#dek67 ต้องทำยังไง ถ้าได้คณะที่ไม่ชอบ และเตรียมตัวจะ "ซิ่ว"

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีแล้ว แต่จะน่ายินดีมากขึ้นไปอีก ถ้าสอบติดในคณะที่ชอบ สนใจ และเรียนอย่างมีความสุข เพราะปัญหาที่น้องๆ หลายคนเจอทุกวันนี้คือ คิดว่าตัวเองชอบคณะนี้ แต่พอได้เรียนจริงๆ แล้วเหมือนอยู่กันละโลก เรียนอะไรก็ไม่เข้าใจ จนไปสู่ "การซิ่ว"

แต่การซิ่วก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกอะไรค่ะ เพราะถ้าทนเรียนต่อไปแล้วไม่มีความสุข การซิ่วเพื่อรอเวลาได้เข้าไปเรียนในคณะที่เหมาะสมก็เป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว วันนี้พี่ๆ ก็อยากจะมาช่วยน้องๆ เตรียมตัว ถ้าจะซิ่ว มีอะไรที่ต้องรู้หรือเตรียมตัวเป็นพิเศษบ้าง

How to สอบติดคณะที่ไม่ชอบ ต้องเตรียมตัวซิ่วอย่างไร
How to สอบติดคณะที่ไม่ชอบ ต้องเตรียมตัวซิ่วอย่างไร

#dek67 ต้องทำยังไง ถ้าได้คณะที่ไม่ชอบ และเตรียมตัวจะ "ซิ่ว"

ขั้นตอนที่ 1 : ซิ่วแบบไหน ตัดสินใจให้ชัด

ซิ่วยังมีหลายแบบอีกหรอเนี่ย?

จริงๆ ไม่ได้แบ่งเป็นทางการขนาดนั้น แต่แบ่งเพื่อให้เข้าใจสถานะของตัวเองว่าเป็นเด็กซิ่วแบบไหน จะช่วยให้เราเตรียมตัวได้ถูกทางมากขึ้น

ปกติจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ "ซิ่วอยู่บ้าน" และ "ซิ่วไปด้วยเรียนไปด้วย"

  • ซิ่วอยู่บ้าน คือ ไม่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเลย แม้จะสอบติดแล้ว เลือกที่จะอยู่บ้านเตรียมสอบ
  • ซิ่วไปด้วยเรียนไปด้วย คือ กลุ่มที่สอบติดในปีของตนเอง แต่อยากลองเรียนไปก่อนเผื่อตัดสินใจอีกที แต่ระหว่างนี้ก็เตรียมตัวซิ่วไปด้วย

ทั้ง 2 กลุ่ม ภาระหน้าที่ต่างกันแน่นอน ถ้าซิ่วไปด้วยเรียนไปด้วย น้องๆ จะต้องทำ 2 หน้าที่ คือ นักศึกษาปี 1 และ เด็กที่เตรียมตัวสอบเข้า ก็จะต้องวางแผนให้รัดกุมมากขึ้น ต้องแบ่งเวลาให้ดีระหว่างทำงานส่งครู/การสอบ/การตื่นเช้าไปเรียน/การอ่านหนังสือทบทวนเพื่อสอบ เป็นต้น ดังนั้น ด่านแรกที่ต้องตัดสินใจคือ จะเป็นเด็กซิ่วแบบไหนนั่นเองค่ะ

ขั้นตอนที่ 2 : ทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง

หลายคนลืมคิดเรื่องนี้แล้วมามีปัญหาภายหลังว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ นี่คือเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่ใครก็ตามที่อยากซิ่ว ต้องรีบเคลียร์ให้เรียบร้อย บ้านไหนเข้าใจก็โชคดี แต่บ้านไหนไม่เข้าใจ คงต้องอาศัยเวลาในการอธิบายว่าการซิ่วคืออะไร เราจะทำให้สำเร็จได้ยังไง เพราะส่วนใหญ่ทุกบ้านก็เป็นห่วง ไม่อยากให้เสียเวลา และเสียใจอีกครั้ง ดังนั้นน้องๆ ควรต้องรีบให้ข้อมูล รวมถึงให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะทำให้เต็มที่ที่สุด (แต่ก็อย่ากดดันตัวเองมากเกินไปล่ะ)

ขั้นตอนที่ 3 : หนึ่งปีวางแผนกันใหม่

หากไม่ติดอะไร น้องๆ สามารถเริ่มวางแผนได้ตั้งแต่ตอนนี้เลยค่ะ เพราะไทม์ไลน์ของ TCAS อาจจะไม่แตกต่างจากเดิมมาก และยิ่งเรามีประสบการณ์แล้ว ก็พอคาดการณ์ช่วงเวลาได้ว่าเดือนไหนจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เรามาวางแผนรายปีกันเลยว่าแต่ละเดือนต้องทำอะไรบ้าง Check point ของแต่ละเดือนคืออะไร ทำให้เต็มที่ที่สุด จะได้ไม่มาเสียใจภายหลัง

และโดยเฉพาะน้องๆ ที่ซิ่วไปเรียนไป ยิ่งต้องเพิ่มความละเอียด เพราะมีกำหนดการสอบหรือกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยอยู่ด้วย ดังนั้นพยายามเช็กปฏิทินอยู่เสมอ ถ้าหากเจอกิจกรรมอะไรที่ดูจะชนกับกิจกรรมของมหาวิทยาลัย จะได้รีบคุยรีบแก้ปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ

หากเรารีบวางแผน และทำตามแผนอย่างดี ทำให้น้องๆ ไม่ต้องเหนื่อยในช่วงใกล้สอบ และอาจมีโอกาสสอบติดตั้งแต่รอบต้นๆ ก็ได้

ขั้นตอนที่ 4 : บทเรียน TCAS67 นำมาใช้

แม้จะมีคำพูดที่ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอ แต่มันจะดียิ่งกว่าถ้าเราไม่ได้ปล่อยให้สิ่งที่เกิดขึ้นในปีก่อนหายไปเปล่าๆ  

  • บางคนเรียนแล้วไม่มีความสุขเพราะไม่ได้ค้นหาตัวเองมาก่อนว่าชอบอะไร
  • บางคนพลาดคัดเลือกไม่ผ่านเพราะจ่ายเงินไม่ทัน
  • บางคนเข้าสอบไม่ได้ เพราะลืมบัตรเข้าสอบ
  • บางคนสอบไม่ผ่าน ได้คะแนนไม่ดี เพราะไม่ได้อ่านหนังสือ

และอีกหลายเหตุผลที่ทำให้เราเลือกที่จะซิ่ว แต่ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเราสามารถนำมาเป็นบทเรียน ปีนี้จะไม่ผิดพลาดแบบเดิม เช่น เริ่มค้นหาตัวเองตั้งแต่วันนี้ เริ่มทบทวนวิชาจุดอ่อนตั้งแต่เดือนหน้า หรือการหาปฏิทินมาตั้งไว้บนโต๊ะเพื่อจดอีเว้นท์สำคัญๆ เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 5 : เตรียมเรื่องการลาออกและเอกสารให้ถูกต้อง

พี่มิ้นท์ย้ำเสมอว่า การเตรียมเอกสาร ถือว่าเป็นหนึ่งในขั้นตอนคัดเลือกเลย เพราะมันสามารถบอกได้ว่านักเรียนคนนี้เป็นยังไง มีความรับผิดชอบ มีความละเอียดรอบคอบมากพอมั้ย

ซึ่งน้องๆ เป็นเด็กซิ่ว เอกสารด้านคุณสมบัติการศึกษาก็จะไม่เหมือนกับ ม.6 แล้วค่ะ ที่ผ่านมา น้องๆ คุ้นเคยกับการใช้ใบ ปพ.7 หรือใบรับรองการเป็นนักเรียน แต่เมื่อขยับมาเป็นเด็กซิ่ว เราจะใช้ใบ ปพ.1 หรือระเบียนผลการศึกษา และหากมีการเรียกใช้เอกสารอะไรจากมหาวิทยาลัย ก็ต้องเตรียมให้พร้อม อย่าลืมเผื่อเวลาให้คณะ/มหาวิทยาลัยดำเนินการด้วยนะ

สำหรับเรื่องการลาออก  พี่มิ้นท์ขอแบ่งเป็นกลุ่มแบบนี้ค่ะ

  • คนที่เพิ่งสอบติด TCAS67  ไม่ได้ไปรายงานตัว แบบนี้ไม่ต้องทำอะไรต่อที่มหาวิทยาลัยแล้ว รอ TCAS68 เปิดรับสมัครก็เริ่มสมัครได้ ซึ่งการไม่ไปรายงานตัว/สอบสัมภาษณ์/ขึ้นทะเบียนนักศึกษา ไม่มีผลต่อการสมัครในปีถัดไป
  • คนที่สอบติด  TCAS67 ไปรายงานตัวและมีชื่อเป็นนักศึกษาแล้ว เคสนี้จะต้องลาออก แต่ก็มีช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป
    • หากจะสอบเข้าคณะทั่วไป สอบติดแน่ๆ 100% แล้วค่อยลาออกก่อนขึ้นทะเบียนนักศึกษาได้
    • หากจะสอบเข้าคณะใน กสพท โดยที่น้องๆ อยู่ปี 1 หลักสูตรแพทย์, ทันตฯ, เภสัชฯ, วิศวฯ ม.รัฐ ที่จะซิ่วเข้าคณะเดิม (เช่น แพทย์ปี 1 จะสมัครแพทย์) ต้องลาออกก่อนวันที่ กสพท กำหนด รายละเอียด กสพท 68 รอติดตามเร็วๆ นี้
    • หากจะสอบเข้าคณะใน กสพท  โดยที่น้องๆ อยู่สูงกว่าปี 1 ทุกคณะ ม.รัฐ ต้องลาออกก่อนวันที่ กสพท กำหนด  รายละเอียด กสพท 68 รอติดตามเร็วๆ นี้

สมัยนี้หลายคนเปิดใจให้กับการซิ่วมากขึ้น ดังนั้นน้องๆ คนไหนที่รู้สึกว่าเรียนแล้วไม่มีความสุข จนได้เกรด F มาครองไว้หลายเทอม หรือ เหนื่อย เรียนแล้วยิ่งมองไม่เห็นอนาคต ก็ลองคุยกับตัวเองเยอะๆ เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย และตัดสินใจให้ดี หากตัดสินใจซิ่ว ก็ขอให้ทุ่มเทกับปีนี้ให้เต็มที่ ไม่ต้องแคร์สายตาคนอื่น และรอวันที่เราจะนำเอาความสำเร็จมาโชว์ค่ะ :)

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น