สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ ในวัยของน้องๆ อาการปวด หรือ ปัญหาด้านกล้ามเนื้อ ยังคงไม่ถามหาเท่าไหร่ แต่สำหรับคนในวัยทำงาน หรือ วัยผู้สูงอายุ ปัญหากระดูกและข้อ กล้ามเนื้อ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับด้านระบบประสาท หรือ ความพิการที่เกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น

เมื่อเกิดโรคหรืออาการต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น นอกจากแพทย์ที่จะทำการรักษาแล้ว "นักกายภาพบำบัด" ก็เป็นอีกอาชีพที่มีบทบาทสำคัญมากๆ ในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และอาชีพนี้ก็เป็นที่น้องๆ นักเรียนยุคใหม่ อยากเรียนเป็นอันดับต้นๆ ของสายวิทย์สุขภาพด้วย วันนี้บทความเจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ จะมาบอกเล่าเกี่ยวกับอาชีพนักกายภาพบำบัดกันค่ะ

เจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ : นักกายภาพบำบัด
เจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ : นักกายภาพบำบัด

แนะนำอาชีพ

ภาพลักษณ์ที่หลายคนมองมาที่วิชาชีพนี้ คือ การนวดเพื่อรักษา แต่จริงๆ แล้ว นักกายภาพบำบัด คือ ผู้ที่ให้การรักษาหรือบำบัดผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ โรคทางกระดูก โรคทางข้อ โรคทางระบบประสาท และความพิการต่างๆ ที่เกิดจากโรคหรืออุบัติเหตุ เพื่อฟื้นฟูให้ร่างกายกลับมาเป็นปกตินั่นเองค่ะ ยกตัวอย่างเช่น มีผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุมา ต้องพักรักษาตัว 3 เดือน และได้รับบาดเจ็บที่ขา ไม่ได้ลุกเดินไปไหนมานาน เพื่อสภาพร่างกายดีขึ้นก็จะต้องทำการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้กลับมาเดินได้เป็นปกตินั่นเองค่ะ

สำหรับการรักษา ก็ไม่ได้เจาะจงไปแค่การนวดอย่างที่เราเข้าใจกัน แต่ยังมีการใช้ความร้อน แสง เสียง ไฟฟ้า หลักกลศาสตร์ การดัด การดึง และเครื่องมืออื่นๆ ที่เข้ามาช่วยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น  

คุณสมบัติของคนที่จะทำอาชีพนี้

  • เป็นคนช่างสังเกต ใส่ใจรายละเอียด เพราะการวิเคราะห์โรคและอาการของผู้ป่วยมีความสำคัญอย่างมากในการรักษาด้วยกายภาพบำบัด  เพราะจะต้องเลือกรูปแบบวิธีในการรักษา
  • ทัศนคติดี มีทักษะในการพูด ให้กำลังใจผู้อื่นได้ เพราะโรคต่างๆ ที่ผู้ป่วยจะต้องเข้ามารับการรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัด มักจะต้องใช้เวลาในการรักษานาน ผู้ป่วยอาจหมดกำลังใจ ดังนั้นหน้าที่ของนักกายภาพบำบัดจะต้องพูดโน้มน้าวใจ ให้กำลังใจ รวมถึงพูดสนับสนุนให้ผู้ป่วยกลับมารักษาเป็นประจำหรือเริ่มฝึกกิจกรรมต่างๆ ที่บ้านด้วยตนเอง
  • มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เพราะการทำกายภาพบำบัด ไม่ใช่การรักษาด้วยยา แต่เป็นการรักษาด้วยอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ รวมทั้งต้องใช้แรงของนักกายภาพในการช่วยเหลือด้วย 

ต้องจบคณะ/สาขาอะไร

น้องๆ ที่ต้องเป็นนักกายภาพบำบัด จะต้องจบหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัดเท่านั้น และจะต้องสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด เนื้อหาสำคัญในการสอบ จะมีวิชากฎหมาย จรรยาบรรณและการบริหารงาน, วิชาเทคนิคและวิธีการทางกายภาพบำบัด และวิชากายภาพบำบัดในโรคและภาวะต่างๆ

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

  • คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.ขอนแก่น
  • คณะเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.เชียงใหม่
  • คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.ธรรมศาสตร์
  • คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.นเรศวร
  • คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.บูรพา
  • คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.พะเยา
  • คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล
  • สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.แม่ฟ้าหลวง
  • คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.วลัยลักษณ์
  • คณะกายภาพบำบัด ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
  • คณะแพทยศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.สงขลานครินทร์
  • คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.รังสิต
  • คณะกายภาพบำบัด ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
  • คณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์  

ค่าเทอมของหลักสูตรนี้

  • คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด จุฬาฯ ภาคการศึกษาละ 26,500 บาท
  • คณะเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.ขอนแก่น ภาคการศึกษาละ 18,000 บาท
  • คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.ธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษาละ 16,500 บาท
  • คณะเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.เชียงใหม่ ภาคการศึกษาละ 20,000 บาท
  • คณะกายภาพบำบัด สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.มหิดล ภาคการศึกษาละ 25,000 บาท
  • คณะกายภาพบำบัด สาขาวิชากายภาพบำบัด มศว ภาคการศึกษาละ 31,000 บาท
  • สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.แม่ฟ้าหลวง ภาคการศึกษาละ 33,000 บาท
  • คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.นเรศวร ภาคการศึกษาละ 22,000 บาท
  • หลักสูตรกายภาพบำบัดบัณฑิต ม.พะเยา ภาคการศึกษาละ 28,000 บาท
  • สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด ม.วลัยลักษณ์ ภาคการศึกษาละ 27,400 บาท

วิชาที่น่าจะเกี่ยวข้อง

อ้างอิงจากข้อมูลปี 65 กลุ่มคณะสายนี้  จะใช้ GAT, PAT2  และวิชาสามัญ 7 วิชาหลัก คือ ไทย, สังคม, อังกฤษ, คณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา

ดังนั้นใน TCAS66  วิชาที่น่าจะเกี่ยวข้อง เช่น TGAT และ A-Level วิชาหลัก 7 วิชา คือ  คณิตศาสตร์ประยุกต์, ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, ภาษาไทย, สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาเดิมอย่าง PAT2 น่าจะเป็นการใช้คะแนน A-Level มาทดแทนค่ะ เพราะข้อสอบ TPAT3 อาจจะเน้นไปทางด้านวิศวกรรมศาสตร์มากกว่า อย่างไรก็ตามในปีนี้ต้องติดตามกันว่าในรอบ 1 และ 2 จะมีการสอบวิชาเฉพาะของคณะด้วยหรือไม่

 

สาขาวิชากายภาพบำบัดมีการแข่งขันสูงทุกปีและทุกมหาวิทยาลัย ดังนั้นใครที่อยากเข้าสายนี้จริงๆ อย่าลืมติดตามข่าวเป็นประจำ เพราะอย่างที่น้องๆ ได้ทราบกันไปบ้างแล้วว่า ปีนี้มาใช้ข้อสอบ  TGAT/TPAT แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า TPAT 3 นั้นจะทดแทน PAT2 ด้วยหรือไม่ ถ้าหากไม่ใช้ แปลว่าน้องๆ จะต้องไปทุ่มเทให้กับวิทยาศาสตร์ของ A-Level ให้มากขึ้นค่ะ แต่ไม่ว่าจะเป็นยังไง ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนค่ะ

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด