สวัสดีค่ะ น้องๆ คงรู้กันแล้วว่ารอบ Portfolio เป็นรอบที่เน้นผลงานและความสามารถพิเศษ ดังนั้นคณะต่างๆ ก็จะกำหนดคุณสมบัติเอาไว้เพื่อใช้คัดเลือก

 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นอีกหนึ่งคณะในฝันของน้องๆ ไม่ว่าจะเป็นสายวิทย์หรือศิลป์ ซึ่งตอนนี้ข้อมูลการรับสมัครได้ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ มีทั้งแบบรับแยกสาขาและรับรวม (ไปเลือกเอกหลังจากเข้าไปเรียนแล้ว) ซึ่งอักษรฯ จุฬาฯ ได้เปิดรับรวม 4 โครงการด้วยกัน ไปดูรายละเอียดกันเลยค่ะ

เจาะลึก! เกณฑ์อักษรฯ จุฬาฯ รอบ Portfolio 4 โครงการ
เจาะลึก! เกณฑ์อักษรฯ จุฬาฯ รอบ Portfolio 4 โครงการ

เจาะลึก! เกณฑ์อักษรศาสตร์ จุฬาฯ รอบ Portfolio TCAS66

คุณสมบัติผู้สมัคร

  • ม.6
  • เด็กซิ่ว
  • เทียบเท่า (สมัครได้เฉพาะสาขาวิชาอักษรศาสตร์)

โครงการที่ 1 สาขาอักษรศาสตร์   (เอกรวม)

โครงการนี้ จะมีการกำหนดคุณสมบัติไว้ค่อนข้างหลายด่าน ทั้งเรื่องเกรด คะแนน และ Portfolio ได้แก่

  • 1. GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.50 (ม.6 ใช้เกรด 5 เทอม, เด็กซิ่วใช้เกรด 6 เทอม)
  • 2. มีคะแนนผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ TOEFL (iBT) ไม่ต่ำกว่า 64 หรือเทียบเท่า หรือ IELTS (Acodemic) ไม่ต่ำกว่า 5.0 หรือ CU-TEP ไม่ต่ำกว่า 60 หรือ DET (Duolingo English Test) ไม่ต่ำกว่า 90
  • 3. คุณสมบัติของแฟ้มสะสมผลงาน  
    • 3.1 มีคะแนนวัดระดับความสามารถด้านภาษา ได้แก่
      • ผลการสอบมรรถภาพภาษาไทยสำหรับบุคคลทั่วไป (CU-TPT) ระดับ 4 ขึ้นไป หรือ TOEFL (iBT) 100 ขึ้นไป หรือ IELTS (Acodemic) 7.5 คะแนนขึ้นไป หรือ CU-TEP 60 คะแนนขึ้นไป หรือ DET (Duolingo English Test) 120 คะแนนขึ้นไป หรือ ความสามารถทางภาษาญี่ปุ่น JLPT ไม่ต่ำกว่า N2 โดยผลสอบไม่ต่ำกว่า 90 คะแนน หรือ ความสามารถทางภาษาจีน HSK ไม่ต่ำกว่าระดับ 5  โดยผลสอบไม่ต่ำกว่า 225 คะแนน หรือ ภาษาเยอรมัน Goethe-Zertifikat หรือ telc Deutsch ระดับ A2 โดยได้คะแนนเฉลี่ยดี หรือ ระดับ B1 โดยได้คะแนนเฉลี่ยพอใช้ หรือ ภาษาสเปน DELE หรือ SIELE ไม่ต่ำกว่าระดับ A2 โดยมีผลคะแนนเฉลี่ยทุกทักษะไม่ต่ำกว่า 70 คะแนน หรือ ความสามารถภาษาบาลี ไม่ต่ำกว่าเปรียญธรรมประโยค 1-2 (ป.ธ.1-2) หรือ บาลีศึกษา 1-2 (บ.ศ.1-2) โดยได้รับเปรียญธรรมหรือบาลีศึกษา ประโยค 1-2
      • ได้รับรางวัลหรือเข้าร่วมการแข่งขัน ตามที่ระเบียบการกำหนด (หน้า 2-3) คลิก http://www.admissions.chula.ac.th/images/stories/7.arts-art_r1-66.pdf

