เจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ : นักวางแผนทางการเงินและการลงทุน

หากพูดถึงวิชาที่ไม่มีสอนในโรงเรียน แต่อยากให้มีสอนมากที่สุด หนึ่งในนั้น คงเป็นเรื่องของการเงินและการวางแผนทางการเงิน แม้จะฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิดเลย เพราะหากได้รับความรู้ทางการเงินตั้งแต่เด็กๆ ก็สามารถช่วยลดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินเมื่อเข้าสู่วัยทำงานได้ค่ะ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ นักวางแผนทางการเงิน และนักวางแผนการลงทุน เริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้น และในอนาคตอาจจะเป็นอาชีพที่มีความสำคัญมากขึ้นด้วย วันนี้เราจะมาดูกันว่า ถ้าอยากทำงานด้านนี้ จะต้องทำอย่างไร

เจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ  : นักวางแผนการเงินและการลงทุน
เจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ  : นักวางแผนการเงินและการลงทุน

เจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ : 
นักวางแผนทางการเงินและการลงทุน

แนะนำอาชีพ  

นักวางแผนทางการเงิน เป็นอาชีพเฉพาะทางยุคใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถช่วยคนในการจัดทำแผนการเงินส่วนบุคคล ให้คำปรึกษาทางการเงินและการลงทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินของบุคคลนั้นๆ โดยผู้ที่จะมาให้คำปรึกษาทางการเงินได้ ก็จะต้องมีความรู้ด้านการเงินรอบด้าน เช่น การบริหารกระแสเงินสด การลงทุน ประกันชีวิต ภาษีและมรดก การวางแผนเพื่อการเกษียณ เพื่อให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับผู้ที่มารับคำปรึกษา

สำหรับนักวางแผนการลงทุน คือ ผู้ที่ให้คำแนะนำด้านการลงทุนแก่นักลงทุน โดยจะวิเคราะห์จากข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อให้การลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุด  

อย่างไรก็ตาม หากน้องๆ สนใจทั้ง 2 อาชีพนี้ จำเป็นต้องมีใบอนุญาตในการทำงานด้วย ดังนั้น เมื่อน้องๆ เรียนจบออกมา จะต้องสอบใบอนุญาตดังกล่าว

คุณสมบัติของคนที่จะทำอาชีพนี้

ไม่ว่าจะเป็นนักวางแผนทางการเงินหรือนักวางแผนการลงทุน จะต้องมีคุณสมบัติสำคัญๆ ดังนี้

1. มีความซื่อสัตย์และโปร่งใส จริงๆ แล้วในทุกๆ อาชีพควรมีความซื่อสัตย์เป็นที่ตั้ง แต่สำหรับนักวางแผนการเงินและการลงทุน มีโอกาสที่จะได้รู้เห็นทรัพย์สินของผู้ที่มาขอคำปรึกษาหรือลูกค้า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีความซื่อสัตย์ ไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นและทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้

2. ให้ความสำคัญกับเป้าหมายของลูกค้ามากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะลูกค้าที่เข้ามาขอคำปรึกษาล้วนต้องการการวางแผนเพื่อการลงทุนหรือวางแผนการเงินในชีวิต ซึ่งจะให้ความเชื่อใจแก่นักวางแผนการลงทุนมาก ดังนั้นนักวางแผนฯ จะต้องคำนึกถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นที่ตั้ง อะไรที่ดีควรแนะนำอย่างตรงไปตรงมา และไม่ควรนำเสนออะไรที่จำเป็น แม้ว่าตนเองจะมีค่าแนะนำการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินก็ตาม

3. มีความสามารถในการสื่อสารและน่าเชื่อถือ การที่ลูกค้าจะเชื่อใจ ยอมให้เราดูแลแนะนำการลงทุน ผู้ให้คำแนะนำควรมีความรู้และบุคลิกที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งการสื่อสารที่มีความเป็นมืออาชีพ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้านั่นเองค่ะ

ต้องเรียนคณะ/สาขาอะไร  

สำหรับคณะที่เรียนออกมาเพื่อเป็นนักวางแผนทางการเงินและการลงทุนโดยตรงนั้น อาจจะมีไม่กี่แห่งที่เปิดสอนในหลักสูตรวางแผนการทางการเงินและการลงทุน แต่น้องๆ สามารถเรียนสาขาที่ใกล้เคียงได้ เช่น คณะเศรษฐศาสตร์ หรือ สาขาด้านการเงินค่ะ หรือ จบคณะอื่นมา ก็สามารถทำงานในสายงานนี้ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ที่ได้บอกข้างต้นแล้วว่า อาชีพนี้จำเป็นต้องสอบใบอนุญาต หรือ คุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP (Certified Financial Planner) และสำหรับนักวางแผนการลงทุน ก็จะต้องมีใบอนุญาต IP (Investment Planner License) ด้วย จึงต้องมีการอบรมและสอบเพิ่มเติม  

