอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งมีกรุ๊ปไลน์แบ่งเป็นบ้านต่างๆ อาจารย์ที่ปรึกษาก็จะมาสอบถามสารทุกข์สุขดิบของนักศึกษาในสายว่าเป็นยังไงบ้างตั้งแต่ปี 1-4 เลย และเราจะได้จับกลุ่มรวมกับสายอื่นด้วย แบ่งเป็นแต่ละบ้านเพื่อให้ได้พบกับอาจารย์ที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้รุ่นพี่รุ่นน้องและอาจารย์ได้สานสัมพันธ์กันให้เหนียวแน่นกันมากขึ้น

กิจกรรมรักน้อง มหาวิทยาลัยมหิดล
กิจกรรมรักน้อง มหาวิทยาลัยมหิดล

มีการจับสายรหัสไหม?

มีการจับอยู่แล้วในทุกๆ ปี แต่ส่วนมากเท่าที่เห็นจะเป็นสายโค เพราะในแต่ละชั้นปีมีน้องไม่เท่ากัน เช่น ปี 61 คนน้อยกว่าปี 62 ก็ทำให้มีสายโคที่เป็นพี่ 2 คนกับน้อง 3-4 คน มีอะไรเราก็ปรึกษาพี่รหัสของตัวเองได้ เช่น รู้สึกท้อในการเรียนก็ไปถามรุ่นพี่ว่าเคยรู้สึกเหมือนกันไหมและจะแก้ไขยังไง หรือมีปัญหากับวิชานี้ช่วยสอนหน่อยได้ไหม ยิ่งปรึกษาเรื่อยๆ ก็เหมือนได้อีกที่พึ่งหนึ่ง ได้ไปกินข้าวกินเลี้ยงด้วยกัน มันช่วยให้เราสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นน้องกับรุ่นพี่ได้ดีมากเหมือนกัน

มีการเก็บชั่วโมงกิจกรรมหรือการสอบอะไรที่ทางมหา’ลัยบังคับไหม?

มีการเก็บชั่วโมงกิจกรรมเรียกว่า AT (Activity Transcript) ให้ครบตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนดไว้ในแต่ละด้านจาก 5 ด้านที่มีตัวอักษรย่อว่า HIDEF โดยเขาจะประชาสัมพันธ์กิจกรรมมาให้เรื่อยๆ ใน LINE ของคณะ เช่น กิจกรรมนี้ถ้าเข้าร่วมประชุมจะได้ AT 2 ชั่วโมง ซึ่งสามารถดูในเว็บไซต์ของมหา'ลัยได้ว่าเราเหลือกี่ชั่วโมง แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือเราต้องทดสอบภาษาอังกฤษให้ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดถึงจะได้เข้าพิธีรับปริญญา เช่น ielts, TOEFL หรือ MU-ELT ซึ่งเป็นการวัดระดับความรู้ที่มหา’ลัยจัดสอบเอง แต่ถ้าสอบไม่ผ่านสักทีก็จะมีการจัด Intensive Course ให้ทุกคนได้เรียนให้ผ่าน เพื่อเตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษให้เราก่อนที่จะจบจากมหา'ลัยไป

ระหว่างรอเรียนคาบต่อไป เด็กมหิดลชอบไปไหนหรือทำอะไร?

ในสมัยที่ยังไม่มีโควิด ตอนรอเรียนคาบต่อไปก็จะไปพวกร้านกาแฟที่อยู่ในมอหรือไปหอสมุด แล้วก็มีจุดให้เล่นกีฬาเยอะมาก แต่ส่วนมากจะเดินชิลๆ กินลมชมวิว ขี่จักรยาน เพราะในมอมีต้นไม้เยอะและมีสวนสิริรุกขชาติให้เราไปนั่งพัก จะให้ความรู้สึกสงบหน่อย มี Mu Lake ด้วยเป็นเหมือนทะเลสาบขนาดย่อมที่อยู่ในมหา’ลัย ไปนั่งชิลตรงนั้นได้ บรรยากาศดีเหมาะแก่การพักผ่อน เสมือนเป็นสวนสาธารณะ

อาหารการกินทั้งในและนอกมหา’ลัยเป็นยังไง?

สมัยที่ยังไม่มีโควิด อาหารการกินในมอมีเยอะ ก็จะมีโรงอาหารสังคม โรงอาหารคณะเทคนิคการแพทย์ แล้วก็ MLC ที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยจะมีฟิตเนสและมีโรงอาหารอยู่ข้างล่าง มีร้านอาหารที่ดุริยางค์ด้วยแต่เขาปิดไปเพราะมีโควิด ความจริงร้านอาหารที่นั่นอร่อยมาก แต่ข้างนอกมอยังมีร้านเปิดให้กินเยอะมาก ร้านที่อร่อยๆ ก็มีโตเกียวที่เพิ่งออกช่อง Bearhug ลูกค้าเต็มตลอด แล้วก็พวกร้านส้มตำ ร้านไก่ทอด ร้านน้ำ (บ้านช็อกโกแลตอร่อย!) และร้านสามเหรียญ (ก๋วยเตี๋ยวร้านนี้อร่อยมาก!)

ศูนย์การเรียนรู้มหิดล  (Mahidol Learning Center)
ศูนย์การเรียนรู้มหิดล  (Mahidol Learning Center)

พูดถึงบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในมหา’ลัยหน่อยค่ะ

บรรยากาศสงบและเหมือนอยู่ในป่าเพราะมีต้นไม้เยอะ ส่วนสัตว์ก็ค่อนข้างเยอะ ทั้งนก กระรอก ปลา โดยเฉพาะตัวเงินตัวทองซึ่งที่นี่เรียกว่า “บุ๋ย” แล้วจะมีคนข้างนอกเข้ามาออกกำลังกายด้วย แต่มีพี่ รปภ. ตรวจตลอดเวลา เรียกได้ว่ามหา'ลัยเหมือนเป็นสวนสาธารณะเลยจริงๆ 

พูดถึงสังคมกลุ่มเพื่อนหน่อยว่าเป็นยังไงบ้าง?

พอเข้ามาเรียนจริงๆ สังคมกลุ่มเพื่อนค่อนข้างแตกต่างกันไป รู้สึกว่าก็ค่อนข้างที่จะช่วยเหลือกัน เช่น การทำแล็บที่หลายครั้งไม่ได้จับกลุ่มกับเพื่อนสนิทตัวเอง เพื่อนก็ยังช่วยเหลือและ Support กัน ยิ่งได้ทำงานกลุ่มเยอะก็ยิ่งต้องสามัคคีมากขึ้น

พูดถึงอาจารย์ที่คณะหน่อยว่าเป็นยังไงบ้าง?

อาจารย์ค่อนข้างเป็นห่วงว่าความรู้ที่ให้เราจะต้องครบถ้วน บางครั้งเราทำแล็บโดยอ่านขั้นตอนการทำและยังไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการ อาจารย์จึงพยายามทำให้เราเข้าใจหลักการจริงๆ ว่ามีที่มายังไงและช่วยคนไข้ได้ยังไง เพราะเราก็จะรู้คร่าวๆ ว่าคนไข้อาการหนักมากแค่ไหนจากผลแล็บได้ เช่น ดูผลแล็บแล้วมีค่าหนึ่งสูงมากๆ ก็ต้องไปทำแล็บอื่นเพิ่มเติมว่าคนไข้อาจจะเป็นโรคอะไรหรือเปล่า เพื่อช่วยคุณหมอวินิจฉัยโรคและรักษาคนไข้ได้ทันเวลา อาจารย์ต้องการให้มีความรู้ที่แน่นและสามารถนำไปต่อยอดได้ ซึ่งบางทีเราก็ถูกคาดหวังจากอาจารย์เยอะ ทำให้กดดันบ้าง แต่อาจารย์ก็จะคอยถามหรือดูพวกเราอยู่ตลอด ถามว่ารู้สึกโอเคไหม เครียดหรือเปล่า มีอะไรก็ปรึกษาอาจารย์ได้

พูดถึงการเรียนโดยภาพรวมในแต่ละชั้นปี

ปี 1 จะได้เรียนตัวพื้นฐานเป็นพวกความรู้ตอน ม.ปลาย อย่างเคมี ชีวะ ฟิสิกส์ เพื่อที่จะปูความรู้ก่อนไปเจอวิชาหนักๆ ตอนปี 2-4

ปี 2 เราจะเริ่มเข้ามาในสายการแพทย์มากขึ้น เช่น Anatomy และสรีรวิทยา ซึ่งเป็นที่ Popular มากเพราะสนุกมากจริงๆ ในการเรียนกับอาจารย์ใหญ่

ปี 3 จะเรียนวิชาคณะเต็มๆ เช่น Hemato (การตรวจทางเลือด), การตรวจสารเคมีในร่างกาย, ปรสิต, Blood Bank (ธนาคารเลือด), การเรียนแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้าไปสู่ในร่างกายแล้วทำให้ค่าบางอย่างในร่างกายสูงหรือต่ำ และทำให้รู้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไร มีการฝึกอ่านและทำความเข้าใจงานวิจัยเพื่อฝึกอธิบายให้เพื่อนๆ และอาจารย์ฟังเพื่อปูพื้นฐานสู่ปี 4

ปี 4 วิชาคณะคล้ายๆ ปี 3 แต่จะใช้เวลาไปกับการทำ Term Paper และฝึกงานเป็นส่วนใหญ่ โดย Term Paper เราจะได้ลงมือทำแล็บและทำวิจัยเอาเองตามหัวข้อที่สนใจ

คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ควรเตรียมอุปกรณ์การเรียนอะไรไว้บ้าง?

พี่รู้สึกว่าโน้ตบุ๊กหรือไอแพดค่อนข้างที่จะจำเป็น เพราะจะมีวิชาที่ต้องวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) ซึ่งต้องใช้ Excel แล้วเวลาเราดูกล้องจุลทรรศน์ เราก็จะใช้โทรศัพท์ถ่ายรูปและจดโน้ต สำหรับพี่การเรียนด้วยกระดาษสมุดเพียงอย่างเดียวอาจจะลำบากหน่อย

พูดถึงการสอบและการตัดเกรดหน่อยว่าเป็นยังไงบ้าง?

ในปี 1 จะเป็นการสอบแบบกลางภาคกับปลายภาค แต่ปี 2 ปี 3 และปี 4 จะมีการสอบเก็บคะแนนค่อนข้างถี่มากๆ เราจะได้ควิซทดสอบความรู้แต่ละหัวข้อที่เรียนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการวัดว่าจริงๆ แล้วเราเข้าใจหัวข้อนี้จริงไหม ทำให้กดดันนิดๆ แต่ถ้าเราบริหารเวลาอ่านหนังสือดีๆ ก็ทำข้อสอบได้ ส่วนรูปแบบของข้อสอบมีหมดทุกแบบเลย ส่วนมากจะเป็นข้อเขียนกับข้อกาผสมกัน อาจจะมีจับคู่บ้าง แล้วส่วนใหญ่จะมีแล็บกริ๊งให้วิ่งเปลี่ยนฐาน ตัด A ประมาณ 80, 85 คะแนน

รูปแบบงานที่ทำส่วนใหญ่เป็นยังไง?

งานส่วนใหญ่จะเป็นงานกลุ่มและการทำแล็บในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเราจะต้องทำแล็บในทุกๆ วัน จากนั้นจึงกลับไปเขียนรายงานผลแล็บ ส่วนงานกลุ่มมีทุกวิชา ส่วนใหญ่เป็นพวก Case Study ที่จะให้ประวัติผู้ป่วยมาแล้วให้คิดว่าต้องทำแล็บอะไรต่อ ซึ่งต้องเตรียมพรีเซนต์และตอบคำถามอาจารย์ให้ได้ 

ชอบ/ประทับใจวิชาอะไรมากเป็นพิเศษ?