โดยในการคัดเลือกนั้น Portfolio จะถูกนำมาคิดคะแนนเป็น 100 คะแนน จะต้องทำได้ไม่ต่ำกว่า 30 คะแนน จึงจะมีสิทธิ์พิจารณาเข้าไปในรอบสอบสัมภาษณ์ สำหรับในรอบสัมภาษณ์ จะแบ่งเกณฑ์เป็น 2 ส่วนคือ  

  • คำถามเชิงวิชาการ การใช้ภาษาไทย/ภาษาอังกฤษ/ภาษาต่างประเทศ คิดเป็น 75 คะแนน
  • ทัศนคติและความเหมาะสมในการศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ คิดเป็น 25 คะแนน

การคัดเลือกจะพิจารณาจากคะแนน Portfolio และคะแนนสอบสัมภาษณ์ เรียงลำดับตามคะแนนจากมากไปหาน้อย และผู้ผ่านการสอบสัมภาษณ์จะต้องได้คะแนนพอร์ตและสัมภาษณ์ รวมกันไม่ต่ำกว่า 80 คะแนน

โครงการที่ 2 โครงการโอลิมปิกวิชาการ สาขาภูมิศาสตร์ 
เข้าสาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ

โครงการนี้ เป็นโครงการที่น้องๆ จะสอบเพื่อเข้าสาขาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศโดยตรง เปิดรับ 10 ที่นั่ง จะมีการกำหนดคุณสมบัติทั้งเรื่องเกรด คะแนน และ Portfolio ไว้เช่นกัน

  • 1. GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.25 (ม.6 ใช้เกรด 5 เทอม, เด็กซิ่วใช้เกรด 6 เทอม) และจะต้องได้ GPA กลุ่มสาระสังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระละไม่ต่ำกว่า 3.00
  • 2. มีคะแนนผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ผลการเรียนกลุ่มวิชาภาษาอังกฤษ ม.ปลาย ไม่ต่ำกว่า 3.25 (ม.6 ใช้เกรด 5 เทอม, เด็กซิ่วใช้เกรด 6 เทอม) หรือ TOEFL (iBT) ไม่ต่ำกว่า 64  หรือ IELTS (Acodemic) ไม่ต่ำกว่า 5.0 หรือ CU-TEP ไม่ต่ำกว่า 60
  • 3. เป็นผู้แทนของศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกภายใต้การดูแลของ สอวน.
  • 4. มีแฟ้มสะสมผลงาน ประกอบด้วยกิจกรรมทางวิชาการ และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์

สำหรับขั้นตอนการคัดเลือกของโครงการนี้ จะมีการพิจารณา 2 ขั้นคือ คัดเลือกเพื่อไปสัมภาษณ์ และหลังจากนั้นเป็นการคัดเลือกเพื่อประกาศเป็นผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา

เกณฑ์ที่ใช้คัดเลือกเพื่อไปสัมภาษณ์ มีดังนี้

  • คุณสมบัติของผู้สมัคร คือ GPAX และคะแนนภาษาอังกฤษ คิดเป็น 70 คะแนน
  • ผลงานกิจกรรมทางวิชาการ คิดเป็น 20 คะแนน
  • ผลงานกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ คิดเป็น 10 คะแนน

จะต้องได้รวมกันไม่ต่ำกว่า 80 คะแนน จึงจะมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาไปสัมภาษณ์

เกณฑ์รอบสัมภาษณ์

  • บุคลิกภาพทักษะด้านการสื่อสารและความรู้ทางภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ โดยประเมินจากการนำเสนอด้วยวาจาในหัวข้อ "ภูมิศาสตร์กับการพัฒนาประเทศ) คิดเป็น 60 คะแนน
  • ทัศนคติและความเหมาะสมในการเข้าศึกษาในสาขาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ คิดเป็น 40 คะแนน

จะต้องคะแนนในการสอบสัมภาษณ์รวมไม่ต่ำกว่า 80 คะแนน จึงจะถือว่าผ่านการสัมภาษณ์

เมื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติกับสาขาอักษรศาสตร์ที่เป็นเอกรวม จะเห็นว่ามีการกำหนดคุณสมบัติน้อยกว่า แต่กฎสำคัญคือจะต้องเป็นผู้แทนโอลิมปิกวิชาการนั่นเองค่ะ และ Portfolio ก็เน้นไปทางกิจกรรมด้านวิชาการและบำเพ็ญประโยชน์ ไม่ได้ระบุถึงประเภทผลงาน