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

คณะที่เปิดสอนด้านการเงินและการลงทุน

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการธนาคารและการเงิน 
  •  ม.เกษตรศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการเงิน
  • ม.ขอนแก่น  คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี สาขาวิชาการเงิน 
  • ม.ขอนแก่น ว.หนองคาย คณะสหวิทยาการ วิชาเอกการเงินธุรกิจ 
  •  ม.เชียงใหม่ คณะบริหารธุรกิจ วิชาเอกธุรกิจการเงินและการธนาคาร
  • ม.ธรรมศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการเงิน 
  • ม.นเรศวร  คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร 
  • ม.บูรพา คณะการจัดการและการท่องเที่ยว สาขาการเงิน 
  • ม.พะเยา คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการเงินและการลงทุน 
  •  ม.มหาสารคาม คณะการบัญชีและการจัดการ สาขาการบริหารการเงิน 
  • ม.แม่โจ้ คณะบริหารธุรกิจ วิชาเอกบริหารการเงินและการลงทุน 
  • ม.ศรีนครินทรวิโรฒคณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม สาขาวิชาการเงิน 
  • ม.สวนดุสิตคณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการเงิน 
  • ม.สงขลานครินทร์  คณะวิทยาการจัดการ วิชาเอกการเงินและการลงทุน 
  • มรภ.สวนสุนันทา คณะวิทยาการจัดการ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต แขนงวิชาการเงินการธนาคาร 
  • มรภ.จันทรเกษม คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการเงินและการลงทุน 
  • มรภ.สุราษฎร์ธานี คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการเงินและการลงทุน 
  • มรภ.ชัยภูมิ คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ วิชาเอกการเงิน 
  •  มทร.กรุงเทพ  คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการเงิน 
  • มทร.ธัญบุรี  คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการเงิน 
  • มทร.พระนคร คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการเงิน 
  • ม.กรุงเทพ คณะบริหารธุรกิจ สาขาการวางแผนการเงินและการลงทุน 
  • ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ วิทยาลัยบริหารธุรกิจ นวัตกรรมและการบัญชี วิชาเอก การเงิน การลงทุนและเทคโนโลยีการเงิน 
  • ม.รังสิต คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการเงินและการลงทุน 
  • ม.หอการค้าไทย คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการเงินและการลงทุน 
  • ม.สยาม คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการเงินและการลงทุน 

ค่าเทอมของหลักสูตรนี้

  • คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการธนาคารและการเงิน จุฬาฯ 17,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการเงิน ม.เกษตรศาสตร์ 12,900 บาท / ภาคการศึกษา
  • คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี สาขาวิชาการเงิน ม.ขอนแก่น 15,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • คณะบริหารธุรกิจ วิชาเอกธุรกิจการเงินและการธนาคาร ม.เชียงใหม่ 15,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการเงิน ม.ธรรมศาสตร์ 14,200 บาท / ภาคการศึกษา
  • คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร ม.นเรศวร  15,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • คณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม สาขาวิชาการเงิน ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 20,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • คณะบริหารธุรกิจ วิชาเอกบริหารการเงินและการลงทุน ม.แม่โจ้ 8,850 บาท / ภาคการศึกษา
  • คณะวิทยาการจัดการ วิชาเอกการเงินและการลงทุน ม.สงขลานครินทร์  16,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการเงินและการลงทุน มรภ.จันทรเกษม 8,700 บาท / ภาคการศึกษา

วิชาที่น่าจะเกี่ยวข้อง (อ้างอิงปี 65)

ในกลุ่มของสายบริหารธุรกิจ วิชาที่จำเป็นต้องใช้ได้แก่ TGAT  และ A-Level วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งมหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้ใช้คณิตศาสตร์ 1 หรือ 2 แค่วิชาใดวิชาหนึ่ง หรืออาจกำหนดให้ใช้ได้ทั้งสองวิชาก็ได้เช่นกัน 

นอกจากนี้ บางมหาวิทยาลัยอาจใช้วิชาอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ  สังคมศึกษา  เป็นต้น

ในการสมัครเข้าเรียนต่อสาขาการเงิน บางมหาวิทยาลัยน้องๆ สามารถเลือกสาขาการเงินได้ตั้งแต่ตอนสอบเข้าเลย แต่หลายมหาวิทยาลัย จะต้องเลือกสาขาบริหารธุรกิจเข้าไปก่อนและหลังจากนั้นค่อยเลือกสาขาหรือวิชาเอกอีกครั้ง ในส่วนนี้น้องๆ สามารถดูได้จากระเบียบการรับสมัครว่ามีระเบียบวิธีการรับแบบใดค่ะ  

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากเว็บไซต์ Dek-D.com ขอสงวนสิทธิ์ในการงด โพสต์ข้อความซื้อ/ขาย/แลกเปลี่ยน/โฆษณา สินค้าทุกชนิดในเว็บบอร์ด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้งานท่านอื่น

กำลังโหลด
กำลังโหลด