ทำความรู้จัก "กยศ." ตัวช่วยทางการเงิน สำหรับนักเรียน/นักศึกษา ให้มีโอกาสเรียนตามฝัน

"สอบติด ม.xxx แล้ว แต่ทำไงดีคะ ไม่มีเงินไปจ่ายค่าเทอม"
              "สงสัยเราจะไม่ได้เรียนแล้ว เพราะไม่มีเงินเรียน ต้องออกมาทำงาน"
             "ถ้าไม่จ่ายค่าเทอมปีนี้ ปีหน้าค่อยจ่ายแล้วกลับมาเรียนได้มั้ย"

และอีกหลายๆ คำถามปัญหาทางการเงิน ที่มักมาพร้อมกับช่วงเปิดเทอมของนักเรียน หรือ ใกล้เปิดเทอมของพี่ๆ นิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะกับน้องๆ ที่เพิ่งก้าวพ้นจากมัธยมมาสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นระดับที่มีค่าใช้สูง ทั้งค่าเทอม ค่าใช้จ่ายระหว่างเรียน ไปจนถึงค่ากิน ค่าที่พักต่างๆ ซึ่งรวมๆ แล้ว อาจะต้องใช้เงินหลายพันบาทต่อเดือน  

มารู้จัก "กยศ." ตัวช่วยทางการเงินด้านการเรียน ได้ค่าเล่าเรียน+ค่าครองชีพ
มารู้จัก "กยศ." ตัวช่วยทางการเงินด้านการเรียน ได้ค่าเล่าเรียน+ค่าครองชีพ

จริงๆ แล้ว ปัญหาทางการเงินมีหลายทางออกค่ะ ยกตัวอย่างแนวทางที่สามารถทำได้

  1. การผ่อนผันค่าเทอม เพื่อเลื่อนกำหนดการชำระเงิน
  2. การผ่อนจ่ายค่าเทอม คือ การแบ่งชำระเงินเป็นงวดๆ โดยกำหนดอย่างชัดเจนว่ากี่เดือน เดือนละเท่าไหร่
  3. สอบถามทุนต่างๆ ของคณะว่ามีทุนอะไรที่ช่วยเหลือได้บ้าง เชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยจะมีกองทุนช่วยเหลือตรงนี้อยู่ โดยมากจะเป็นทุนสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลน
  4. กู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ที่น้องๆ น่าจะพอได้ยินชื่อกันมาบ้าง วันนี้จะมาอธิบายค่ะ ว่ากองทุนนี้ช่วยอะไรได้บ้างและต้องทำอย่างไร

ทำความรู้จัก "กยศ." ตัวช่วยทางการเงิน สำหรับนักเรียน/นักศึกษา ให้มีโอกาสเรียนตามฝัน

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อใช้ในด้านการศึกษาและสนับสนุนค่าครองชีพระหว่างการศึกษา สำหรับนักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งมีจุดเด่นคือ มีดอกเบี้ยที่ต่ำมาก โดยให้ชำระเงินหลังจากจบการศึกษาแล้ว ซึ่งข้อมูลปัจจุบัน พบว่ามีผู้กู้ยืมเงินกองทุนไปแล้วกว่า 6,470,274 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ได้ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วกว่า 1,739,253 ราย (ข้อมูล 31 มี.ค.66)

คุณสมบัติของผู้กู้ยืม

กยศ. กำหนดคุณสมบัติของผู้กู้ยืมไว้ 4 ลักษณะ จึงจะมีสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน คือ

ลักษณะที่ 1  นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เลือกเรียนคณะอะไรก็ได้ ผู้ที่จะกู้ยืมลักษณะที่ 1 นี้ จะต้องมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี  และมีอายุขณะที่กู้ยืม+ระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี+ระยะเวลาผ่อนชำระ 15 ปี รวมกันต้องไม่เกิน 60 ปี

ลักษณะที่ 2  นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิต กำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ  

ผู้ที่จะกู้ยืมลักษณะที่ 2 ไม่จำกัดรายได้  (หากรายได้ไม่ถึง 360,000 บาท/ปี สามารถกู้ยืมค่าครองชีพได้)  และมีอายุไม่เกิน 30 ปี ในปีการศึกษาที่ยื่นคำขอกู้ยืม

ลักษณะที่ 3  นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลน หรือที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ

ลักษณะที่ 4  นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ โดยให้กู้ในระดับปริญญาโท

ขั้นตอนการขอกู้ กยศ.

1. สอบถามอาจารย์ที่สถาบันว่ามีโครงการ กยศ. หรือไม่ โดยทั่วประเทศนั้นมีสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ กยศ.อยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับน้องๆ ที่เพิ่งสอบติด TCAS ในรอบ Admission หากมีสัมภาษณ์ สามารถสอบถามจากอาจารย์สัมภาษณ์ได้เลย เพื่อให้อาจารย์ช่วยเหลือหรือให้แนวทางต่อไป

2. เมื่อรู้แล้วว่าสถาบันนั้นสามารถทำเรื่องกู้ กยศ. ได้ ให้น้องๆ ข้าแอปพลิเคชั่น กยศ. connect หรือ เว็บไซต์ของ กยศ. เพื่อลงทะเบียนและดำเนินการกู้ยืม โดยกรอกข้อมูลรายละเอียดส่วนบุคคล และยื่นคำขอเพื่อกู้ยืม กยศ. จะมีการถามข้อมูล เช่น รายได้เท่าไหร่ สถาบันหรือสาขาที่จะเข้าศึกษา พร้อมยื่นเอกสารออนไลน์ หากอายุยังไม่ถึง 21 ปี จะต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ปกครองว่าน้องๆ กำลังจะขอกู้ยืม กยศ. จากนั้นคำขอจะส่งไปที่ กยศ. และน้องๆ จะต้องส่งเอกสารไปยังสถาบันการศึกษาด้วย เพื่อตรวจเอกสารว่าข้อมูลการศึกษานั้นถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งกรอบวงเงินการกู้ เพราะแต่หลักสูตร มีวงเงินค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน

3. เมื่อเอกสารผ่าน อนุมัติแล้ว ก็เข้าสู่การทำสัญญากู้ยืม  และสถาบันจะยืนยันแบบเบิกเงิน

4. เมื่อสถาบันการศึกษาแนบเอกสาร หลักฐาน ในระบบ กยศ. จะโอนเงินค่าครองชีพงวดแรกให้ผู้กู้ โดยระหว่างสถาบันการศึกษาก็จะต้องส่งเอกสาร หลักฐานตัวจริง เพื่อให้ กยศ. ตรวจสอบอีกครั้ง  เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย กยศ. ก็จะโอนเงินค่าศึกษาให้กับสถาบันการศึกษา และโอนค่าครองชีพให้กับนักศึกษาทุกเดือน

กำหนดการกู้ยืมเงิน ประจำปี 2566

กำหนดการกู้ยืมเงิน กยศ. ปีการศึกษา 2566
กำหนดการกู้ยืมเงิน กยศ. ปีการศึกษา 2566
ตัวอย่างรายละเอียดการกู้ กยศ. ที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะแจ้งให้กับผู้กู้
ตัวอย่างรายละเอียดการกู้ กยศ. ที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะแจ้งให้กับผู้กู้
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttps://www.studentloan.or.th/

 

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ที่กำลังหาทุนสำหรับการเรียนต่อ ซึ่ง กยศ. เป็นตัวเลือกที่ดีมากๆ เพราะดอกเบี้ยต่ำ และสามารถใช้คืนได้หลังจากเรียนจบ โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ หลังจากได้รับโอกาสนี้แล้ว อย่าลืมจ่ายคืนให้ตรงตามกำหนด เพื่อส่งต่อโอกาสให้กับน้องๆ รุ่นต่อไปด้วยนะคะ 

 

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น