โครงการที่ 3 โครงการสู่ความเป็นเลิศด้านศิลปการละคร
 เข้าศึกษาสาขาวิชาศิลปการละคร  

สำหรับน้องๆ ที่สนใจด้านศิลปการละคร ก็มีอยู่ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เช่นกัน โดยสาขานี้จะเปิดรับแยกออกมา มีจำนวนแค่ 5 ที่นั่งเท่านั้น มีการกำหนดคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้  

  • 1. GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.50 (ม.6 ใช้เกรด 5 เทอม, เด็กซิ่วใช้เกรด 6 เทอม)
  • 2. มีคะแนนผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ผลการเรียนกลุ่มวิชาภาษาอังกฤษ ม.ปลาย ไม่ต่ำกว่า 3.25 (ม.6 ใช้เกรด 5 เทอม, เด็กซิ่วใช้เกรด 6 เทอม) หรือ TOEFL (iBT) ไม่ต่ำกว่า 79 หรือ IELTS (Acodemic) ไม่ต่ำกว่า 6.5 หรือ CU-TEP ไม่ต่ำกว่า 75
  • 3. มีแฟ้มสะสมผลงาน ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการละคร โดยใช้เอกสารที่แสดงตัวตน ทักษะ ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ รวมถึงรางวัลที่ได้รับเกี่ยวกับศิลปะการละครหรือศิลปะการแสดง

ระวัง! สำหรับคะแนนทดสอบภาษาอังกฤษของโครงการนี้ เมื่อเทียบคุณสมบัติทั่วไปจากโครงการอื่นๆ จะมีการกำหนดคะแนนไว้สูงกว่านะคะ ดังนั้นจะเข้าโครงการไหน ต้องดูโครงการนั้นเป็นหลักค่ะ

ขั้นตอนการคัดเลือกของโครงการนี้ จะพิจารณา 2 ขั้นคือ คัดเลือกเพื่อไปสัมภาษณ์ และหลังจากนั้นเป็นการคัดเลือกเพื่อประกาศเป็นผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา

เกณฑ์ที่ใช้คัดเลือกเพื่อไปสัมภาษณ์ มีดังนี้

  • คลิปวิดีโอตัวอย่างผลงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการละคร ทางด้านการแสดงหรือกำกับการแสดง, ผลงานการออกแบบเพื่อการแสดง, ผลงานการบริหารจัดการแสดง ผลงานการเขียนบทเพื่อการแสดง โดยผลงานที่ส่งต้องแสดงให้เห็นทักษะและศักยภาพในการทำงานสร้างสรรค์ คิดเป็น 70 คะแนน
  • รางวัลที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการละคร ทางด้านการแสดง การกำกับการแสดง การบริหารจัดการแสดงหรือการเขียนบทเพื่อการแสดง คิดเป็น 20 คะแนน
  • ผลงานกิจกรรมส่วนรวมหรือจิตอาสา 10 คะแนน

จะต้องได้รวมกันไม่ต่ำกว่า 80 คะแนน จึงจะมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาไปสัมภาษณ์

เกณฑ์รอบสัมภาษณ์

  • ความรู้ ความสามารถด้านการแสดง การกำกับการแสดง การออกแบบเพื่อการแสดง การบริหารจัดการแสดง และการเขียนบทเพื่อการแสดง คิดเป็น 70 คะแนน
  • บุคลิกภาพ ทัศนคติและการแสดงออกที่เหมาะสมในการเข้าศึกษาในสาขาศิลปการละคร คิดเป็น 20 คะแนน
  • ความคิดสร้างสรรค์ คิดเป็น 10 คะแนน

จะต้องได้คะแนนในการสอบสัมภาษณ์รวมกันไม่ต่ำกว่า 70 คะแนนจึงจะถือว่าเป็นผู้ผ่านการสอบสัมภาษณ์

โครงการที่ 4 โครงการผู้มีความสามารถพิเศษ 
เข้าศึกษาในสาขาวิชาเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ

ในปีนี้สาขาวิชาเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศก็เปิดรับในรอบ Portfolio เช่นกัน  โดยเปิดรับทั้งหมด  5 ที่นั่งเท่านั้น มีรายละเอียด ดังนี้