ความจริงชอบ Hemato เพราะเป็นการตรวจทางเลือด การทำแล็บวิชานี้สนุกดี แล้วอาจารย์ที่สอนก็สอนสนุกด้วยเลยยิ่งชอบเข้าไปใหญ่

กระซิบนิดนึง วิชาไหนที่คิดว่าโหดที่สุด!

ส่วนตัววิชาที่รู้สึกว่าโหดมากที่สุดคือแบคทีเรีย ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียเยอะมาก โดยเราจะต้องเลี้ยงเชื้อให้น้องเติบโต แล้วก็ทดสอบว่าเชื้อนี้มีผลยังไงบ้าง ซึ่งรายละเอียดค่อนข้างเยอะมาก ต้องจำเยอะ พี่ก็เลยรู้สึกว่ายาก

ได้ทำกิจกรรมอะไรในหลักสูตร/รายวิชาบ้าง แล้วมีกิจกรรมไหนที่ชอบเป็นพิเศษไหม?

ก็จะมีค่ายที่ไปลงชุมชนด้วย เช่น วิชา Community ที่ต้องลงชุมชนเพื่อไปตรวจคนในชุมชนเอง เราก็จะได้ไปเก็บเลือดและปัสสาวะเพื่อนำมาตรวจในแล็บจริงๆ รวมถึงดูแลและติดตามสุขภาพของคนในชุมชนด้วย นอกจากนี้จะมีค่ายพยาธิที่เป็นการลงชุมชนเหมือนกัน เป็นกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกสนุกเพราะได้ลงมือทำจริงๆ ส่วนอีกกิจกรรมที่ชอบจะเป็นค่าย X-Scope Camp (ค่ายต้นกล้าส่องแสง) ซึ่งเป็นค่ายที่ให้น้อง ม.ปลาย ได้มาทำความรู้จักกับคณะเรา พอได้เอาประสบการณ์ของตัวเองมาเล่าให้น้องๆ ฟังก็รู้สึกว่าสนุกที่ได้ทำ

ค่าย X-Scope Camp (ค่ายต้นกล้าส่องแสง)
ค่าย X-Scope Camp (ค่ายต้นกล้าส่องแสง) 

แล้วอย่างนี้มีคนกลัวเลือดกลัวเข็มเรียนเทคนิคการแพทย์ไหม?

มีคนที่กลัวเข็มจนจะเป็นลม อาจารย์ก็จะคอยพัดวีและมียาดมเตรียมไว้ ส่วนเพื่อนๆ ก็คอยอยู่ข้างๆ ช่วยเหลือกัน ทำให้เรียนกันได้ เพราะทุกคนจะคอยอยู่ด้วยกันเสมอ

คณะนี้ต้องฝึกงานไหม และส่วนตัวได้ไปฝึกงานหรือยัง?

ตอนนี้พี่ยังไม่ได้ฝึกงานเพราะยังอยู่ปี 3 แต่ก็ไปถามรุ่นพี่ปี 4 ว่าเป็นยังไงบ้าง พี่เขาก็รู้สึกสนุกและแฮปปี้มากๆ เพราะได้ไปทำออนไซต์จริงๆ ซึ่งมีทั้งไปตรวจโควิด ตรวจเลือด และทำทุกอย่างที่เคยเรียนมา

อะไรที่ทำให้เครียดที่สุดกับการเรียนในคณะนี้?

น่าจะเป็นเรื่องของการแบ่งเวลาที่บางครั้งรู้สึกว่าแบ่งเวลาพักกับเวลาเรียนไม่ค่อยได้แล้ว เพราะเวลาเรียนค่อนข้างเยอะ แล้วเรายังต้องทำงานกลุ่ม ซึ่งพอเป็นแบบออนไลน์ก็จะต้องคุย Zoom หรือคุย LINE กันตลอดเวลา ทำให้บางทีไม่มีเวลาพักผ่อน ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือความเครียดจากการเรียน เหมือนกับว่าเราอยู่กับคนเก่งก็ต้องยิ่ง Push Up ตัวเองให้ตามให้ทันให้ได้ 

พูดถึงภาพจำของเด็กคณะนี้หรือมหา’ลัยนี้หน่อยค่ะ

รู้สึกหลายคนเข้าใจผิดว่าเทคนิคการแพทย์เรียนพวกเครื่องมือแพทย์หรือจบไปเป็นหมอ แต่จริงๆ อาชีพนักเทคนิคการแพทย์ไม่ใช่อาชีพทำเครื่องมือหมอและไม่ใช่หมอ แม้หลายคนจะชอบเรียกเราว่า “หมอแล็บ” แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าอยากให้ทุกคนจำภาพเราด้วยชื่อ “นักเทคนิคการแพทย์” ที่คอยทำแล็บในห้องปฏิบัติการและช่วยวินิจฉัยโรคเพื่อให้หมอวินิจฉัยถูกว่าคนไข้เป็นโรคอะไรมากกว่า อยากให้ทุกคนได้รู้ว่ามีอาชีพนี้เป็นหนึ่งในอาชีพสายสุขภาพเหมือนกัน  และภาพจำอีกอย่างหนึ่งคืออาจจะเห็นว่าเด็กมหิดลเป็นเด็กเนิร์ด พี่ก็เคยเห็นคนที่เนิร์ดจริงๆ แบบอยู่ในห้องสมุดตลอดเวลาและอ่านหนังสืออย่างจริงจังมากๆ แต่ก็มีหลายคนที่เขาก็มีความเฮฮาปาร์ตี้ทำกิจกรรมกัน มีทั้งมุมเนิร์ดและมุมสนุกหลุดโลกอยู่เหมือนกัน

เรียนจบคณะนี้ไปสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง และวางแผนการทำงานไว้ว่ายังไง?

พี่รู้สึกว่าเทคนิคการแพทย์ของมหิดลค่อนข้างปูพื้นฐานเนื้อหาเยอะ ทำให้ต่อยอดไปได้หลายอาชีพเลย เช่น นักเทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาล นักวิจัย นักวิชาการ เซลล์ขายเครื่องมือแพทย์ หรือจะเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลก็ยังได้เพราะเราเรียนเรื่อง Data Analysis ด้วย ซึ่งส่วนตัวพี่อยากเป็นนักเทคนิคการแพทย์ในแล็บของโรงพยาบาล แต่ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไหม

สุดท้ายนี้ฝากอะไรถึงน้องๆ หน่อย

พี่อยากฝากบอกว่าความจริงพี่ไม่ได้ทำแล็บเก่งอะไร แต่พี่ก็พยายามที่จะทำมันออกมาให้ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้พี่อยากเข้ามาเรียนในคณะนี้ แล้วก็รู้สึกดีทุกครั้งที่การเรียนของเราช่วยวินิจฉัยหรือรักษาคนอื่นได้ ถ้าใครรู้สึกเหมือนกันกับพี่ รู้สึกสนใจอาชีพเทคนิคการแพทย์ และชอบรูปแบบการเรียนของมหิดลก็ลองสมัครเข้ามาดูได้ ฝากคณะเทคนิคการแพทย์มหิดลให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่สนใจวิชาชีพนี้เหมือนกันนะ

  • ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก 

ต้องขอขอบคุณพี่เกล้าที่สละเวลาของตัวเองมาแบ่งปันข้อมูลให้กับน้องๆ กันนะคะ  ถ้ามีข้อสงสัย ข้อเสนอแนะ หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมสามารถคอมเมนต์ไว้ด้านล่างได้เลยน้า ขอบคุณที่อ่านบทความจนจบค่ะ ^^

ขอขอบคุณรูปภาพจากhttps://mt.mahidol.ac.th/https://op.mahidol.ac.th/ir/th/https://www.facebook.com/MedTechMU/https://www.facebook.com/XScopeCamp/?ref=page_internalhttps://www.facebook.com/mlc.mu/?_rdr
พี่โบว์
พี่โบว์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด