#ทีมบางมด มาทางนี้! รวมให้แล้ว 10 เรื่องน่ารู้ รอบรั้ว มจธ.

สำหรับการประกาศผลรอบ Admission ของ #Dek65 ก็เสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขอแสดงความยินดีกับน้องๆ ที่สอบติดคณะในฝันของตัวเองด้วยนะคะ 

ว่าแต่…ไหนใคร #ทีมบางมด บ้าง ยกมือขึ้น! วันนี้พี่แป้งได้รวบรวม 10 เรื่องน่ารู้ รอบรั้ว มจธ. มาฝากด้วยค่ะ น้องๆ ทีมอื่น และ #Dek66 ก็สามารถอ่านได้เหมือนกันน้า ต่อก่อนจะไปดูเรื่องราวรอบรั้ว มจธ. เรามาดูประวัติความเป็นมาของที่นี่กันก่อนดีกว่า

#ทีมบางมด มาทางนี้! รวมให้แล้ว 10 เรื่องน่ารู้ รอบรั้ว มจธ.
#ทีมบางมด มาทางนี้! รวมให้แล้ว 10 เรื่องน่ารู้ รอบรั้ว มจธ.

#ทีมบางมด มาทางนี้! รวมให้แล้ว 10 เรื่องน่ารู้ รอบรั้ว มจธ.

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 แต่เดิมมีชื่อว่า “วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ” ในสมัยนั้นได้รับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เฉพาะสายวิทยาศาสตร์ เข้าศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เท่านั้น และในวันที่ 6 มีนาคม 2541 ได้รับการเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และได้ปรับระบบเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เดี๋ยวเรามาดูไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่าว่า 10 เรื่องน่ารู้ของ มจธ. จะมีเรื่องอะไรบ้าง

1. ชื่อเรียกมหาวิทยาลัยมีหลากหลาย

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าชื่อเต็มของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แต่หลายคนมักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า ม.พระจอมเกล้าธนบุรี มจธ. KMUTT มหาวิทยาลัยบางมด ม.บางมด หรือ เทคโนฯ บางมด ที่ส่วนใหญ่เรียกกันแบบนี้ก็เพราะว่า มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใน ย่านบางมด นั่นเอง นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหนึ่งชื่อที่คนในพื้นที่จะเรียกกันก็คือ เทคโนฯ ค่ะ

2. มจธ. ไม่ได้มีแค่ที่ บางมด เท่านั้น

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดสอนทั้งหมด 3 พื้นที่การศึกษา ได้แก่

1) มจธ.บางมด : ตั้งอยู่ที่เขตทุ่งครุ จ.กรุงเทพฯ สำหรับพื้นที่การศึกษานี้ถือเป็นพื้นที่หลักและเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย มจธ. (บางมด)  

2) มจธ.บางขุนเทียน : ตั้งอยู่ที่เขตบางขุนเทียน  จ.กรุงเทพฯ  โดยพื้นที่การศึกษานี้จะเน้นการทำวิจัยและพัฒนาให้เป็นเลิศ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและสนับสนุนความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมของประเทศ

3) มจธ.ราชบุรี : ตั้งอยู่ที่อำเภอจอมบึง จ.ราชบุรี เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ โดยจัดการจัดการเรียนการสอนแบบ  Residential College ซึ่งมหาวิทยาลัยเป็นทั้งที่พัก และที่จัดการเรียนรู้ โดยนักศึกษาทุกคนจะต้องพักอยู่ภายในมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ยังมี อาคารเคเอกซ์ (KX - Knowledge Exchange for Innovation Center)   ตั้งอยู่เขตคลองสาน ซึ่งเป็นพื้นที่การศึกษาในเมือง เพื่อนำความรู้ และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปสู่การใช้ประโยชน์โดยภาคอุตสาหกรรม และยังมีพื้นที่สำหรับการวิจัย ค้นคว้าทดลอง พื้นที่จัดกิจกรรมประชุมสัมมนา และจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ อีกด้วย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดสอนทั้งหมด 3 พื้นที่การศึกษา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดสอนทั้งหมด 3 พื้นที่การศึกษา

3. เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีทั้งหมด 8 คณะ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เน้นการเรียนการสอนทางด้าน วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยในระดับปริญญาตรีเปิดสอนทั้งหมด 8 คณะดังนี้

  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ : เปิดสอน 22 สาขา
  • คณะวิทยาศาสตร์ : เปิดสอน 7 สาขา
  • คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี : เปิดสอน 8 สาขา
  • โครงการร่วมบริหารหลักสูตรมีเดียอาตส์และเทคโนโลยีมีเดีย : เปิดสอน 3 สาขา
  • คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ : เปิดสอน 3 สาขา
  • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ : เปิดสอน 5 สาขา
  • สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม : เปิดสอน 1 สาขา
  • วิทยาลัยสหวิทยาการ : เปิดสอน 2 สาขา
  • ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

4. มจธ. บางขุนเทียน มีนักศึกษาระดับปริญญาตรี แค่ 2 คณะ

สำหรับคณะแรกก็คือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ (SoA+D) และอีกหนึ่งคณะคือ โครงการร่วมบริหารหลักสูตรมีเดียอาตส์และเทคโนโลยีมีเดีย (MeT & MeA) ซึ่งนักศึกษาทั้ง 2 คณะนี้ไม่ได้เรียนอยู่แค่ที่บางขุนเทียนอย่างเดียวนะคะ บางวิชาที่เป็นวิชาเรียนรวมของมหาวิทยาลัย ทั้ง 2 คณะจะต้องเดินทางมาเรียนที่บางมดค่ะ โดยทางมหาวิทยาลัยจะมีรถบัสบริการรับ-ส่ง นักศึกษาระหว่างเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะแบ่งออกเป็นรอบ สามารถเช็กได้ที่นี่  ส่วนใครที่มีรถยนต์ส่วนตัวก็สามารถขับมาได้เหมือนกันค่ะ

5. อาคารและสถานที่ ที่มจธ. บางมด แบ่งออกเป็น 2 โซน

ได้แก่ South zone และ North zone โดยแต่ละอาคารจะมีตัวอักษรภาษาอังกฤษและตัวเลข ติดอยู่ เพื่อบอกตำแหน่งของอาคารและสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งตัวอักษรก็จะแบ่งตามโซน คือ ตัว S และ N เช่น  

  • S5 = บ้านธรรมรักษา 2 (หอชาย)
  • N2 = อาคารสำนักงานอธิการบดี

โดยปกติแล้วนักศึกษามักจะเรียกอาคารเรียนรวมว่า CB โดยแบ่งออกเป็น 5 อาคารด้วยกัน นอกจากนี้ก็ยังมี Slope 200 (บรรจุได้ 200 คน), Slope 600 (บรรจุได้ 600 คน) ซึ่งเป็นห้องเรียนรวม สำหรับการเรียนการสอนในรูปแบบการบรรยาย  

แผนผังอาคารและสถานที่ มจธ. บางมด
แผนผังอาคารและสถานที่ มจธ. บางมด

6. มจธ. บางมด มี KFC ขนาดใหญ่

ต้องบอกก่อนเลยว่า KFC ย่อมาจาก King Mongkut’s Food Center ซึ่งเป็นโรงอาหารหลักของ มจธ. โดยจะตั้งอยู่ที่ลานชั้น 2 ของอาคารพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ 190 ปี ซึ่ง KFC ของที่นี่มีขนาดใหญ่มากๆ ที่สำคัญไม่ได้ขายแค่ไก่ทอดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเมนูอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง ส้มตำ น้ำดื่ม ฯลฯ  

สำหรับอาคารแห่งนี้ นอกจากจะมีโรงอาหารแล้ว บริเวณชั้น 1 จะมีห้องชมรม ฟิตเนส และห้องประชุม ที่นักศึกษาสามารถทำเรื่องขออนุญาตใช้ห้อง เพื่อเข้าไปประชุมงานได้ ส่วนบริเวณชั้น 3 จะเป็นโรงยิม สำหรับการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา เล่นนกีฬา รวมไปถึงเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ ของทางมหาวิทยาลัยอีกด้วยค่ะ  

7. Learning Garden สวนแห่งการเรียนรู้

จุดประสงค์ของ Learning Garden ถูกสร้างมาเพื่อเป็นพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ หรือเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนการสอนนอกห้องเรียนที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งบริเวณนั้นจะมีที่นั่งสำหรับการนั่งติวหนังสือ ประชุมงาน หรือพูดคุยกัน นอกจากจะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้แล้ว ยังเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับนักศึกษา เช่น กิจกรรมดนตรีในสวน รวมไปถึงเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวมจธ. หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบข้างอีกด้วยค่ะ  

Learning Garden สวนแห่งการเรียนรู้  ของ มจธ.
Learning Garden สวนแห่งการเรียนรู้  ของ มจธ.

8. แก๊งห่านเจ้าถิ่น

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามหาวิทยาลัยอยู่ในย่านบางมด ดังนั้น มด ก็เลยถูกเป็นสัญลักษณ์ หรือสัตว์ประจำมหาวิทยาลัยกันไป แต่ๆ…ยังมี ห่าน สัตว์อีกหนึ่งชนิดที่เรียกได้ว่าเป็น เจ้าถิ่น ของที่นี่ได้เลยค่ะ ซึ่งแก๊งห่านจะอาศัยอยู่บริเวณลานห่านที่มีสระน้ำ รวมไปถึงประตูเข้า-ออกหน้ามหาวิทยาลัย ใครที่เดินผ่านไปผ่านมาแถวนั้นก็จะเห็นน้องๆ เล่นน้ำกันอยู่ ไม่ก็นอน หรือเดินเล่นวนเวียนอยู่บริเวณทางเดิน ซึ่งมนุษย์อย่างเราต้องเดินหลบเจ้าถิ่นอย่างเขาด้วย5555 สำหรับใครที่เห็นก็สามารถเข้าไปอุ้ม ไปเล่น หรือถ่ายภาพกับน้องๆ ได้นะคะ แต่ก็ต้องหาจังหวะ หรือช่วงเวลาดีๆ ด้วย เพราะบางทีอาจจะโดนน้องจิกได้ค่ะ ;-;  

แก๊งห่านเจ้าถิ่น ณ  มจธ.
แก๊งห่านเจ้าถิ่น ณ  มจธ.

9. รถเมล์ผ่านมหาวิทยาลัยแค่ 2 สาย เท่านั้น

อ่านไม่ผิดค่ะ มีรถเมล์สาธารณะผ่านมหาวิทยาลัยแค่ 2 สายจริงๆ ได้แก่ สายรถ 75 เส้นทางเดินรถ วัดพุทธบูชา – หัวลำโพง และสายรถ 21 เส้นทางเดินรถ วัดคู่สร้าง – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่อย่าเพิ่งตกใจไปค่ะ การเดินทางไม่ได้ลำบากอย่างที่คิด เพราะว่ายังมีรถโดยสารประจำทางหลายสายที่สามารถเดินทางมาถึงมหาวิทยาลัยได้ สายรถ 142 141 140 138 82 20 6 โดยต้องมาลงรถที่ถนนสุขสวัสดิ์-ถนนราษฎร์บูรณะ หรือตลาดบางปะกอก และขึ้นรถโดยสารขนาดเล็ก (รถกระป๊อ) ต่อมายังมหาวิทยาลัยค่ะ

ข้อควรรู้เพิ่มเติม : ถนนเส้นประชาอุทิศค่อนข้างแคบ และที่สำคัญรถติดมาก เพราะว่าแถวนั้นมีโรงเรียนเยอะ ดังนั้น อย่าลืมเผื่อเวลาสำหรับการเดินทางกันด้วยน้า

10. กิจกรรมแรกพบมดน้อย

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในทุกๆ ปี (ยกเว้นช่วงสถานการณ์โควิด-19) โดยองค์การบริหารองค์การนักศึกษา โดยได้ร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานกิจการนักศึกษา สภานักศึกษา สโมสรนักศึกษา และภาควิชาต่าง ๆ จัดโครงการแรกพบมดน้อยนี้ขึ้นมา เพื่อต้อนรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคน รวมไปถึงเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างตัวนักศึกษาใหม่ด้วยกันเองกับนักศึกษาชั้นปีอื่น ๆ โดยนักศึกษาจากทุกคณะ และทุกพื้นที่การศึกษา จะต้องมาร่วมกิจกรรมที่ มจธ.บางมด ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีธีมงานที่แตกต่างกันออกไป น้องๆ จะได้ทำกิจกรรมตามฐานที่ได้จัดเตรียมเอาไว้ตามคณะต่างๆ บอกเลยว่า ทั้งสนุก และเหนื่อยไปพร้อมๆ กัน เพราะได้เดินทัวร์รอบมหาวิทยาลัยเลยค่ะ   ยังไงก็ต้องมารอลุ้นกันนะคะว่าปีนี้จะสามารถจัดได้มั้ย หรือจะมีกิจกรรมอะไรต้อนรับน้องใหม่เข้าสู่รั้ว มจธ. บ้าง ^^

 

เป็นยังไงกันบ้างคะ สำหรับ 10 เรื่องน่ารู้ รอบรั้วมจธ. ที่พี่แป้งนำมาฝากกันในวันนี้ หวังว่าจะทำน้องๆ ได้รู้จักกับ มจธ. มากขึ้น สำหรับพี่ๆ ชาวบางมดคนไหนที่ผ่านมาเห็นบทความนี้ และอยากแชร์ข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลยค่า :D

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากhttps://www.kmutt.ac.th/about-kmutt/campus/https://www.facebook.com/SIT.Family/photos/pcb.10155350570993789/10155350568548789https://www.facebook.com/%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%94-215762302711543

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น