  • 1. GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.25 (ม.6 ใช้เกรด 5 เทอม, เด็กซิ่วใช้เกรด 6 เทอม)
  • 2. มีคะแนนผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ  TOEFL (iBT) ไม่ต่ำกว่า 53 หรือ IELTS (Acodemic) ไม่ต่ำกว่า 4.5 หรือ CU-TEP ไม่ต่ำกว่า 55 หรือ DET (Duolingo English Test) ไม่ต่ำกว่า 80 คะแนน
  • 3. เป็นผู้ผ่านการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติของ สอวน. ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าค่ายอบรมของ สสวท. ในโครงการจัดส่งผู้แทนประเทศไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ หรือ คอมพิวเตอร์ หรือ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนหรือตัวสำรอง จากการแข่งขันโอลิมปิกปรัชญาระดับชาติที่จัดโดยสมาคมปรัชญาและศาสตร์แห่งประเทศไทย ไปแข่งขันในระดับนานาชาติ หรือ เป็นตัวแทนไปแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกเอเชียแปซิฟิกหรือภาษาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ
  • 4. มีแฟ้มสะสมผลงาน กิจกรรมทางวิชาการ กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และความสามารถพิเศษ

ขั้นตอนการคัดเลือกของโครงการนี้ จะพิจารณา 2 ขั้นคือ คัดเลือกเพื่อไปสัมภาษณ์ ซึ่งจะพิจารณาจาก Portfolio และหลังจากนั้นเป็นการสอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกเป็นผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา

เกณฑ์ที่ใช้คัดเลือกเพื่อไปสัมภาษณ์ มีดังนี้

  • กิจกรรมทางวิชาการ ศักยภาพและประสบการณ์ด้านภาษาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ คิดเป็น 80 คะแนน
  • ผลงานบำเพ็ญประโยชน์ และความสามารถพิเศษ 20 คะแนน

จะต้องได้รวมกันไม่ต่ำกว่า 75  คะแนน จึงจะมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาไปสัมภาษณ์

เกณฑ์รอบสัมภาษณ์

  • ความรู้ทางด้านภาษาและเทคโนโลยีสารสนเทศในงานด้านมนุษยศาสตร์และการพัฒนาประเทศ และการตอบคำถามเชิงวิชาการ คิดเป็น 70 คะแนน
  • บุคลิกภาพ ทัศนคติและการแสดงออกที่เหมาะสมในการเข้าศึกษาในสาขาวิชาเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ คิดเป็น 30 คะแนน

จะต้องได้คะแนนในการสอบสัมภาษณ์รวมกันไม่ต่ำกว่า 75 คะแนนจึงจะถือว่าเป็นผู้ผ่านการสอบสัมภาษณ์

กำหนดการรับสมัคร

ทั้ง 4 โครงการนี้ จะเปิดรับในช่วงเวลาเดียวกัน  สิ่งสำคัญคือ จะเลือกสมัครได้เพียง 1 โครงการเท่านั้นค่ะ หากสมัครมากกว่า 1 โครงการ มหาวิทยาลัยจะเอาคณะที่สมัครและชำระเงิินครั้งสุดท้าย 

  • 4 - 14 พ.ย. 65   รับสมัครออนไลน์ผ่านเว็บ www.tcas.atc.chula.ac.th
  • 21 ธ.ค. 65  ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ และสามารถทักท้วงการประกาศรายชื่อได้ถึง 22 ธ.ค.65
  • 27 ธ.ค. 65  สอบสัมภาษณ์
  • 11 ม.ค. 66  ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสอบสัมภาษณ์ และสามารถทักท้วงการประกาศรายชื่อได้ถึง 12 ม.ค.66
  • 16 - 17 ม.ค. 66  ยืนยันสิทธิ์
  • 7 ก.พ. 66 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก
  • 7 - 8 ก.พ. 66 ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาใน myTCAS
  • 9 ก.พ. 66 สละสิทธิ์ในระบบ myTCAS

ทั้ง 4 โครงการ ต่างก็กำหนดผลงานหรือคุณสมบัติที่สอดคล้องกับสาขานั้นๆ  อย่างชัดเจน ปกติแล้วมักจะมีน้องๆ มาถามว่าแล้วถ้าได้เกรดไม่ถึงจะเป็นอะไรมั้ย หรือ ผลงาน Portfolio ไม่ใช่ผลงานที่ระบุไว้จะเป็นอะไรหรือเปล่า ตรงนี้พี่มิ้นท์ขอแนะนำว่า ให้เลือกผลงานที่ตรงจะดีที่สุด และเกรดก็สำคัญค่ะ ถ้าไม่ผ่านก็ไม่แนะนำให้ยื่น เพราะมีโอกาสสูงที่จะถูกปัดตกและเสียเงินฟรีค่ะ  

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด